|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
แบงก์ชาติช็อกตลาดเงินประกาศขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี พรวดเดียว 0.50% เป็น 3.25% ต่ำกว่าดอกเบี้ยเฟดเพียง 0.25% เหตุเงินเฟ้อพุ่งพรวดจากพิษราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น รวมทั้งส่อแววขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่องถึงปี 2549 หวังกระตุ้นแบงก์ขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากบรรเทาปัญหาอัตราดอกเบี้ยแท้จริงติดลบ แต่แบงก์ชั่งใจขยับดอกเบี้ยฝากอ้างขอดูสภาพคล่อง แต่ขาเงินกู้ขยับทันที "ทหารไทย" นำร่องขึ้นเอ็มแอลอาร์ 0.25% แล้ว วงการแบงก์รับเซอร์ไพรส์ คาดการณ์ 2-4 สัปดาห์เห็นทิศทางดอกเบี้ยชัด
นางอัจนา ไวความดี ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (7 ก.ย.) มีมติให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์/พี) อีก 0.50% ต่อปี จากเดิมที่อยู่ในระดับ 2.75% เป็น 3.25% ต่อปี โดยมีผลทันที เพราะได้รับแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นและมีโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะเร่งตัวเกิน 3.5% ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ ธปท.ตั้งไว้ โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้น
"การประชุมครั้งก่อนน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 51 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่เมื่อวันที่ 5 ก.ย.เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จึงสร้างแรงกดดันต่อเงินเฟ้อให้เร่งตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งเงินเฟ้อทั่วไปและเงินเฟ้อพื้นฐาน รวมทั้งมีความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงขึ้นไปอีกหากราคาน้ำมันสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่"
ขณะที่ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2548 มีแนวโน้มขาดดุลและต่อเนื่องจนถึงปี 2549 โดยครึ่งแรกปี 2548 ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงมาก แต่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และอาจเกินดุลได้ตามธุรกิจภาคการส่งออกที่สูงขึ้น สังเกตได้จากยอดคำสั่งซื้อที่มีมากขึ้นในเดือนกรกฎาคม ขณะที่ตัวเลขการนำเข้าเริ่มชะลอตัวลงทำให้คณะกรรมการฯประเมินว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้น่าจะสูงกว่าที่คาดไว้เดิม ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยควรอยู่ในทิศทางขาขึ้นเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานให้อยู่ภายในเป้าหมาย ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายยังช่วยให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในประเทศ กลับเข้าสู่ระดับที่เหมาะสมต่อการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
"การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.จะทำคู่กับการออกพันธบัตรเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดูดซับ สภาพคล่องในระบบ ที่ผ่านมาได้ออกพันธบัตร ธปท. ไปแล้วอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ไป 60,000 ล้านบาท จากวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังจำนวน 250,000 ล้านบาท ดังนั้น จึงเหลือพอที่จะดูดซับสภาพคล่องอีก และธปท.ก็ยังมีเครื่องมืออื่นด้วย" นางอัจนา กล่าว
อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีครั้งนี้ ธปท.ไม่ได้คาดหวังที่จะให้อัตราดอกเบี้ยของธนาคาร พาณิชย์ปรับขึ้นทันที เนื่องจากการพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นอยู่กับสภาพคล่อง และความเหมาะสมของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่ง แต่ที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้เริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะยาวแล้ว และกำลังจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการออมได้
"การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณให้นักลงทุนและผู้บริโภครู้ทิศทางของดอกเบี้ย และปรับตัวได้ เช่น ผู้ที่ต้องการซื้อบ้านจะได้คำนวณภาระการผ่อนชำระอัตราดอกเบี้ยในอนาคต เพราะตามปกติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยในตลาดได้จะต้องใช้เวลา 4-8 ไตรมาส ทำให้คาดว่าอย่างช้าที่สุดภายในสิ้นปีหน้าคงจะเห็นดอกเบี้ยเงินฝากระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้น"
สมคิดยันไม่กระทบภาพรวมเศรษฐกิจ
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวว่า การขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีของ ธปท. อีก 0.50% คงไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของไทย แต่ในทางตรงกันข้ามกลับส่งผลดีต่อเศรษฐกิจมากกว่า จับตาแบงก์ไล่เงินกู้เพิ่ม
นายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า การที่ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี อีก 0.50% แรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะมีผลให้สถาบันการเงินต้องปรับตัวและมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น คาดว่าอย่างช้าก็ประมาณต้นเดือนตุลาคม แต่บางแห่งอาจจะปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเร็วกว่านั้น ส่วน ธอส. จะยังไม่มีการปรับดอกเบี้ยเงินฝากขณะนี้ ต้องรอดูทิศทางและนโยบายก่อน เพราะที่ผ่านมาจะปรับอัตราดอกเบี้ยช้ากว่าแห่งอื่นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม หากสถาบันการเงินใดปรับดอกเบี้ยเงินฝาก จะทำให้ภาระต้นทุนการเงินเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้ต้องปรับดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินเชื่อของสถาบันการเงินด้วย
การขึ้นดอกเบี้ยแรงกว่าที่คาดไว้อาจจะกระทบ ต่อการซื้อที่อยู่อาศัยบ้าง หรืออาจมีการขอสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพราะคนกลัวว่าดอกเบี้ยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่านี้ จึงมาเร่งซื้อบ้าน
ทหารไทยฉวยขึ้นเอ็มแอลอาร์ 0.25%
นายไกรทิพย์ ไกรฤกษ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติ ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ธนาคารได้ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (เอ็มแอลอาร์) 0.25% มีผลวันที่ 9 กันยายน 2548 ส่งผล ให้ดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ของอยู่ที่ระดับ 6.25% จากเดิม 6% เนื่องจากมองว่าธปท.จะต้องมีการปรับขึ้นอาร์/พี อีกทั้งต้นทุนของธนาคารได้เพิ่มขึ้นจากการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก นครหลวงไทยรอดูท่าทีแบงก์ใหญ่ก่อน
นายอรุณ จิรชวาลา กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารจะยังไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยจะต้องรอดูความเคลื่อนไหวของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย หากมีการปรับขึ้นจะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบปรับขึ้นตาม และเชื่อว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีครั้งนี้ไม่ได้ช่วยดึงเงินออมเข้ามาในระบบ แต่เป็นการปรับขึ้นเพื่อความสมดุลของระบบ
"ปัจจุบันธนาคารมียอดเงินฝาก คิดเป็นมูลค่า ทางบัญชี 400,000 ล้านบาท และยอดสินเชื่อ 290,000 ล้านบาท ถือว่ายังมีสภาพคล่องอยู่ค่อนข้างมาก จึงมีช่องว่างที่จะนำเงินออกมาปล่อยสินเชื่อและนำไปลงทุนในพันธบัตรได้อีก และคาดว่าภายในสิ้นปี 2548 ธนาคารจะมียอดสินเชื่อรายใหม่ คิดเป็นมูลค่าทางบัญชีจำนวน 40,000 ล้านบาท" นายอรุณกล่าว วงการแบงก์ช็อกขึ้นพรวดเดียว 0.50%
ด้านนายเชาว์ เก่งชน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีรุนแรงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อที่คาดว่าจะสูงกว่า 5% ในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้น ในระยะต่อไปจึงต้องมีการปรับอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะอีกนานเท่าไหร่ เพราะนโยบายการเงินของธปท.ต้องส่งผ่านกลไกหลายๆ อย่างจึงจะส่งผลต่อเศรษฐกิจที่แท้จริง จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวก ซึ่งปัจจุบันนี้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงยังติดลบอยู่ ดังนั้น ยังมีช่องว่างเหลือให้ ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก
ส่วนแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากออมทรัพย์นั้น เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์จะพิจารณาถึงสภาพคล่องและต้นทุนของแต่ละแห่งเป็นหลัก ส่วนการส่งผ่านนโยบายการเงินขึ้นดอกเบี้ย อาร์พีนั้นอาจจะมีผลช้าที่จะเป็นแรงกดดันให้ธนาคาร พาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยตามไปด้วย
"ตอนนี้ขึ้นอยู่กับว่าแบงก์ชาติจะดูดซับสภาพคล่องออกจากแบงก์ได้เร็วขนาดไหน หากสภาพคล่อง ลดลงจะทำให้แบงก์ขึ้นดอกเบี้ยได้ และดอกเบี้ยที่แท้จริงกระเตื้องขึ้น แต่ก็จะปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป" นายเชาว์ กล่าว
คาด 2-4 สัปดาห์แบงก์ขยับออมทรัพย์
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายสินเชื่อผู้บริโภค ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า จากการขึ้นอาร์/พี 0.50% จะทำให้ธนาคารพาณิชย์ ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ โดยภายใน 2-4 สัปดาห์ข้างหน้าน่าจะเป็นทิศทางอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นปรับขึ้น ซึ่งได้แก่ ดอกเบี้ยออมทรัพย์ และเงินฝากประจำ 3 เดือน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าที่ใหญ่ที่สุด ของธนาคาร และ 1-2 สัปดาห์หลังจากนี้ธนาคารส่วนใหญ่น่าจะทบทวนนโยบายด้านอัตราดอกเบี้ยหลังจากที่ธปท.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสูงกว่าที่คาดการณ์
โดยวัตถุประสงค์ของการขึ้นอาร์/พี ถึง 0.50% ครั้งนี้ เพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งยังเป็นนโยบายส่งเสริมการออมของทางการที่ไม่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงติดลบ และทำให้ธนาคารที่กู้เงินในตลาด อาร์/พีมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และหันไประดมเงินโดยการไปปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก
"การขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติเพื่อกระตุ้นให้ธนาคารปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเร็วขึ้น และยัง เป็นการควบคุมเงินเฟ้อที่อาจจะปรับขึ้นอย่างรุนแรง ซึ่งจะส่งผลต่อด้านจิตวิทยาต่อผู้ประกอบการธุรกิจว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้นเร็ว" นายชาติชาย กล่าว แบงก์เอเชียจ่อคิวปรับ ดบ.กู้ฝาก
นายธรรมศักดิ์ จิตติมาพร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารงานขาย ธนาคารเอเชีย (BOA) กล่าวว่า ธนาคารเอเชีย คงมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย แต่คงไม่เกินอัตราดอกเบี้ย R/P ที่ธปท.ประกาศ แต่จะปรับขึ้นทั้งเงินฝากและเงินกู้หรือไม่นั้น ถือเป็นกลยุทธ์ของธนาคาร ไม่ขอเปิดเผย ในตอนนี้
ด้านนายตรรก บุนนาค ผู้จัดการฝ่ายอาวุโส ฝ่ายบริหารการเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ธปท.พยายามจะรักษาส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยสหรัฐ และไทยให้แคบลง หากในการประชุมเฟดวันที่ 20 กันยายนนี้ไม่มีการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยเหลือ 0.25% แต่หลังการปรับขึ้นอาร์/พีครั้งนี้ จะต้องจับตาธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่ยังไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมาจะมีนโยบายอย่างไร รวมทั้งต้องจับตาการแข่งขันของธนาคารในระบบ
|
|
|
|
|