ท่องเที่ยวภาคเอกชนไทยเร่งหารือนอกรอบกับกระทรวงท่องเที่ยวฯ สรุป 5 ประเด็นหลักนำเสนอที่ประชุมร่วมทีมเศรษฐกิจไทยกับจีนครั้งที่ 2 ที่เชียงใหม่ ด้านจังหวัดเชียงใหม่เตรียมพร้อมต้อนรับรองนายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี และนักธุรกิจจีนระบุมีความสนใจลงทุนในไทยหลายด้านรวมทั้งการผลักดันภาคเหนือของไทยเป็นแหล่งรวบรวมกระจายสินค้า แต่ยังต้องศึกษาพิจารณาองค์ประกอบหลายด้านก่อนตัดสินใจ
ในการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21-23 ก.ย. 48 ที่ จ.เชียงใหม่ โดยทางฝ่ายไทยนำโดยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ส่วนทางฝ่ายจีนนำโดย H.E.Madame Wu Yi รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะรัฐมนตรีและนักธุรกิจของจีนนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นหนี่งในหลายธุรกิจที่จะมีการประชุมร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าวร่วมกัน
นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมสัมพันธ์ ไทย-จีน หรือ T.C.T.A. เปิดเผยว่า ในส่วนของภาค เอกชนด้านการท่องเที่ยว ได้เข้าร่วมหารือกับ นายประชา มาลีนนท์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หาข้อสรุปเพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีนดังกล่าว เพื่อเข้ามาประชุมทำความตกลงร่วมมือกันในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวกับรัฐบาลและเอกชนของประเทศไทย ซึ่งในส่วนของภาคการท่องเที่ยวเตรียมเสนอ 5 ประเด็นหลักให้รัฐบาลจีนได้รับทราบและปฏิบัติโดยถือเป็นสัญญาร่วมกัน
ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าวประกอบด้วย
1. ให้มีการแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านการท่องเที่ยวซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดความร่วมมือด้านการพัฒนาบุคลากรร่วมกัน
2.ให้ฝ่ายจีนเร่งจัดตั้งคณะอนุกรรมการด้านการท่องเที่ยว เพื่อมาทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการด้านการท่องเที่ยวของประเทศไทยในการที่จะวางแผนด้านธุรกิจการท่องเที่ยว ร่วมกันในอนาคต
3.ร่วมกันแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ
4. ททท.จะต้องเร่งตั้งสำนักงานท่องเที่ยวในประเทศจีนเพิ่มเติม จากปัจจุบันมี 1 แห่งที่ปักกิ่ง โดย เตรียมตั้งอีก 4 แห่งในเมืองใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ เฉิงตู คุนหมิง และกวางเจา โดยเบื้องต้นเนื่องจากเราติดปัญหาเรื่องภาษา คงจะต้องว่าจ้างคนท้องถิ่นให้เข้ามา ทำงานร่วมกัน
5. ตกลงแผน 5 ปีเป็นสัญญาต่างตอบแทนจำนวนนักท่องเที่ยวให้แก่กันและกัน ภายใน 5 ปีจะต้องมีนักท่องเที่ยวจีนมาประเทศไทย 3 ล้านคนใน พ.ศ. 2553 เติบโต 35% จากปีปัจจุบัน และไทยจะส่งนักท่องเที่ยวไปจีนในปีเดียวกันให้ได้ถึง 1 ล้านคน
นายศิษฎิวัชรกล่าวว่า เมื่อรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนมีการตกลงกัน จะทำให้การประกอบธุรกิจระหว่างภาคเอกชนด้วยกันทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกันเอกชนของไทยก็ต้องสอนให้เอกชนของจีนรู้จักการทำทัวร์ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานสากลปฏิบัติ เพราะที่ผ่านมาจะทำทัวร์ตามลักษณะธรรมเนียมของประเทศจีน บางครั้งทำให้เกิดปัญหาและที่มาที่ไป ของคำว่าทัวร์ศูนย์เหรียญ อย่างไรก็ตามต้องการให้ การประชุมนี้มีการแบ่งกลุ่มย่อยให้เอกชนทั้ง 2 ประเทศได้พูดคุยกันเพื่อรวบรวมปัญหาและแนวทาง การแก้ไข เพื่อนำเสนอภาครัฐของทั้ง 2 ประเทศได้รับรู้และออกมาตรการแก้ไขปัญหาร่วมกัน
สำหรับแผน 5 ปี ปี 2549-2553 เป้าหมายจำนวนนักท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีนนั้น มีดังนี้ กรณี ที่นักท่องเที่ยวไทยไปจีน ปี 2548 ประมาณการ 2.9 แสนคน, ปี 2549 ประมาณ 3 แสนคน, ปี 2550 ประมาณ 4 แสนห้าพันคน, ปี 2551 ประมาณ 5.5 แสนคน, ปี 2552 ประมาณ 7.4 แสนคน และปี 2553 ประมาณ 1 ล้านคน
ส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทย ปี 2548 ประมาณ 8.5 แสนคน, ปี 2549 ประมาณ 1 ล้านคน, ปี 2550 ประมาณ 1.35 ล้านคน, ปี 2551 ประมาณ 1.822 ล้านคน ปี 2552 ประมาณ 2.46 ล้านคน, ปี 2553 ประมาณ 3 ล้านคน ดังนั้นเมื่อรวม นักท่องเที่ยวทั้งที่มาไทยและไปจีนในปี 2553 ประมาณ 4 ล้านคน
นางวิภาดา ตรีสัตย์ พาณิชย์จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ว่าด้วยความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2 ที่จะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 21-23 ก.ย. 48 ที่ จ.เชียงใหม่ว่า ตามกำหนดทางคณะของจีนนำโดย H.E.Madame Wu Yi รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมคณะรัฐมนตรีและนักธุรกิจของจีนจะเดินทางถึง จ.เชียงใหม่ในวันที่ 21 ก.ย.48
โดยที่ในวันเดียวกันนั้นจะมีการพบปะหารือกันระหว่างนักธุรกิจและรัฐมนตรีของทั้งสองประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่โรงแรมเชอราตันเชียงใหม่ ก่อนที่จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการในวันรุ่งขึ้น (22 ก.ย. 48) ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล ดาราเทวี โดยที่รองนายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีนจะเป็นหัวหน้าคณะของจีนประชุมร่วมกับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีของไทย พร้อมด้วยรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ เช่น คมนาคม อุตสาหกรรม พลังงาน เกษตร เป็นต้น เพื่อหารือทางด้านต่างๆ และหลังเสร็จสิ้นการประชุมจะมีการลงนามร่วมกันใน Economic Strategic Partnership Scheme ด้วย
ทั้งนี้ ประเด็นการหารือหลักจะเกี่ยวข้องกับการ หาความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนและเศรษฐกิจระหว่างทั้งสองประเทศ โดยสิ่งที่คาดว่ากลุ่มนักธุรกิจ จีนจะให้ความสนใจในการเดินทางมาร่วมการประชุมในครั้งนี้ คือ การดูลู่ทางและความเป็นไปได้ในการเข้ามาลงทุนหลายด้าน เช่น ไฟฟ้า การท่องเที่ยว การเกษตร และการสื่อสารโทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่ง การพบปะกับกลุ่มนักธุรกิจไทยในระหว่างการประชุมครั้งนี้จะเป็นโอกาสที่ดีที่ได้ประสานความสัมพันธ์ที่อาจจะนำไปสู่การร่วมลงทุนในอนาคต
ประเด็นเกี่ยวข้องกับพื้นที่ภาคเหนือที่คาดว่าทางคณะจีนน่าจะให้ความสนใจได้แก่การตรวจดูความพร้อมของภาคเหนือในทุกๆ ด้าน ทั้งบุคลากร สถานที่ วัตถุดิบ เป็นต้น เพื่อดูความเป็นไปได้ในการจะลงทุนผลักดันให้เป็นแหล่งรวบรวมและจายสินค้าจากประเทศจีน
"การประชุมในครั้งนี้ทางรองนายกฯจีนได้เป็น ผู้เลือก จ.เชียงใหม่ เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดการประชุมในครั้งนี้ด้วยตัวเอง โดยที่ท่านพร้อมคณะรัฐมนตรีและนักธุรกิจจีนรวมประมาณ 100 คนจะเดินทางมาถึงเชียงใหม่ในวันที่ 21 ก.ย.นี้ ซึ่งทางจังหวัดเองได้มีการเตรียมความพร้อมการจัดการต้อนรับไว้อย่างสมเกียรติแล้ว" นางวิภาดากล่าว
|