ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 12
แห่ง (ไม่รวมธนาคารธนชาต) สำหรับงวดไตรมาส ที่สาม และงวด 9 เดือนแรก ของปี
2545 (อ้างอิงข้อมูลจากผลประกอบการตามงบการเงินรวม) โดยแบ่งเป็นสามกลุ่มธนาคาร
คือ กลุ่มธนาคาร เอกชนไทยขนาดใหญ่ (ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ กสิกรไทย ไทยพาณิชย์
ทหารไทย และกรุงศรีอยุธยา) กลุ่มธนาคารลูกครึ่ง หรือ กลุ่มธนาคารที่มีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นชาวต่างชาติ
(ได้แก่ ธนาคารเอเชีย ดีบีเอสไทย ทนุ นครหลวงไทย และยูโอบีรัตนสิน) และกลุ่มธนาคารรัฐ
(คือ ธนาคารกรุงไทย นครหลวงไทย และไทยธนาคาร) อนึ่ง แม้ว่าในช่วงปลายเดือนกันยายน
2545 ที่ผ่านมา ธนาคารไทยธนาคาร ได้ดำเนินการ ขายหุ้นสามัญแก่นักลงทุนรายย่อย
และสถาบัน ทั่วไป ซึ่งจะส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนฟื้นฟูฯลดลงต่ำกว่า
49% แต่สำหรับในงวด ไตรมาสสามนี้ ยังคงจัดให้ธนาคารอยู่ในกลุ่มธนาคารรัฐ)
สำหรับผลการประมาณการนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง
12 แห่ง น่าจะมีกำไรสุทธิของไตรมาสสามของปี 2545 สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ
169% มาที่ประมาณ 8.5 พันล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม พัฒนาการดังกล่าว น่าจะเป็นผลมาจากการทำสำรองในขนาดที่ลดลงมากของบางธนาคารในกลุ่มธนาคารลูกครึ่ง
ดังนั้น หากพิจารณาเฉพาะรายได้สุทธิจากการดำเนินงาน (ไม่รวม สำรอง) ของระบบธนาคารไทย
คาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากไตรมาสสองของปี 2545
สำหรับการเปรียบเทียบผลประกอบการงวดไตรมาสสามของปี 2545 กับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้านั้น
คาดว่าจะดีขึ้นประมาณ 78.8% จากประมาณ 4.78 พันล้านบาทในไตรมาสสามของปี 2544
ซึ่งทำให้คาดว่าผลประกอบการงวดเก้าเดือนแรกของปี 2545 น่าจะปรับตัวดีขึ้นสอดคล้องกัน
โดยประมาณว่าระบบธนาคารจะมีกำไรสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2544 ประมาณ
265% มาที่ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยและไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ
รวมทั้งขนาดการทำสำรองที่ลดลง ทั้งนี้ รายละเอียดของการประมาณการสามารถสรุปได้
ดังนี้:
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ
เมื่อเทียบไตรมาสที่สามของปี 2545 กับไตรมาสก่อนหน้า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
ประเมินว่า รายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารไทย จะปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ
5.1% ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสสองของปี
กล่าวคือ สำหรับไตรมาสที่สามของปี 2545 คาดว่าต้นทุนดอกเบี้ยจ่ายของระบบธนาคารไทย
อาจปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยถึงแม้ว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน
ยอดเงินฝากโดยรวม คาดว่าจะชะลอตัวลงประมาณ 2.6% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2545
เนื่องจากผลของการออกพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลังเพื่อชดเชยความเสียหายของกองทุนฟื้นฟูฯจำนวน
3.05 แสนล้านบาท ซึ่งดึงเงินฝากบางส่วนออกไปจากระบบ แต่การลดลงดังกล่าวเพิ่งปรากฏผลในช่วงต้นเดือนกันยายนที่ประชาชนจะต้องจ่ายชำระค่าพันธบัตร
ขณะที่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมนั้น ยอดเงินฝากยังคงเพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน
ประมาณ 0.4% และ 1.8% ตามลำดับ ซึ่งยังสะสมเป็นภาระดอกเบี้ยจ่ายของระบบธนาคารในช่วงไตรมาสที่สามของปี
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการหดตัวของเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาสที่สามข้างต้น น่าจะส่งผลดีต่อสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก
และความสามารถในการเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในช่วงที่เหลือของปีนี้
สำหรับด้านดอกเบี้ยรับนั้น คาดว่าอาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส สองของปี
ตามความคืบหน้าในการปล่อยสินเชื่อสุทธิของระบบธนาคาร โดย ณ สิ้นเดือนสิงหาคม
กลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่ และกลุ่มธนาคารลูกครึ่ง มีอัตราการขยายตัวของสินเชื่อสุทธิประมาณ
0.5% และ 2.9% จากสิ้นเดือนมิถุนายน 2545 ขณะที่ของกลุ่มธนาคารรัฐ ชะลอตัวประมาณ
2.2% เนื่องจากการหดตัวในสินเชื่อสุทธิของธนาคารนครหลวงไทยและธนาคารไทยธนาคาร
ส่วนการแก้ไขปัญหาเอ็นพีแอลของระบบธนาคารนั้น คาดว่าจะยังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนนัก
ณ สิ้นไตรมาสสามของปี โดยเฉพาะจากกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ทำให้ปัญหาดังกล่าว
ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อพัฒนาการของรายได้ดอกเบี้ยของระบบธนาคารต่อไป
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว ในไตรมาสที่สามของปี 2545 คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารไทย
น่าจะมีระดับประมาณ 2.69 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 5.1% จากไตรมาสที่สองของปี
ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยคาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 1.73% เทียบกับ
1.76% ในไตรมาสที่สองของปี โดยกลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่ คาดว่าจะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิประมาณ
1.83 หมื่นล้านบาท (+5%จากไตรมาสก่อนหน้า) ของกลุ่มธนาคารลูกครึ่งประมาณ
2.5 พันล้านบาท (+3.2%จากไตรมาสก่อนหน้า) และกลุ่มธนาคารรัฐ 6.1 พันล้านบาท
(+6.1%จากไตรมาสก่อนหน้า) ซึ่งเป็นอานิสงส์จากการรุกปล่อยสินเชื่อของธนาคารกรุงไทยเป็นหลัก
เมื่อเทียบไตรมาสสามของปี 2545 กับช่วงเดียวกันปี 2544 คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิ
น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นประมาณ 3.7% โดยเป็นผลจากการลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี
2544 และต้นปี 2545 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้ระบบธนาคารสามารถประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้ถึง
13.8% แม้ว่าการลดดอกเบี้ยดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้ดอกเบี้ยรับชะลอตัวลงประมาณ
6.5% ด้วยก็ตาม นอกจากนี้ ระดับเอ็นพีแอลที่คาดว่าชะลอตัวลงถึง 23% จากระดับ
5.76 แสนล้านบาทในไตรมาสสามของปี 2544 ยังนับเป็นปัจจัยบวกอีกประการหนึ่งต่อรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ
เนื่องจากส่งผลให้อัตราผลตอบแทนจากพอร์ตสินเชื่อในภาพรวมเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น
เมื่อผนวกกับผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี ทำให้คาดว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี
2545 ระบบธนาคารไทยจะมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิประมาณ 7.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ
10.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้สุทธิจากการดำเนินงาน
เมื่อเทียบไตรมาสที่สามของปี 2545 กับไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจาก คาดว่าระบบธนาคารไทย
น่าจะยังคงรักษาระดับการเจริญเติบโตของราย ได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยได้อย่างต่อเนื่อง
โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการ รวมถึงรายได้ค่าธรรมเนียม
0.25%จากการขายพันธบัตรออมทรัพย์ช่วยชาติในส่วนของธนาคารพาณิชย์จำนวนประมาณ
3 แสนล้านบาท, รายได้จากการปริวรรตเนื่องจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน,
รายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ที่น่าจะขยับสูงขึ้นตามการลดลงของอัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้
รวมถึงการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารไทยธนาคาร ซึ่งน่าจะส่งผลให้แนวโน้มรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารไทยในไตรมาสสามของปี
ทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่
คาดว่าอาจมีรายได้สุทธิในส่วนนี้ชะลอตัวลงจากไตรมาสสองของปี เพราะอาจมีการบันทึกส่วนแบ่งผลขาดทุนจากบริษัทบริหารสินทรัพย์
การด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย และค่าใช้จ่ายพนักงานที่เพิ่มขึ้นจากโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดของธนาคารบางแห่ง
ดังนั้น เมื่อผนวกรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิดังกล่าว กับรายได้ดอกเบี้ยสุทธิแล้ว
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงประมาณว่า รายได้สุทธิจากการดำเนินงานของระบบธนาคารในไตรมาสสามของปี
น่าจะมีจำนวนประมาณ 1.44 หมื่นล้านบาท ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ
5.1% โดยรายได้สุทธิจากการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่ คาดการณ์ว่าอาจมีจำนวนประมาณ
8.9 พันล้านบาท (-7.3% จากไตรมาสก่อนหน้า) ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวลงของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิเป็นหลัก
ขณะที่รายได้สุทธิจากการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารลูกครึ่งและกลุ่มธนาคารรัฐ
คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ 0.9 พันล้านบาท (+21.3%จากไตรมาสก่อนหน้า) และ 4.6
พันล้านบาท (+37.1%จากไตรมาสก่อนหน้า) ตามลำดับ โดยในกรณีของกลุ่มธนาคารรัฐนั้น
การบันทึกกำไรจากการโอนเปลี่ยนประเภทเงินลงทุน และการโอนค่า ใช้จ่ายค้างจ่ายที่ไม่มีการจ่ายแล้วกลับมาเป็นรายได้ของธนาคารไทยธนาคาร
เป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนสำคัญในการดึงให้รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้สุทธิจากการดำเนินงานของธนาคารกลุ่มนี้ปรับตัวสูงขึ้น
สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2545 นอกจากรายได้สุทธิจากการดำเนินงาน จะได้รับอานิสงส์จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิแล้ว
คาดว่าพัฒนาการของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิน่าจะมีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน
ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางในช่วงครึ่งแรกของปี 2545 ที่ระบบธนาคารพยายามเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม,
กำไรจากการปริวรรต ตลอด จนรายได้จากการทำธุรกรรมในตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายการพนักงานมีแนวโน้มลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
(ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งแรกของปี 2545 รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิของระบบธนาคารไทย
เพิ่มขึ้นประมาณ 38.7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ซึ่งมีส่วนสำคัญให้รายได้สุทธิจากการดำเนินงานในช่วงดังกล่าว
เพิ่มขึ้นถึง 243.6% เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรกของปี 2544) ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
จึงคาดว่า รายได้สุทธิจากการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2545 น่าจะมีจำนวนประมาณ
4.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้าประมาณ 133.4% โดยกลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่
คาดว่าจะมีราย ได้สุทธิจากการดำเนินงานประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท (+46%จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า)
ขณะที่กลุ่มธนาคารลูกครึ่ง คาดว่าจะสามารถเพิ่มรายได้สุทธิดังกล่าวขึ้นจากประมาณ
90 ล้านบาทในปี 2544 มาที่ประมาณ 2.6 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
และกลุ่มธนาคารรัฐ คาดว่าจะพลิกจากการขาดทุนประมาณ 976 ล้านบาทในปี 2544
มาที่กำไรประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท
การกันสำรอง และรายได้สุทธิ
เมื่อเทียบไตรมาสที่สามของปี 2545 กับไตรมาสก่อนหน้า เนื่อง จากคาดว่าระดับเอ็นพีแอลของระบบธนาคารในไตรมาสสามของปี
2545 ยังมีโอกาสเพิ่มสูงขึ้นอีกเล็กน้อยจากในไตรมาสที่สองของปี โดยเฉพาะในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่
ดังนั้น จึงคาดว่าระดับการทำสำรองของทั้งระบบธนาคาร อาจได้รับผลกระทบจากการทำสำรองเพิ่มเติมของกลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่ดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม คาดว่าสำรองของกลุ่มธนาคารลูกครึ่ง น่าจะมีระดับที่ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
ตามการลดลงของการทำสำรองของบางธนาคารในกลุ่ม ซึ่งน่าจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการทำสำรองของระบบธนาคารในไตรมาสที่สามของปี
อาจมีตัวเลขประมาณ 5.9 พันล้านบาท เทียบกับ 1.05 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสที่สองของปี
และเนื่องจากประมาณว่า ระบบธนาคารจะมีค่าใช้จ่ายในการทำสำรองลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า
ขณะที่มีรายได้สุทธิจากการดำเนินงาน สูงขึ้น ดังนั้น จึงคาดว่าความสามารถในการทำกำไรสุทธิของระบบธนาคาร
ในไตรมาสที่สามของปี น่าจะดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าถึงประมาณ 169% หรือมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก
3.18 พันล้านบาท มาที่ 8.5 พันล้านบาท โดยในส่วนของกลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่นั้น
คาดว่าจะสามารถทำกำไรสุทธิได้ประมาณ 4.3 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ
4.35% ขณะที่ กลุ่มธนาคารลูกครึ่งและกลุ่มธนาคารรัฐ น่าจะมีพัฒนาการของกำไรสุทธิที่ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ
114.1% และ 24.3% มาที่ประมาณ 0.6 และ 3.7 พันล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2545 คาดว่าระดับการทำสำรองของ ระบบธนาคารไทยจะลดลงจาก
3.07 หมื่นล้านบาทในช่วงเดียวกันของปี 2544 มาที่ 2.22 หมื่นล้านบาท ตามขนาดของปัญหาหนี้เสียที่ลดลงระหว่างปี
จากการโอนหนี้เสียไปยังบริษัทบริหารสินทรัพย์ของรัฐ และบสท. ซึ่งเมื่อผนวกผลดีจากภาระการทำสำรองที่ลดลง
กับแนวโน้มรายได้สุทธิจากการดำเนินงานที่ดีขึ้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงคาดว่าระบบธนาคาร
ไทย น่าจะสามารถทำกำไรสุทธิได้ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี
เพิ่มขึ้นจากประมาณ 1.23 หมื่นล้านบาทในช่วง 6 เดือน แรกของปีนี้ และเพิ่มขึ้นจากการขาดทุนประมาณ
1.28 หมื่นล้านบาทในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2544 (ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ
264.9%) ทั้งนี้ หากจำแนกเป็นกลุ่มธนาคารแล้ว คาดว่ากลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่และกลุ่มธนาคารรัฐ
จะมีกำไรสุทธิในช่วง 9 เดือนแรกของปีประมาณ 1.36 หมื่นล้านบาท (ดีขึ้น 78.6%
จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า) และ 1.06 หมื่นล้านบาท (ดีขึ้น 167%) ตามลำดับ
ขณะที่กลุ่มธนาคารลูกครึ่งนั้น คาด ว่ายังจะมีผลการดำเนินงานที่ขาดทุนในระดับประมาณ
3.09 พันล้านบาท (ดีขึ้นจากการขาดทุน 3.67 พันล้านบาทในช่วงครึ่งแรกของปี
และดีขึ้นประมาณ 32.24%จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า) บทสรุป
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้ประมาณการผลประกอบการของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย 12
แห่ง (ไม่รวมธนาคารธนชาต) สำหรับงวดไตรมาส ที่สาม และงวด 9 เดือนแรกของปี
2545 โดยแบ่งเป็นสามกลุ่มธนาคาร คือ กลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่ (BBL, TFB,
SCB, TMB, BAY) กลุ่มธนาคารลูกครึ่ง (BOA, DTDB, UOBR, SCNB) และกลุ่มธนาคารรัฐ
(KTB, SCIB, BT)
สำหรับผลการประมาณการนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง
12 แห่ง น่าจะมีกำไรสุทธิในไตรมาสที่สาม ของปี สูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าประมาณ
169% มาที่ประมาณ 8.5 พันล้านบาท อันเป็นผลจากการลดลงของภาระการทำสำรองเป็นหลัก
(ลดลงจาก 1.05 หมื่นล้านบาทในไตรมาสสอง 2545 มาที่ประมาณ 5.9 พันล้านบาทในไตรมาสสาม)
ดังนั้น หากพิจารณาเฉพาะรายได้สุทธิจากการดำเนินงาน (ไม่รวมสำรอง) ของระบบธนาคารไทย
คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ประมาณ 5.1% หรือจาก 1.37 หมื่นล้านบาทในไตรมาสสองของปี
2545 มาที่ประมาณ 1.44 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากการดำเนินงานดังกล่าว
เป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยเป็นหลัก ขณะที่รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า
โดยที่อาจได้รับปัจจัยลบจากการบันทึกผลขาดทุนของบริษัทบริหารสิน ทรัพย์ในเครือ
การด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย และค่าใช้จ่ายโครงการ เกษียณอายุก่อนกำหนด
ของกลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่
อย่างไรก็ตาม ด้านรายได้ดอกเบี้ยสุทธินั้น แม้ว่า ณ สิ้นเดือนกันยายน ยอดเงินฝากของระบบธนาคารน่าจะหดตัวลงจากไตรมาสก่อน
หน้าเนื่องจากผลของการชำระค่าพันธบัตรช่วยชาติในช่วงต้นเดือนกันยายน แต่คาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิอาจยังไม่ได้รับผลประโยชน์จาก
ต้นทุนดอกเบี้ยที่น่าจะลดลงดังกล่าวได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย เนื่องจาก
ยอดเงินฝากได้ทยอยปรับสูงขึ้นในช่วงสองเดือนแรกของไตรมาสสาม ขณะที่ การปล่อยสินเชื่อเพิ่มเติมของระบบธนาคารในไตรมาสนี้
อาจเป็น บวกได้จากไตรมาสก่อนหน้า แต่คงไม่เกินระดับ 0.4-0.5% และหนี้เอ็นพีแอล
คาดว่าอาจยังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนนัก โดยเฉพาะในกลุ่ม ธนาคารขนาดใหญ่
ดังนั้น จึงคาดว่าระบบธนาคารไทยจะสามารถเพิ่มรายได้ดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาสสามของปี
2545 ได้ประมาณ 5.12% จากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายกลุ่มธนาคารแล้ว คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารเอกชนไทยขนาดใหญ่ในไตรมาสสามของปี
น่าจะมีจำนวนประมาณ 4.3 พันล้านบาท (ลดลง 4.35%จากไตรมาสสองของปี 2545) เนื่องจากการชะลอตัวของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยเป็นหลัก
ขณะที่กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารลูกครึ่งและกลุ่มธนาคารรัฐ คาดว่าจะมีจำนวนประมาณ
0.6 พันล้านบาท (ดีขึ้น 114.1%จากไตรมาสก่อนหน้า) และ 3.7 พันล้านบาท (ดีขึ้น
24.35%จากไตรมาสสอง 2545)
สำหรับช่วงงวดเก้าเดือนแรกของปี 2545 ประมาณว่าระบบธนาคาร จะมีกำไรสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี
2544 ประมาณ 265% มาที่ประมาณ 2.1 หมื่นล้านบาท โดยเป็นผลจาก (1) การเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ
เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารในช่วงปลายปี 2544 และต้นปี 2545
(2) การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ค่าธรรมเนียม
กำไรจากการปริวรรต และรายได้จากการ ทำธุรกรรมในตลาดตราสารหนี้ ขณะที่ค่าใช้จ่ายการพนักงานอาจมีแนวโน้ม
ลดลง เป็นต้น ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สอดคล้องกับในช่วงครึ่งแรกของปี รวมทั้ง
(3) ระดับการทำสำรองที่ชะลอลง ตามขนาดหนี้เสียที่ระบบธนาคารพาณิชย์ที่ลดลง
ทั้งนี้ หากจำแนกเป็นรายกลุ่มธนาคาร สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2545
คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะมีจำนวนประมาณ 1.36 หมื่นล้านบาท
(เพิ่มขึ้น 78.6%จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า) และของกลุ่มธนาคารรัฐ ประมาณ
1.06 หมื่นล้านบาท (ดีขึ้น 167%จากปีก่อนหน้า) ขณะที่ของกลุ่มธนาคารลูกครึ่ง
คาดว่าจะขาดทุนลดลง 32.2% มาที่ตัวเลขการขาดทุนประมาณ 3.1 พันล้านบาท ซึ่งนับเป็นการขาดทุนที่ลดลงจากช่วงครึ่งแรกของปี
2545 ที่ประมาณ 3.67 พันล้านบาท)