การประกาศย้ายสถานที่ตั้งโรงเรียนแห่งใหม่
ของ Harrow International School
หลังจากเปิดดำเนินการในประเทศไทยได้เพียงไม่กี่ปี
เป็นสัญญาณเตือนสู่โรงเรียนนานาชาติแห่งอื่นๆ
ก่อนรุกและการแข่งขันที่จะทวีความหนักหน่วงในอนาคต
แม้ว่า สถานที่ตั้งโรงเรียน Harrow แห่งใหม่ บนพื้นที่ 150 ไร่ บริเวณฝั่งตรงข้ามท่าอากาศยานดอนเมืองจะมีพื้นที่กว้างขวางที่สุด
เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ของโรงเรียนนานาชาติแห่งอื่นๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
ไม่ว่าจะเป็น International School Bangkok : ISB ที่มีพื้นที่ 80 ไร่, Bangkok
Pattana บนพื้นที่ 90 ไร่ หรือร่วมฤดีวิเทศศึกษา : RIS ที่มีพื้นที่เพียง
63 ไร่ แต่ประเด็นว่าด้วยขนาดของผืนที่ดิน อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญของความเคลื่อนไหวเพื่อก่อสร้างโรงเรียนแห่งใหม่ของ
Harrow ในครั้งนี้
ความพยายามที่จะเลือกสรรพื้นที่ในการก่อสร้างโรงเรียนอย่างเป็นการถาวร
ให้สมสถานะการเป็นโรงเรียนของเจ้าชาย 35 พระองค์, 8 นายก รัฐมนตรี และ 3
ผู้ได้รับรางวัล Nobel ซึ่งถือเป็นเกียรติประวัติให้เล่าขานของสถาบันจากอังกฤษแห่งนี้
ปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องมาตลอดนับ ตั้งแต่เริ่มเปิดดำเนินการ
คณะกรรมการบริหารโรงเรียน ได้เคยประกาศแผนการพัฒนาที่ดินกว่า 700 ไร่ ในจังหวัด
ปทุมธานี เมื่อปี 2000 เพื่อก่อสร้างโรงเรียน หลังจากใช้พื้นที่ของโครงการ
Bangkok Garden บนถนนนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นที่ตั้งโรงเรียนในช่วงเริ่มต้น
แต่แผนงานดังกล่าวมีเหตุให้ต้องพับไป แม้ว่าตามกำหนดการ โรงเรียนแห่งใหม่
บนพื้นที่ชานเมืองกรุงเทพฯ ควรจะรองรับนักเรียนได้ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2001
ที่ผ่านมาก็ตาม
การแสวงหาที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงเรียน Harrow อย่างถาวรในไทย ได้บทสรุปที่ลงตัวเมื่อบริษัท
Cement Thai Property ซึ่งจัดตั้งขึ้นในปี 2001 เพื่อดูแลการขายสินทรัพย์จำพวกที่ดิน
ตามนโยบายการขายสินทรัพย์ที่ไม่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักของเครือปูนซิเมนต์ไทย
ตกลงขายที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัย เครือซิเมนต์ไทยแห่งนี้ ให้ กับ
Harrow Asia ซึ่งเป็นผู้ดำเนินการโรงเรียน Harrow International School ในราคาประมาณ
400 ล้านบาท เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2002
ขณะที่การออกแบบสถาปัตยกรรมและแผนการก่อสร้างใน stage ที่ 1 ซึ่งประกอบด้วยอาคารเรียนสำหรับประถมและมัธยม
โรงอาหาร หอประชุม โรงยิมเนเซียม สระว่ายน้ำ และอาคารหอพัก คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถย้ายการเรียนการสอน
จากสถานที่เดิมในย่านใจกลางเมืองในปัจจุบันไปสู่พื้นที่ใหม่นี้ได้ภายในปี
2003
หากแผนการย้ายสถานที่แห่งใหม่ของ Harrow International School สำเร็จลงตามโครงการที่กำหนดไว้
สภาวะการแข่งขันในกลุ่มโรงเรียนนานาชาติในประเทศไทย น่าจะมีความคึกคักและเต็มไปด้วยสีสันไม่น้อย
การเปิดโรงเรียน Harrow International School ในประเทศไทยเมื่อปี 1998
ใน ทัศนะของผู้ประกอบการโรงเรียนนานาชาติในเขตกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็น ISB
(Est. 1951), Bangkok Pattana (Est.1957) และ RIS (Est.1957) ที่ล้วนแต่ถือเป็น
Old Establishment ในแวดวงสังคมโรงเรียนนานาชาติของไทย อาจได้รับการประเมินในฐานะที่เป็นเพียงความ
พยายามในการขยายโอกาสทางธุรกิจ ท่ามกลางกระแสการเปิดตัวของโรงเรียนนานาชาติ
แห่งใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นในบริบทของสังคมไทยไม่ต่างจากสินค้าในเชิงพาณิชย์อื่นๆ
แต่คล้อยหลังเพียง 4-5 ปี Harrow International School ซึ่งมีความเชื่อมโยงไปสู่
Harrow School (Est. 1572) โรงเรียนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน จากประเทศอังกฤษ
แห่งนี้ กำลังรุกคืบหน้าด้วยการสร้าง recognition ใหม่ๆ ภายใต้ความได้เปรียบ
ของการเป็น global brand ที่ได้รับการยอมรับและกล่าวขานถึงในระดับนานาชาติ
อีกทั้งยังมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับชน ชั้นนำในสังคมไทยด้วย
เป้าหมายการเติบโตของ Harrow International School ที่คาดว่าจะรับนักเรียนได้ถึง
1,500 คนในอนาคตจากจำนวนนักเรียนที่มีมากกว่า 750 คนในปัจจุบัน นับเป็นตัวเลขที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
และเป็นการกำหนดเป้าหมายที่ส่งผลสะเทือนต่อโรงเรียนนานาชาติแห่งอื่นๆ ไม่น้อย
เพราะภายใต้ความพยายามที่จะให้โรงเรียนนานาชาติมีฐานะเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม
ที่สะท้อนมาตรฐานออกมาเป็น ค่าเล่าเรียนในอัตราที่สูงถึงกว่า 3 แสนบาทต่อปี
ในแต่ละแห่งนั้น อัตราค่าเล่าเรียนของ Harrow ที่อยู่ระหว่าง 230,000-330,000
ย่อมเป็นแรงจูงใจสำหรับผู้ปกครอง ไม่น้อยเช่นกัน
ซึ่งกรณีนี้อาจส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ทางการตลาดของโรงเรียนนานาชาติแต่ละแห่ง
ให้ต้องเปิดสู่นักเรียนที่มีถิ่นพำนักในต่างประเทศมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่