"เนวิน"สั่งเพิ่มข้อหาตั้งราคาขายไม่เป็นธรรมให้กับ 4 บิ๊กค้าปลีกเพิ่มเติม หลังพบพฤติกรรมส่งคนไปสำรวจราคาขายร้านค้าราย ย่อยก่อนกลับมาตั้งราคาให้ต่ำกว่า โดยดูได้จากยอดขายขาดทุนทุกรายตั้งแต่ 0.5-5% แต่ไปมีกำไรจากการรีดค่าธรรมเนียมอื่นๆ เตรียมเสนอ "อดิศัย"ฟันผิดรวมทั้งสิ้น 8 ข้อหาในสัปดาห์นี้ ด้านเซ็นทรัลมาแปลกยื่น หลักฐานมัดคอตัวเอง เล็งฟันเซเว่นอีเลฟเว่นเป็นรายต่อไป หลังพบมีพฤติกรรมรีดไม่แพ้กัน ด้านเซเว่นฯเผยเก็บอย่างเป็นธรรมที่ผ่านมาไม่มี ซัปพลายเออร์รายใดร้องสักรายเดียว
นายเนวิน ชิดชอบ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะอนุกรรมการการแข่งขันทางการค้า วานนี้ (2 ต.ค.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาทบทวน และให้การรับรองการพิจารณาเรื่องพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมของร้านค้าปลีกรายใหญ่ทั้ง 4 ราย คือ เทสโก้ โลตัส แม็คโคร บิ๊กซี และคาร์ฟูร์ โดยยืนยันที่จะเสนอพฤติกรรมที่เข้า ข่ายความผิดตามมาตรา 29 จำนวน 7 พฤติกรรมให้คณะกรรมการการแข่งขันทาง การค้าที่มีนายอดิศัย โพธารามิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธานภายในสัปดาห์นี้
โดยพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมทั้ง 7 ประเด็นนั้น คือ 1. ค่าธรรมเนียมสินค้าแรกเข้า (Entrance Free) 2. เงินสนับสนุนการ ขายโดยขอส่วนลด ของแถมในวาระพิเศษ 3. ส่วนลดต่างๆ เช่น ส่วนลดที่เป็นของแถม ส่วนลดเปิดสาขาใหม่ ส่วนลดปกติ ส่วนลดประจำปี และส่วนลดคืนกำไร 4. ค่าโฆษณาสนับสนุนการขาย เช่น ค่าเมล์ และแค็ตตาล็อก 5. ค่าระบบข้อมูลพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ 6. สินค้าเฮาส์แบรนด์ และ 7. การนำสินค้าออกจากชั้นวาง (Delete)
"พฤติกรรมทั้ง 7 ข้อเหล่านี้ ร้านค้าปลีกรายใหญ่ทั้ง 4 รายมีพฤติกรรมเข้าข่ายต่างๆ กันไป และถือว่าเป็นความผิดตามมาตรา 29 แห่งกฎหมายการแข่งขันทางการค้าที่ห้ามทำ การค้าไม่เป็นธรรม"นายเนวินกล่าว
นายเนวินกล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ยังได้มีมติให้เพิ่มข้อกล่าวหาเป็นข้อที่ 8 ในเรื่อง พฤติกรรมการกำหนดราคาขายไม่เป็นธรรม อันส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกในท้อง ที่ต่างๆ ได้รับความเสียหายจากการกำหนดราคา ขายที่ต่ำกว่าทุน โดยในการกำหนดราคาขายแต่ละครั้งพบว่าร้านค้าปลีกรายใหญ่จะส่งเจ้าหน้าที่ของตนเองออกไปสำรวจร้านค้ารายย่อยส่วนใหญ่ว่าจำหน่ายสินค้าในราคาใด แล้วมากำหนดราคาขายให้ต่ำกว่า
"การทำเช่นนี้ของร้านค้าปลีกรายใหญ่ โดยการ ซื้อสินค้ามาแพง แต่ขายราคาถูก ได้ทำให้ร้านค้าปลีกรายย่อยล้มหายไปเป็นหมื่นๆรายในแต่ละท้องที่ ซึ่งเราจะเห็นได้จากงบการเงินที่มีผลประกอบการขาดทุนจากการขาย โดยทั้ง 4 รายมีผลประกอบการ ขาดทุนตั้งแต่ 0.5-5% แต่กลับไปมีกำไรจากส่วนอื่นๆ ซึ่งอยู่ในพฤติกรรม 1-7" นายเนวินกล่าว
สำหรับการดำเนินการกับร้านค้าปลีกรายใหญ่ทั้ง 4 รายตามพฤติกรรม 1-7 นั้น เป็นเรื่องระหว่างร้านค้าปลีกรายใหญ่กับผู้ผลิตสินค้า (ซัปพลายเออร์) และพฤติกรรมที่ 8 ที่เพิ่มเข้ามาเป็นเรื่องระหว่างร้านค้าปลีกรายใหญ่กับร้านค้าปลีกรายย่อย
นายเนวินกล่าวอีกว่า ในกรณีของบริษัท ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล จำกัด และบริษัท ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จำกัด (มหาชน) มีพฤติกรรมการแข่งขันทางการค้าไม่เป็นธรรมจากการที่เลือกปฏิบัติในการกำหนดช่วงเวลาการรับสินค้าจากซัปพลายเออร์ ที่ส่งตรงกับที่ผ่านศูนย์เติมและกระจายสินค้า (RC) ไม่เหมือนกันนั้น ทางเซ็นทรัลและโรบินสันได้มีหนังสือชี้แจงมาว่าการกำหนดช่วงเวลาในการส่งสินค้า ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ส่งสินค้า เพื่อมิให้ การจราจรที่สาขาคับคั้งและร้านค้าต้องเสียเวลามารอ ที่สาขานานเกินไป และเป็นขั้นตอนของการบริหารการ กระจายสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ และได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นลำดับหลังจากได้ติดตามความถี่ของการส่งสินค้าของซัปพลายเออร์กลุ่มต่างๆ โดยมิได้มีเจตนาที่จะเลือกปฏิบัติต่อซัปพลายเออร์แต่อย่างใด
สำหรับการกำหนดช่วงเวลาการรับสินค้า ณ สาขาในเวลากลางคืนนั้น แยกเป็น 1. สินค้าที่ส่งผ่านศูนย์ RC จำนวน 1,457 ราย รับระหว่างเวลา 21.00-05.00 น. และ 2. สินค้าที่ส่งตรงที่สาขา (ไม่ได้ผ่านศูนย์ RC) รับระหว่างเวลา 21.00-04.00 น. โดยแยกเป็นสินค้าประเภท bulky สินค้าที่ต้องประกอบหน้าร้าน และสินค้าที่ส่งไม่เกิน 2 สาขาจำนวน 546 รายรับระหว่างเวลา 21.00-24.00 น. สินค้าที่ต้องการดูแลพิเศษ 6 ราย รับระหว่างเวลา 24.00-04.00 น. สินค้าที่ส่งตรงที่ต้องดูแลพิเศษอีก 6 ราย รับระหว่างเวลา 24.00-04.00 น. และสินค้าส่งตรงอื่นๆ 312 ราย รับระหว่างเวลา 02.00-04.00 น.
พร้อมกันนี้ ยังได้ยืนยันอีกว่าหลังจากที่ได้รับทราบข้อวินิจฉัยของคณะอนุกรรมการฯผ่านทางหน้า หนังสือพิมพ์แล้ว บริษัทฯก็ได้เตรียมที่จะดำเนินการ เปลี่ยนแปลงการรับสินค้าสำหรับกลุ่มที่ 2 เพื่อให้ซัปพลายเออร์สามารถส่งสินค้าได้เช่นเดียวกับกลุ่มที่ 1 คือระหว่างเวลา 21.00-05.00 น.ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้
"เอกสารที่ทางเซ็นทรัลและโรบินสันชี้แจงมา แสดงว่าข้อสรุปของคณะอนุกรรมการฯ เป็นจริง คง ไม่ต้องพิจารณาอะไรมาก และคงจะสรุปเสนอให้คณะกรรมการฯ ชุดใหญ่พิจารณาว่าผิดมาตรา 29 เหมือนเดิม โดยจะเสนอทั้งกรณีร้านค้าปลีกรายใหญ่ทั้ง 4 รายและกรณีเซ็นทรัลให้คณะกรรมการฯ ชุดใหญ่พิจารณาภายในสัปดาห์นี้"นายเนวินกล่าว
ส่วนการกำหนดเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การทำ การค้าที่เป็นธรรมนั้น คณะอนุกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปดำเนินการร่างกฎเกณฑ์ ตามพฤติกรรม 1-8 เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้นใน อนาคต โดยขอให้มีหลักในการยกร่างดังนี้ คือ จะต้องไม่ผิดมาตรา 29 ไม่เลือกปฏิบัติ มีบรรทัดฐานชัดเจน มีข้อตกลงล่วงหน้า และไม่กีดกันการแข่งขันที่เป็นธรรม โดยให้เสนอกลับเข้ามาให้คณะอนุกรรมการฯ พิจารณาในวันที่ 21 ตุลาคม 2545 นี้
จับตาพฤติกรรมเซเว่นฯ
นายเนวิน กล่าวว่า คณะอนุกรรมการฯ ยังได้ติดตามพฤติกรรมของร้านเซเว่น อีเลฟเว่นว่า ดำเนิน การค้าที่ไม่เป็นธรรมและมีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิด ตามมาตรา 29 หรือไม่ ซึ่งขณะนี้ฝ่ายเลขานุการกำลังรวบรวมพฤติกรรมต่างๆอยู่ เพราะลักษณะพฤติกรรมคล้ายๆกับกรณีของร้านค้าปลีกรายใหญ่ และไม่ได้ปล่อยปละละเลย เพียงแต่ว่ายังไม่มีผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนเท่านั้น
สำหรับกรณีที่มีการระบุว่าร้านเซเว่น อีเลฟเว่น มีการเปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง และเริ่มที่จะขยายตัวเข้าไปในท้องที่ต่างๆทั่วประเทศ ทำให้ร้านค้า ปลีกรายย่อยมีปัญหาในด้านการแข่งขันนั้น เป็นหน้า ที่ของคณะกรรมการระดับจังหวัดที่จะตั้งขึ้นภายใต้กฎหมายการประกอบธุรกิจการค้าปลีกที่กำลังจะออก มา โดยคณะกรรมการฯ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนด ระยะเวลาเปิด-ปิด และบังคับให้ร้านค้าปลีกรายใหญ่ กลางและเล็กต้องปฏิบัติตามได้
เซเว่นฯแจงเก็บอย่างเป็นธรรม
นายปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เซเว่น อีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย"ผู้จัดการรายวัน" ถึงกรณีที่อาจจะถูกจับตามองจากกระทรวงพาณิชย์ว่า อาจเข้าข่ายทำการค้าไม่ เป็นธรรมเช่นเดียวกับกลุ่มดิสเคานต์สโตร์นั้น อยาก ชี้แจงว่า ในกรณีของการเรียกเก็บค่าสินค้าแรกเข้า หรือค่านำสินค้าออกจากร้าน ที่โดยเฉลี่ยจะเรียกเก็บ จากซัปพลายเออร์ 1 แสนบาทต่อสินค้า 1 รายการนั้น เพราะเป็นค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้าไปยังเซเว่นฯ 2,500 สาขาทั่วประเทศ ซึ่งหากจะคิดเป็นค่า ใช้จ่ายจริงแล้ว พบว่า สินค้าแต่ละรายการจะต้องเสียค่าใช้จ่ายถึง 4-5 แสนบาท
ในทางกลับกัน ในการเก็บสินค้าที่ขายไม่ได้คืน จากสาขาต่างๆก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน ซึ่งที่ผ่านมาซัปพลายเออร์เข้าใจถึงถึงค่าใช้จ่ายเหล่านี้ดี และยอมเสียค่าใช้จ่ายเพื่อให้เป็นผู้ดำเนินการ ดีกว่า ที่แต่ละรายจะส่งสินค้าหรือวิ่งรถไปเก็บสินค้ากลับคืนมาเองทั้ง 2,500 สาขา ซึ่งเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก
"จะเห็นได้ว่าซัปพลายเออร์จะร้องเรียนแต่การ เรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากดิสเคานต์สโตร์ เพราะมีสาขาเพียง 20 สาขา ในขณะที่ไม่มีใครพูดถึงเซเว่นฯเลย เพราะว่าเซเว่นฯ ไม่ว่าจะนำสินค้าเข้าหรือออก จะต้องเปลี่ยนแปลงในระบบเอกสาร ป้ายติดที่ชั้นวางสินค้า ตั้ง 2,500 สาขา ซึ่งผมเคยชี้แจงเรื่องนี้กับสื่อมวลชนแล้วหลายครั้งแต่ไม่เห็นมีใครเขียนถึงเลย"
สำหรับกรณีที่หวั่นกันถึงเรื่องการเปิดให้บริการ 24 ชั่วโมงจะกระทบต่อร้านค้าปลีกรายย่อยนั้น นายปิยะวัฒน์ ชี้แจงว่า เซเว่นฯได้ปรับตัวเรื่องการจำหน่ายสินค้ามาตลอด 2 ปีที่ผ่านมา โดยเน้นขายสินค้าอาหารและเครื่องดื่มเป็นหลัก ในขณะที่สินค้าประเภทของใช้ประจำวันลดสัดส่วนลงเยอะมาก
"หากเข้ามาดูในร้านเซเว่นฯ ก็จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าสินค้าของเราไม่เหมือนกับโชวห่วย เพราะฉะนั้นไม่ต้องกลัวว่าเราจะมาแย่งโชวห่วยขาย และการเปิดให้บริการ 24 ชั่งโมงก็เพราะต้องการบริการลูกค้ากลุ่มที่ทำงานกะดึก ที่ต้องการรับประทานอาหาร ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้ากลุ่มนี้สะดวกมากขึ้น และเราขอยืนยันว่าไม่มีนโยบายที่จะแข่งขันกับโชวห่วยอยู่แล้ว"
นายปิยะวัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา นายเนวิน ก็เคยเข้ามาดูงานที่ศูนย์กระจายสินค้าอาหารสด และทราบดีว่าเราขายอาหารเป็นหลัก ซึ่งตลอดเวลาที่นายเนวินเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องค้าปลีก ก็ไม่เคยพาดพิงมาถึงเซเว่นฯเลย เพราะท่านเข้าใจในการทำงานของเซเว่นฯอยู่แล้ว