ทราฟฟิก คอร์นเนอร์ฯเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ โฟกัสเนื้อหาเป็นเรือธงหลัก ยกเลิกการแบ่งเป็นประเภทสื่อ เผยช่วง 3 ปีนี้ไม่มองอะไรแล้ว ต้องสร้างความแข็งแกร่งให้กับ 3 โมเดล คือ ข่าว กีฬา บันเทิง คาดเร็วๆ นี้สรุปผู้เข้าถือหุ้นอีก 90 ล้านหุ้นได้ ย้ำต้องการพันธมิตรที่เอื้อธุรกิจได้ไม่ใช่เอาเงินมาถือหุ้นอย่างเดียว
นายสุรพงษ์ เตรียมชาญชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯได้ปรับ โครงสร้างการดำเนินธุรกิจและองค์กร ใหม่ โดยเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนกันยายนนี้ โดยนโยบายหลักจะให้ความสำคัญกับการแบ่งธุรกิจตามเนื้อหาหรือคอนเทนต์โดยแบ่งกลุ่มธุรกิจออกเป็นประเภทของเนื้อหาหลัก 3 กลุ่ม คือ ข่าว กีฬา และเอนเตอร์เทนเมนต์ จากเดิมที่แบ่งโครงสร้างธุรกิจออกเป็นประเภทของสื่อคือ สื่อทีวี สื่อวิทยุ สื่อสิ่งพิมพ์
ทั้งนี้กลุ่มคอนเทนต์ข่าว จะดำเนินงานภายใต้บริษัท ดรีมมีเดีย จำกัด โดยมีนายชาญชัย เทียนงาม ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด รับผิดชอบดูแล ซึ่งประกอบ ไปด้วย รายการข่าวทางสื่อโทรทัศน์คือ ทันข่าวเช้านี้, เที่ยงวันทันข่าว, ทันข่าวต้นชั่วโมง, นิวส์ไลน์, รายการ วิพากษ์หุ้น รายการทางสื่อวิทยุคือ ข่าวต้นชั่วโมงกรมประชาสัมพันธ์เรดิโอไทยแลนด์นิวส์ เนื้อหาทางสื่อ สิ่งพิมพ์คือ บางกอกทูเดย์, ทันหุ้น, ทูเดย์เอ็กซเพรส
ส่วนกลุ่มที่สองคือ กีฬา จะดำเนินงานภายใต้บริษัท ทีวี ฟอรัม จำกัด โดยมีนางสาวศรวณีย์ ศิริ-จรรยากุล เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท รับผิดชอบซึ่งประกอบไปด้วย รายการทางสื่อทีวีคือ ถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีก, ถ่ายทอดสดเอฟเอคัพ, ถ่ายทอดสดทีมชาติอังกฤษในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก, ถ่ายทอด สดฟุตบอลบุนเดสลีกา, รายการสดก่อนเกมส์, รายการไฮไลต์พรีเมียร์ ลีก รายการที่ผ่านสื่อวิทยุคือ ข่าวต้นชั่วโมงกรมประชาสัมพันธ์ เรดิโอ ไทยแลนด์นิวส์ และรายการที่ผ่านโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม
กลุ่มที่สามคือ เอนเตอร์เทน- เมนต์ โดยมีนายศิริพงศ์ ว่องวุฒิ-พรชัย ดำรงตำแหน่งประธานบริหาร รับผิดชอบ ซึ่งประกอบด้วย สื่อ สิ่งพิมพ์ที่มี มายาแชนแนล, เอ็มทีวีแทร็กซ์, ทิกอะซีท, อะเดย์, น็อกน็อก, แฮมเบอร์เกอร์ ผ่านสื่อวิทยุคือ ลูกทุ่งเอฟเอ็ม 103 และผ่านสื่อทีวีคือ กิจกรรมลูกทุ่งเอฟเอ็ม และมีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมด้วย
นายสุรพงษ์ย้ำด้วยว่า การขยาย งานของกลุ่มทราฟฟิกฯในช่วง 3 ปีนี้ จะมีต่อเนื่องแต่จะอยู่ในขอบเขตของ ธุรกิจ 3 กลุ่มนี้เท่านั้น คือ ข่าว กีฬา เอนเตอร์เทนเมนต์ แต่ไม่ใช่หมาย ความว่าจะไม่ให้ความสนใจสื่อประเภท อื่นหรือคอนเทนต์อื่น เพียงแต่ว่า ใน ระยะใกล้นี้ต้องสร้างความแข็งแกร่ง ของ 3 กลุ่มคอนเทนต์นี้ก่อน
ทั้งนี้บริษัทฯได้ปรับเปลี่ยนพนักงานทั้งหมดเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าไม่ได้มีการลดคนหรือเลิกจ้างจำนวนมากแต่อย่างใด โดยขณะนี้ในส่วนของบริษัทดรีมมีเดียมีพนักงานทั้งหมด 108 คน ส่วนจำนวนคนที่มีมากกว่านี้ ก็จะโอนไปทำในฝ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง
"การทำงานหลังจากนี้จะยิ่งช่วยทำให้ลดต้นทุนดำเนินการโดยรวมได้ด้วย เนื่องจากการใช้อุปกรณ์ และบุคลากรที่มีอยู่ร่วมกัน ไม่เกิดการทำงานซ้ำซ้อนเหมือนในอดีต เมื่อก่อนนี้เมื่อมีการแถลงข่าว นักข่าว ของเราก็ไปทุกสื่อในงานเดียวกัน เป็นการทำงานซ้ำซ้อนกัน แต่ตอนนี้ เราใช้นักข่าวไปเพียงคนเดียวก็สามารถนำคอนเทนต์นั้นมาต่อยอดกระจายในทุกสื่อได้ นอกจากนั้นการมุ่งเน้นคอนเทนต์นั้นมีแผนที่จะต่อยอดของเนื้อหาในสื่อต่อเนื่องเช่น นิตยสารแฮมเบอร์เกอร์ที่เกี่ยวกับข่าวคราวดารา บันเทิง ในประเทศ ซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาเอาเนื้อหา ในนิตยสารมาพัฒนาเป็นรายการผ่านทางโทรทัศน์ก็ได้"
ปัจจุบันบริษัทฯมีรายการที่ผ่านสื่อทีวีรวมประมาณ 25 ชั่วโมง ต่อสัปดาห์ โดยมีจำนวนเวลาในช่อง 11 มากที่สุด แต่มีราคาค่าโฆษณาสูง ที่สุดคือ 450,000 บาทต่อนาทีอยู่ที่ช่อง 3 กับช่อง 7 ในรายการ ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีก โดยที่สัดส่วนรายได้ของบริษัทฯหากแบ่งตามประเภทสื่อจะเป็นทีวี 45% สิ่งพิมพ์ 30% และวิทยุ 25% แต่หากแบ่งตามประเภทของคอนเทนต์ จะเป็น กีฬา 40% ข่าว 30% และบันเทิง 30%
นายสุรพงษ์กล่าวถึงการหาพันธมิตรเข้ามาถือหุ้นว่า ขณะนี้หุ้นที่เหลืออีก 90 ล้านหุ้นหรือประมาณ 20% ของทุนจดทะเบียน ที่ขายแบบ เฉพาะเจาะจงนั้นอยู่ระหว่างการเจรจา กับผู้สนใจประมาณ 2-3 ราย ซึ่งคาด ว่าจะสรุปได้ในเร็วๆ นี้ สาเหตุที่ยังล่าช้าเนื่องจากว่า มีบางรายต้องการเข้าซื้อหุ้นทั้งหมด แต่ทั้งนี้จุดประสงค์ของบริษัทฯคือต้องการพันธมิตรที่เข้ามาถือหุ้นและสามารถ เอื้อประโยชน์ทางธุรกิจต่อกันได้ในลักษณะ สตาร์ทธิจิค พาร์ตเนอร์ (STRATEGIC PARTNER)
"ผมต้องการพันธมิตรหุ้นที่ช่วยธุรกิจกันได้ เช่น ตัวอย่าง เรามี งานที่ต้องใช้กระดาษมาก พิมพ์มาก ก็อาจจะเป็นพันธมิตรทางด้านกระดาษก็เป็นได้ ซึ่งทุกวันนี้เราก็มีพันธมิตรแบบนี้แล้ว เช่น กลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่นที่ถือหุ้นอยู่ประมาณ 7-8% หรืออักษรเจริญทัศน์ ถือหุ้นประมาณ 5% นอกนั้นก็เป็นพันธมิตรทางด้านธุรกิจ เช่น โอสถ-สภา บุญรอดบริวเวอรี่ การปิโตร-เลียมแห่งประเทศไทย ทรู บีอีซีไอ หรือกลุ่มสามารถฯ เองด้วย ซึ่งตอนนี้เราก็อยากได้พวกคอนซูเมอร์ เช่น เนสท์เล่ สหพัฒน์ ที่จะต้องดำเนินการต่อไป" นายสุรพงษ์กล่าว
ปัจจุบันบริษัทฯมีทุนจดทะเบียน ที่ชำระแล้ว 278 ล้านบาท และเมื่อหากรวมการหาผู้ถือหุ้นอีก 90 ล้านหุ้นได้แล้วจะมีทุนจดทะเบียนเป็น 440 ล้านบาท แต่มีผลขาดทุนสะสม กว่า 200 ล้านบาท คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะล้างขาดทุนสะสมได้หมด โดยปีที่แล้วมีรายได้รวม 500 กว่าล้านบาท และปีนี้คาดว่ารายได้รวมเป็น 700 ล้านบาท
"วันนี้ผมมีทิศทางชัดเจนเลยว่าจะไม่ลงทุนอะไรที่รอหวังผลใน อีก 3 ปีข้างหน้าแล้ว จะลงทุนที่เห็นผลเลยต้องได้กำไรในปีนั้นเลย" นายสุรพงษ์ย้ำ
|