|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เกมเทกโอเวอร์ "มติชน" ของแกรมมี่ไม่หมู ผู้ถือหุ้นใหญ่เดิมแสดงจุดยืนไม่ยอมถูกครอบงำจิตวิญญาณสื่อ ระบุมีการวางแผนล่วงหน้าถึงขั้นเตรียมคนพร้อมรอเสียบกรณีกอง บก.ยกทีมลาออกตั้งหัวใหม่ ด้านสื่อฝรั่งมุ่งประเด็นตัวแทนกลุ่มการเมืองรุกควบคุมสื่อ ไทยรักไทยเต้นปัดไม่เกี่ยวกับพรรค ขณะที่ขุนคลัง "ทนง" ระบุเป็นเรื่องของทุนนิยม
วานนี้ (13 ก.ย.) นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ผู้บริหารและผู้ถือหุ้นใหญ่เครือแกรมมี่ ออกมาแถลงถึงการซื้อหุ้นบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) และบริษัทโพสต์ พับลิชชิง จำกัด (มหาชน) ว่าการซื้อหุ้นครั้งนี้ถูกตั้งข้อสงสัย เรารู้ว่าตอนนี้มีข้อสงสัย แต่ขอยืนยันว่าเป็นเพียงการลงทุนไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มการเมือง
"เรามีศักยภาพด้วยตัวเอง เราทำธุรกิจค้าขายระดับหมื่นล้าน คงไม่ใช่ตัวแทนของใคร"
นายไพบูลย์ยังกล่าวด้วยว่า จะไม่มีการปรับนโยบายบริหารงาน จะไม่แทรกแซงกิจการ เพราะคนแกรมมี่ไม่มีความชำนาญในการทำหนังสือพิมพ์ (อ่าน "ผมไม่ใช่ตัวแทนกลุ่มการเมือง" ประกอบ)
เดิมมีการแจ้งต่อสื่อมวลชนว่านายไพบูลย์ และนายขรรค์ชัย บุนปาน ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์มติชน จะร่วม กันแถลงที่สำนักงานหนังสือพิมพ์มติชน แต่ได้มีการเปลี่ยนแปลงกะทันหันมาเป็นที่ตึกแกรมมี่โดยมีนายไพบูลย์แถลงฝ่ายเดียว คนขับรถบริษัทยังรู้เลยว่าใครซื้อ
นักหนังสือพิมพ์อาวุโสของวงการรายหนึ่งระบุว่า แม้นายไพบูลย์จะแถลงว่าเป็นการลงทุนทางธุรกิจ ไม่ใช่ตัวแทนของนักการเมืองก็ตาม แต่นั่นเป็นคำพูดในวันนี้ ใครจะรับประกันได้ว่า ในอนาคตการบริหารงานในมติชนและบางกอกโพสต์จะถูกบิด เบือนเพื่อธุรกิจหรือผลประโยชน์ของกลุ่มการเมืองที่มีอำนาจหรือไม่ หนังสือพิมพ์ดังกล่าวจะยังนำเสนอข่าวที่สร้างสรรค์ ตรวจสอบทุจริตของรัฐบาล หรือความไม่ชอบมาพากลในสังคมได้เหมือนที่ผ่านมาหรือไม่
การเคลื่อนไหวของแกรมมี่ครั้งนี้ ยังเต็มไปด้วยข้อกังขาและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงเบื้องหน้าเบื้อง หลังดีลที่ใช้เงินร่วม 2,600 ล้านบาท โดยอ้างผลตอบ แทนแค่ 4% เนื่องจากเป็นการซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ ยักษ์ใหญ่ 2 ค่าย ในเวลาเดียวกัน แถมคนที่ซื้อมีสาย สัมพันธ์แนบแน่นกับผู้นำรัฐบาล
ด้านสำนักข่าวต่างประเทศเองก็มุ่งให้ความสนใจในประเด็นนี้เช่นกัน โดยสำนักข่าวรอยเตอร์ได้ เผยแพร่ข่าวนี้ไปทั่วโลกโดยให้น้ำหนักกับประเด็นการ เข้ามาซื้อหุ้นของนายไพบูลย์ที่เป็นเหมือนตัวแทนกลุ่มการเมืองเพราะมีความใกล้ชิด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
รอยเตอร์ยังอ้างคำพูดของบรรณาธิการคนหนึ่ง ในมติชนว่า "ทุกคนรู้ และเชื่อว่านายไพบูลย์ไม่ใช่ผู้ซื้อตัวจริง" และระบุว่า "แม้กระทั่งคนขับรถบริษัทก็ยังรู้เลย" มติชน
แถลงจุดยืนวันนี้
ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของฝ่ายกองบรรณาธิการมติชนตลอดทั้งวันวานนี้ มีรายงานว่า ฝ่ายบริหารโดยเฉพาะข้างฝ่ายนายขรรค์ชัย บุน ปาน ผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งมติชน เห็นตรงกันว่าจะเคลื่อนไหวแสดงจุดยืนของตนเองในวันนี้(14ก.ย.) ซึ่งขอให้จับตาข้อความที่จะสื่อออกไปในหน้า 1 มติชน พร้อมกันนี้ผู้บริหารขณะนี้เห็นควรให้ปลดนายวานิช จรุงกิจอนันต์ คอลัมนิสต์อาวุโสออกจากการทำหน้าที่ เพราะมีความใกล้ชิดกับนายไพบูลย์ทำให้เกิดข้อสงสัย ถึงเบื้องหลังการเข้าซื้อหุ้นของกลุ่มแกรมมี่โดยที่อีกฝ่ายบริหารอีกหลายคนไม่ทราบเรื่อง
วานนี้ บริษัท มติชน โดยนายสมหมาย ปาริฉัตต์ กรรมการและผู้จัดการ บริษัท ได้ออกแถลง การณ์ระบุว่า ตามที่บริษัทฯได้รับทราบข่าวจากตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า บริษัท จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ได้เข้าซื้อหุ้นของบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 32.23% นั้น การเข้ามาของกลุ่ม จีเอ็มเอ็ม มีเดีย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจะต้องเข้าสู่กระบวนการจัดทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ในครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งแรกที่ไม่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทฯมาก่อน
บริษัทฯยังไม่อาจคาดถึงผลกระทบต่อแนว ทางในการดำเนินนโยบายของบริษัทฯในอนาคต อย่างไรก็ตาม บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ซึ่งประกอบด้วยผู้ยึดถือวิชาชีพสื่อมวลชนอิสระ ดำรงความเป็นกลาง ยึดมั่นความถูกต้อง เที่ยงธรรมในการนำเสนอข่าวตามมาโดยตลอด ขอยืนยันความมุ่งมั่นที่จะรักษาปณิธานดั้งเดิมของบริษัทฯ ในความ เป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนด้วยเจตนาอันแน่วแน่ที่จะดำรงรักษาความเป็นอิสระ และจะยืนหยัดทำหน้าที่เพื่อสังคมส่วนรวมต่อไป
นายธีรเดช เอี่ยมสำราญ บรรณาธิการประชาชาติธุรกิจ ในเครือมติชน ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว "ไทยเดย์" ว่า เขาไม่คิดว่าแกรมมี่จะรู้อะไรเกี่ยวกับ เสรีภาพของสื่อ และจะรักษาสมดุลระหว่างการนำเสนอข่าวกับการก้าวล่วงของการเมืองได้ โดยพนักงานของทั้งมติชนและบางกอกโพสต์จะนัดหารือกันถึงสิทธิของสื่อมวลชนในวันเสาร์นี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เตรียมทีมกอง บก. สำรอง
แหล่งข่าวใกล้ชิดนายไพบูลย์เปิดเผยว่า การเข้าซื้อหุ้นที่ถือเป็นดีลใหญ่ครั้งนี้ถูกวางแผนมาล่วงหน้าโดยผู้ถือหุ้นและผู้บริหารมติชนบางรายทราบเรื่องดังกล่าวดี ขณะเดียวกัน มีผู้บริหารบางรายก็สนิทสนมกับกับนายไพบูลย์ บางคนเป็นที่ปรึกษาให้ค่ายแกรมมี่ด้วย ความแตกตื่นในการเข้ามาฮุบกิจการของแกรมมี่จึงเกิดขึ้นกับพนักงานระดับรองลงมาเท่านั้น
แผนการล่วงหน้าของนายไพบูลย์ยังรวมไปถึง การเจรจาติดต่อคนในวงการสื่อระดับอาวุโสไว้ล่วงหน้าหลายราย หากเกิดกรณีถูกต่อต้านจากฝ่ายผู้ถือหุ้นเดิมและกองบรรณาธิการ ยกทีมลาออกแล้วจะไปจดหัวหนังสือพิมพ์ใหม่ แกรมมี่ก็มีบุคลากรพร้อมรองรับสถาการณ์ได้ทันที
นอกจากนั้น การนำเสนอข่าวยังต่างไปจากเดิม เช่น เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา สถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดสนทนาสาธารณะเรื่อง "พระราชอำนาจ ของพระมหากษัตริย์" ซึ่งมีประชาชนตื่นตัวกับการใช้อำนาจของรัฐบาลจึงเข้าร่วมงานจำนวนมากนับเป็น ประวัติการณ์ นับแต่สมัยพฤษภาทมิฬ ปรากฏว่าวันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์หลายฉบับนำเสนอเป็นข่าวใหญ่ ยกเว้นมติชน ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์การเมือง แต่กลับเสนอข่าวดังกล่าวเพียงกรอบเล็กๆ
หรือเมื่อหลายเดือนก่อนที่ผ่านมาก่อนขณะที่มีการนำเสนอข่าวทุจริตซีทีเอ็กซ์ซึ่งรัฐบาลถูกโจมตีจากสื่อหลายฉบับแต่คอลัมน์วิภาคแห่งวิพากษ์ ในหน้า 3 มติชนรายวัน กลับปกป้องรัฐบาลสวนทางกับสื่อฉบับอื่น นับแต่นั้นมาหากใครสังเกตุข่าวและคอลัมน์วิภาคแห่งวิพากษ์ จะเห็นว่าคอยตอบคำถาม ที่เป็นที่สงสัยของสังคม โดยให้ความเห็นในเชิงบวกต่อรัฐบาล
"มติชนเปรียบเสมือนกระบอกเสียงให้รัฐบาลอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน"
นายกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ กรรมการบริษัท เบเคอร์แอนด์แมคเคนซี่ เชื่อว่าดีลดังกล่าวผู้บริหารของทั้ง 3 ฝ่าย น่าจะมีการหารือในรายละเอียดกันมา แล้วก่อนหน้านี้ แต่หากผู้บริหารของมติชน และโพสต์ ไม่ทราบเรื่อง ก็จะกลายเป็นการเทกโอเวอร์แบบไม่เป็นมิตร ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาตามมาเหมือนในอดีตที่เคยเกิดขึ้นในหลายกรณี
"เจ๊ยุ" เชื่อปิดบังเจตนาไม่ได้
นางยุวดี ธัญญสิริ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาลของบางกอกโพสต์ กล่าวว่า การที่มีนักลงทุนให้ความสนใจเข้ามาซื้อหุ้นหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ ด้วยการลงทุนที่มีมูลค่ามหาศาลป็นประวัติการณ์ของสื่อไทยมองได้หลายแง่ แง่หนึ่งถือ เป็นการลงทุนตามธรรมดา หุ้นที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯถ้ามีคนขายเขาก็สามารถที่จะซื้อได้ อีกแง่หนึ่ง เป็นเรื่องของการอยากเข้ามามีธุรกิจทางด้านนี้เพื่อที่ทรงอิทธิพลต้องยอมรับว่าสื่อมีอิทธิพลสูง ใครได้ชื่อว่าเป็นเจ้าของธุรกิจทางด้านนี้ ก็จะกลายเป็นผู้ทรงอิทธิพล จะเห็นตัวอย่างนักธุรกิจในต่างประเทศ ที่เป็นเจ้าของสื่ออย่างครบวงจร ทั้งวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์
"นายทุนที่เข้ามาซื้อหุ้น หากมีความเข้าใจ ในวิชาชีพสื่อมวลชนก็คงจะไม่มีปัญหาอะไร หากหวังที่จะครอบงำคงทำไม่ได้ เพราะว่า สื่อเองมีความเป็น อิสระ มีความเป็นวิชาชีพ ถ้าไม่เข้าใจคิดว่าสื่อสามารถ สั่งซ้ายหันขวาหันได้ คงจะคิดผิด คงซื้อได้แค่อสังหาริมทรัพย์ จิตวิญญาณคงซื้อไม่ได้ คนที่ทำอาชีพนี้ เป็นผู้มีความละเอียดอ่อน เพราะทุกคนทำงาน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมในการเป็นกระจกเงาสะท้อนและตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เราไม่ได้เป็นเครื่องมือ เพื่อไว้ปกป้องผลประโยชน์หรือไว้เชียร์ใคร" ผู้สื่อข่าว อาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล กล่าว
นางยุวดี กล่าวว่า อยากตั้งข้อสังเกตว่า การลง ทุนกว่า 2 พันล้าน เป็นการฉีกแนวจากธุรกิจที่มีอยู่เดิมไม่ทราบว่ามีเบื้องหน้าเบื้องหลังอะไรหรือไม่ คงต้องดูกันต่อไป ของอย่างนี้คงปิดบังกันได้ไม่ง่าย
มีรายงานข่าวว่า สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ แห่งประเทศไทย จะจัดการเสวนาเรื่อง "จับตาแกรมมี่ ฮุบมติชน-โพสต์ ธุรกิจการเมือง เสรีภาพสื่อมวลชน" ในวันพฤหัสบดีที่ 15 ก.ย.นี้ เวลา 10.00 น.ที่สมาคม นักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยอีกด้วย หลายองค์กังวลรัฐคุมโครงสร้างสื่อ
นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค(สอบ.)กล่าวว่า เป็นการส่งสัญญาณ อันตรายต่อสังคม เนื่องจากเครือหนังสือพิมพ์ทั้ง 2 ฉบับเป็นสื่อกระแสหลักที่ทำหน้าที่สื่อสารข่าวสารข้อมูล เน้นสาระ และการวิพากษ์วิจารณ์ เพื่อก่อให้ เกิดการตั้งคำถามเพื่อรักษาผลประโยชน์ของสังคมและผู้บริโภคสื่อ ส่งผลต่อการเป็นองค์กรที่มีอิทธิพล ชี้นำสังคมได้ ซึ่งองค์กรเช่นนี้ต้องสามารถทำหน้าที่ในฐานะนักสื่อสารมวลชนของตนได้อย่างอิสระ
นางสาวสายรุ้งกล่าวด้วยว่า ปรากฏการณ์นี้ได้ อาศัยช่องทางของตลาดหลักทรัพย์ฯเข้ามารุกคืบครอบงำกิจการที่มีลักษณะเฉพาะเช่นกิจการสื่อสารมวลชนที่มีผลชี้นำสังคม เช่นเดียวกับกิจการเฉพาะเช่นกิจการสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ที่เป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลเตรียมนำเข้าตลาด หลักทรัพย์ฯเพื่อให้กลุ่มทุนธุรกิจการเมืองครอบงำนโยบาย และหาผลประโยชน์ได้เต็มที่
ขณะที่ แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อ การปฏิรูปสื่อ (คปส.) ระบุว่า มีความกังวลอย่างสูงมากต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้ม ความถดถอยของระบบสื่อในเชิงโครงสร้าง เนื่องจากการรุกคืบของกลุ่มสื่อขนาดใหญ่ที่มีความใกล้ชิดกับ กลุ่มอำนาจทางการเมือง นั้นจะส่งให้เกิดทางลบ ต่อ 1.อิสรภาพของสื่อมวลชน 2. สิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าว สารของประชาชน และ 3. ผลกระทบต่อดุลยภาพทาง เศรษฐกิจ/การเมือง ดังนั้น นักวิชาชีพสื่อคงต้องรวม ตัวกันให้เข้มแข็งขึ้นเพื่อสร้างกลไกในการต่อรองและ คานอำนาจกับกลุ่มทุนผู้เป็นเจ้าของสื่อ ตามหลักการ ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 41 ส่วนภาคประชาชน ต้องเพิ่มการรับรู้เท่าทัน ท้าทายระบอบทักษิณ รณรงค์ยุติการกินรวบ/ผูกขาดสื่อจากกลุ่มทุนสื่อสารที่ใกล้ชิดการเมือง เพื่อปกป้อง อิสรภาพแห่งการสื่อสารของสังคมไทย จากภัยคุกคามในปัจจุบัน ปชป.ชี้การซื้อขายมีเงื่อนงำ
นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ได้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวมาหารือ และเห็นว่า การซื้อดังกล่าวน่าจะเป็นความพยายามที่จะรุกคืบเข้าไปมีบทบาทในสื่อสารมวลชนอิสระของเอกชนมากยิ่งขึ้น โดยผู้มีอำนาจในบ้านเมืองผ่านบริษัทธุรกิจเอกชนที่มีความรู้จักมักคุ้นกัน จนทำให้การเสนอข่าวสารถูกแทรกแซงจนไม่เป็นอิสระ
สิ่งที่ในที่ประชุมพูดกันมากคือ เวลานี้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้าไปยึดกุมอำนาจไว้ครอบวงจรจะส่งผลต่อการนำเสนอทัศนคติ ความเคลื่อน ไหวฝ่ายที่เห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลจะยากลำบากยิ่งขึ้น
นายองอาจตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กรณีของมติชน ผู้บริหารแกรมมี่ก็คุ้นเคยกันดีกับผู้บริหารมติชน ถ้าจะซื้อขายกันตามปกติธรรมดาน่าจะรับรู้กันได้ แต่นี้กลับเป็นการซื้อผ่านต่างประเทศ โดยที่ผู้บริหารมติชนมารับรู้ที่หลัง แสดงว่าต้องมีอะไรไม่ชอบมาพากล ไม่น่าจะเป็นการลงทุนตามปกติธรรมดาเรื่องนี้ถือเป็นอันตรายต่อประเทศชาติ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้สื่อมาหาประโยชน์ส่วนตัวหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือไม่
ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย รมช.คมนาคม และรองเลขาธิการพรรคไทยรักไทย เปิดเผยว่า เคยมีผู้เสนอให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำการซื้อกิจการหนังสือพิมพ์บางฉบับในช่วงการตั้งพรรคไทยรักไทย แต่พ.ต.ท.ทักษิณได้ปฏิเสธแนวคิดดังกล่าวโดยอ้างว่าเป็นเรื่องของวิชาชีพที่เขาไม่สามารถไปซื้อกิจการหนังสือพิมพ์ได้ ส่วนเรื่องนายไพบูย์ซื้อมติชนกับบางกอกโพสต์ ขอยืนยันไม่ใช่เรื่องของพรรคไทยรักไทย
นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีพฤติกรรมไปแทรกแซงสื่อทั้งทางตรงและทางอ้อม แต่ในโลกทุน นิยมที่ใครมีเงินก็สามารถเข้าไปซื้อหุ้นบริษัทต่างๆได้เรื่องนี้จึงไม่มีอะไรและความสัมพันธ์ระหว่างคุณไพบูลย์กับพรคไทยรักไทยก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ เป็นเพียงแค่คนรู้จักในวงการธุรกิจ
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการ คลัง กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มแกรมมี่ฯ เข้าซื้อหุ้นหนังสือ พิมพ์บางกอกโพสต์ และหนังสือมติชนว่า เป็นเรื่องปกติของโลกทุนนิยมสามารถทำได้ หลังจากที่มีการประเมินว่าจะสามารถสร้างกำไรจากการลงทุนได้ ขณะที่หนังสือพิมพ์และบรรณาธิการข่าวเองจะต้องรักษาภาพลักษณ์ของหนังสือพิมพ์เอาไว้
"การเปลี่ยนมือผู้ถือหุ้นเป็นการตัดสินใจของเจ้าของกิจการ หากวิเคราะห์แล้วมีความเหมาะสมก็สามารถทำได้ ทั้งนี้ผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในตลาดทุนนั้น ก็หวังความมั่งคั่ง โดยเลือกลงทุนในธุรกิจที่ดีและมีอนาคต"
หุ้นกลุ่มสิ่งพิมพ์คึกคัก
สำหรับความเคลื่อนไหวราคาหุ้น GMMM วานนี้ (13 ก.ย.) ปิดที่ 12.40 บาท เพิ่มขึ้น 0.80 บาท หรือ 6.90% โดยระหว่างวันราคาปรับสูงสุดที่ 12.90 บาท เพิ่มขึ้น 1.30 บาท หรือ 11.20% มูลค่าการซื้อขาย 16.74 ล้านบาท ขณะที่หุ้น POST ปิดที่ 8.15 บาท เพิ่มขึ้น 0.95 บาท หรือ 13.19% โดยระหว่างวันราคาสูงสุดที่ 8.40 บาท เพิ่มขึ้น 1.20 บาท หรือ 16.66% มูลค่าการซื้อขาย 4.67 ล้านบาท
ด้านราคาหุ้น MATI ปิดที่ 11.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท หรือ 2.75% โดยระหว่างวันราคาสูงสุดที่ 11.60 บาท 0.70 บาท หรือ 6.42% มูลค่าการซื้อขาย 28.42 ล้านบาท
สำหรับราคาหุ้นแกรมมี่บริษัทแม่บมจ.จีเอ็มเอ็ม มีเดีย หรือ GMMM ปิดที่ 13.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.40 บาท หรือ 3.15% โดยระหว่างวันราคาสูงสุดที่ 14 บาท เพิ่มขึ้น 1.30 บาท หรือ 10.23% มูลค่าการซื้อขาย 16.59 ล้านบาท
|
|
|
|
|