จากความนิยมใช้บัตรเครดิตกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ได้ทำ ให้ ผู้ประกอบการต่างให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้อย่างจริงจัง
ทั้งธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นผู้ออกบัตรรายใหญ่เดิม ที่ต่างใช้แผนการตลาดเชิงรุกเพื่อรักษาและให้ได้ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มให้มากที่สุด
และองค์กรที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน หรือ Nonbank ที่มีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆในตลาดบัตรเครดิต
ซึ่งผลที่อาจ จะตามมาจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของบัตรเครดิตดังกล่าว ทำให้เกิด
ความกังวลว่า อาจนำไปสู่วิสัยการใช้จ่ายเกินตัวและการก่อหนี้เพิ่มมากขึ้นในระบบ
ภาวะบัตรเครดิตในปัจจุบันของระบบธนาคาร...แข่งขันเข้มข้น
หลังจากการผ่อนปรนรายได้ขั้นต่ำของผู้มีสิทธิ์ในการถือบัตรเครดิต ธนาคารพาณิชย์โดยธนาคารแห่งประเทศไทยในเดือนเมษายนที่ผ่านมานั้น
ปรากฏว่า ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงมีจุดยืนที่จะไม่ลดรายได้ดังกล่าว ลงมามากนัก
เนื่องจากเหตุผลทางด้านต้นทุนและความเสี่ยงที่แต่ละธนาคารได้ประเมินไว้แล้วในระดับที่ธนาคารของตนรับได้
แต่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ยังคงที่จะมุ่งเน้นการส่งเสริมทางการตลาดเพื่อเพิ่มปริมาณ
สมาชิกผู้ถือบัตร เพิ่มปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรจากกลุ่มลูกค้าเดิม ซึ่งงบ ประมาณส่วนใหญ่ของธนาคารในการรักษาตลาดบัตรเครดิตในขณะนี้จึงเป็นค่าโฆษณาและประชาสัมพันธ์เพื่อส่งเสริมการขาย
นอกเหนือจากค่าใช้ จ่ายในการปรับปรุงระบบจัดการภายในให้สอดคล้องกับการสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าในปัจจุบันได้
ซึ่งได้แก่ การเตรียมความพร้อม ด้านการออกบัตร ด้านบุคลากรขายตรง ด้านเทคโนโลยี
เป็นต้น ทั้งนี้ ใน ช่วงที่ผ่านมา ธนาคารต่างๆมีการส่งเสริมการขายเพื่อดึงดูดลูกค้าที่คล้าย
คลึงกัน เช่น การยกเว้นค่าธรรมเนียมแรกเข้า การยกเว้นค่าธรรมเนียมรายปี การยกเว้นค่าธรรมเนียมตลอดชีพเมื่อมีการใช้จ่ายผ่านบัตรที่มากพอ
การแจกของรางวัลเมื่อมีการสมัครบัตรเครดิต เป็นต้น
ทั้งนี้ การพยายามรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดและการเริ่มเปิดตัวที่จริงจังมากขึ้นในตลาดบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์หลายแห่ง
ได้ทำ ให้ตลาดนี้มีความคึกคักมากขึ้น ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมตัวเลขบัตรเครดิตล่าสุดในช่วงไตรมาส
2 ของปี 2545 ซึ่งเป็นช่วงเวลาแรกหลังจากการผ่อนปรนยกเลิกรายได้ขั้นต่ำในการสมัครบัตรเครดิต
ทั้งนี้ สามารถ สรุปให้เห็นแนวโน้มบัตรเครดิตในระบบธนาคารพาณิชย์ได้คร่าวๆดังนี้
จากข้อมูลบัตรเครดิตในระบบธนาคารพาณิชย์ประจำไตรมาสสอง ปี 2545 แสดงให้เห็นว่าปริมาณบัตรเครดิตในระบบยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากช่วงเวลาที่ผ่านมา
โดยเพิ่มขึ้น30.76% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียว กันในปีก่อนหน้า คือจาก 2,152,731
ใบในไตรมาสสองของปี 2544 มาเป็น 2,815,006 ใบในไตรมาสสองปี 2545 โดยจะเห็นว่าการเติบโตของจำนวนบัตรเครดิตนั้นมีการเพิ่มขึ้นแบบชะลอตัวลง
เมื่อเทียบกับการเติบโตแบบ ปีต่อปีในไตรมาสก่อนๆ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประมาณการขยายตัวของ
จำนวนบัตรเครดิตตลอดทั้งปี 2545 ไว้ไม่ต่ำกว่า 30% จากปี 2544 อันเป็นผลจากการขยายตลาดของธนาคารผู้ออกบัตร
ซึ่งนอกจากการต้องการครองส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้นจากการหาลูกค้า ใหม่แล้ว ธนาคารหลายแห่งก็ได้ปรับกลยุทธ์ในการส่งเสริมการใช้จ่ายผ่าน
บัตรของลูกค้าเดิมให้เพิ่มมากขึ้น เช่น การสะสมแต้มเพื่อแลกของรางวัล ส่วนลดร้านค้าต่างๆเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตร
และการยกเว้นค่าธรรมเนียมต่างๆ หากลูกค้าใช้จ่ายมากกว่าระดับที่กำหนดไว้ เป็นต้น
ทั้งนี้ แผนของธนาคาร ประกอบกับกลไกเศรษฐกิจที่กระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนที่เพิ่มมากขึ้น
ก็ได้ทำให้การใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตนั้นเพิ่มขึ้นตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
โดยปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในไตรมาสที่สองของปี 2545 นั้นมีการขยายตัว 26.79%
เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งเป็น การขยายตัวที่ลดลงเมื่อเทียบย้อนหลังกลับไปจนถึงไตรมาสแรกของปี
2544 ใน ขณะที่ปริมาณการใช้จ่ายต่อบัตรประจำไตรมาสสองเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในปี
2545 คือ อยู่ที่ระดับ 5,282 ต่อบัตรต่อเดือน เทียบกับ 5,222 ในไตรมาสแรก ซึ่งจะเห็น
ได้ว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณการใช้จ่ายต่อบัตรที่ระดับ 5,282 บาทต่อบัตรนั้น เกิด
จากการเติบโตของปริมาณการใช้จ่ายผ่าน บัตรที่ 44,605,689,000 บาท จากไตรมาสก่อนหน้าที่
42,052,429,000 บาท ที่อยู่ในอัตราที่มากกว่าการขยายตัวของการเติบโตของปริมาณบัตรเครดิต
ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกในปี 2545 โดยแนวโน้มดังกล่าว นั้นคาดว่า
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความพยายามของธนาคารพาณิชย์หลายแห่งที่ต้องการและมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านบัตรของลูกค้าเดิมมาก
กว่าการขยายฐานบัตรจากลูกค้าใหม่ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า จาก การเสนอรายการส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายผ่านบัตรที่ยังคงมีออก
มาอย่างต่อเนื่องของธนาคารพาณิชย์ การเติบโตของการใช้จ่ายผ่านบัตรน่า จะอยู่ในอัตราที่ไม่ต่ำกว่า
35% ในทั้งปี 2545 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ในขณะเดียวกัน ตัวเลขไตรมาสที่ 2 ของปี 2545 ยังได้บ่งบอกถึงยอดสินเชื่อคงค้างในระบบที่มีสูงถึงเกือบ
44 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มประมาณ 24.17% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ทั้งนี้
การขยายตัวของ ยอดสินเชื่อคงค้างนั้นสะท้อนถึงการค้างชำระบัตรมากขึ้นมากกว่าการจ่ายคืนเต็มจำนวนในแต่ละเดือน
ซึ่งในสิ้นปี 2545 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่า ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีกประมาณไม่ต่ำกว่า
30% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากแนวโน้มการค้างชำระที่มากขึ้นและโครงการดอกเบี้ยต่ำที่ธนาคารหลายแห่งเสนอออกมาเพื่อดึงดูดใจลูกค้า
นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบการใช้จ่ายผ่านบัตรและสินเชื่อคงค้างบัตรเครดิตในระบบแล้วโดยดูอัตราการเพิ่ม/ลด
แบบปีต่อปีตั้งแต่ช่วงเวลา ไตรมาสแรกของปี 2543 จนถึงไตรมาสที่ 2 ของปี 2545 พบว่า
ในขณะที่ การใช้จ่ายผ่านบัตรมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะชะลอตัวลงในช่วงท้าย
การเติบโตของสินเชื่อคงค้างกลับมีการเติบโตแบบอัตราเร่ง จากที่เคยลดลงในช่วงก่อนไตรมาสที่
2 ปี 2544 ดังเห็นได้จากแผนภูมิด้านล่าง
ซึ่งจะเห็นว่าตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2543 เป็นต้นมา จะมีการลดลงของสินเชื่อคงค้างในขณะที่การใช้จ่ายผ่าน
บัตรมากขึ้น ในขณะที่ช่วงเวลาต่อๆมานั้น การลดลงของสินเชื่อคงค้างก็อยู่ในอัตราที่ลดลง
จนกลับกลายเป็นเพิ่มขึ้น ที่จะเห็น เป็นครั้งแรกในไตรมาสที่ 2 ปี 2544 และเพิ่มขึ้นเรื่อยในระยะต่อๆมาจนถึงไตรมาส
2 ปี 2545 ซึ่งการเพิ่มขึ้นดังกล่าว ชี้ให้เห็นว่า การขยายตัวของยอดสินเชื่อคง
ค้างตามหลัง (Lag) การขยายตัวของการ ใช้จ่ายผ่านบัตร โดยเป็นไปได้ว่า ผู้ถือบัตรเริ่มที่จะคุ้นเคยที่จะค้างชำระบัตรเครดิตมากขึ้น
เมื่อเทียบกับ 1-2 ปีที่ผ่านมา
แม้ว่าจำนวนบัตรเครดิตจะขยายตัวกว่า 30% ในช่วงที่ผ่านมา แต่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยก็ยังเห็นว่า
การขยายตัวอย่างมากดังกล่าว ยังไม่น่าที่จะทำให้เกิดปัญหา เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบกับฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า
นอกจากนี้ สัดส่วนของการใช้บัตรเครดิตในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ
ยกตัวอย่างเช่น การใช้จ่ายผ่านบัตรของไทยคิดเป็นประมาณ 5.86% ของรายจ่ายเพื่อการบริโภค
ซึ่งยังต่ำกว่า 8.13%, 21.77%, และ 13.16% ของสิงคโปร์ มาเลเซีย และสหรัฐอเมริกา
ตามลำดับ ดังนั้น การจะพิจารณาธุรกิจบัตรเครดิต คงจะดูจากอัตราการขยายตัวเพียงอย่าง
เดียวไม่ได้ คงจะต้องพิจารณาถึงสัดส่วนอื่นๆประกอบในภาพรวมด้วย ซึ่ง จะเห็นว่า
การใช้บัตรเครดิตในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าอีกหลายประเทศ
บทบาทที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆของ Nonbank
อย่างไรก็ดี ข้อมูลตัวเลขบัตรเครดิตข้างต้นยังไม่ได้รวมไปถึงองค์กร ที่ไม่ใช่สถาบันการเงินที่ในปัจจุบันยังมีอยู่ไม่มากนัก
เช่น อิออน จีอี แคปิตอล เอไอจี เป็นต้น ซึ่งแยกย่อยเครือข่ายเป็นการร่วมรายการกับร้านค้าทั่วไปที่มีบทบาทในธุรกิจค้าปลีกต่างๆ
เช่น เทสโก้โลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ บิกซี คาร์ฟูว์ Hypermarket โรบินสัน เซ็นทรัลการ์ด
เดอะมอลล์ เพาว์เวอร์บาย ฯลฯ และบัตรเครดิตจากร้านค้าต่างๆที่ต่างเตรียมออกบัตรเครดิตเพื่ออำนวยความสะดวกในการชำระค่าสินค้าพร้อมกับดึงดูดให้ลูกค้าใช้บริการร้านค้าของตนนั้น
ทั้งนี้ บัตรเครดิตขององค์กรที่ไม่ใช่สถาบันการเงินดังกล่าวเป็นบัตรเครดิตของค่ายต่างๆที่เจาะกลุ่มตลาดเฉพาะมากขึ้น
โดยส่วนใหญ่มีการกำหนดรายได้ในขอบเขตระหว่างประมาณ 5,000-7,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น
ขั้นตอนการอนุมัติไม่ยุ่งยาก จึงเป็นสินเชื่อที่สามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยสามารถเห็นได้จากภาพตลาดบัตรเครดิตโดยรวมที่การเติบโตของบัตรเครดิตภาค
Nonbank นั้น เพิ่มขึ้นประมาณ 200% ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาจากการประมาณโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตขององค์กรที่ไม่ใช่สถาบันการเงินมีความแตกต่างจากของธนาคารพาณิชย์
คือ
1. มีกลุ่มลูกค้าคนละกลุ่ม โดย Nonbank ส่วนใหญ่ได้เจาะลูกค้ากลุ่มที่มีรายได้น้อย
ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าที่อาจจะไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
2. มีขอบเขตของเครือข่ายร้านค้าที่ต่างกัน จากบัตรเครดิตของ Nonbank ที่มีขอบเขตการให้บริการน้อยกว่า
เช่น ปริมาณร้านค้าที่รับบัตรเครดิตของ Nonbank ที่มีเครือข่ายน้อยกว่าบัตรเครดิตที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์
หรือรับบัตรเฉพาะที่ เช่น เฉพาะห้างหรือร้านค้าที่เป็นผู้ออกบัตร
3. มีการกำกับดูแลทื่แตกต่างกัน ซึ่งในปัจจุบันยังคงมีแต่ธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์เท่านั้นที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย
ในขณะที่ Nonbank จะอยู่ภายใต้การควบคุม ของกระทรวงพาณิชย์
ซึ่งจากความแตกต่างข้อ 1-2 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า จากลักษณะกลุ่มเป้าหมายของลูกค้าเฉพาะและขอบเขตการใช้บัตรที่ยังมีข้อจำกัดมากกว่าบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์นั้น
ทำให้การให้บริการบัตรเครดิตโดย Nonbank ไม่น่าที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์มากนัก
เพราะทั้งสองกลุ่มให้บริการในลักษณะที่แตกต่างกัน และมีกลุ่มลูกค้าที่ต่างกัน แต่อย่างไรก็ดี
ในระยะยาวนั้น การขยายตัวที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่องของบัตรเครดิต Nonbank ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้จ่ายของประชาชนและภาวะการแข่ง
ขันในระบบธุรกิจบัตรเครดิตโดยรวมได้
แต่อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเห็นว่า ประเด็นความแตกต่างใน เรื่องการกำกับดูแลการให้บริการของธนาคารพาณิชย์และ
Nonbank น่า ที่จะได้รับการพิจารณาปรับเปลี่ยนแก้ไข เพื่อสร้างกรอบและบรรทัดฐาน
ที่ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้ คงจะต้องติดตามความ คืบหน้าของร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำกับธุรกิจบัตรเครดิตต่อไป
นอกจากนี้ ประเด็นอื่นๆที่สำคัญ ได้แก่ การกำหนดเพดานดอกเบี้ย บัตรเครดิต การกำหนดบทลงโทษการทุจริตบัตรเครดิต
และกฎหมายที่เป็นรูปธรรมในการกำหนดวิธีปฏิบัติการใช้ข้อมูลเครดิตบูโร ฯลฯ ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่สามารถเติมเต็มและป้องกันปัญหาที่อาจกลายเป็นอุปสรรค
จากการใช้บัตรเครดิตได้ ซึ่งในปัจจุบัน ประเด็นดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการดำเนินงานในขั้นตอนการกำหนดเป็นกฎหมายอย่างเป็นรูปเป็น
ร่างเพื่อนำมาประกาศใช้ต่อไป
สรุปและความคิดเห็น
การขยายตัวของธุรกิจบัตรเครดิตอย่างมากในปัจจุบันได้สร้างความ กังวลต่อสังคม ทั้งนี้
จากตัวเลขบัตรเครดิตของระบบธนาคารพาณิชย์ใน ไตรมาสสองของปี 2545 พบว่า ปริมาณบัตรเครดิต,
ปริมาณการใช้จ่าย ผ่านบัตร, และหนี้คงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
จากช่วงที่ผ่านมา โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้คาดการณ์ว่า ตลอดทั้งปี 2545 นั้น ปริมาณบัตรเครดิต,
ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตร, และหนี้คงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต จะมีการขยายตัวต่อไปในอัตราไม่ต่ำกว่า
30% 35% และ 30% ตามลำดับ
นอกจากนี้ จากความสัมพันธ์ของปริมาณใช้จ่ายผ่านบัตรโดยรวมและหนี้คงค้างสินเชื่อบัตรเครดิต
ในช่วงเวลาตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ปี 2543 จนถึง ไตรมาสที่ 2 ปี 2545 ได้บอกถึงลักษณะที่หนี้คงค้างบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นตามหลังการใช้จ่ายผ่านบัตรในแต่ละช่วงเวลาอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีความเห็นว่า แนวโน้มดังกล่าวบ่งบอกถึงความนิยม และความคุ้นเคยในการใช้บัตรเครดิตมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ในขณะเดียวกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้จำนวนบัตรเครดิตจะมีการขยายตัวกว่า
30% แต่ตัวเลขบัตรเครดิตดังกล่าวไม่น่าจะนำไปสู่ปัญหา เนื่องจากจะต้องพิจารณาสัดส่วนของการใช้บัตร
โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับการใช้จ่ายรวมของ ระบบ ซึ่งจะพบว่า สัดส่วนดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ
ประกอบกับเมื่อมองในระดับสากลแล้ว สัดส่วนดังกล่าวของไทยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในหลายๆประเทศยังคงอยู่ในระดับที่ยังต่ำเช่นเดียวกัน
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจบัตรเครดิตของ Nonbank ก็มีบทบาทและความสำคัญมากขึ้นจากการเติบโตถึง
200% จากปีก่อนหน้าที่ประมาณโดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ทั้งนี้ การเติบโตที่สูงมากนั้นเกิดจากการเทียบจากฐาน
ที่ต่ำในช่วงที่ Nonbank เพิ่งเริ่มเข้ามาในตลาดนี้อย่างจริงจัง ซึ่งศูนย์วิจัยมีความเห็นว่า
จากฐานลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงกว่า และขอบเขตการ ใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มีเครือข่ายจำกัดกว่า
เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ แล้ว ทำให้การให้บริการบัตรเครดิตของ Nonbank คงจะไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารพาณิชย์มากนัก
เนื่องจากเป็นบริการที่ต่างกัน และมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ดี ในระยะยาวนั้น
การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของบัตรเครดิต Nonbank ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อรูปแบบการใช้จ่ายของประชาชนในระบบและภาวะการแข่งขันในธุรกิจบัตรเครดิตโดยรวมได้
ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและกรอบมาตรฐานเดียวกันในการควบคุมการดำเนินงานของผู้ดำเนินธุรกิจบัตรเครดิต
ในการรองรับการขยายตัวของธุรกิจนี้ในระยะยาว กฎหมายเพื่อกำหนดหลักปฏิบัติเดียวกันในการดำเนินธุรกิจนี้ของธนาคารพาณิชย์
และ Nonbank จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการพิจารณาเพื่อดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ คงต้องรอดูความคืบหน้าในการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องในการกำกับธุรกิจบัตรเครดิตต่อไป
นอกจากนี้ ประเด็นในการกำหนดอัตราดอกเบี้ย การกำหนดบทลงโทษในการทุจริตบัตรเครดิต
และการค้นหาข้อมูลเครดิตบูโรที่ชัดเจนมากขึ้น ก็ยังเป็นสิ่งที่สามารถส่งเสริมการเติบโตของธุรกิจนี้ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคตได้
ซึ่งคงจะต้องติดตามความคืบหน้าของ ประเด็นต่างๆดังกล่าวต่อไป