"ไรมอน แลนด์" เล็งร่วมทุนต่างชาติ ผุดคอนโดมิเนียมกลางเมืองมูลค่าเกือบ 6,000 ล้านบาท อีกทั้งเจรจาซื้อที่ดินที่พัทยา พัฒนาคอนโดฯอีก 1 แห่ง มูลค่า 3,000 ล้านบาท ชี้ผลวิจัยพบ ตลาดคอนโดฯ ชะลอตัว ส่งผลให้ดีมานด์และซัปพลายสมดุลมากขึ้น
นายไนเจิล คอร์นิค กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทมีแผนที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในเขตกลางเมือง มูลค่าโครงการประมาณ 5,000-6,000 ล้านบาท โดยจะเป็นการร่วมทุนกับกลุ่มทุนเอเชีย ปัจจุบันเจรจาอยู่ 2-3 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายใน 3 เดือนนี้ นอกจากนี้ ยังมีแผน ที่จะพัฒนาโครงการคอนโดฯที่พัทยาเพิ่มอีก 1 แห่ง มูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อที่ดิน ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าภายในสิ้นปีนี้มีมียอดรับรู้รายได้ 2,000 ล้านบาท จากโครงการ เดอะ ล็อฟท์ เย็นอากาศ โครงการ เดอะ ลีเจ้นด์ ศาลาแดง และโครงการนอร์ทชอร์ พัทยา
นอกจากนี้ บริษัทวางแผนที่จะเปิดตัว โครงการ เดอะไฮ้ทส์ ในไตรมาสที่ 4 ของ ปี 2548 อีกหนึ่งโครงการ โดยโครงการเดอะไฮ้ทส์ เป็นโครงการคอนโดมิเนียมเกรด เอ แบบ Low Rise ตั้งอยู่ที่อำเภอกะตะ จังหวัดภูเก็ต มูลค่าโครงการ 1,000 ล้านบาท
นายคอร์นิคได้กล่าวถึงแนวโน้มตลาดคอนโดมิเนียมว่า มีการชะลอตัวลงโดยผู้ประกอบการจะชะลอการออกโครงการใหม่ และจำนวนนักพัฒนาคอนโดมิเนียมจะจำกัดอยู่กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และบริษัทร่วมทุนกับต่างชาติ เนื่องจากปัญหาต้นทุน ที่เพิ่มขึ้น ยอดขายที่ชะลอตัวและปัญหาด้านการเงิน อีกทั้งผู้ประกอบการจะหันมาพัฒนาโครงการ ในระดับกลาง ราคาประมาณ 2-5 ล้านบาทมากขึ้น ซึ่งปัจจัยด้านราคาเริ่มเข้ามามีบทบาทต่อการ ตัดสินใจของผู้ซื้อจำนวนมากจากปัญหาสภาพเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนในขณะนี้
โครงการที่มีที่ตั้งอยู่ในทำเลที่ดีจะยังมีแนวโน้มที่ดี ในขณะที่โครงการที่มีที่ตั้งลึกในซอย จะประสบปัญหาในการระบายออก ราคาต่อ ตารางเมตรยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากค่าแรงและค่าวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น โครงการระดับราคาปานกลางจะมีการลดขนาดห้องชุดลงเพื่อคงราคาเดิม ส่วนโครงการระดับสูงจะเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มขึ้นเพื่อดึงดูดลูกค้า และเนื่องด้วยจำนวนห้องชุดสร้างเสร็จออกสู่ตลาดทำให้มีผลกระทบไปสู่ตลาดห้องชุดให้เช่าหรือห้องชุดจำหน่ายต่อของห้องชุด ในโครงการเก่า อย่างไรก็ตาม ภาวการณ์ชะลอตัวของสินค้าดังกล่าวส่งผลดีทำให้ไม่เกิดโอเวอร์ ซัปพลาย ปริมาณสินค้าสมดุลกับความต้องการ และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ความต้องการเพิ่มขึ้นอัตราการขายก็จะดีดตัวสูงขึ้นตาม
จากรายงานการวิจัยตลาดคอนโดมิเนียม ของบริษัทพบว่า นับตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมามีห้องชุดสร้างเสร็จทั้งสิ้น 1,212 ยูนิต เทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2547 ที่ 1,171 ยูนิต โดยคาดการณ์ว่าในครึ่งปีหลังจะมีห้องชุดพร้อมโอน ทั้งสิ้น 1,845 ยูนิต รวมทั้งปี 3,057 ยูนิต และประมาณการว่าในปี 2549 จะมีห้องชุดสร้างเสร็จเพิ่มขึ้นเป็นจำนวน 3,622 ยูนิต ในปี 2550 อีก 2,888 ยูนิต และในปี 2551 อีก 1,406 ยูนิต รวมทั้งสิ้น 12,812 ยูนิต โดยพื้นที่สุขุมวิทมีจำนวนห้องชุดสร้างเสร็จถึง 50% ของห้องชุดที่สร้างเสร็จทั้งหมดในปี 2548
ในขณะที่จำนวนห้องชุดคงค้างได้ลดลงจาก 3,844 ยูนิตในเดือนธันวาคม 2547 มาอยู่ที่ 3,418 ยูนิตในเดือนมิถุนายน 2548 ซึ่งตลาดจำเป็นต้องใช้เวลา 8.7 เดือนในการจำหน่ายออก ซึ่งลดลงจาก 10-12 เดือนในช่วงมีนาคม 2548 นับตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน อัตราส่วนของราคาห้องชุดที่ออกจำหน่ายที่มีจำนวนสูงสุดอยู่ในระดับราคาประมาณ 2-5 ล้านบาทถึง 44% ใน ขณะที่ห้องชุดระดับราคา 5-8 ล้านบาทมีสัดส่วนเป็นลำดับรองลงมา คืออยู่ที่ 26% ส่วนห้องชุดระดับราคา 8-10 ล้านบาท และระดับราคา 10-15 ล้านบาทมีสัดส่วนเท่ากันที่ 11% และสุดท้ายที่ระดับราคาตั้งแต่ 15 ล้านบาทขึ้นไปมีสัดส่วนที่ 8%
สำหรับคอนโดมิเนียมในเขตหัวหิน-ชะอำ มีทั้งสิ้น 1,153 ยูนิตจาก 13 โครงการ ซึ่งมีพื้นที่ ครอบคลุมตั้งแต่ชะอำถึงเขาเต่า โดยโครงการส่วนใหญ่จะมีพื้นที่ติดหน้าหาด แต่ปัจจุบันที่ดินที่มีลักษณะดังกล่าวมีจำกัดทำให้โครงการต่างๆ ขยายออกไปทางชะอำ และเขาเต่า ซึ่งยังมีที่ดินติดหาดเหลืออยู่ ส่วนราคาเฉลี่ยต่อยูนิตที่ 6.1 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจาก 5.2 ล้านบาทในครึ่งหลัง ของปี 2547 โดยห้องชุดที่มีราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทมีสัดส่วนที่ 20% ระดับ 3-5 ล้านบาทที่ 25% ราคา 5-8 ล้านบาทที่ 35% และอีก 20% สำหรับห้องชุดที่ราคาสูงกว่า 8 ล้านบาท ในครึ่งแรกของปี 2548 อัตรายอดขายรวมอยู่ที่ 59.7% ลดลงจาก 72% ในครึ่งหลังของปี 2547
ด้วยความต้องการของลูกค้าคนไทย และ ชาวต่างชาติที่ทำงานในประเทศไทย หัวหินยังเป็นพื้นที่ที่มีโอกาสสูงในการพัฒนา และยังอยู่ในช่วงขาขึ้นของตลาด แม้แต่คอนโดมิเนียมมือสองบางยูนิตยังสามารถขายได้ถึงตารางเมตรละ 70,000 บาทถ้าอยู่ในอาคารที่มีการดูแลดีและเป็นตึกสูง เนื่องด้วยตามกฎหมายไม่มีอาคารใหม่ที่สร้างเป็นตึกสูงได้อีก ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดถึงอนาคตอันสดใสของตลาดคอนโดมิเนียมในหัวหิน
สำหรับตลาดคอนโดมิเนียมในพัทยา ในปัจจุบัน ห้องชุดส่วนใหญ่ในพัทยาเป็นห้องชุดเกรดซีถึง 82% ของตลาด เกรดบีมีสัดส่วนอยู่ที่ 11% ห้องชุดเกรดเอ 311 ยูนิต ซึ่งมีสัดส่วนที่ 7% ของตลาด โดยพื้นที่บริเวณเขาพระตำหนักมีสัดส่วนห้องชุดสูงสุดที่ 59% ตามมาด้วยหาดพัทยาที่ 28% หาดจอมเทียนที่ 11% และนาเกลือ ที่ 2%
จากผลการสำรวจล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2548 พบว่ามีห้องชุด 2,029 ยูนิตถูกจำหน่ายออกจากที่มีอยู่ในตลาดทั้งหมดที่ 4,670 ยูนิตซึ่งคิดเป็นอัตราส่วนที่ 43.4% โดยห้องชุดคงค้าง ส่วนใหญ่เป็นห้องชุดในเกรดซีซึ่งมีจำนวนประมาณ 2,500 ยูนิต ซึ่งห้องชุดในเกรดเอมีคงค้างเพียง 110 ยูนิต จากการสำรวจในพัทยาพบว่า ห้องชุด เกรดเอมือสองในพัทยาแทบจะไม่มีออกจำหน่าย มีเพียงห้องชุดเกรดซีที่ไม่มีคุณภาพและขาดการดูแลที่ดีออกจำหน่ายเป็นจำนวนมาก ซึ่งยังคงยากต่อการจำหน่ายออก
|