|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ศึกชิงหุ้นมติชนในตลาดหลักทรัพย์ฯระอุ เผย“ขรรค์ชัย” กำเงินส่วนตัว-ได้แบงก์หนุนแก้เกมแกรมมี่ แผนกว้านซื้อคืนจากรายย่อยมีสิทธิพลิก หลังหุ้นถูกไล่ซื้ออย่างร้อนแรง ราคาปิดล่าสุดทะยานพุ่งสูงกว่าราคารับซื้อฝ่ายอากู๋แล้ว ขณะที่ คนมติชนรวบรวมพลังตั้งป้อมสู้แกรมมี่ “ขรรค์ชัย” ปลอบพนักงานทุกอย่างยังปกติ ยืนยันรวบรวมพันธมิตรระเบิดสงครามแตกหักกับแกรมมี่ เผยคนในกองบก.ไม่พอใจ “ไพบูลย์” อย่างรุนแรง โฆษกมติชน ย้ำคำสัญญาอากู๋ “อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อ” ส.ว.ข้องใจไทยพาณิชย์ปล่อยกู้ง่าย ด้านผู้ว่าฯแบงก์ชาติระบุไม่แปลก เอ็มดีตลาดหุ้นแนะบจ.ต้องหมั่นเช็คหุ้นป้องกันถูกฮุบกิจการ ส่วนกระแสต้านแกรมมี่ยังแรง เอแบคโพลล์ชี้ประชาชนหวั่นการเสนอข่าวไม่เป็นกลางด้าน สมาคมนักข่าวฯนัดแต่งดำร่วมสัมมนาเพื่อหาทางออกวันนี้
กรณีที่บริษัทจีเอเอ็มเอ็ม มีเดีย เข้าซื้อหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของกิจการบริษัทมติชน และโพสต์ พับลิชชิ่ง ซึ่งมีกระแสต่อต้านในวงกว้าง ล่าสุดวานนี้ (14 ก.ย.) นายขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการ บริษัทมติชน ได้เรียกประชุมผู้บริหารหนังสือพิมพ์และผู้สื่อข่าวในเครือทั้งหมด เพื่อชี้แจงถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ ทุกอย่างยังเป็นปกติ ขอให้พนักงานทุกคน มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ของผู้อ่านต่อไป
แหล่งข่าวจากมติชนเปิดเผยว่า นายขรรค์ชัย แจ้งต่อพนักงานทุกคนด้วยว่าจะสู้อย่างแน่นอนด้วยการระดมทุนสู้ด้วยหาพันธมิตรเพื่อรักษาฐานะในการบริหารมติชนไว้ให้ได้ แต่ยังไม่บอกรายละเอียดว่าจะทำอย่างไร
นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้นายพิเชียร คุระทอง บรรณาธิการอำนวยการ น.ส.พ.มติชน เป็นโฆษกของกองบรรณาธิการมติชน ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ ทำหน้าที่ให้ข่าวแต่เพียงผู้เดียวในเรื่องการเข้ามาซื้อหุ้นของแกรมมี่
นายพิเชียร กล่าวว่า พนักงานของทั้ง 3 กองบรรณาธิการไม่พอใจอย่างรุนแรงต่อการกระทำของนายไพบูลย์ และจะร่วมกันผนึกกำลังการคัดค้านการกระทำดังกล่าว
สำหรับบรรยากาศในอาคารมติชนนั้น คนที่เคยทำงานในมติชนและมีหุ้นของมติชน ได้นำใบหุ้นและมอบฉันทะให้กับมติชนเพื่อนำไปโหวตเสียงในการตัดสินใจต่างๆสำหรับการบริหารของมติชน นอกจากนี้ยังมีเครือข่ายองค์กรประชาชนจำนวนมากที่รณรงค์ให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยของบริษัทมติชนมอบสิทธิต่างๆให้กับมติชนใช้ออกเสียงเพื่อสู้กับกลุ่มแกรมมี่
นายพิเชียร กล่าวว่า การรวบรวมพันธมิตรและผู้ถือหุ้นรายย่อยเพื่อให้ได้หุ้นเอาไว้คานอำนาจของนายไพบูลย์ ฝ่ายของนายขรรค์ชัยตั้งเป้าหมายไว้จะพยายามทำให้ได้ประมาณ 40% ขึ้นไป
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบหุ้นที่กลุ่มนายขรรค์ชัยถืออยู่หลังจากแกรมมี่เข้ามาซื้อแล้วคาดว่าจะมีประมาณ 34.67% (ดูกราฟฟิกประกอบ) ขณะที่นายไพบูลย์ถืออยู่ 32.60% และ จะรับซื้อคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยซึ่งคาดว่าจะทำให้แกรมมี่มีหุ้นมติชนกว่า 75%
นายพิเชียร ยังกล่าวถึง กรณีที่นายไพบูลย์ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่เข้ามาบริหารในมติชนนั้น ให้อมพระมาพูดก็ไม่เชื่อเพราะนี่เป็นการลงทุนระดับ 1000 กว่าล้านบาท เป็นไปได้เลยที่แกรมมี่จะไม่ส่งคนเข้ามาบริหาร เพราะเป้าหมายของแกรมมี่ที่เข้ามาซื้อหุ้นมีความชัดเจนอยู่แล้วที่ต้องการเข้ามาควบคุมและเป็นเจ้าของมติชน
“เราจะหารือและประเมินสถานการณ์เรื่องนี้ในทุกวันด้วยการวางมาตราการที่เข้มงวดมีเป้าหมายชัดเจนมากจะนำเสนอข่าวเป็นกรณีพิเศษ “นายพิเชียรกล่าว
วันเดียวกัน นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ รองบรรณาธิการอำนวยการ นสพ.มติชนรายวัน ให้สัมภาษณ์ในรายการสภาท่าพระอาทิตย์ ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ระบบดาวเทียม ASTV และ สถานีวิทยุคลื่นสามัญประจำบ้าน 97.75 เมกกะเฮิร์ซ ว่า ความหวังในการต่อสู้ขณะนี้ประเมินว่า อย่างน้อยต้องยืดเยื้อ เพราะมีขั้นตอนตาม ระเบียบตลาดหลักทรัพย์และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งต้องใช้เวลานานพอสมควร เช่น การทำคำสั่งเสนอซื้อ (Tender offer) ต้องไม่น้อยกว่า 25 วันแต่ไม่เกิน 45 วัน
นายประสงค์ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า นายไพบูลย์ไม่เข้าใจการทำข่าว เพราะการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 13 ก.ย.ที่ผ่านมา นายไพบูลย์บอกว่าจะปล่อยให้ทำงานอิสระ ยกเว้นเป็นข่าวเท็จ เป็นข่าวไม่จริงหรือเต้าข่าว นี่แสดงให้เห็นชัดว่านายไพบูลย์ไม่เข้าใจอะไรเลย โดยหลักการพื้นฐานก็คือข้อเท็จจริงที่ปฏิบัติกันมา 27 ปีของมติชน ไม่มีเจตนาจะเต้าข่าว หรือจะเขียนข่าวที่ไม่จริง ถ้ามีความผิดพลาดบ้างเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในวงการหนังสือพิมพ์ (อ่าน รายละเอียดบทสัมภาษณ์)
ด้าน นายธีรเดช เอี่ยมสำราญ บรรณาธิการข่าวประชาชาติธุรกิจ ในฐานะเลขาธิการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯได้เชิญบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกือบทุกฉบับ เข้าประชุมเพื่อปรึกษาและหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ร่วมกัน ในวันนี้ (15 ก.ย.)
“การที่ของจีเอ็มเอ็ม มีเดียซื้อหุ้นมติชน 33%และบางกอกโพสต์ 24% เป็นปรากฏการณ์ที่กลุ่มธุรกิจซื้อหุ้นกิจการสื่อสิ่งพิมพ์ในสัดส่วนที่สูงอย่างน่าวิตก ส่งผลกระทบต่อการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนในการดำรงความเป็นกลาง จึงต้องระดมสมองกันเพื่อหาทางออกในเรื่องนี้” นายธีรเดชกล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มแกนนำของสมาคมฯได้นัดแนะผู้ที่จะเข้าร่วมงานดังกล่าวให้ แต่งกายด้วยชุดสีดำ เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับการฮุบกิจการของแกรมมี่ในครั้งนี้
สงครามแย่งหุ้นเริ่มระอุ
ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นกลุ่มสิ่งพิมพ์วานนี้ยังคงเคลื่อนไหวคึกคักและปรับขึ้นยกแผง ดัชนีกลุ่มสิ่งพิมพ์ปิดที่ 715.08 จุด เพิ่มขึ้น 92.33 จุด หรือ 14.83% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 111.8 ล้านบาท
โดยหุ้นมติชนราคาทะยานขึ้นเกือบชนเพดาน 30% โดยเปิดตลาดที่ 12.70 บาท จากนั้นมีแรงซื้อเข้ามาหนุนราคาหุ้นไปสูงสุดที่ 14.50 บาท และปิดตลาดที่ราคาสูงสุด ราคาเพิ่มขึ้น 3.30 บาท หรือ 29.46%
นอกจากนั้นหุ้นโพสต์ก็ปรับขึ้นเช่นกันโดยราคาปิดที่ 10.50 บาท เพิ่มขึ้น 2.35 บาท หรือ 28.23%
นักลงทุนรายใหญ่คนหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้นอกจากนายขรรค์ชัย และผู้บริหารระดับสูงมติชนนอกจากเดินสายรวบรวมหุ้นจากนักลงทุนกลุ่มอื่นและรายย่อย เพื่อให้เข้ามาเป็นพันธมิตรต่อต้านการเข้าเทกโอเวอร์บริษัทมติชน นายขรรค์ชัย ยังได้เตรียมแก้เกมการเทกโอเวอร์ครั้งนี้ด้วยการรวบรวมเม็ดเงินส่วนตัวอีกประมาณ 100 ล้านบาท และมีธนาคารพาณิชย์ขนาดกลางแห่งหนึ่งเตรียมให้เงินสนับสนุน
ทั้งนี้การต่อต้านการเทกโอเวอร์ดังกล่าวหากเป็นไปตามกฎกติกาแล้วนายขรรค์ชัย มีสิทธิ์ประกาศทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์หรือรับซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นรายย่อยแข่งกับแกรมมี่ในราคาที่สูงกว่าเช่นกัน แต่ขณะเดียวกันหากเข้าไปไล่ซื้อหุ้นในกระดานจนทำให้ราคาหุ้นสูงกว่าราคาเทนเดอร์ฯของฝ่ายนายไพบูลย์ที่ประกาศไว้จะรับซื้อคืนที่ 11.10 บาท ก็จะทำให้การทำเทนเดอร์ฯของแกรมมี่ไม่สำเร็จ การที่ได้หุ้นเกินกว่า 50% ก็เป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันทางฝ่ายอากู๋หากต้องการเข้าควบคุมการบริหารแบบคอนโทรลก็คงต้องพยายามเข้าไปไล่ซื้อในกระดานเช่นกัน
"นักลงทุนรายย่อยเห็นเป็นโอกาสที่จะมีการแย่งหุ้นเกิดขึ้นจึงผสมโรงเข้าไปไล่ซื้อเก็งกำไรด้วย วานนี้ราคาหุ้นมติชนจึงวิ่งขึ้นอย่างร้อนแรง"
นายสุทธิชัย จิตรวาณิช รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) กล่าวว่า ราคาหุ้นบริษัทมติชนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่าราคาที่บริษัทจีเอ็มเอ็ม มีเดียทำคำเสนอซื้อในระดับราคาหุ้นละ 11.10 บาทนั้น ตลท.ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ อย่างไรก็ตามการที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมามากนั้น นักลงทุนก็จะต้องดูแลตัวเองด้วยเช่นเดียวกัน
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ กล่าวว่า การเทกโอเวอร์กิจการถือเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจ ผู้บริหารของบริษัทต้องเร่งสร้างบรรษัทภิบาล ตลอดจนความโปร่งใสในการทำงาน เพื่อให้นักลงทุนเข้าซื้อขายในหุ้นบริษัทมากขึ้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาการเทกโอเวอร์ได้ทางหนึ่ง เพราะ ราคาหุ้นที่อยู่ในระดับสูงจะทำให้การเข้ามาเทกโอเวอร์กิจการใดๆเป็นไปได้ยาก
ทั้งนี้ บริษัทหลายแห่งในต่างประเทศที่ราคาหุ้นในกระดานต่ำกว่าราคาตามมูลค่าทางบัญชี (บุ๊กแวลู) ซึ่งเป็นเหตุผลทำให้มีการเทกโอเวอร์กิจการเป็นไปง่าย
ล่า“เพื่อนสื่อ”ช่วยกันนายทุน
นายไพโรจน์ วงศ์วิภานันท์ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอาจารย์อาวุโสประจำมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึง ขณะนี้ได้มีแนวคิดตั้งกลุ่ม friend of press หรือ FOP หลังจากได้หารือกับนักธุรกิจ และ ปัญญาชน ที่อยากให้มีมิตรของสื่อ เป็น friend of press จุดเริ่มต้นคือพยายามช่วยมติชนให้มีอำนาจในการจัดการบริษัทในที่สุด โดยกำลังนัดประชุมกันในช่วงบ่ายวันที่ 15 กันยายนนี้ ส่วนรูปแบบนั้นคงจะแลกเปลี่ยนจากทุกส่วนของสังคม และมหาวิทยาลัยมารวมกันเป็นเครือข่าย และจัดทำกิจกรรมต่างๆ รวมทั้งสร้างความรู้ความเข้าใจและก็กระตุ้นให้คนที่มีหุ้นมติชนมาขายให้กับมติชน คิดว่าอยากให้เป็นหลักการสำหรับสำหรับมติชน และสำหรับหนังสือพิมพ์อื่นด้วย รวมไปจนถึงกรณีนี้
“ยืนยันว่ามีคนยินดีที่พร้อมจะช่วยซื้อหุ้นในกรณีเรื่องการเงิน จะพยายามระดมนักธุรกิจ ประชาชน แล้วแต่กำลังศรัทธา บล็อกไม่ให้มติชนถูกเทคโอเวอร์โดยกลุ่มนายไพบูลย์”
นางวิภา ดาวมณี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงการตั้งกลุ่มช่วยเหลือมติชนว่า คนที่จะมาร่วมกันมาจากหลากหลาย คงไม่มีใครเป็นหัวหน้าทีม แต่มาจากหลายส่วนของภาคประชาชน อาทิ นส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ กลุ่มนักธุรกิจ นักวิชาการ ปัญญาชน ต้องมาจับเข่าคุยกัน ระดมสมองในวันเสาร์ที่ 17 กันยายนนี้เวลา 13.00 น. ที่ศูนย์ศึกษาวิภาวดี มหาวิทยาลัยรังสิตชั้น 22 (วิภาวดีซอย 9) โดยกลุ่มจะมีการผลักดัน และรณรงค์ให้กลุ่มแกรมมี่ถอนหุ้นออกไป อาจจะไม่ซื้อของแกรมมี่ ช่วยกันซื้อหุ้นมติชน และการรณรงค์ไม่ใช้ของแกรมมี่ กลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มอิสระปราศจากกลุ่มทุน
ส.ว.ข้องใจไทยพาณิชย์ปล่อยกู้
นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ส.ว.กทม.กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นลางร้ายของประเทศ เพราะคิดว่าถ้าเป็นกลุ่มทุนธรรมดาเข้ามาครอบงำสื่อก็น่ากลัวแล้ว ยิ่งถ้ามีความสัมพันธ์กับคนมีอำนาจในบ้านเมืองก็ยิ่งน่ากลัวไปกันใหญ่ เชื่อว่าเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์เองว่าแกรมมี่เป็นตัวแทนของใครหรือไม่ แต่ขณะนี้สันนิฐานเหมือนกับฝ่ายค้านที่ระบุว่ารัฐบาลอยู่เบื้องหลัง
“ผมเคยจัดรายการวิทยุคลื่น 97.5 ของอสมท.ให้กับกลุ่มชินคอร์ปฯมาก่อน ขณะนั้นใช้ชื่อมูฟวิ่งซาวด์ แต่ในที่สุดก็ขายให้กับแกรมมี่ ผมจึงรู้ความสัมพันธ์ทางธุรกิจดี ดังนั้น จึงบอกว่าน่ากลัวและน่าตกใจ” นายเจิมศักดิ์ ระบุ
นายแก้วสรร อติโพธิ ส.ว. กทม.กล่าวว่า ที่ควรเพ่งเล็งคือการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ปล่อยเม็ดเงินให้แกรมมี่ใช้ในการะดมทุนเพื่อซื้อหุ้นของบริษัทมติชนและบางกอกโพสต์ จำนวน2,000 ล้านบาท นั้นถามว่าทำได้อย่างไร
“ถ้าผมเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทแกรมมี่ฯ ก็จะถามว่าทำไมต้องเข้าไปซื้อ หรือถ้าเป็นผู้ ถือหุ้นแบงก์ไทยพาณิชย์ก็จะถามว่าปล่อยกู้ได้อย่างไร เรื่องนี้ต้องดูจากกรรมหรือการกระทำซึ่งจะบอกเจตนาเองคิดว่าการฮุบสื่อคงทำไม่ได้ง่ายๆ ”
ม.ร.ว. ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า กรณีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ปล่อยเงินกู้วงเงินให้กับบริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย นั้น โดยหลักการถือเป็นเรื่องปกติ ที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องพิจารณาหลักประกันของบริษัทนั้นๆ และประเด็นสำคัญคือต้องได้เงินกลับคืนมา
“การปล่อยกู้จะคุ้มค่าหรือไม่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อย่าให้เป็นหนี้เสีย และขอให้ได้เงินคืนก็แล้วกัน” ผู้ว่าฯธปท.กล่าว
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กำกับธุรกิจธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้ระบุถึงการปล่อยกู้ของธนาคารว่าผู้กู้จะนำเงินไปทำอะไร ดังนั้นธนาคารจะต้องพิจารณาความเสี่ยงเอง โดยเฉพาะการปล่อยกู้รายใหญ่ยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ
โพลชี้ประชาชนหวั่นข่าวไม่เป็นกลาง
ด้าน เอแบคโพลล์ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีที่แกรมมี่ฮุบกิจการมติชนกับบางกอกโพสต์ ได้ข้อสรุปว่า ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มธุรกิจบันเทิงเข้าซื้อหุ้น MATI กับ POST โดย 68.5% ไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะไม่เป็นกลางในการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับเจ้าของเงินทุน และจะถูกการเมืองแทรกแซงได้ง่าย ขณะที่ 19.2% เห็นด้วยโดยให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องของธุรกิจและเป็นสิทธิของเจ้าของเงิน
นอกจากนี้ ประชาชน 60.8% เชื่อว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังในการซื้อหุ้นครั้งนี้ โดย 72.7% เชื่อว่า มีความพยายามของฝ่ายการเมืองในการเข้าแทรกแซงการทำงานของสื่อ โพลชี้ด้วยว่า ประชาชน 55.9%เชื่อว่าเหตุผลของการซื้อหุ้นมาจากการนำเสนอข่าวของเครือมติชนและบางกอกโพสต์ในช่วงที่ผ่านมา
ทั้งนี้เอแบคโพลล์ ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,547 คน ระหว่างวันที่ 2-13 ก.ย. ที่ผ่านมา
|
|
|
|
|