|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
หลากมรสุมส่งออกไก่ตกเป้า 22% มีออเดอร์ส่งออกแต่ขาดพันธุ์ไก่ ขณะที่ราคา ขายในประเทศเพิ่มกว่า 100% คาดแพงต่อไป "สหฟาร์ม" โอดแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ขาดเครื่องจักรแปรรูปไก่ปรุงสุก ส่วนสถานการณ์ ไข่ไก่ ราคาหน้าฟาร์มฟองละ 2.10 บาท น่าฉงน ราคาขายปลีก 3 บาทขึ้น โบ้ยพ่อค้าคนกลางปั่นราคา "สมคิด" เดินหน้ากล่อมผู้ส่งออก 12 กลุ่ม สินค้าช่วยเร่งรัดส่งออกช่วง 4 เดือนสุดท้ายให้ได้เดือนละ 30% เพื่อให้ยอดทั้งปีเข้าเป้า 20% หวังช่วยลดยอดขาดดุลการค้าและทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล
นายแพทย์อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออกไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้ส่งออกไก่เนื้อ ที่กระทรวงเกษตร และสหกรณ์ วานนี้(8 ก.ย.)ว่า ที่ประชุมได้เสนอ เป้าส่งออกไก่เนื้อในปีนี้จำนวน 2.8 แสนตัน ลดลงถึง 22% จากเดิมที่ตั้งเป้าไว้ 3.6 แสนตัน โดยในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ส่งออกไปเพียง 1.4 แสนตัน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนปู่ย่าพันธุ์ และพ่อแม่พันธุ์ไก่เนื้อทั่วโลก อันเป็นผลมาจากวิกฤตไข้หวัดนกเมื่อปีที่ผ่านมา
ซึ่งในปีนี้มีการผลิตลูกไก่เนื้อในประเทศ 13 ล้านตัว/สัปดาห์ จากก่อนการเกิดวิกฤตไข้หวัดนก เคยผลิต 24 ล้านตัว/สัปดาห์ หายไปจากปกติเกือบ 50% และคาดว่าปัญหาดังกล่าวจะกินเวลาไปจนถึง หลังไตรมาสแรกของปี 2549 ส่วนปัญหาการผลักดันให้ประเทศคู่ค้านำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย นั้น เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องเจรจา โดยขณะนี้ โรคไข้หวัดนกระบาดเกือบทั่วโลก ขาดแต่เพียงทวีป อเมริกาใต้ ที่ยังไม่มีการระบาด แต่ถ้าเกิดระบาด ทุกที่ทั่วโลก เชื่อว่าจะต้องมีการทบทวน เพราะหาก ไม่อนุญาตให้นำเข้าไก่สด จะส่งผลเสีย ต่อระบบการค้าระหว่างประเทศและความมั่นคงทางอาหารได้
จากการขาดแคลนลูกไก่ ทำให้ราคาไก่ในประเทศแพงขึ้นตามไปด้วย ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด โดยขณะนี้ราคาไก่เนื้อในประเทศประมาณ 37-38 บาท/กก. จากก่อนเกิดวิกฤตการณ์ไข้หวัดนก ประมาณ 18 บาท/กก. หรือเพิ่มขึ้นกว่า 100% แต่ราคา 37-38 บาท/กก. ค่อนข้างยืนพื้นในราคานี้ค่อนข้างนาน การจะลดลงจากนี้เป็นไปได้ ยาก เพราะในอีกทางหนึ่งต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้น ด้วยเช่นกัน
นายปัญญา โชติเทวัญ ประธานกรรมการ บริษัท สหฟาร์ม จำกัด กล่าวว่า บริษัทมีคำสั่งซื้อ เพื่อส่งออกมาก แต่มีปัญหาขาดแคลนเครื่องจักร ที่ใช้ในการแปรรูปเป็นไก่ปรุงสุก จึงเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนโดยการให้สถาบันการเงินปล่อย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ให้กับอุตสาหกรรมไก่ ส่วนราคา ขายปลีกเนื้อไก่ที่แพงขึ้นนั้น มาจากการขาดตลาด โดยรัฐมีนโยบายให้ทางผู้ประกอบการคงสัดส่วนการส่งออกไว้เช่นกัน
นายวิชัย เตชะวัฒนานันท์ นายกสมาคมผู้ผลิต ผู้ค้าและผู้ส่งออกไข่ไก่ กล่าวถึงสถานการณ์ ราคาไข่ไก่ ภายหลังการประชุมคณะกรรมการไข่ไก่ ที่กระทรวงเกษตรฯ ในวันเดียวกันว่า ปัจจุบันราคาไข่คละหน้าฟาร์มของเกษตรกร 2.10 บาท/ฟอง จากต้นทุนการผลิตไข่ไก่ 1.80-1.85 บาท/ฟอง โดยราคาไข่คละหน้าฟาร์มนับจากนี้คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เพราะขณะนี้มีปริมาณไข่ไก่ 25-26 ล้านฟอง/สัปดาห์ ซึ่งมีปริมาณใกล้เคียงกับก่อนเกิดวิกฤตโรคไข้หวัดนก
ส่วนราคาค้าปลีกที่ค่อนข้างแพงนั้นขึ้นกับเกรดของไข่ไก่ และส่วนหนึ่งมาจากการทำกำไรของพ่อค้าคนกลาง โดยสมาคมฯไม่สามารถไปกำหนดราคาค้าปลีกไข่ไก่ได้
ขณะที่ ร้านค้าปลีกชื่อดังหรือร้านเซเว่นอีเลฟ เว่นรับไข่ไก่จากบริษัทในเครือเดียวกันโดยไม่ผ่าน พ่อค้าคนกลาง แต่ราคาค้าปลีกยังคงแพงกว่าในท้องตลาดทั่วไป เพราะมีค่าธรรมเนียมในการเข้าไปวางขายเช่นเดียวกับห้างสรรพสินค้าทั่วไป
ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมกับผู้ส่งออก 12 กลุ่มสินค้า ซึ่งมีสัดส่วน 75.5% ของการส่งออกรวมว่า ต้องการที่จะให้ผู้ส่งออกเร่งรัดการส่งออก เพราะจะมีส่วนทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปีนี้เกินดุล หลังจากที่รัฐบาลเป็นห่วงว่าปีนี้จะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และอาจจะส่งผลสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงจำเป็นต้องผลักดันการส่งออกในอีก 4 เดือนที่เหลือให้ขยายตัวเฉลี่ยแต่ละเดือนไม่ต่ำกว่า 30% เพื่อให้การส่งออกทั้งปีโต 20% ตามเป้าหมาย และลดการขาดดุลการค้า
"การวางเป้าหมายให้ส่งออกขยายตัวเฉลี่ยเดือนละ 30% แม้จะ aggressive แต่ผู้ส่งออกส่วนใหญ่เชื่อว่าทำได้ โดยเฉพาะในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานพาหนะ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่มีสัดส่วนการส่งออกสูงถึง 43% ของการส่งออกรวมของไทย หากทั้ง 3 สินค้านี้ส่งออกได้เพิ่มขึ้นจะช่วยให้การส่งออกโดยรวมแต่ละเดือนโตถึง 30% ได้"
ทั้งนี้ 12 กลุ่มสินค้าที่ได้เรียกมาหารือ ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์พลาสติก อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป วัสดุก่อสร้าง อัญมณีและเครื่องประดับ ข้าว ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋อง และไก่ โดยในวันที่ 12 ก.ย.นี้ จะเชิญผู้ส่งออกในกลุ่ม สินค้ากุ้งมาหารือถึงลู่ทางการส่งออกในอนาคต
|
|
|
|
|