พรีมาเวสท์จ่อคิวตราสารหนี้อีก 2 กอง หลังกองทุนปิดภายใต้การบริหารเริ่มทยอยครบอายุ ล่าสุดเตรียมคลอดกองทุนทดแทนกองทุนปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์ ชอร์ทเทอม อินคัม 4 และกรุงศรี-พรีมาเวสท์ฟิกซ์อินคัม ที่จะหมดอายุโครงการตุลาคมนี้ คาดมูลค่าโครงการประมาณ 1,000 ล้านบาท เน้นลงทุนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปี พร้อมคุ้มครองเงินต้น
นายเพิ่มพล ประเสริฐล้ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) พรีมาเวสท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ บริษัทมีแผนจะจัดตั้งกองทุนตราสารหนี้ออกมาอีก 1 กองทุน มูลค่าประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยเป็นการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาทดแทนกองทุนที่จะหมดอายุลงจำนวน 2 กองทุน คือ กองทุนปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์ ชอร์ทเทอม อินคัม 4 มูลค่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะหมดอายุโครงการในช่วงเดือนตุลาคม และกองทุนกองทุนปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์ฟิกซ์อินคัม ( KPF ) มูลค่า 1,000 ล้านบาทอายุโครงการ 6 เดือน โดยจะสิ้นสุดในเดือนตุลาคมเช่นกัน
ทั้งนี้ รูปแบบของกองทุนดังกล่าวจะเป็นกองทุนที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐที่มีความมั่นคงและคุ้มครองเงินต้นเป็นหลัก เช่น พันธบัตรรัฐบาล ตั๋วเงินคลัง ที่มีอายุโครงการประมาณ 1 ปี
นายเพิ่มพลกล่าวว่า กองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ คาดว่าผลตอบแทนของกองทุนจะสูงกว่ากองทุนที่หมดอายุโครงการไป เนื่องจากธนาคารแห่งประเทศไทยมีการปรับดอกเบี้ยระยะสั้นในประเทศขึ้นไปถึง 0.50% เป็น 3.25% เมื่อวันที่ 9 กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนทำให้ผลตอบแทนของตราสารระยะสั้นที่จะเข้าไปลงทุนปรับเพิ่มขึ้นด้วย
"กองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นมาใหม่ คงจะเน้นกองทุนที่มีความมั่นคงเป็นหลัก หรือมีการคุ้มครองเงินต้น เพื่อให้ผู้ลงทุนมีความมั่นใจในการลงทุน โดยจะเน้นกองทุนอายุ 1 ปี"นายเพิ่มพลกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงเดือนพฤษจิกายน จะมีกองทุนภายใต้การบริหารอีก 1 กองทุนที่จะหมดอายุโครงการ คือ กองทุนปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์ ชอร์ทเทอม อินคัม 5 มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท ซึ่งจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน 2548 โดยบริษัทมีแผนที่จะจัดตั้งกองทุนใหม่ออกมาเพื่อทดแทนกองทุนดังกล่าวในช่วงเดือนพฤษจิกายนด้วย
อย่างไรก็ตาม สำหรับกองทุนปิดกรุงศรี-พรีมาเวสท์ ชอร์ทเทอม อินคัม 3A (KPS3A) อายุโครงการ 1 ปี ซึ่งเปิดขายหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 7-15 กันยายนที่ผ่านมานั้น สามารถระดมทุนได้เบื้องต้นประมาณ 500 ล้านบาทจากมูลค่าโครงการ 700 ล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าว เป็นกองทุนที่มีความมั่นคง ปลอดภัยและเงินลงทุนอยู่ครบ 100% เนื่องจากกองทุนจะนำเงินไปลงทุนในตราสารการเงินที่รัฐบาลเป็นผู้ออกเท่านั้น เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นต้น ซึ่งตราสารที่ลงทุนดังกล่าวรัฐบาลค้ำประกันทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย โดยรับโอกาสจากผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำระยะสั้นของธนาคารพาณิชย์
ก่อนหน้านี้ นายเพิ่มพลกล่าวว่า ในช่วงที่เหลือของปีนี้บริษัทมีแผนจะเปิดกองทุนอีกมูลค่ากว่า 5,000 ล้านบาท โดยจะมีทั้งกองทุนตราสารหนี้ กองทุนหุ้น กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) และกองทุนที่ลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ซึ่งบริษัทได้ยื่นความจำนงไปยังสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ไปแล้วก่อนหน้านี้
ทั้งนี้ ในแผนการจัดตั้งกองทุนนั้น จะให้ความสำคัญกับกองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก ซึ่งจากนี้ไปบริษัทตั้งเป้าจะเปิดขายกองทุนเดือนละกอง มูลค่ารวมกันประมาณ 3,000-4,000 ล้านบาท ซึ่งรูปแบบของกองทุน จะมีทั้งกองทุนที่อายุสั้นๆ 9 เดือนถึง 1 ปี และกองทุนอายุ 2-3 ปี เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนในระดับที่แตกต่างกัน อีกทั้งเพื่อไม่เป็นการเสียโอกาสจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น
|