เผยแนวคิด "สิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ" กรรมการผู้จัดการใหญ่ทศทคนใหม่ ปรับวัฒนธรรมองค์กรไปสู่ลูกค้าเป็นเป้าหมายหลัก ด้วยกลยุทธ์การตลาดนำเทคโนโลยี สร้างซูเปอร์ทีม อาณา จักรธุรกิจทศท บนพื้นฐานบริการหลากหลาย สัญญาร่วมการงานจำนวนมาก และการถือหุ้นบริษัทพันธมิตร ย้ำมีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์ตามแนวคิดกระจายอำนาจให้ผู้บริหารแต่ละกลุ่มธุรกิจแต่ควบคุมผลลัพธ์ เพื่อได้ตามเป้าหมาย 1 ใน 3 ผู้นำสื่อสารโทรคมนาคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายสิทธิชัย ส่งพิริยะกิจ กรรม การผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทศท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปณิธานภายหลังเข้ารับตำแหน่งต้อง การที่จะสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนให้ทศท เป็นองค์กรที่มีคุณภาพทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านบริการเมื่อเทียบกับคู่แข่ง การบริหารการจัดการและเป็นองค์กรที่มีคุณธรรม
นอกจากนี้ ต้องสร้างความพอใจ ให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น นักลงทุน พันธมิตรธุรกิจ และโดยเฉพาะลูกค้า ต่อไปความพึงพอใจลูกค้าหรือสิ่งที่ลูกค้าปรารถนา ทศท ต้องตอบสนองให้ได้ทันการ ต้อง ให้ความสำคัญลูกค้าเป็นอันดับแรก
"ผมมองว่าเป็นภารกิจที่หนักมาก เพราะเราอยู่ ในวัฒนธรรมแบบราชการมานาน ถูกพันธนาการจาก กฎระเบียบภาครัฐ แต่กำลังจะเปลี่ยนไปสู่รูปแบบธุรกิจ ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควรในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร"
ในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร สะท้อนด้วยที่สิ่งที่นายสิทธิชัยต้องการจะให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า พีเพิล เทิร์นอราวนด์ ปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่ทำธุรกิจแบบผูกขาด กฎระเบียบออกมาเพื่อการทำงานที่สะดวกสบายของคนในองค์กร ไปสู่การมอง ที่ลูกค้าเป็นหลัก เพื่อให้ลูกค้ามีความสะดวกสบายมากกว่า รวมทั้งฝังแนวคิดด้านการตลาดเข้าไปสู่พนักงานทุกระดับเริ่มจากกรรมการผู้จัดการใหญ่เอง ก็จะมีการเข้าพบเยี่ยมเยียนลูกค้าชั้นดี ขนิดใช้โทรศัพท์ติด 10 อันดับแรก อย่างธนาคารกรุงเทพฯ ก็จะเข้าพบนายชาติศิริ โสภณพานิช
เพราะปัจจุบันทศทมีพนักงานกว่า 20% ที่เข้าไป พบลูกค้า มีวิศวกรกว่า 20% คอยให้บริการตรวจซ่อม บำรุงรักษา ที่เหลือเป็นพนักงานในส่วนสนับสนุนอย่าง ที่สำนักงานใหญ่ต่อไปต้องผลักดันให้เข้าไปสัมผัสกับลูกค้ามากขึ้นทุกระดับ ซึ่งต่อไปเมื่อทศทจะมีสินค้า หรือบริการใหม่ๆออกตลาด ก็จะอบรมให้ความรู้พนักงานในตัวสินค้าและบริการ เพื่อให้เข้าใจเรื่องการ ตลาดด้วย
"ทศทจะใช้การตลาดเป็นตัวขับเคลื่อนเทคโนโลยี ไม่ใช่เอาเทคโนโลยีเป็นตัวขับเคลื่อนการ ตลาด อย่างบริษัทในสหรัฐฯที่ล้มไปก็เพราะลงทุนเกิน ตัวด้านเทคโนโลยี เราจะให้วิศวกรทศทเสนอในลักษณะเป็นโซลูชั่นให้ลูกค้าทุกรูปแบบ ตามที่ลูกค้าต้องการ"
นายสิทธิชัย มองประเด็นเทคโนโลยีว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ความเสี่ยงมีสูง ต้อง ลงทุนแบบชาญฉลาด หากเลือกใช้เทคโนโลยีใดแล้ว ต้องรีบแสวงโอกาสทางธุรกิจทันที ล่าช้าไม่ได้ ซึ่งการ ใช้วิธีประมูลแบบราชการทำให้บางครั้งเสียโอกาสการ แข่งขันเชิงธุรกิจ และบางเทคโนโลยียังไม่มีมาตรฐาน ที่ชัดเจน หากเลือกลงทุนไปแล้วจะเป็นการผูกพันกับเทคโนโลยีนั้นๆ ทศทก็สามารถเลี่ยงใช้วิธีการเช่า อย่างระบบบิลลิ่ง ระบบ CRM คอลเซ็นเตอร์
นอกจากนี้ยังต้องบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยคำนึงถึงคุณภาพที่ต้องเหนือกว่าคู่แข่ง ซึ่งต่อไปการตั้งงบลงทุนโครงการต่างๆ ต้องศึกษาต้นทุนอย่างละเอียดว่าแข่งขันกับคู่แข่งได้หรือไม่
"การประมูลล่าช้าเห็นได้อย่างโครงการระบบสื่อสัญญาณความเร็วสูงหรือ TNEP ซึ่งในระยะต่อไปแต่ละหน่วยธุรกิจหรือ BG จะเป็นคนรับผิดชอบในการจัดหาของแต่ละหน่วยธุรกิจเอง ยกเว้นการจัดซื้อที่เป็นหน่วยใหญ่ๆก็ใช้การจัดซื้อรวม" นายสิทธิชัยกล่าวและย้ำว่าจะยึดแนวทางการประมูลแบบ เอกชน ซึ่งใช้ความต้องการเป็นเงื่อนไขในการจัดหา เพราะที่ผ่านมาทศทมักเขียนทีโออาร์หรือข้อกำหนดที่ละเอียดมากเกินไป
แนวคิดการทำงานของเขาคือการ De-Centerize Operation ,Centerize Control โดยการกระจายอำนาจให้ 9 หน่วยธุรกิจ ในขณะเดียว กันจะควบคุมและดูผลประกอบการที่ออกมา ซึ่งซีอีโอแต่ละกลุ่มธุรกิจจะมีอำนาจบริหารงานอย่างเต็มที่ โดยโครงสร้างธุรกิจของทศทยังมีรายได้หลักจากโทรศัพท์พื้นฐาน ซึ่งให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพบริการและการปรับปรุงโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการตรวจแก้ ปกป้อง รักษา และขยายฐาน ลูกค้า ซึ่งในภูมิภาคมีโอกาสที่จะขยายได้อีกมา และรีบหาบริการเสริมมาต่อยอดรายได้ค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐาน ต้องหาบริการที่คนอื่นไม่มีให้บริการ
ส่วนธุรกิจด้านสื่อสารข้อมูลต้องเร่งรัดโครงการ TNEP ไอพี เน็ตเวิร์ก โครงข่าย ATM ต่างๆ รวมทั้งมองผู้ประกอบการรายใหม่ที่จะเข้าสู่ธุรกิจด้วยสายตาที่เป็นพันธมิตรเพราะผู้ประกอบการรายใหม่จะเป็นลูกค้าโครงข่ายของทศท ซึ่งต่อไปต้องมีการรับประกันคุณภาพโครงข่ายในการให้บริการหรือ Service Level Agreement
นายสิทธิชัย กล่าวว่ายังยึดวิชั่นเดิมของทศท ที่ต้องการให้เป็น 1 ใน 3 ผู้ให้บริการสื่อสารโทรคมนาคมชั้นนำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นผู้นำตลาดในประเทศ รวมทั้งยังบริหารองค์กรด้วยการกำกับดูแลแบบบรรษัทภิบาลที่ดี ซึ่งการเป็น 1 ใน 3 ให้ได้ วัดได้จากตัวเลข เอ็นเตอร์ไพรซ์ แวลลู ที่ต้องอยู่ประมาณ 5 แสนล้านบาท แต่ทศทมีอยู่ 1.7 แสนล้านบาทในขณะนี้ ซึ่งถือว่าต้องใช้ความพยายาม และเป็นงานที่ต้องใช้เวลา
"การจะไปได้ถึงจุดนั้นโตจากภายในอย่างเดียว ไม่พอ ต้องมียุทธศาสตร์โตจากภายนอกด้วย เพราะเมื่องมองดูแผนธุรกิจแต่ละด้านไม่ว่าโทรศัพท์พื้นฐาน สื่อสารข้อมูล โครงข่ายโทรคมนาคม โทรศัพท์สาธารณะ หากโตแบบ Aggressive เต็มที่ก็ยังไม่พอ"
แนวทางหนึ่งที่จะทำให้ทศทเติบโตแบบยั่งยืนเป็นแนวคิดที่เขามักกล่าวกับพนักงานซึ่งได้รับการจัดสรรหุ้นจำนวน 8 เดือน (เป็นการซื้อราคาพาร์ 6 เท่าของเงินเดือนและได้หุ้นฟรี 2 เท่าของเงินเดือน) ว่า อยากให้พนักงานทุกคนฝันให้เป็นว่าอยากให้หุ้นทศท สูงขึ้นไปกี่เท่า เพราะจำนวนเท่าที่พนักงานฝันอยากได้ จะเป็นแรงกระตุ้นในการทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ เพื่อให้ฝันเป็นจริง
"ผมต้องการให้มีรูปแบบบริหารกำกับดูแลที่ดี ต้องการให้องค์กรเป็นที่ยอมรับ ศรัทธา เชื่อถือไว้วางใจจากทุกฝ่าย หากได้รับการยอมรับก็จะทำให้มูลค่าองค์กรสูงขึ้น โดยเฉพาะการยึดหลักบรรษัทภิบาลในการบริหารองค์กร"
นายสิทธิชัย ปฏิเสธที่จะให้รายละเอียดใน 3 เรื่องคือเรื่องนโยบาย ปรัชญาและยุทธศาสตร์ เมื่อถูก ถามเรื่องแนวทางการแปรสัญญาร่วมการงานกับเอกชน เพราะต้องรอเข้ารับนโยบายจากคณะกรรม การบริษัทที่มีนายศุภชัย พิศิษฐวานิช เป็นประธานก่อน แต่สิ่งแรกที่จะเริ่มทำคือการตั้งซูเปอร์ทีม ซึ่งจะเป็นการระดมความคิดผู้บริหารระดับรองหรือซีอีโอแต่ละสายธุรกิจในการกำหนดแผนและทิศทางการ ทำงาน เนื่องจากเขาจะเป็นเพียงผู้วางกลยุทธ์ ซีอีโอแต่ละกลุ่มธุรกิจจะมีบทบาทสูงในการปฏิบัติ ซึ่งแนว คิดของเขาต้องการสร้างอาณาจักรธุรกิจทศทให้เกิดขึ้น ภายใต้บริการที่หลากหลาย สัญญาร่วมการงานจำนวนมาก และการเข้าไปถือหุ้นในบริษัทพันธมิตรทั้งหลาย
ด้านนายมิตร เจริญวัลย์ ประธานสหภาพแรงงาน รัฐวิสาหกิจบมจ.ทศท คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ตามที่กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่มีแนว บริหารยึดหลักธรรมาภิบาลนั้น แค่เพียงในระดับบริษัททศทอาจไม่พอ แต่ควรคำนึงถึงระดับคณะกรรมการบริษัท กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ควรให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย สิ่งไหนที่ไม่ถูกต้อง ควรแก้ไขโดยเร็ว โดยเฉพาะการตั้งกรรมการบริษัทบางคนขาดความเหมาะสม เนื่องจากเพิ่งเกษียณอายุ จากตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง แต่กลับมานั่งเป็นกรรมการบอร์ดต่อ หรือรองกรรมการผู้จัดการใหญ่บางคนเกษียณแต่ประธานบอร์ดกลับตั้งมาเป็นที่ปรึกษา ด้วยเหตุผลน่าชื่นใจว่าเมื่อเขากล้าขอ ผมก็กล้าตั้ง
"ตั้งกันง่ายๆอย่างนี้ ทั้งๆที่ทศทยึดหลักบรรษัทภิบาล ผมก็ไม่เข้าใจว่ามานั่งเป็นทั้งบอร์ด ทั้งที่ปรึกษาประธานบอร์ดกันอย่างนี้ แล้วคนอื่นจะทำ งานอย่างไร หรือมีอะไรต้องมาคอยดูแลเป็นพิเศษก็บอกมาตรงๆ จะได้หายสงสัย" นายมิตรกล่าวและย้ำว่า
"ส่วนเรื่องการพัฒนาบุคลากร ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างองค์กรให้ทันสมัย ด็อกเตอร์ด้านไอที โทรคมที่มีเพียง 20 คนอาจไม่พอ น่าจะมีมากกว่านั้นรวมทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโทด้วย ควรให้การสนับสนุน เพราะในแต่ละปีทศทบริจาคเงินให้องค์กรภายนอกมากกว่าการสนับสนุนพนักงาน ด้วยซ้ำ ส่วนการจะส่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการเงินไปฮาร์วาร์ด ก็ควรรีบดำเนินการย เพราะทุกวันนี้ไม่ใช่แค่ได้ความรู้กลับมาแต่ได้สายสัมพันธ์หรือการค้ากลับมาเหมือนเอไอเอสกับหัวเหว่ย"