|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คลังเล็งปรับภาษีเบียร์ หลังปรับภาษีสุรา เหตุปัจจุบันราคาขายปลีกเบียร์ระดับล่าง-กลางและบน แตกต่างกันมาก ขณะที่ต้นทุนการผลิตต่างกันเพียงเล็กน้อย ระบุเบียร์ช้างเสียสิงห์เตรียมเฮ “บุญรอดฯ”จวกรัฐรณรงค์ลดการดื่มไม่สัมฤทธิ์ผล เชื่อคนไทยแห่กินเบียร์แทนเหล้านอก เดินเรื่องชงสูตรโครงสร้างภาษีเบียร์ 700บาทต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า วัตถุประสงค์ของการปรับภาษีสุราในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากต้องการให้ประชาชนในประเทศลดปริมาณการบริโภคแอลกอฮอล์ลง เพราะราคาสุราจะมีการปรับเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง แต่ก็อาจทำให้คนหันมาบริโภคเบียร์มากขึ้น เพราะเบียร์มีราคาค่อนข้างต่ำ
อย่างไรก็ตาม เบียร์จะมีปริมาณแอลกอฮอล์ต่อขวดต่ำกว่าเหล้าค่อนข้างมาก และการปรับภาษีเบียร์จะมีความละเอียดอ่อนกว่าการปรับภาษีเหล้า ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงไม่ได้พิจารณาปรับภาษีเบียร์ไปในคราวเดียวกับการปรับภาษีเหล้าในช่วงที่ผ่านมา โดยหากจะมีการปรับก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
ทั้งนี้ นายทนง กล่าวว่า โดยส่วนตัวได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปัจจุบันราคาขายปลีกเบียร์แต่ละระดับ คือ เบียร์ระดับบน ระดับกลาง และระดับล่าง มีราคาที่แตกต่างกันค่อนข้างมาก ประมาณ 10-20 บาทต่อขวด ขณะที่ต้นทุนในการผลิตแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย เช่น อาจจะต่างกันเพียง 5 บาท เท่านั้น ดังนั้น การเก็บภาษีเบียร์ตามราคาหน้าโรงงานในปัจจุบันอาจจะไม่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดเบียร์ได้มีการแบ่งตลาดผู้บริโภคกันอยู่ เช่น เบียร์ช้างแม้จะมีราคาขายปลีกต่ำ แต่มีส่วนแบ่งตลาดสูง ขณะที่เบียร์ระดับบน อย่าง ไฮเนเก้น แม้จะมีราคาราคาสูงแต่มีส่วนแบ่งตลาดน้อยกว่า ดังนั้นหากจะมีการปรับภาษีเบียร์เป็นระลอกต่อไป คงจะต้องมีการหารือกับภาคเอกชนเพื่อดูความเหมาะสมด้วย
“เป็นเรื่องที่แปลกมากว่าที่ราคาต้นทุนต่อขวดเบียร์ระดับล่าง กลาง และบน แทบจะเท่าๆ กัน แต่ราคาขายปลีกแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่เรื่องนี้มีความละเอียดอ่อน จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ”นายทนง กล่าว
ปรับภาษีเบียร์-ช้างเสียสิงห์เฮ
ก่อนหน้านี้ที่มีกระแสข่าวว่า ภาครัฐจะปรับโครงสร้างภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะกลุ่มเบียร์ตามปริมาณดีกรีของแอลกอฮอล์ ทำให้บริษัทบุญรอด บริวเวอรี่ ซึ่งปริมาณดีกรีน้อยกว่า คือ 5.5% ได้ผลประโยชน์ทันที ในขณะที่บริษัท ไทยเบฟเวอร์เรจ หรือเบียร์ช้าง ซึ่งมีดีกรี 6% เสียผลประโยชน์ เพราะราคาเบียร์ช้างจะต้องขยับขึ้นใกล้เคียงกับเบียร์สิงห์ราคาปัจจุบัน 50 บาททันที จากปัจจุบันเบียร์ช้างราคา 35 บาท
แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ภาครัฐไม่ได้ปรับโครงสร้างภาษีกลุ่มเบียร์ โดยอ้างว่าหากจะปรับเพิ่มอีกจะต้องแก้ไขพ.ร.บ.สรรพสามิต ครม.จึงได้มอบให้กระทรวงการคลังไปพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม โดยล่าสุด นายปิติ ภิรมย์ภักดี ผู้จัดการฝ่ายโฆษณา บริษัท บุณรอดเทรดดิ้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์สิงห์ ฯลฯ กล่าวว่า การที่ภาครัฐขึ้นแต่ภาษีเหล้า จะเอื้อผลประโยชน์ทันทีต่อตลาดเบียร์ โดยคนจะหันมาดื่มเบียร์มากขึ้น เนื่องจากมีราคาถูกกว่า
พร้อมกันนี้ ยังออกมาโต้ตอบภาครัฐเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวว่า ไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ทำไมภาครัฐถึงยกเว้นการปรับโครงสร้างภาษีกลุ่มเบียร์และเหล้าขาว จึงอยากให้ภาครัฐทบทวนถึงวัตถุประสงค์ของการปรับโครงสร้างภาษี ก็เพื่อต้องการลดการบริโภคสุราในประเทศลง ซึ่งหากจะให้ได้ผลจะต้องมีการปรับภาษีทุกกลุ่ม
ที่ผ่านมาภาครัฐออกมาตรการรณรงค์ให้คนไทย ลดการบริโภคสุรามาโดยตลอด แต่การรณรงค์กลุ่มระดับล่างลงมา ซึ่งส่วนใหญ่จะบริโภคเหล้าขาว,เบียร์ช้างจะไม่ค่อยได้ผล ดังนั้นนโยบายควบคุมโครงสร้างภาษีในกลุ่มสุราขาวและเบียร์ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะทำให้ภาครัฐบรรลุวัตถุประสงค์ลดการบริโภคสุราภายในประเทศลง
นายปิติ กล่าวว่า บริษัทได้เสนอร่างโครงสร้างการจัดเก็บภาษีเบียร์ตามปริมาณดีกรี 700 บาท ต่อลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ซึ่งถือว่าเป็นสูตรที่บริษัทคำนวณมาแล้วให้ภาครัฐพิจารณา จากที่ผ่านมารูปแบบการจัดเก็บภาษีตามปริมาณดีกรีซึ่งประเทศไทยมี แต่ภาครัฐไม่ได้นำมาใช้ เนื่องจากเป็นวิธีการจัดเก็บภาษีได้ในปริมาณที่ต่ำคือ แค่ 3.78 บาท โดยคิดอัตราภาษี 1 ลิตร 100 ดีกรี เท่ากับ 100 บาท ดังนั้น 1 ลิตร 6 ดีกรี เท่ากับ 6 บาท ทำให้ที่ผ่านมาภาครัฐเลือกจัดเก็บภาษีตามมูลค่า ร้อยละ 55 ดังนั้นภาษีสุราขวดละ 36.95 X 0.55 เท่ากับ 20.3225 บาท คือ ภาษีที่ภาครัฐได้เมื่อคิดตามมูลค่าในปัจจุบัน
|
|
|
|
|