เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้มีการประชุมของคณะกรรมการบริษัทเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ ซึ่งผลของการประชุมในวันนั้นคือการประกาศแต่งตั้งดร.อดุลย์ อมรวิวัฒน์เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่สืบต่อจากเอ็ดการ์
โรเด็ลซึ่งจะเกษียณอายุในปลายปีนี้
การแต่งตั้งครั้งนี้ไม่ใช่เป็นเพียงการสร้างประวัติศาสตร์การเป็นคนไทยคนแรกที่เข้ารับตำแหน่งนี้ของบริษัทยักษ์ใหญ่อายุกว่า
100 ปี แห่งนี้ของดร.อดุลย์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นการสะท้อนถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ของการบริหารของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ที่มีกลุ่มเฟิร์ส แปซิฟิคเป็นตัวแปรที่สำคัญที่สุดด้วย
สถานการณ์ของกลุ่มเฟิร์ส แปซิฟิคในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ในวันนี้ไม่ใช่เป็นเพียงผู้ถือหุ้นของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ในนามของบริษัทฮอลแลนด์ แปซิฟิค บี วีในจำนวนหุ้นมากที่สุดคือ 2,651,860
หุ้นจากทั้งหมด 7 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 37.88 % อีกต่อไปแล้ว
แต่แท้ที่จริงกลุ่มเฟิร์ส แปซิฟิคยังเป็นผู้ถือหุ้นของเบอร์ลี่อีก 13 %
ในชื่อของบริษัทมัลติเพอร์โพสต์ซึ่งมีหุ้นอยู่มากเป็นอันดับ 2 นั่นคือผู้ทีถือหุ้นของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์มากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 2 คือบริษัทในกลุ่มของเฟิร์ส แปซิฟิค
อินเตอร์เนชั่นแนล โดยรวมทั้งสิ้นแล้วมีหุ้นอยู่ในสัดส่วนถึง 50.88 %!
บริษัท มัลติเพอร์โพสต์ เทรดดิ้งเป็นบริษัทที่มีจำนวนหุ้นอยู่ทั้งหมด 1,000
หุ้นในจำนวนนี้เป็นหุ้นของกลุ่มบริษัทเฟิร์ส แปซิฟิค อินเตอร์เนชั่แนลจำนวน
490 หุ้นที่เหลืออีก 510 หุ้นเป็นหุ้นที่ถือไว้ในนามของบริษัท บีเคเอส (ประเทศไทย)
จำกัด และทนายความอีก 5 คน จากบริษัท เบเกอร์ แมคเคนซี่ อย่างเช่นอธึก อัสวานันท์
"บริษัท บีเคเอส เป็นบริษัทในโฮลดิ้งคอมพานีของบริษัทเบเกอร์ แมคเคนซี่นั้นแหละ
และบริษัทบีเคเอสเอง ก็เป็นบริษัทที่ถือหุ้นในฐานะ PROXY ของกลุ่มบริษัทเฟิร์ส
แปซิฟิค เพื่อจะทำให้บริษัทนี้มีสัญชาติไทย" แหล่งข่าวในวงการธุรกิจรายหนึ่งกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" ถึงกลไกการถือหุ้นทางอ้อมของ เฟิร์ส แปซิฟิค เพื่อการเป็นผู้ที่ถือเสียงข้างมากในเบอร์ลี่
ยุคเกอร์
และแล้ว เรื่องราวก็เข้ารอยเดิมของทุก ๆ บริษัทที่เรียกได้ว่า "เป็นเรื่องธรรมดา"
ในเมื่อผู้ถือหุ้นต้องการที่จะมีหุ้นเพิ่มมากขึ้น และเมื่อมีมากขึ้นก็ย่อมต้องการมีสิทธิ์มีเสียงในบริษัทมากขึ้นแล้วก็ก้าวย่างเลยไปถึงการต้องการมีส่วนร่วมในการบริหารมากขึ้น
นั่นคือการเข้าไปเป็นผู้บริหารเสียเองหรือไม่ก็ส่งคนของตน เข้าไปนั่งเก้าอี้ผู้จัดการใหญ่
"เรื่องธรรมดา" อย่างนี้ไม่ต้องบอกเพราะเฟิร์ส แปซิฟิคนั้นรู้ยิ่งกว่ารู้ประสบการณ์ทางด้านนี้ของยักษ์ใหญ่จากฮ่องกง
ที่มีขาใหญ่อย่าง ลิม ซู เหลียงมหาเศรษฐีโลก คอยให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังนั้นมีมากยิ่งกว่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นองค์กรที่มีความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาและค่อนข้างที่จะกล้ารุก
กล้าเสี่ยงของเฟิร์ส แปซิฟิคที่เรียกได้ว่าเป็นองค์กรที่ AGGRESSIVE ด้วยแล้วแต่กลับต้องมาเจอกับผู้บริหารสไตล์เบอร์ลี่ฯที่ค่อนข้างที่จะคอนเซอร์เวทิฟจึงทำให้ความคิดเกี่ยวกับการเข้าเป็นผู้บริหารเสียเองมีมากยิ่งขึ้น
"เฟิร์ส แปซิฟิคเขาก็อยากที่จะให้เบอร์ลี่ฯ เป็นกลุ่มที่มีลักษณะไดนามิคส์เหมือนกันเขาเข้ามาลงทุนในเบอร์ลี่ฯเขาก็ต้องการที่จะให้เบอร์ลี่ฯทำกำไรทำประโยชน์ให้กับเขาเท่าที่ควร
ซึ่งเป็นธรรมชาติของนักลงทุนทั่วไป" แหล่งข่าวในวงการการเงินการลงทุนกล่าวกับ"ผู้จัดการ"
ทางวอลเตอร์ ไมเยอร์ ประธานกรรมการบริษัทเบอร์ลี่ยุคเกอร์ก็ยอมรับว่ามีความพยายามที่จะผลักดันโครงการบางโครงการโดยเฟิร์ส
แปซิฟิค แต่ไม่เป็นผล
"ทางเฟิร์ส แปซิฟิค เขาก็พยายามที่จะมีข้อเสนอให้ทางเบอร์ลี่ฯ AGGRESSIVE
มากกว่านี้ มีกำไรมากกว่านี้เขาเสนอโครงการบางโครงการมาที่เราไม่ค่อยจะรู้จักเท่าไหร่
เราก็ต้องอาศัยเวลาในการศึกษา แต่มันก็เป็นความก้าวหน้าที่มีเขาเข้ามาเป็นกรรมการของเรา
เขาช่วยเรามาก แต่เราก็ต้องดูด้วยว่าเป็นโครงการที่มีความเสี่ยงมากหรือเปล่า"
วอลเตอร์ ไมเยอร์ กล่าว
"ถ้าจะว่าเราคอนเซอร์เวทีฟ ผมว่ามันไม่ค่อยจะถูกนัก อัตราการเติบโตของกิจการของเรามีอยู่ตลอดเวลา
โดยเฉพาะทางด้านการลงทุน ทางด้านสินค้าอุปโภคบริโภคนั้น เราจะไปโถมแข่งกับลีเวอร์กับพีแอน์จีไม่ได้
เราอาจจะแข่งกับเขาได้ในระยะสั้นแต่ระยะยาวมันไม่ใช่ เราเป็นบริษัทที่เกิดขึ้นที่นี้เราไม่ได้มีบริษัทแม่จากที่อื่นเราไม่มีสายป่านยาวเท่าเขา
ที่จริงเราก็อยากที่จะไปเร็ว ๆ แต่ก็ต้องเป็นไปตามกำลังของเรา" ดร.อดุลย์
อมรวิวัฒน์ ว่าที่ผู้จัดการใหญ่ของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ต่อความเห็นที่ว่าเบอร์ลี่ฯคอนเซอร์เวทีฟเกินไป
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นยักษ์คอนเซอร์เวทีฟในสายตาของคนภายนอก อย่างไร เบอร์ลี่
ยุคเกอร์ก็ยังคงเป็นป้อมปราการที่วางรากฐานมากว่า 100 ปี ซึ่งย่อมมีฐานที่กว้างมากทั้งในด้านของกิจการทางด้านเทรดดิ้งและMANUFACTURING
พร้อมทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายอยู่กว่า 18,000 แห่ง และบริษัทในเครืออีกราว
20 บริษัท เท่านี้เบอร์ลี่ฯก็น่าที่จะเป็นฐานกำลังที่ดี หากว่าเฟิร์ส แปซิฟิค
ต้องการที่จะบรรลุยุทธศาสตร์ของธุรกิจตามที่มนูเอล ปังกิลินัน MANAGING DIRECTOR
ของ FIRST PACIFIC INTERNATIONAL ได้เคยกล่าวไว้ในรายงานแก่ผู้ถือหุ้นเมื่อปีที่แล้วว่า
"เป้าหมายยุทธศาสตร์ธุรกิจของกลุ่มบริษัทเฟิร์ส แฟซิฟิคอยู่ที่ภูมิภาคย่านเอเซีย-แปซิฟิค
ไม่ใช่อเมริกาและยุโรป"
นอกจากนี้ในรายงานการวิจัยของ เฟิร์ส แปซิฟิค ที่ฮ่องกงที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนมกราคมปีนี้
ได้ระบุว่า "ประเทศไทยมีศักยภาพการลงทุนที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเซียนนี้"
เฟิร์ส แปซิฟิคนั้นมีเป้าหมายที่แน่ชัด มีทิศทางที่ชัดเจนการพยายามที่จะมีส่วนในการบริหารให้มากขึ้นจนถึงขั้นเป็นผู้บริหารเสียเอง
และจากเหตุผลที่กล่าวมาก็น่าที่จะสมเหตุสมผลเพียงพอซึ่งมันก็เป็นเรื่องธรรมดา
แต่ว่าเรื่องธรรมดาของเฟิร์ส แปซิฟิคเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสูยเสียอำนาจของทางฝ่ายผู้ที่มีอำนาจบริหารเก่าอย่างวอลเตอร์
ไมเยอร์เข้า เรื่องธรรมดาอีกเรื่องก็เลยเกิดขึ้นคือเรื่องของการปกป้องผลประโยชน์
ซึ่งมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยวได้ยากในเมื่อเรื่องธรรมดาสองเรื่องที่มีความขัดแย้งกันแต่มาเกิดขึ้นในที่ที่เดียวกันคือที่บริษัทเบอร์ลี่
ยุคเกอร์แห่งนี้
"วอลเตอร์ ไมเยอร์เขาฉลาด และเขารู้ยิ่งกว่ารู้ว่าอะไรกำลังจะเกิดขึ้น
และเขาก็เตรีมการป้องกันมานานร่วม 2 ปี" แหล่งข่าวในวงการบริหารกล่าวกับ
"ผู้จัดการ" จากข้อสังเกตที่มีการแตกหุ้นของเบอร์ลีฯจาก 7 ล้านหุ้นเป็น
70 ล้านหุ้น ในเดือนตุลาคมปี 2530 เพื่อกระจายหุ้นมากยิ่งขึ้น การเทคโอเวอร์จึงค่อนข้างที่จะลำบาก
นอกจากนี้เกี่ยวกับการแต่งตั้งครั้งนี้ข้อสังเกตว่าวอลเอตร์ไมเยอร์ได้เตรียมการมา
2ปี แล้วเช่นกัน ตั้งแต่เมื่อมีการโยกย้ายตำแหน่งของ ดร.อดุลย์ อมตวิวัฒน์,
ประเสริฐ เมฆวัฒนา และโฟลเกอร์ ฟิชเชอร์ จากตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายมาเป็นที่ปรึกษาเมื่อ
2 ปีก่อนและมาดำรงตำแหน่งรองผู้จัดการทั้ง 3 คนในปีที่แล้ว จนกระทั่งเลือกผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดการใหญ่จากตำแหน่งรองผู้จัดการซึ่งจะเหลือเพียงขั้นตอนของการให้ผู้ที่จะมาเป็นผู้จัดการใหญ่มีตำแหน่งเป็นกรรมการเท่านั้น
"การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตำแหน่งทั้ง 3 คนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้มันมีเซ้นส์บางอย่างที่บอกเราได้"
แหล่งข่าวกล่าว
กรรมการของบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์จะมีเทอมของการดำรงตำแหน่งอยู่ 3 ปี สำหรับเอ็ดการ์
โรเด็ลนั้นเขาเคยอยู่ในตำแหน่งกรรมการจนครบเทอมมาแล้ว แต่มติของที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้เขาอยู่ในตำแหน่งต่ออีก
1 เทอม ซึ่งเขาอยู่ในตำแหน่งได้อีกเพียงปีเดียวก็ต้องเกษียณอายุตามกฏข้อบังคับของบริษัท
การต้องออกก่อนครบวาระนี้เป็นจังหวะที่คณะกรรมการสามารถที่จะแต่งตั้งผู้ที่จะมาทำหน้าที่แทนโรเด็ลต่ออีก
2 ปีตามเวลาที่เหลือของโรเด็ลโดยจะมีการรายงานให้ผู้ถือหุ้นรับทราบและเป็นการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในปลายปีนี้
ซึ่งในกลุ่มของคณะกรรมการนั้นวอลเตอร์ ไมเยอร์เป็นประธานและยังสามารถประสานประโยชน์ของกรรมการอื่น
ๆ ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นการเสนอชื่อดร.อดุลย์ เข้ารับการแต่งตั้งเป็นกรรมการในปลายปีนี้จึงไม่น่าที่จะเป็นปัญหา
แต่โดยตำแหน่งของเอ็ดการ์ โรเด็ลนั้นนอกจากตำแหน่งกรรมการบริษัทแล้วเขายังมีตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ที่จะต้องว่างลงในปลายปีนี้ด้วย
ทางด้านเฟิร์ส แปซิฟิคเองก็ย่อมรู้ดีว่าโรเด็ลจะมีอายุการทำงานอยู่เพียงปีนี้ปีเดียวในปลายปีก็ต้องมีการประกาศแต่งตั้งผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ใหม่
การติดต่อหาคนที่จะมารับตำแหน่งนี้ของทางเฟิร์ส แปซิฟิคเองก็เริ่มขึ้นในต้นปีนี้โดยการติดต่อให้บริษัท
HEAD HUNTER อย่างบอยเดน แอสโซซิเอทเป็นคนจัดการและวีรชัย วรรณึกกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารศรีนครก็อยู่ในข่ายนั้นด้วย
"สไตล์การทำงานของวีรชัยอานจะเป็นที่ชื่นชอบจากทางฝ่ายเฟิร์ส แปซิฟิคก็ได้เพราะวีรชัยมักจะถูกดึงตัวไปบริหารในองค์กรที่ค่อนข้างที่จะคอนเซอร์เวทีฟ
มีเทคนิคการบริหารใหม่ ๆ มีนโยบายขยายฐาน ขยายงานให้กว้างขึ้น ซึ่งเป็นสไตล์ใกล้เคียงกับทางฝ่ายเฟิร์ส
แปซิฟิค" แหล่งข่าวกล่าวถึงความพยายามของเฟิร์ส แปซิฟิค ที่จะหา ตัวแทนของตนเองในตำแหน่งผู้จัดการใหญ่
โดยอาจตั้งใจว่ากว่าจะถึงสิ้นปีที่จะมีการเลือกสรรตนเองก็น่าจะพอที่จะหาแนวร่วมสนับสนุนวีรชัยในกลุ่มกรรมการได้แม้ว่าในขณะนี้จะมีอยู่เพียง
5 คนจาก 15 คนเท่านั้น
แต่เงื่อนไขการเลือกสรรคนที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้กลับมีขั้นตอนเพิ่มขึ้นมา
โดยการตั้งกรรมการเลือกสรรขึ้นมาก่อน ประกอบด้วย ปิติ สิทธิอำนวย ผู้แทนของธนาคารกรุงเทพฯซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ประมาณ
4% , เอ็ดเวิร์ด เอ. ทอร์ทอริชี่ กรรมการจากทางฝ่ายของเฟิร์ส แปซิฟิคเองและวอเตอร์
ไมเยอร์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริษัท ทั้ง 3 คนตั้งเป็น SUB-COMMITTEE
ในการที่จะเลือกสรรคนที่เหมาะสมเพื่อเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการทั้ง 15 คนในวันที่
19 กรกฏาคมที่ผ่านมา โดยมีบริษัทบอยเด้นฯเป็นผู้ที่ช่วยเลือกหาคนจากภายนอกบริษัทมาเสนอต่อ
SUB-COMMITTEE ด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าชื่อของวีรชัย วรรณึกกุลคนที่เฟิร์ส
แปซิฟิคเสนอย่อมที่จะเป็นชื่อหนึ่งที่ถูกเสนอในการประชุมของ SUB-COMMITTEE
เพื่อการเลือกสรรแต่ไม่ได้รับการเสนอชื่อต่อคณะกรรมการใหญ่ในส่วนนี้
"ในการพิจารณาเกี่ยวกับผู้จัดการใหญ่คนใหม่นี้เราพิจารณาทางเลือกหลายคน
มีทั้งคนที่มีความสามารถจากนอกเบอร์ลี่ฯและเราก็พิจารณาถึงคนภายในของเราเองด้วย
เมื่อดูแล้วทาง SUB-COMMITTEE ก็เลือกดร.อดุลย์ คนภายในบริษัทเราที่เราเชื่อมั่นในความสามารถ
เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการเพียงคนเดียว ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการในวันที่
19 กรกฏาคมก็เห็นด้วยกับการที่จะมาสืบตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ในปลายปีนี้ของดร.อดุลย์"วอลเตอร์
ไมเยอร์ ประธานกรรมการบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์วัย 74 ปี กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ถึงการเลือกสรรผู้จัดการใหญ่คนใหม่
แต่ในบางความคิดกลับเห็นว่านี้เป็นอคกครั้งหนึ่งที่เราได้เห็นความเจนจัดทางการบริหารของวอลเตอร์
ไมเยอร์ผู้ที่ใช้ชีวิตเกือบครึ่งชีวิตในการทำงานให้กับเบอร์ลี่ ยุคเกอร์
"วอลเตอร์ ไมเยอร์ได้ใช้ช่วยเวลานี้ที่ถึงแม้ว่าเฟิร์ส แปซิฟิคจะสามารถถือครองหุ้นได้มากกว่ามาก
แต่จำนวนกรรมการที่มีอำนาจในการเลือกสรรและแต่งตั้งผู้จัดการใหญ่นั้นยังมีเพียง
5 คนจาก 15 คนเท่านั้น และการเพิ่มขั้นตอนการมี SUB-COMMITTEE ที่มีคนคุ้นเคยกับไมเยอร์อย่างปีติอยู่ด้วยแล้วก็เป็นเสียง
2 ใน 3 ของ SUB-COMMITTEE ซึ่งย่อมเป็นการปิดประตูแพ้ในเรื่องการเสนอคนของตนขึ้นเป็นผู้จัดการใหญ่"
แหล่งข่าวในวงการบริหารรายหนึ่งกล่าวกับ "ผู้จัดการ"
"การประกาศเสียแต่ตอนนี้อาจเป็นการประกันความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นได้ไม่ว่าช่องทางใดช่องทางหนึ่งหรืออย่างน้อยก็เป็นยันต์กันโผพลิกได้บ้าง"
แหล่งข่าวกล่าว
ซึ่งแตกต่างจากความเห็นของ ดร. อดุลย์ อมตวิวัฒน์ ว่าที่ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่
ที่ทำงานให้กับเบอร์ลี่ฯมาร่วม 10 ปี
"เวลาที่เขาใช้ในการเลือกสรรและแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการคราวนี้ไม่ได้เป็นไปอย่างที่เรียกว่าเร็วเกิน
เพราะปกติแล้วเราก็จะมีการแต่งตั้งก่อนล่วงหน้า 1 ปี เพื่อที่จะได้ให้คนใหม่ที่จะมาทำหน้าที่นั้นได้มีโอกาสศึกษางานก่อนที่จะมาทำงานจริงและที่จริงแล้วการประกาศแต่งตั้งครั้งนี้ของเราเป็นเพียงการภายในเท่านั้น
เราต้องการที่จะบอกกับพนักงานภายในบริษัทได้รู้ว่าเรากำลังจะทำอะไรหลังจากที่โรเด็ล
ออกไปแล้ว เราประกาศก็ใช้เพียงกระดาษแผ่นเดียวเท่านั้น ไม่ได้มีการแถลงข่าว
จนกระทั่งมีการทำกันเป็นข่าวเราก็เลยต้องประกาศออกมาเพื่อต้องการให้สื่อมวลชนได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง
และสำหรับในปลายปีนี้ในการประชุมผู้ถือหุ้นมันเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบเท่านี้นไม่มีการลงคะแนนเสีย"
ดร.อดุลย์กล่าว
แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงการประกาศให้ผู้ถือหุ้นรับทราบเท่านั้นก็ตาม แต่การทำหน้าที่ในการเป็นผู้ประสานประโยชน์ในการแต่งตั้งครั้งนี้ของวอลเตอร์
ไมเยอร์ ก็ทำหน้าที่อย่างรอบคอบเพื่อสร้างการยอมรับการรับตำแหน่งสำคัญนี้ของดร.อดุลย์
ด้วยการขอความเห็นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นนอกเหนือจากกรรมการใน SUB-COMMITTEE
ด้วยกันแล้ว เช่นกลุ่มโอสถานุเคราะห์ที่มีหุ้นของเบอร์ลี่ฯ อยู่ถึง 12 %
โดยผ่านทางสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์
"เรามีการพูดคุยกับผู้ถือหุ้นหลายฝ่าย คุณสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์
เราก็ได้ขอคำแนะนำ และเขาก็เห็นด้วยสำหรับ ดร.อดุลย์ ทางเราที่เป็น SUB-COMMITTEE
ก็เสนอต่อคณะกรรมการ และได้มีการประกาศเพื่อที่จะลดข่าวลือที่เกิดขึ้น เพื่อให้ผู้ที่สนใจได้รับข่าวสารข้อมูลที่ถูกต้องจากเรา
ซึ่งหลายฝ่ายก็ยอมรับ ดร.อดุลย์ ทางเฟิร์ส แปซิฟิคก็เห็นด้วย เราคุยกันแล้วไม่มีปัญหาอะไร"
วอลเตอร์ ไมเยอร์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงสิ่งที่เป็นข้อตกลงยอมรับของผู้ถือหุ้นรายใหญ่
หากเราจะพิจารณา เกี่ยวกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ อย่างเช่น
ปิติ สิทธิอำนวย ผู้เป็นตัวแทนของธนาคารกรุงเทพ และสุรินทร์ โอสถานุเคราะห์
ที่เหมือนกับตัวแทนของกลุ่มโอสถานุเคราะห์ที่มีบทบาทในการเลือกสรรผู้จัดการใหญ่ครั้งนี้แล้วเราจะเห็นว่า
ทั้ง 2 ส่วนนี้มีลักษณะของการเป็นนักลงทุนเป็น INVESTOR ที่ต้องการเงินปันผลจากหุ้นส่วนที่เขาได้ซื้อไว้
ซึ่งเขาย่อมไม่ต้องการความเสี่ยงโดยไม่จำเป็นในการเปลี่ยนกลุ่มผู้บริหารเป็นกลุ่มของเฟิร์ส
แปซิฟิค ตราบใดที่กลุ่มผู้บริหารของวอลเตอร์ ไมเยอร์ ยังสามารถดำเนินธุรกิจและสามารถมีเงินปันผลที่ดี
ซึ่งเมื่อพิจารณาการลงทุนในด้านต่าง ๆ ก็เป็นแนวโน้มที่จะสามารถเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้มากกว่าปัจจุบัน
ประกอบกับความรู้จักมักคุ้นกันมาก่อนกับไมเยอร์ ผลของการตกลงจึงออกมาในการให้การสนับสนุน
ดร.อดุลย์ และได้รับการยอมรับจากคณะกรรมการของบริษัท ไม่ว่าทางกลุ่มเฟิร์ส
แปซิฟิค จะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม
การแต่งตั้ง ดร.อดุลย์ อย่างเป็นทางการกำลังจะมีขึ้นในปลายปีนี้ อำนาจการบริหารบริษัทเก่าแก่ที่วอลเตอร์ไมเยอร์ได้ลงแรงพลิกฟื้นธุรกิจตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่
2 เป็นต้นมา คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ ทำไมตำแหน่งสำคัญตำแหน่งนี้จึงต้องเป็นของ
ดร.อดุลย์ ทำไมไม่เป็นของรองผู้จัดการคนอื่นที่เหลืออีก 3 คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเสริฐ
เมฆวัฒนา ที่ทำงานในเบอร์ลี่ฯ มานานกว่า ดร.อดุลย์ หรือทำไมไมเยอร์ ถึงไม่เลือกที่จะมอบตำแหน่งนี้ให้กับ
ดร.นิติ ไมเยอร์ ลูกชายของตน
"วอลเตอร์ ไมเยอร์ คงอยากเสนอ ดร. นิติเหมือนกัน แต่คงยังไม่ถึงเวลา
ถ้าลองพิจารณาดูแล้วมันจะน่าเกลียดเกินไป อายุ ดร.นิติยังน้อย ประสบการณ์ยังไม่พอ
แต่เชื่อได้ว่าหากวอลเตอร์ ไมเยอร์ยังสามารถประสานกลุ่มบริหารได้ดีอยู่ละก็
ดร.นิติต่อไปในอนาคตก็ได้ ซึ่งบริษัทอื่นๆ กว่า 60% ก็ทำอย่างนี้ ให้คนอื่นขัดตาทัพไว้ก่อนแล้วกระซิบข้างหูว่า
2 ปีนะ แล้วก็เอาลูกหลานของตนเองขึ้น" แหล่งข่าวกล่าว
แต่ใครจะเข้าใจการแต่งตั้งครั้งนี้ได้เท่ากับวอลเตอร์ ไมเยอร์
"รองผู้จัดการทั้ง 4 คน ต่างก็มีหวังกันทั้งนั้น แต่ทางคณะกรรมการเองเห็นด้วยกับการที่ต้องการอยากจะให้ตำแหน่งผู้จัดการใหญ่นี้เป็นของคนไทยเสียที
เพราะในประวัติศาสตร์ตลอด 107 ปี ไม่เคยมีเลย ทางเลือกก็เหลือ นิติ, ประเสริฐ
แล้วก็ อดุลย์ เพราะฟิชเชิร์เป็นเยอรมัน นิตินั้นอายุยังน้อย เขาต้องเรียนรู้อีกมาก
ประเสริฐอายุ 41 ปี อดุลย์อายุ 51 ปี ถึงแม้ว่าประเสริฐจะทำงานให้กับเบอร์ลี่ฯมานานกว่า
ดร.อดุลย์ แต่เราต้องมองความเหมาะสมสำหรับในอนาคตที่เรากำลังจะก้าวไปสู่ทางด้านอุตสาหกรรม
ดร.อดุลย์เขามีประสบการณ์ทางด้านนี้มามาก การศึกษาเขาก็จบทางด้านวิศวกรเคมีมา
เราก็เลือก ดร.อดุลย์ ซึ่งเราก็ได้เปรียบเทียบกับคนภายนอกที่ถูกเสนอชื่อเพื่อการพิจารณาแล้ว
เราเห็นว่าการที่เป็นคนภายในบริษัทก็เป็นผลดีทางด้านกำลังใจของคนทำงาน และไม่ทำให้เกิดความขัดแข้งกับพนักงานด้วย
เพราะอดุลย์เองเป็นผู้ที่เป็นที่ยอมรับมากในบริษัท" วอลเตอร์ ไมเยอร์
กล่าวกับ "ผู้จัดการ" ถึงเหตุผลการเลือก ดร.อดุลย์สำหรับตำแหน่งนี้
"สำหรับนิติแล้ว ผมบอกเขาตั้งแต่เขาจะเข้ามาทำงานในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์
แล้วว่าผมจะไม่ช่วยเหลืออะไร ผมบอกลูกชายว่าถ้าต้องการเป็นท้อปออฟเดอะท้อป
ต้องพิสูจน์ตัวเอง ให้คนในบริษัทยอมรับด้วยตัวของเขาเอง ผมไม่ใช่คนที่จะมายอกย่องลูกของตัวเองขึ้นเหนือคนอื่น
ทั้ง ๆ ที่ความสามารถยังไม่ถึง "วอลเตอร์ ไมเยอร์ กล่าวถึงความเห็นที่มีต่ออนาครทางการยริหารของ
ดร.นิติ ไมเยอร์ ลูกชายของเขา"
และในที่สุดชื่อของ ดร.อดุลย์ก็ได้เป็นชื่อเดียวที่จะขึ้นแท่นรอเวลาปลายปีที่จะได้รับเหรียญตราแต่งตั้งอย่างเป็นทางการที่หลายคนอาจเห็นว่าเป็นการขัดขวางทางเดินของเฟิร์ส
แปซิฟิคอยู่มากในการส่งคนขึ้นตำแหน่งทางการบริหารนี้ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม
การขึ้นมารั้งตำแหน่ง ของดร.อดุลย์ครั้งนี้อาจเป็นอีกหนทางหนึ่งในการลดช่องว่างของสไตล์การบริหารของฝ่ายเฟิร์ส
แปซิฟิคกับของกลุ่มไมเยอร์ให้ลดลง จะเห็นได้ว่าการออกมายอมรับถึงความคอนเซอร์เวทีฟ
ทางการบริหารของตนเอง ของไมเยอร์เองและการเลือกสรรที่มีความพยายามที่ทจะหาคนรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือร้น
มีความคิดก้าวหน้ามีความ AGGRESSIVE มากขึ้น ซึ่งถ้ามองในสายตาของนักลงทุนอย่างเฟิร์ส
แปซิฟิค แล้วก็น่าที่จะพอใจในระดับหนึ่งถึงความเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้
"ผมยอมรับว่าที่ผ่านมาเราค่อนข้างที่จะคอนเซอร์เวทีฟนิดหน่อย แต่ในปีหน้าและต่อไปเราจะก้าวหน้าเร็วกว่าเดิม
เราพยายามที่จะหาคนรุ่นใหม่ ๆ ที่จะมาทำหน้าที่ในการบริหารงานพยายามที่จะให้ค่อนข้างแอกเกรสสีฟมากขึ้น"
วอลเตอร์ ไมเยอร์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
คนรุ่นใหม่ที่จะมาทำหน้าที่ลดช่องว่างทางการบริหารในครั้งนี้ก็คือ ดร.อดุลย์
อดีตกรรมการผู้จักการบริษัท รูเบีย ที่เป็นอุตสาหกรรมหัวใจทางด้านการผลิตสินค้าของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ อย่างได้ผลดี ความรู้ระดับปริญญาโทและเอกทางด้านวิศวกรรมเคมี จากมหาวิทยาลัยลอนดอน
ร่วมกันทำงานในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ มานาน 11 ปี ตั้งแต่ปี 2519 เป็นอีกคนหนึ่งที่วอลเตอร์
ไมเยอร์ให้ความไว้วางใจที่จะนำความแข็งแกร่งทางภาคอุตสาหกรรมมาสู่เบอร์ลี่
ยุคเกอร์ ซึ่ง ดร.อดุลย์ก็ได้เป็นตัวหลักในการพัฒนาโครงการทางด้านอุตสาหกรรมตาง
ๆ หลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างโรงงานใหม่ของบริษัทไทยกลาส ซึ่งเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ ถือหุ้นอยู่ 42 % เพื่อพัฒนาให้เป็นโรงงานผลิตแก้วที่ทันสมัยที่สุดในโลกด้วยเงินลงทุน
800 กว่าล้านบาทที่อำเภอบางพลี สมุทรปราการหรือโครงการสร้างตึกสำนักงานรวมของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ บนเนื้อที่ 7ไร่กว่า เพื่อการประสานงานที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ และโครงการที่ทำร่วมกับบริษัทแป๊ปซี่โค ในการผลิตอาหารทางเล่น ในชื่อบริษัท
สยามสแน็ค ที่กำลังจะสร้างโรงงานเป็นของตนเองแทนการเช่าที่ซอนเทพารักษ์ ทั้งสามโครงการเป็นโครงการระยะสั้นทีรุกคืบไปสู่การเป็นผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายอย่างครบวงจรซึ่งได้เริ่มดำเนินการไปบ้างแล้ว
และจะเสร็จสิ้นทั้ง 3 โครงการภายใน 2 ปี
นอกจากนี้ยังมีอีก 3-4โครงการที่อยู่ในขั้นการตกลงไม่ว่าจะเป็นการสร้าง
DISTRIBUTION CENTER ที่ซอยวัดกิ่งแก้วเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการประสานงานของกระบวนการจัดจำหน่าย,
โครงการ การรุกคืบไปในตลาดไดเร็กต์เซลล์, โครงกาตติดต่อซัพพลายเออร์จากต่างประเทศมาร่วมลงทุนในไทย
โดยเฉพาะทางด้านอาหาร ซึ่งทั้งหมดเป็นโครงการที่จะสามารถลงมือเริ่มโครงการได้ในช่วง
3-4 ปี ข้างหน้า ประวัติศาสตร์การบริหารของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์อาจจะเปลี่ยนไปถึงยุคที่มี
ดร.อดุลย์เป็นผู้จัดการใหญ่ ซึ่งทางฝ่ายเฟิร์ส แปซิฟิคก็น่าที่จะหวังไว้เช่นนั้น
เพราะสิ่งที่เขาต้องการก็คือการมีเงินปันผลที่ดี มีความก้าวหน้าของกิจการที่เขาลงทุน
มีสไตล์การบริหารที่สามารถนำองค์กรไปในทิศทางที่ถูกต้อง เพราะตราบใดที่ทางเฟิร์ส
แปซิฟิคยังเห็นว่าการลงทุนในเบอร์ลี่ ยุคเกอร์แห่งนี้ยังคุ้มค่า ยังมีกำไร
การเข้าไปก้าวก่ายทางด้านการบริหารที่อาจจะนำมาสู่การปะทะและทำให้เกิดความขัดแข้งในองค์กร
ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นในสายตาของนักลงทุนระดับโลกอย่างเฟิร์ส แปซิฟิค
อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่อาจจะรู้ได้อย่างแน่ชัด หากแต่ว่าพิจารณาสถานการณ์ในขณะนี้ของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ นั้นมีผู้ถือหุ้นเกิน 50 % เป็นผู้ที่อยู่ในกลุ่มของเฟิร์ส แปซิฟิค
อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งในปีนี้จำนวนกรรมการของกลุ่มนี้อาจจะมีเพียง 5 คน
แต่เชื่อได้ว่าในปีต่อ ๆ ไปหากมีกรรมการของกลุ่มอื่นครบวาระ และต้องมีการเลือกผู้ที่จะมาเป็นกรรมการบริษัททดแทน
เชื่อได้เลยว่าจะต้องเป็นคนของกลุ่มเฟิร์ส แปซิฟิค อย่างไม่ต้องเดา ผู้บริหารระดับผู้จัดการใหญ่ในปีนี้ยังเป็นผู้ที่วอลเตอร์
ไมเยอร์มีส่วนอยู่มากในการเลือกสรรแต่งตั้ง แต่เมื่อ ดร.อดุลย์ ทำงานในหน้าที่จนครบกำหนดเทอมการเป็นกรรมการอีก
2 ปีข้างหน้า ใครจะรับรองว่า ดร.อดุลย์จะได้รับการแต่งตั้งกลับเข้าอีกในตำแหน่งเดิม
แต่อาจจะด้วยโครงการหลายโครงการของเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นหลังจากที่เป็นเพียงแผนการในกระดาษมานาน
จึงน่าจะมีส่วนที่ทำให้เฟิร์ส แปซิฟิคยังคงให้ความพยายามที่จะมีส่วนในการบริหารอย่างโจ่งแจ้งนัก
เพราะอย่างน้อยในขณะนี้ก็สามารถถือครองหุ้นส่วนมากอยู่แล้วการที่อยู่เลื้องหลังคอยผลักดันระดับนโยบายหรือเป้ากำไรให้เป็นไปตามต้องการ
ก็น่าที่จะทำได้ง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการทำงานร่วมกับผู้บริหารกลุ่มใหม่
หากสามารถผลักดันการบริหารไปในทิศทางที่ต้องการได้มีผลกำไรเป็นที่พอใจ เฟิร์ส
แปซิฟิคก็น่าที่จะแฮปปี้กับการเป็นผู้คุมทางด้านนโยบายเพียงอย่างเดียว คอยรับผลประโยชน์จากการดำเนินงานของผู้บริหาร
ซึ่ง ดร.อดุลย์และทีมงานย่อมต้องรู้และเข้าใจว่าเฟิร์ส แปซิฟิคเองมีความต้องการอย่างไร
"ผมและผู้บริหารทุกคนเป็นมืออาชีพ เราบริหารเพื่อผู้ถือหุ้นของเรา"
ดร.อดุลย์ กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
แต่สิ่งที่จะต้องพิจารณาก็คือวิธีการทำธุรกิจของผู้บริหารในเฟิร์ส แปซิฟิคที่มีกจะมีการขายกิจการที่ตนเองสามารถถือครองหุ้นส่วนใหญ่ได้เมื่อเวลาที่สมควรมาถึง
นั้นคือเมื่อมีผู้เสนอราคาที่เฟิร์ส แปซิฟิคเห็นว่าสามารถทำกำไรให้กับกลุ่มธุรกิจได้มาก
วิธีการเช่นนี้อาจจะถูกนำมาใช้กับบริษัทเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ก็ได้หากถึงเวลาที่เหมาะสม
ที่เฟิร์ส แปซิฟิคทำอยู่ในขณะนี้ก็คือการบำรุงเลี้ยงให้เบอร์ลี่ ยุคเกอร์โรพอที่จะขายได้เท่านั้น
ซึ่งเฉพาะสินทรัพย์ บริษัทในเครือก็น่าที่จะขายได้มหาศาล รอเพียงเวลาเท่านั้น
ถึงแม้ว่าจะมีบางความคิดว่าเฟิร์ส แปซิฟิคคงไม่ขายเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ แม้ว่าจะมีโอกาส
เพราะเบอร์ลี่ ยุคเกอร์ นั้นเป็นฐานทางด้านอุตสาหกรรมที่เฟิร์ส แปซิฟิคต้องการเพื่อเป็นฐานในหนทางการเข้าสู่ธุรกิจในย่านเอเชีญแปซิฟิคตามเป้าที่ได้วางไว้
แต่ทั้งสองทางเลือกล้วนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น
และยิ่งถ้าพิจารณาถึงมุมมองของนักลงทุนระหว่างประเทศอย่างเฟิร์ส แปซิฟิค
อินเตอร์เนชั่นแนลแล้วจะเห็นว่าเขามีมุมมองที่กว้างกว่า เขาย่อมไม่ยอมให้ภาพของความขัดแย้งของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ปรากฏออกมาอย่างชัดเจนกับกลุ่มผู้ถือหุ้นอย่างเด็ดขาด ราคาของหุ้นเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นสิ่งที่เฟิร์ส แปซิฟิคคำนึงถึงอยู่เสมอมา
สิ่งที่อาจมีผลกระทบจนก่อให้เกิดความขัดแข้งโดยไม่จำเป็น จึงน่าที่จะเป็นสิ่งที่เฟิร์ส
แปซิฟิคหลีกเลี่ยง
ดังนั้นถึงแม้ว่าหุ้นที่มีอยู่ในครอบครองจะมีมากเกินกว่าครึ่งแต่สิ่งที่เฟิร์ส
แปซิฟิคเลือกที่จะปฏิบัติก็คือความพยายามที่จะให้การเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารเป็นไปอย่างที่ไม่โฉ่งฉ่าง
หรือพยายามที่จะเข้าไปด้วยวิธีการที่นุ่มนวลที่สุดเพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในองค์กร
แต่ความที่เป็นนักลงทุนย่อมไม่ยอมที่จะสูญเสียประโยชน์โดยไม่จำเป็น ถ้าการบริหารเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ ในยุคของดร. อดุลย์ ไม่สามารถสนองต่อเป้าประสงค์ของกลุ่มเฟิร์ส
แปซิฟิคได้แล้วสิ่งที่จะเกิดมันก็ต้องเกิด เพราะการบริหารกิจการเองย่อมที่จะควบคุมให้เป็นไปในทิศทางและสู่เป้าหมายที่ตรงกับความต้องการได้ง่ายกว่า
ถึงแม่ว่างทางวอลเตอร์ ไมเยอร์ เองจะเคยมีการตกลงเป็นลายลักษณ์อักษร (WRITTEN
AGREEMENT) กับทางเฟิร์ส แปซิฟิคอินเตอร์เนชั่นแนล ถึงการที่จะไม่เข้ามาก้าวก่ายทางด้านการบริหารของเบอร์ลี่
ยุคเกอร์ ก็ตาม แต่ใครจะยอมให้เบอร์ลี่ ยุคเกอร์มีการบริหารงานที่ตนเองไม่เห็นด้วย
ในขณะที่เฟิร์ส แปซิฟิคมีฐานะที่สำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามจำนวนหุ้นที่มีอยู่ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อม
เมื่อลงทุนไปมาก เฟิร์ส แปซิฟิคก็ต้องการผลตอบแทนมากเป็นธรรมดา การยึดอำนาจบริหารอย่างฉันมิตรคงได้เห็นอีกไม่นาน
เชื่อเถอะว่า ใต้ผ้านี้ไม่มีอะไรแน่นอน…หรือว่าคุณจะเชื่อใน WRITTEN AGREEMENT
??