|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
"เชลล์" เรียกร้องรัฐเจรจาโรงกลั่น ลดค่าการกลั่นลงบาร์เรลละ 4-5 เหรียญ หรือลดภาษี เพื่อผู้ค้าจะได้ไม่ต้องขึ้นราคาน้ำมัน ระบุปิดปั๊มเร็วขึ้นไม่ช่วยอะไรนอกจากเด็กปั๊มตกงาน "ทักษิณ" สั่งสรุปมาตรการบังคับประหยัดพลังงานให้เสร็จ ก่อนไปนอก เล็งบังคับแท็กซี่ป้ายแดงใช้เอ็นจีวี ครม.อนุมัติ ปตท.นำเข้าเอทานอลจากอินเดียแก้ปัญหาขาดแคลน
นายธีรพจน์ วัชราภัย ประธานบริษัทเชลล์ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า หลังจากที่เกิดพายุเฮอริเคนแคทรีนา ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปปรับสูงถึง 7-8 เหรียญต่อบาร์เรล ทำให้เบนซินมีค่าการตลาดติดลบรวม 5 บาท (รวมค่าการตลาดที่เหมาะสม 1.50 บาทต่อลิตร) ดังนั้น สัปดาห์นี้ผู้ค้าจำเป็นจะต้องปรับราคาเบนซิน 40 สตางค์-1 บาท ต่อลิตร ส่วนดีเซลอาจจะปรับด้วยหากรัฐไม่มีมาตรการช่วยเหลือ
นายธีรพจน์กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลเจรจาให้โรงกลั่นน้ำมันลดค่าการกลั่นลงมา จากปัจจุบันที่มีค่าการกลั่นสูงถึง 10-12 เหรียญ อยากให้ลดลง 4-5 เหรียญต่อบาร์เรล หรือถ้าไม่ลดค่าการกลั่นรัฐก็ควรปรับโครงสร้างภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาลที่เก็บจากน้ำมันรวมประมาณ 1.64 บาทต่อลิตรให้ลดลง อนึ่ง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซึ่งรัฐบาล ถือหุ้นใหญ่ เป็นเจ้าของโรงกลั่นรายใหญ่ที่สุดในประเทศ คือถือหุ้น 100% ในโรงกลั่นระยองถือหุ้นใหญ่ในโรงกลั่นสตาร์ ปิโตรเลียมรีไฟนิ่ง โรงกลั่นไทยออยล์ และโรงกลั่นบางจาก ค้านปิดปั๊มเร็วขึ้น
ส่วนมาตรการปิดปั๊มน้ำมันให้เร็วขึ้น นาย ธีรพจน์กล่าวว่า "เป็นการประหยัดที่ไม่ถูกวิธี และเป็นการซ้ำเติมผู้ค้า เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงอยู่แล้ว แต่ยังขายได้ต่ำอีก เด็กปั๊มจะตกงาน การช่วยเหลือต้องไม่กดราคาในประเทศ แต่ต้องสะท้อนความจริงเพื่อให้เกิดการประหยัด และควรช่วยแบบรายอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ" นายธีรพจน์กล่าว
ด้านนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บางจากพร้อมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการปิดปั๊มน้ำมันเร็วขึ้น 1 ชม. แม้ว่าจะกระทบต่อยอดขายน้ำมันบ้าง โดยบางจากยืนยันว่าจะไม่มีการปรับลดการจ้างงานเด็กปั้ม แต่จะปรับให้ไปทำงานในกะกลางวันมากขึ้น เพราะคาดว่าจะมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการในช่วงดังกล่าวมาก สรุปมาตรการประหยัดวันนี้
น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม.สัญจร ที่พังงา วานนี้ (6 ก.ย.) พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายก-รัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายวิเศษ จูภิบาล รมว.พลังงาน ไปศึกษาหาแนวทางการประหยัดพลังงานภายในประเทศเพื่อรองรับวิกฤตราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นโดยเร็ว โดยจะต้องรายงานกลับมาให้ทราบภายในวันที่ 8 ก.ย.นี้ ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศถึง 10 วัน หากมาตรการมีข้อสรุปทันทีก็สามารถประกาศใช้ได้เลย
นายเชิดพงษ์ สิริวิชช์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้จะประชุมร่วมกับผู้ค้าน้ำมัน โรงกลั่น กรมขนส่งทางบก และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณา ตัวเลขต้นทุนทั้งด้านการขนส่ง แนวโน้มราคาสินค้าต่างๆ เพื่อกำหนดมาตรการรองรับวิกฤตราคาน้ำมันแพง ซึ่งจะพยายามสรุปให้ได้ภายในวันนี้เพื่อที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ทันภายในวันที่ 8 ก.ย. ส่วนแนวทางการตั้งกองทุนเพื่อดูแลภาคการขนส่ง นายเชิดพงษ์กล่าวว่า เป็นประเด็นที่หารือกันอยู่แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะหาเงินมาจากที่ใด บังคับรถแท็กซี่ใหม่ใช้ NGV
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงานกล่าวว่า หลังจากที่นายกฯสั่งให้เร่งสรุปแผนประหยัดพลังงาน กระทรวงพลังงานจึงได้หารือด่วนเกี่ยวกับมาตรการ ที่จะบังคับประหยัด โดยทางกระทรวงพาณิชย์ และกรมขนส่งทางบกได้ส่งรายงานตัวเลขต่างๆ มาแล้ว เพื่อนำมาสรุปในการประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพลังงานที่มี รมว.พลังงานเป็นประธาน โดยเบื้องต้นมาตรการที่จะนำมาพิจารณาได้แก่ การที่จะเสนอให้กรมขนส่งทางบกออกมาตรการบังคับให้รถแท็กซี่ออกใหม่ทุกคันจะต้องติดตั้งอุปกรณ์การใช้ NGV แทนการใช้น้ำมัน และมาตรการที่จะส่งเสริมรถยนต์ส่วนบุคคลติดตั้ง NGV เพิ่มมากขึ้น
"มาตรการเดิมๆที่เคยหารือกันไว้ 12 มาตรการ เราจะไม่นำกลับมาพิจารณาอะไรอีก แต่จะเป็นมาตรการใหม่ที่เหมาะสม ส่วนมาตรการปิดปั๊มให้เร็วขึ้น 1 ชั่วโมงก็จะนำมาหารือกันว่าจะกระทบกับการจ้างงานไหม เช่นเดียวกับการตั้งกองทุนอุ้มค่าขนส่งจะหารายได้มาจากไหน"
แหล่งข่าวกล่าว เปิดปั๊มตี 5
นายทรงกลด อุบลสิงห์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กรมฯได้ เสนอไปยังสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ให้กำหนดเวลาการปรับขึ้นราคาน้ำมันจากเดิม 06.00 น. เป็น 05.00 น.แทน เนื่องจากขณะนี้ได้มีประชาชนร้องเรียนผ่านสายด่วน 1569 และเจ้าหน้าที่สายตรวจของกรมการค้าภายใน ว่าอยากให้รัฐเข้ามาดูแลและแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของเวลาในการเติมน้ำมันตามปั๊มน้ำมันของวันที่มีการปรับขึ้นราคา โดยผู้ร้องเรียนระบุว่า ได้มีการเข้าไปต่อคิวในการเติมน้ำมันก่อนเวลา 06.00 น. ประมาณ 5-10 นาที แต่เมื่อถึงคิวของตนเองแม้ยังไม่ถึงเวลา 06.00 น. หัวจ่ายก็ได้ปรับขึ้นราคาโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันว่าควรเป็นราคาเดิมหรือราคาใหม่ เพราะได้มีการเข้ามาต่อคิวในการเติมน้ำมันก่อนเวลา 06.00 น. ซึ่งถูกกำหนด ว่าใช้เป็นเวลาในการปรับขึ้นราคาได้
แหล่งข่าวกล่าวว่า การเลื่อนเวลากำหนดการปรับขึ้นราคาน้ำมันอีก 1 ชม.จาก 06.00 น. เป็น 05.00 น. เป็นสิ่งที่บริษัทน้ำมันพอใจ เพราะต้องการหาทางออกในกรณีที่รัฐบาลกำหนดขอให้ปั๊มน้ำมันมีการลดเวลาการให้บริการลง เนื่องจากต้องการประหยัดพลังงาน
"สมคิด" ย้ำประชาชนต้องปรับตัว
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องวางแผนเพื่อให้เศรษฐกิจอยู่ได้อย่างมั่นคง ซึ่งหากน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จะทำให้สิ่งแวดล้อมต่างๆ เปลี่ยนไป เช่น มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น ซึ่งยอมรับว่าการส่งออกและการท่องเที่ยวไม่ใช่ว่าจะทำได้ง่าย ทั้งนี้ รัฐบาลได้มีการวางแผนเตรียมตัวเพื่อรับปัญหากรณีที่น้ำมันสูงถึง 70 เหรียญสหรัฐ โดยตนได้หารือกับกระทรวงพลังงานเกี่ยวกับนโยบายการประหยัดพลังงานเป็นระยะๆ และเห็นว่าประชาชนจะต้องปรับตัวในการใช้รถส่วนตัวเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาจราจร และปัญหาน้ำมันราคาแพง โดยประชาชนจะต้องรู้สึกเองก่อนมากกว่าที่รัฐบาลจะเป็น ผู้ประกาศหรือบังคับ รวมทั้งในส่วนของมาตรการที่ผู้ใดใช้พลังงานมากก็จะต้องเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากราคาน้ำมัน กระทรวงพาณิชย์จะคอย จับตาดูสินค้าอย่างเข้มงวดเป็นพิเศษ 2 ประเภทคือสินค้าประจำวัน และสินค้าที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ซึ่งในส่วนของผู้ประกอบการหากรายใดมีปัญหาเรื่องต้นทุนจริงๆ ก็ให้เสนอมายังกระทรวงพาณิชย์ และจะพิจารณาให้
จี้รัฐจริงจังเรื่องเอทานอล
ที่ประชุม ครม.วานนี้ ครม.ยังได้อนุมัติตามที่กระทรวงพลังงานเสนอเพื่อการนำเข้าเอทานอลจากประเทศอินเดียล็อตแรกจำนวน 7-8 ล้านลิตร เพื่อทดแทนเอทานอลในประเทศที่ขาดแคลนชั่วคราว เนื่องจากผู้ผลิตเอทานอลในไทยไม่สามารถเดินเครื่องผลิตตามแผนงาน โดยพิจารณาให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) นำเข้าเอทานอลที่จะนำมาผลิตแก๊สโซฮอล์จำนวน 7-8 ล้านลิตรในช่วงเดือนกันยายนนี้ ซึ่งราคาอยู่ที่ 16-17 บาทต่อลิตร เพื่อให้มีปริมาณเพียงพอกับการใช้แก๊สโซฮอล์ช่วงเดือน ก.ย.-ธ.ค. ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณการใช้อยู่ 2.3 ล้านลิตร ต่อวัน
นายประสิทธิ์ ใจศิล รองคณบดีฝ่ายวิจัย คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า การ นำเข้าเอทานอลเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเพื่อป้องกันการขาดแคลนเท่านั้น ไม่น่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการผลิตเอทานอลในประเทศ เนื่องจากราคานำเข้าเมื่อบวกค่าขนส่งแล้วสูงกว่าราคาเอทานอลที่ผลิตได้เองในประเทศ
อย่างไรก็ตาม ปัญหาซัปพลายวัตถุดิบและราคาเอทานอลเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องเข้ามาจัดการให้ชัดเจน เพราะเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตเอทานอล โดยเฉพาะโรงงานที่ใช้กากน้ำตาลมาผลิต มีต้นทุนการผลิตสูงมากจากราคากากน้ำตาลที่สูงถึง 4,500 บาท/ตัน คิดเป็น ต้นทุนผลิตต่อลิตรแล้วมากกว่า 20 บาท ขณะที่ราคา เอทานอลรัฐควบคุมไว้ที่ 15 บาท/ลิตร
ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซิน 95 รัฐบาลกลับปล่อยให้ลอยตัวเสรี ทำให้ช่องว่างระหว่างราคา เอทานอลกับเบนซิน 95 สูงกว่า 10 บาท/ลิตร รัฐบาลควรปล่อยราคาเอทานอลให้มีความยืดหยุ่นบ้าง เพื่อจูงใจให้เกิดการผลิตในเชิงอุตสาหกรรม โดยให้ราคา เอทานอลห่างจากราคาเบนซิน 95 ให้อยู่ในระดับ 5 บาท/ลิตร
นอกจากนี้ ในแง่ของผู้ประกอบการที่ขออนุญาตจัดตั้งโรงงานผลิตเอทานอลทั้ง 24 บริษัท 25 โรงงานทั่วประเทศ ในทางปฏิบัติมีโรงงานที่ดำเนินการจริงจังน้อยมาก ที่ผลิตไปแล้วประมาณ 3 บริษัท และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 บริษัทเท่านั้น รัฐบาลควรมีแผนหรือมาตรการควบคุมที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการก่อสร้างและดำเนินการผลิตตามที่ได้รับอนุมัติ
|
|
 |
|
|