Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2529








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2529
เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ฟ้องมาบุญครอง และแล้ว…ยักษ์ใหญ่ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง             
 

   
related stories

มาบุญครองฯ อีกแล้ว เมื่อ"ศิริชัย" สวมบทบาทเจ้าของป้อมอลาโม่!

   
search resources

เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, บมจ.
มาบุญครอง
Home and Office Appliances




เงินจำนวน 22,179,571.82 บาท มิใช่ก้อนเล็ก ๆ !

บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ก่อตั้งโดยนักธุรกิจชาวสวิส ตั้งหลักปักฐานในเมืองไทยกว่า 100 ปีแล้ว ผลิตและจำหน่ายสินค้าเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยจนนับแทบไม่ถ้วน ตั้งแต่ดินสอและลูกกวาดสำหรับเด็กนักเรียน ไปจนถึงเครื่องกำเนิดไฟฟ้า อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และเป็นบริษัทที่มีการลงทุนในกิจการต่าง ๆ อีกกว่า 10 บริษัท รวมทั้งในต่างประเทศ เช่น มาเลเซียและสิงค์โปร์ เบอร์ลี่ฯ มีสินทรัพย์ประมาณ 1.5 พันล้านบาท และยอดขายเกือบ 3 พันล้านบาทต่อปี

ส่วนบริษัทมาบุญครองอบพืชและไซโลของเสี่ยศิริชัย บูลกุล นักธุรกิจชื่อดังซึ่งมีธุรกิจมากมายตั้งแต่ฟาร์มเลี้ยงกุ้งจนถึงดำเนินการขุดเจาะน้ำมัน บริษัทในเครือมีเกือบ 20 บริษัทนั้น โครงการล่าสุดที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดก็เห็นจะได้แก่ “มาบุญครองเซ็นเตอร์” ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ทำท่าจะไปโลด

มาบุญครองกรุ๊ปมีสินทรัพย์ค่อนข้างมากเกือบ 3 พันล้าน ขณะที่ยอดขายประมาณ 1 พันล้านบาทต่อปี

ก็คงมิใช่เรื่องเล็ก ๆ แน่ เมื่อบริษัทแรกตัดสินใจฟ้องบริษัทหลังเรียกเงินจำนวนที่กล่าวข้างต้น

บริษัททั้งสองเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง และมีบางสิ่งบางอย่างเหมือน ๆ กัน

ทั้งสองเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ “ผู้จัดการ” พลิกปูมดูคร่าว ๆ พบว่าแบงก์กรุงไทยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รายหนึ่งอยู่ในทั้งสองบริษัท ซึ่งไม่ค่อยจะแปลกใจอะไรที่ตัวแทนของภาครัฐบาลจะถือหุ้นในบริษัทใหญ่และมีประวัติยาวนาน ที่น่าสังเกตบริษัทโอสถสภาฯ ของตระกูลโอสถานุเคราะห์มีหุ้นในเบอร์ลี่ฯ กว่า 3% ในขณะที่บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เจเนอรัลไฟแนนซ์ของตระกูลโอสถานุเคราะห์เช่นเดียวกันถือหุ้นในมาบุญครองกว่า 2 %

ตรงนี้ “ผู้จัดการ” ขอตั้งคำถามขึ้นมาสัก 2 ข้อ หนึ่ง-ปกติการฟ้องร้องเป็นความกันถึงโรงถึงศาลนักธุรกิจไทยไม่มีใครชอบ เลี่ยงได้คุยกันได้ก็จะรีบ ๆ ที่จะคุย โดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีกิจกรรมเกี่ยวข้องกับมหาชน เป็นเรื่องที่ต้องรักษาภาพพจน์เอาไว้ให้ดี

เงิน 22 ล้านเศษ ๆ ไม่มากเลยสำหรับมาบุญครองฯ และไม่สมควรจะมาแลกกับการเสียชื่อเสียงแม้แต่น้อย!

สอง-ทั้งสองฝ่ายดูเหมือนจะไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกันน่าจะหันหน้าคุยกันได้มากกว่านี้
ปริศนาเหล่านี้ “ผู้จัดการ” จะต้องหาคำตอบที่แจ้งชัดในโอกาสต่อไป

เรื่องที่โจเซฟ เอ. โครแนนเบอร์ก ผู้จัดการใหญ่ บริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อดรนทนไม่ได้ต้องให้สม อินทพยุง นักกฎหมายมือดีทำเรื่องฟ้องร้องมาบุญครองฯ ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมานี้ สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้เนิ่นนานกว่า 1 ปี 6 เดือนแล้ว

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2527 มาบุญครองทำสัญญากับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ 2 ฉบับ ฉบับแรกสัญญาซื้อขายวัสดุอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับติดตั้งงานระบบไฟฟ้าของอาคารมาบุญครองเซ็นเตอร์ ตลอดจนค่าเครื่องมือ เครื่องใช้ ค่าเครื่องจักร และค่าแรง เป็นจำนวนเงิน 211,000 บาท

สัญญาฉบับที่ 2 เป็นการซื้อขายอุปกรณ์หลักสำหรับระบบไฟฟ้า (MAIN EQUIPMENT FOR ELECTRICAL SYSTEM) มีรายละเอียดดังนี้

วัสดุอุปกรณ์หลักที่เป็นส่วนกลาง (MAIN EQUIPMENT FOR MUTAUL) มูลค่า 1,680,770 บาท

วัสดุอุปกรณ์หลักสำหรับชั้นลอย (MAIN EQUIPMENT FOR PODIUM) มูลค่า 6,328,581 บาท

วัสดุอุปกรณ์หลักสำหรับอาคารสำนักงาน (MAIN EQUIPMENT FOR TOWER) มูลค่า 3,642,615 บาท

วัสดุอุปกรณ์หลักสำหรับอาคารโรงแรม (MAIN EQUIPMENT FOR HOTEL TOWER) มูลค่า 1,714,584 บาท

อะไหล่ (SPARE PARTS) มูลค่า 69,123 บาท

และวัสดุอุปกรณ์หลักสำหรับระบบปรับอากาศ (MAIN EQUIPMENT FOR AIR CONDITION SYSTEM) มูลค่า 7,414,455 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 20,850,128 บาท

ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน-กรกฎาคม 2528 มาบุญครองฯ ได้สั่งซื้อสะพานไฟ 4000 แอมแปร์ แผงไฟสว่างสถานีย่อย 69 กิโลวัตต์ และแผงไฟฟ้าควบคุมเครื่องกำจัดความชื้นด้วย เป็นการสั่งซื้อเพิ่มพิเศษไม่รวมอยู่ในสัญญาซื้อขายข้างต้น เป็นจำนวนเงิน 245,000 บาท

เกี่ยวกับวัสดุอุปกรณ์นี้สัญญาระบุว่ามาบุญครองฯ สามารถสั่งซื้อเพิ่มหรือลดจำนวน หรือในบางกรณีได้สั่งเปลี่ยนแปลงวัสดุอุปกรณ์บางอย่าง ดังนั้นจึงทำให้ราคาเดิมเปลี่ยนแปลงไป แต่คิดจำนวนทั้งหมดแล้วเป็นเงิน 25,200,416 บาท (ไม่รวมงานพิเศษ) คือ สั่งซื้อเป็นเงินเพิ่มอีก 4,350,288 บาท หรือ 20.86 %

ตามสัญญาทั้ง 2 ฉบับ มาบุญครองฯ ต้องชำระเงิน 30% หรือ 6,255,038.40 บาท (ค่าวัสดุอุปกรณ์) ภายใน 7 วัน นับแต่วันทำสัญญา ซึ่งมาบุญครองฯ ได้มีหนังสือค้ำประกันของธนาคารชาร์เตอร์ด เลขที่ 359/91/1538 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2527

และมาบุญครองฯ ต้องชำระ 60% ภายใน 30 วัน นับแต่เบอร์ลี่ฯ ได้ส่งมอบวัสดุอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว และส่วนที่เหลือต้องชำระภายใน 30 วัน หลังจากทดสอบประสิทธิภาพของอุปกรณ์ไฟฟ้าจนสามารถใช้งานได้

เบอร์ลี่ฯ แจ้งว่า เงินจำนวน 60% และที่เหลือ (10%) มาบุญครองฯ ยังไม่ยอมจ่ายทั้ง ๆ ที่ผ่านขั้นตอนตามสัญญามาหมดแล้ว !

ส่วนค่าจ้างนั้น จำนวน 211,000 บาท มาบุญครองฯ ได้จ่ายแล้ว 30% จำนวน63,000 บาท ส่วนที่เหลือทั้งหมดก็ยังเฉยเหมือนกัน

และเมื่อรวมรายการสั่งซื้อเพิ่มซึ่งสัญญาส่วนนี้เบอร์ลี่ฯ ยินยอมให้แบ่งจ่ายเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรก 90% และที่เหลือ 10% เมื่ออุปกรณ์ไฟฟ้าสามารถใช้งานได้แล้วก็เช่นเดียวกัน มาบุญครองฯ ยังไม่จ่ายเลยสักบาทเดียว!

เบอร์ลี่ฯ ระบุว่า ก่อนจะถึงวันที่ 21 มกราคม 2529 นอกจากการทวงถามตามปกติแล้ว ยังได้สั่งให้ทนายความของบริษัทยื่น “โนติ๊ส” หรือทวงถามเป็นทางการถึง 3 ครั้ง

2 ครั้งแรกให้สำนักงานสมนึกและสุธี โดยชัยณรงค์ ศรีจันทร์ ยื่นไปติด ๆ กัน คือ เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2528 และวันที่ 19 กันยายน 2528 ส่วนครั้งที่ 3 ดำเนินการโดยสม อินทพยุง แห่งสำนักงานทนายความชื่อเดียวกันกับชื่อทนาย เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2528

เมื่อเป็นไปตามขั้นตอนข้างต้นแล้ว เบอร์ลี่ ยุคเกอร์จึงยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งให้มาบุญครองฯ หนึ่ง-ชำระเงิน 22, 179, 571,.82 บาท สอง- ให้ชำระดอกเบี้ย 15% ต่อปี ในต้นเงินค่าวัสดุอุปกรณ์ 19,190,677.60 บาท และต้นเงินค่าจ้าง 147.7000 บาท รวม 19,338,077.60 บาท นับแต่ 16 มกราคม 2529 จนกว่ามาบุญครองฯ จะชำระต้นเงินแก่เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ครบถ้วน

ศาลแพ่งก็ประทับรับฟ้องไว้แล้ว !

คดีนี้ได้รับความสนใจพอสมควร แต่ก็อดแปลกใจไม่ได้ที่ราคาหุ้นของมาบุญครองฯ ไม่ได้ตกลงแต่ประการใด ดูแนวโน้มกลับขึ้นด้วยซ้ำ วันที่ 22 มกราคม อยู่ระดับ 84 บาท (ราคาพาร์ 100 บาท) พอมีข่าวว่าถูกฟ้องราคาหุ้นสูงขึ้นทันทีเป็น 86 วันที่ 24 ขึ้นไปเป็น 89 พอวันที่ 27 ขึ้นไปอีกเป็น 93 บาท

“ไม่มีอะไรแปลกถ้าการเปลี่ยนแปลงแต่ละวันไม่เกิน 10% พอดีช่วงนี้หุ้นส่วนใหญ่แอคทีฟ” โบรกเกอร์ตลาดหุ้นวิเคราะห์และกล่าวแถมท้ายว่า “มาบุญครองฯ เขาเจ้าพ่อตลาดหุ้นนะคุณ แค่นี้ไม่ทำให้สะเทือนหรอก”

“ผู้จัดการ” พยายามติดต่อฝ่ายมาบุญครองฯ ขอให้ “คอมเมนต์” เรื่องถูกฟ้อง แต่ได้รับการปฏิเสธอยู่ตลอด

ก็คงเห็นว่าเป็นปัญหา “จิ๊บจ๊อย” กระมัง !!

มาบุญครองนั้นมีคนที่เป็นที่ปรึกษาทางการเงินด้านโครงการที่ชื่อ บันเทิง ตันติวิทย์ คนใหญ่ของธนชาติฯ ซึ่งเป็นคนดึงไทยพาณิชย์เข้ามาหนุนโครงการ คนเก่าที่เคยทำด้านนี้มาก่อน ชื่อ ทวีป ชาติธำรงค์ ซึ่งเคยเป็น Vice President ของธนาคารเวสต์แมนฮัตตัน แล้วลาออกมาอยู่มาบุญครอง แต่ในที่สุดก็ออกไปอยู่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ข่าววงในแจ้งว่า มีความขัดแย้งกันระหว่างทวีปกับชาลส์มา น้องชายของ ศิริชัย

มาบุญครองประสบปัญหาการเงินสะดุดก็เพราะ “การโอนกรรมสิทธิ์นั้นยังทำไม่ได้ เพราะจุฬาฯ ยังติดขัดปัญหาหลายเรื่อง เรื่องหนึ่งคือเรื่องที่เถียงกันว่า ที่ตรงนี้เป็นที่ของกรมธนารักษ์หรือที่ของจุฬาฯ กันแน่ ซึ่งเมื่อเกิดปัญหาเช่นนี้ ธนาคารก็ยังปล่อยเงินให้ไม่ได้ เงินก้อนนี้มีร่วมร้อยล้านบาทก็เอาเรื่องเหมือนกัน” แหล่งข่าวในวงการเงินพูดให้ฟัง

ศิริชัยเองก็วิ่งวุ่นกับการหาเงิน เมื่อเร็ว ๆ นี้ก็ติดต่อไปที่ธนาคารศรีนคร เพื่อขอประมาณ 120-150 ล้านบาท เป็นวงเงิน แต่ศรีนครก็คงจะไม่ให้เพราะไม่เคยค้าขายกันมาตั้งแต่เริ่มโครงการ

“ไม่เหมือนเซ็นทรัลพลาซ่าที่เขาหนุนมาตั้งแต่ต้นจนเดี๋ยวนี้เขาไปได้ดีแล้ว” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

ปัญหาใหม่ของมาบุญครองเวลานี้ คือ การหาเงินมาคืนเงินกู้ก้อนหนึ่งจำนวน 80 ล้านบาทของไทยพาณิชย์ที่หมดเวลาแล้ว

“มันเป็นของธรรมดาครับ คุณคบกับธนาคาร เมื่อเขาปล่อยคุณ เขาก็ต้องบีบคุณบ้าง ไม่งั้นคุณจะไม่กระตือรือร้น” แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

ปัญหากับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ นั้นเป็นปัญหาเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้นเอง ที่กำลังเจรจากันอยู่อีกเจ้าหนึ่ง ก็คือไทยสงวนวานิชกรรม ตัวแทนระบบโทรศัพท์เอ็นอีซี ที่ได้ติดตั้งให้มาบุญครอง ซึ่งกำลังดูกันว่าจะตกลงกันได้ไหม?

ปัญหาทางธุรกิจเช่นนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิด และก็คงเป็นปัญหาที่องค์กรธุรกิจส่วนใหญ่ต้องเจอบ้าง

แต่การแก้ปัญหานั้นน่าจะแก้กันอย่างฉับพลัน เพราะมันเป็นเรื่องของภาพพจน์ การประชาสัมพันธ์ให้ถูกหลักนั้นก็เป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ดี ที่ควรจะหาทางมาชี้แจง ไม่ใช่เก็บเงียบเอาไว้ แล้วปล่อยให้ข่าวลือมันกระฉ่อนไปทั่ว

ผู้จัดการประชาสัมพันธ์เองก็น่าจะกล้าเสนอผู้บริหารและดำเนินการในทางที่ถูก

โครงการมาบุญครองเป็นโครงการที่ดีและไปได้สวย เพียงแต่อุปสรรคนั้นก็คงจะมีเป็นของธรรมดา แต่เมื่อมีแล้วก็ต้องแก้ให้ถูกจุด ไม่เช่นนั้นจะมีประชาสัมพันธ์ไว้ทำไม หรือมีไว้เพียงเพื่อโชว์ความสวยงามเท่านั้น

ที่พูดนี้เตือนด้วยความหวังดี ถึงจะโกรธไม่ลงโฆษณากันก็ไม่ว่ากันอยู่แล้ว เพราะประชาสัมพันธ์ของมาบุญครองก็ไม่ชอบขี้หน้า “ผู้จัดการ” มานมนานแล้วมิใช่หรือที่พูดตรงเกินไป?

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us