|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
"หม่อมอุ๋ย" ยันแบงก์ชาติยึดปัจจัยในประเทศเป็นหลักในการพิจารณาปรับดอกเบี้ยอาร์/พี โดย เฉพาะเรื่องเงินเฟ้อที่สูงขึ้น พร้อมยอมรับผิดหลังคาดการณ์ อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลับเป็นบวกตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา อ้างเหตุราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ด้านคนในวงการตลาดการเงิน-ตลาดทุน มั่นใจธปท.ขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีอีก 0.25% เพื่อ ลดช่วงห่างกับดอกเบี้ยเฟด แต่เชื่อว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะไม่รุนแรงและไม่ปรับขึ้นบ่อยครั้ง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึง การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (7 ก.ย.) ว่า ธปท. จะตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (อาร์/พี) หรือไม่นั้น จะพิจารณาจากปัจจัยภายในประเทศ รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นหลักมากกว่าการดูปัจจัยจากต่างประเทศ ขณะเดียวกัน ธปท.จะพิจารณาแนวโน้ม อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) ด้วย ซึ่งแนวโน้มความเคลื่อนไหวของเฟดในระยะนี้ น่าจะเปลี่ยนแปลงไปจากช่วงก่อน เพราะสถานการณ์ของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งด้านภาวะเศรษฐกิจ และผลกระทบจาก เฮอริเคนแคทรีนา
"การตัดสินใจเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ไม่หนักใจ เพราะทุกอย่างเดินมาด้วยดี และไม่ได้รับแรงกดดันจากปัจจัยรอบข้างอะไร เศรษฐกิจไทยก็เริ่มเดินแล้ว สบายใจได้" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันจะช่วยชะลอการเร่งตัวของอัตราเงินเฟ้อลงได้บ้าง และ ทำให้ดอกเบี้ยในตลาดเงินสามารถปรับเพิ่มขึ้นใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อได้ ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็น บวกในอนาคตจากปัจจุบันที่ติดลบอยู่ 3-4%
"ต้องรอดูก่อนอย่าเพิ่งใจร้อน หลังจากลอย ตัวราคาน้ำมันดีเซลไปแล้วประมาณ 2 เดือน การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อของไทยอาจจะไม่กระโดดมากเหมือนกับในช่วง 2 เดือนแรกของการลอยตัวราคาดีเซลที่อัตราเงินเฟ้อเดือนนี้เพิ่ม ขึ้นสูงถึง 5.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน"
ทั้งนี้ เดิม ธปท.คาดว่า ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะเริ่มกลับมาเป็นบวกในกลางปีนี้ แต่ขณะนี้ยังติดลบอยู่ ดังนั้น การที่ดอกเบี้ยที่แท้จริงจะกลับมาเป็นบวกอาจจะต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าเดิมซึ่งไม่สามารถระบุได้ว่าจะกลับเป็นในช่วงเวลาใด
นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ธปท. น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อาร์/พี อีก 0.25% เพื่อเป็นการรักษาระดับความ ต่างระหว่างอัตรา ดอกเบี้ยไทยและสหรัฐฯ และผลจากการที่อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น
การปรับดอกเบี้ยดังกล่าว ไม่ได้เป็นการปรับเพื่อดึงเม็ดเงินต่างเข้ามาในตลาดหุ้นไทย แต่จะเป็นการปรับเพื่อรักษาส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐฯ ซึ่งขณะนี้มีส่วนต่างที่ประมาณ 0.75%
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การประชุมเฟดในวันที่ 9 ก.ย.นี้ อาจจะไม่มีการประกาศขึ้นดอกเบี้ย หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยลดความกดดันให้กับไทยที่มีส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยที่เร็ว
ด้านธนาคารพาณิชย์อย่าง นางชาลอต โทณวณิก ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY กล่าวว่า ขณะนี้ธนาคารยังไม่มีนโยบายปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์และเงินกู้ แม้ว่าในวันนี้ธปท.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี เพื่อลดช่องว่างดอกเบี้ยของไทยและเฟด เนื่องจากสภาพ คล่องในระบบยังเหลืออยู่ประมาณ 400,000 ล้านบาท รวมทั้งจะต้องรอดูมาตรการการดูดซับสภาพคล่องของ ธปท. และมาตรการกระตุ้นเงินออมก่อน
"การขึ้นอาร์/พี มีผลกระทบกับธนาคารพาณิชย์น้อยมากเมื่อเทียบกับต้นทุนที่ปรับ เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันขึ้นดอกเบี้ยเงินฝากเพื่อระดมเงินฝากในระยะยาวในช่วงที่ผ่านมา แต่ถ้ามีการขยับดอกเบี้ยออมทรัพย์น่าจะกระทบกับดอกเบี้ยเงินกู้ด้วย เพราะเงินฝากออมทรัพย์เป็นฐานเงินฝากที่ใหญ่ที่สุดประมาณ 50-70% ของเงินฝากทั้งหมด"
นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์(บล.)พัฒนสิน จำกัด (มหาชน)กล่าวว่า ธปท.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พี อีก 0.25% หลังจากที่ผู้ว่าการธปท. ได้ส่งสัญญาณมาอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นตาม ไปด้วย
ด้านบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมิน ว่า ธปท.น่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% มากกว่าที่จะปรับขึ้น 0.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยขยับจาก 2.75% เป็น 3.00% เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยที่รุนแรง นอกจากจะไม่ช่วยลดความเสี่ยงทางด้านอัตราเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยทางด้านอุปทานหรือราคาน้ำมันแล้ว ยังอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อความเชื่อมั่นของภาคเอกชน ภายในประเทศให้ยิ่งถดถอยลงไปมากกว่า เดิม
หากธปท. ขึ้นดอกเบี้ยอาร์/พีแค่ 0.25% จะส่งผลดีสำหรับการรักษาค่าผลต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐฯและไทยให้คงไว้ที่ระดับเดิม เพราะคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ในการประชุมครั้งต่อไปเช่นเดียวกัน คือจาก 3.50% เป็น 3.75%
|
|
 |
|
|