แบงก์เอเชีย ยูโอบี รัตนสิน เดินหน้าโครงการรวมกิจการเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ระบุ "เอเชีย" ประกาศเพิ่มทุนกว่า 3 หมื่นล้านบาทเพื่อนำเงินไปชำระค่าหุ้นให้กับ "ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์" แลกกับการรับโอนกิจการของ UOBR ที่จะต้องเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ พร้อมเปลี่ยน BOA เป็นธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน)
นายหว่อง คิม ชุง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) หรือ BOA กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2548 มีมติให้ความเห็นชอบโครงการรวมและโอนกิจการของธนาคาร BOA และธนาคารยูโอบี รัตนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ UOBR ที่ได้ยื่นไว้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2548 ภายใต้มาตรา 38 จัตวาแห่งพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์
ทั้งนี้ แผนการรวมกิจการดัง-กล่าวมีข้อแตกต่างจากแผนที่ได้ยื่นไว้ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2547 คือ ขั้นตอนที่ BOA จะซื้อหุ้น UOBR จาก ธนาคาร ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ จำกัด หรือ UOB ได้เปลี่ยนจากการ แลกเปลี่ยนหุ้นต่อหุ้นกับ UOB เป็นการทำธุรกรรมที่ชำระโดยเงินสดใน ราคาหุ้นละ 13 บาท ซึ่ง BOA จะจัดหา เงินทุนจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม
หากขั้นตอนการดำเนินการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ BOA ล่าช้า UOB อาจให้สินเชื่อระยะสั้น (Bridging Loan) กับ BOA ในอัตราดอกเบี้ยตามราคาตลาด เพื่อนำไปชำระค่าหุ้น UOBR ทั้งหมดที่ UOB ถืออยู่ หลังจากนั้น BOA จะใช้เงินที่ได้จากการเพิ่ม ทุนชำระคืน Bridging loan ต่อไป
ขณะเดียวกัน ได้แต่งตั้งบริษัท หลักทรัพย์ อินเทล วิชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระของ BOA เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการได้มาและจำหน่ายไปซึ่ง สินทรัพย์ ความสมเหตุสมผล และผลประโยชน์ของรายการ ความยุติ-ธรรมของราคาและความรับผิดชอบ อื่นๆ ตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับ รายการภายใต้โครงการดังกล่าว
สำหรับรายละเอียดและขั้นตอนการเพิ่มทุนนั้น BOA จะทำการลดทุนจดทะเบียนจาก 53,828,445,200 บาท เหลือ 50,954,467,130 บาท ด้วยการยกเลิก หุ้นสามัญเพิ่มทุนที่ยังไม่ได้ออกจำหน่าย หลังจากนั้นจะทำการเพิ่มทุนเป็น 82,170,621,660 บาท ด้วยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนใหม่จำนวน 3,121,615,453 หุ้น มูลค่าที่ ตราไว้หุ้นละ 10 บาท รวม 31,216,154,530 บาท จัดสรรให้กับ ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตราส่วน 1 หุ้นสามัญ เดิมต่อ 0.6126 หุ้นสามัญใหม่ ราคา หุ้นละ 5.35 บาท ซึ่ง UOB จะขอใช้สิทธิ์ในการซื้อหุ้นตามสิทธิและซื้อหุ้นที่เหลือจากการจัดสรรทั้งหมด
พร้อมกันนี้ ธนาคารจะเปลี่ยน ชื่อจากธนาคารเอเชีย จำกัด (มหาชน) เป็นธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) และใช้ชื่อย่อในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ "UOB" ซึ่งหลังจากการควบรวมกิจการแล้วธนาคารแห่งใหม่จะมีความมั่นคง และสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น รวมถึงขยายการให้บริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น
จากการดำเนินการเพิ่มทุน และรวมกิจการของธนาคารทั้ง 2 แห่ง ทำให้ BOA ไม่สามารถดำรงอัตราส่วนการกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นรายย่อย 15% ของหุ้นเรียกชำระแล้ว ตามข้อกำหนดของตลาด หลักทรัพย์ ดังนั้น BOA ต้องทำ การตัดสินใจว่าจะยังคงสถานะเป็น บริษัทจดทะเบียนต่อไป หรือขอเพิกถอนตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยสมัครใจ ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปในเรื่องนี้ประมาณไตรมาสแรกปี 2549
พร้อมกันนี้ คณะกรรมการธนาคารได้อนุมัติวันปิดสมุดทะเบียน ผู้ถือหุ้น เพื่อการเข้าร่วมประชุมใหญ่วิสามัญ เพื่อพิจารณาโครงการฯ รวมกิจการของทั้ง 2 ธนาคาร และกำหนดสิทธิการจองซื้อหุ้นสามัญออกใหม่ของ BOA ตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 14 กันยายน 2548 จนถึงวันประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 1/2005 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 28 กันยายน 2548 เวลา 10.00 น.
ด้านนายเยน ฮุย มิง กรรมการ จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี รัตนสิน จำกัด (มหาชน) หรือ UOBR กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ ครั้งที่ 4/2005 มีมติให้ความเห็นชอบโครงการรวมและโอนกิจการกับ BOA และรับทราบข้อเสนอ UOB ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ UOBR ในสัดส่วน 83.77% ที่แสดงความจำนงจะทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ UOBR ในราคาหุ้นละ 14.16 บาท เพื่อเพิกถอนหลักทรัพย์ UOBR ออกจากการเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดย UOBR จะโอนทรัพย์สิน และหนี้สินทั้งหมดให้แก่ BoA ซึ่งการเข้าทำสัญญาโอนธุรกิจภายหลังการเพิกถอนหลักทรัพย์ UOBR ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ มีผลและ UOB ได้โอนหุ้นให้แก่ BoA แล้ว ทั้งนี้ UOBR ได้แต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระให้แก่ บรรดาผู้ถือหุ้นรายย่อยเกี่ยวกับการ เพิกถอนกิจการของธนาคาร
พร้อมกันนี้ ธนาคารจะจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณา โครงการรวมและโอนกิจการฯ ในวันที่ 28 กันยายน 2548 ในเวลา 10.00 น. โดยจะปิดสมุดทะเบียน ผู้ถือหุ้นตั้งแต่เวลา 12.00 น. ของวันที่ 14 กันยายน 2005
ด้านนายธนชัย ธนชัยอารีย์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร เอเชีย กล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับเปลี่ยนวิธีการจากการแลกหุ้นเป็น การซื้อด้วยเงินสด เพราะไม่ให้กระทบกับผู้ถือหุ้นรายย่อยของธนาคาร เพราะการเพิ่มทุนหรือแลกหุ้นจะทำให้สัดส่วนผู้ถือหุ้นลดลงทันที จึงเสนอออกหุ้นเพิ่มทุน ให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยใช้สิทธิหากต้องการรักษาสัดส่วนของการถือหุ้น เท่าเดิม
หลังจากที่ธนาคารเอเชียได้ซื้อกิจการและควบรวมเรียบร้อยแล้ว จะส่งผลให้ธนาคารมีความเข้มแข็งทางด้านสินทรัพย์เป็นอันดับ 7 ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย โดยแผนการดำเนินธุรกิจของธนาคาร แห่งใหม่จะเป็นยูนิเวอร์แซลแบงกิ้ง ที่ให้บริการครบวงจร
|