|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์เฉพาะกิจของรัฐซ้ำเติมประชาชน พร้อมใจปรับอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารพาณิชย์ หลังแบงก์ชาติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.5% กรุงไทยเล็งขยับดอกเบี้ยทั้งสองขาเท่า 5 แบงก์ใหญ่ ขณะที่ออมสินคาดปรับ 0.25-0.5% ส่วน ธ.ก.ส.ชี้ อาจตรึงดอกเบี้ยเงินกู้ได้ถึง ต.ค.นี้ ด้านค่าเงินบาทแข็งค่าตามเงินญี่ปุ่นทะลุ 40.90 บาทต่อดอลลาร์ หลังพรรครัฐบาลของนายจุนอิชิโร โคอิซูมิ ชนะการเลือกตั้ง
นายอนันตผล พันธุ์เพ็ง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการบริหารกลุ่ม กลุ่มบริหารการตลาด สายงานบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาด ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงนโยบายอัตราดอกเบี้ยของธนาคารหลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 0.5% มาอยู่ที่ 3.75% ว่า วันนี้ (13 ก.ย.) คณะกรรมการธนาคารจะมีการพิจารณาเรื่องการปรับอัตราดอกเบี้ย และคาดว่าจะมีการประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ซึ่งกรุงไทยคงจะปรับอัตราดอกเบี้ยทุกประเภทในระดับเท่ากับธนาคารขนาดใหญ่ของรัฐ 5 แห่ง
"ถ้าธนาคารกรุงไทยขยับอัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยทั้งตลาดคงขยับขึ้นตาม สำหรับในช่วงที่ผ่านมา เมื่อประมาณ 2-3 เดือน เราก็ได้ออกเงินฝากประเภท 48 เดือน อัตราดอกเบี้ย 3.75%" นาย อนันตผล กล่าว
นายสมชาย วาณิชย์กุล ผู้อำนวยการฝ่ายสินเชื่อ ธนาคารออมสิน กล่าวว่า ออมสินมีนโยบายที่จะปรับอัตราดอกเบี้ยทั้งเงินกู้และเงินฝาก ตามธนาคารพาณิชย์ โดยอาจจะรอให้ธนาคารกรุงไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นก่อน และคาดว่าจะปรับขึ้นในระดับ 0.25-0.5%
"ตอนนี้สภาพคล่องของเรายังมีอยู่ เพราะเรามีการระดมเงินฝากจากการออกพันธบัตร ซึ่งมีการให้ดอกเบี้ย 1 บาทต่อหน่วย หรือต่อ 50 บาท เมื่อถือครอบระยะเวลา 3 ปีด้วย จากเดิมที่ไม่มีดอกเบี้ย มีเพียงการลุ้นรางวัล แต่ก่อนที่จะออกพันธบัตร เงินฝากของเราก็ไหลออกไปแบงก์อื่นเยอะเหมือนกัน ดังนั้น เราจึงต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพื่อผ่อนคลายในส่วนของเงินฝาก" นายสมชาย กล่าว
ด้านนายธีรพงษ์ ตั้งธีระสุนันท์ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า โดยธรรมชาติแล้วธนาคารคงจะไม่สามารถคงอัตราดอกเบี้ยสวนกระแสตลาดได้ ซึ่งท้ายที่สุดก็คงจะต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ ธ.ก.ส.จะพยายามคงอัตราดอกเบี้ยไว้ คาดว่าน่าจะสามารถตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ได้ถึงเดือนตุลาคม 2548 นี้
สำหรับโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยใหม่ ที่คิดอัตราดอกเบี้ยตามความเสี่ยงของพืชพันธุ์ที่เพาะปลูกนั้น กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยจะพยายามให้สามารถประกาศใช้ทันในเดือน พฤศจิกายน 2548 นี้ ซึ่งหากเป็นไปได้ ทางธนาคารก็ต้องการใช้โครงสร้างใหม่ สำหรับการเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยใหม่ครั้งใหม่นี้
นายโชติศักดิ์ อาสภวิริยะ กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) กล่าวว่า ธนาคารจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในเดือน ตุลาคม 2548 นี้ โดยจะปรับขึ้นในอัตราดอกเบี้ยเงินกู้พื้นฐานขึ้น 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 6.25% ซึ่งการปรับขึ้นในครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นตามสภาวะตลาดที่มีต้นทุนสูง
"ดอกเบี้ยขึ้นเป็นไปตามสภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งผู้ประกอบการควรจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง"
นางจามรี เศวตจินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานสินเชื่อธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ธอส.จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ ซึ่งจะนำสภาวะและสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงประกอบการพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าธนาคารจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนลูกค้าใหม่ของธนาคาเพราะสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นสินเชื่อในระยะยาว
บาทแข็งทะลุ 40.90 บาทต่อดอลล์
ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับค่าเงินสกุลหลักของวันที่ 12 กันยายน (วานนี้) อยู่ที่ระดับ 40.85 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 0.39% เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า และแข็งค่าขึ้น 1.22 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
หากเทียบกับค่าเงินยูโร สหภาพยุโรป ค่าเงินบาทได้แข็งค่าขึ้น 0.69% เมื่อเทียบกับเมื่อวานนี้ แต่อ่อนค่าลง 0.12 %เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ขณะที่เมื่อเทียบกับค่าเงินเยน จะพบว่าค่าเงินบาทอ่อนค่าลง 0.51% ในวันก่อน และอ่อนค่าลง 0.51 % เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
นักค้าเงินจากธนาคารไทยธนาคาร กล่าวว่า อัตราแลกเปลี่ยนค่าบาทเงินบาทของไทย เปิดตลาดที่ 40.85 - 40.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 40.86 - 40.89 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยสูงสุดระหว่างวันอยู่ที่ 40.92 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และต่ำสุดอยู่ที่ 40.85 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้การที่บาทแข็งค่าลงส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากพรรครัฐบาลของนายจุนอชิโร โคอิซุมิ ประเทศญี่ปุ่นชนะการเลือกตั้ง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นตาม
|
|
|
|
|