บ้านของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์
สามัญชนที่ทำคุณประโยชน์ให้แผ่นดิน เมื่อ 100 ปีก่อน
ได้กลายเป็นที่ทำการของศาลรัฐธรรมนูญ
องค์กรตุลาการที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของบ้านเมืองในปัจจุบัน
เจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ชื่อเดิมว่า พุ่ม ศรีไชยันต์ ได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็ก
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว สมัยเมื่อครั้งยังเป็นนายพุ่มนั้นท่านมีบ้านเป็นเรือนแพ
ตามวิถีชีวิตของสามัญชนทั่วไป ต่อมาเมื่อได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์
ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้รื้อเรือนแพสองหลังแฝดย้ายไปปลูกกุฏิถวายพระสงฆ์ไว้
ณ พระอารามวัดทองธรรมชาติ ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และเตรียมไปปลูก
บ้านใหม่ในที่ดินริมคลองโอ่งอ่าง
ในช่วงเวลานั้น อิทธิพลของสถาปัตยกรรมตะวันตกได้เข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตของชาวไทยอย่างมาก
ทั้งนี้เนื่องจากการเสด็จประพาสประเทศใกล้เคียง และประเทศยุโรปของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ซึ่งพระองค์ได้นำเอาแบบอย่างของงานสถาปัตยกรรมตะวันตกมาประยุกต์ใช้กับบ้านเมือง
เพื่อแสดงถึงความเจริญรุ่งเรือง รวมทั้งนำช่างต่างประเทศมาก่อสร้างพระราชวัง
จนเป็นแบบอย่างให้พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง คหบดี และราษฎรสามัญชนทั่วไปนำไปก่อสร้างวัง
หรือบ้านเรือน
บ้านใหม่ของเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ จึงถูกก่อสร้างตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก
ซึ่งเป็นที่นิยมในสมัยนั้น เป็นงานในยุคเรอเนซองส์ของอิตาลี เป็นรูปแบบที่มีแนวทางของ
Andrea Palladio และ Vignola
สถาปนิกที่มีชื่อเสียงชาวอิตาลี ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 16 โดยใช้สถาปนิกชาวต่างชาติมาทำการออกแบบ
(จากหนังสือที่ระลึกเนื่องในพิธีเปิดศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2543)
การวางตำแหน่งด้านหน้าและทางเข้าของบ้าน ให้ความสำคัญกับเส้นทางคมนาคมทางน้ำ
คือ คลองโอ่งอ่าง มีเรือนพักอาศัยใหญ่อยู่ 1 หลัง อยู่ด้านทิศใต้ และเรือนบริวารอยู่ทางทิศเหนือ
เรือนบริวารเหล่านี้ ภายหลังถูกรื้อทิ้งและสร้างเป็นกระทรวงธรรมการ
รูปทรงของบ้านเป็นเรือนก่อ 3 ชั้น มีลักษณะเด่นคือ การแบ่งช่องประตูหน้าต่างออกเป็น
3 ช่อง มีส่วนสูงมากกว่าส่วนกว้าง เหนือช่องประตูหน้าต่างเป็น รูปโค้งครึ่งวงกลม
มีลูกกรงระเบียงโปร่ง เป็นปูนปั้น ลูกมะหวด เป็นต้น
หลังคาเป็นทรงปั้นหยา 4 ด้าน หันหลังชนกัน ชายคายื่นออกไปไม่มากนัก ความลาดเอียงของหลังคาประมาณ
45 องศา เพื่ออวดผืนกระเบื้องหลังคาซึ่งเป็นกระเบื้องว่าว หรือกระเบื้องซีเมนต์รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่สีแดง
ตัดกับ สีปูนน้ำอ้อยของผนังบ้าน ใต้ชายคาตีเกล็ดไม้สักชนชิด ซุ้มโค้งเหนือประตูหน้าต่าง
ทำเป็นลายรัศมีอย่างง่ายๆ หรือลายเรขาคณิต
ภายหลังเมื่อเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ถึงแก่อสัญกรรม บ้านหลังนี้ตกอยู่ในความปกครองของกรมพระคลังข้างที่
ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินส่วนพระองค์และทรัพย์สินส่วนสาธารณสมบัติ ตลอดจนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ในปี พ.ศ.2445 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชานุญาตให้กรมพระคลังข้างที่ขายบ้านหลังนี้แก่กระทรวงมหาดไทย
ที่ต้องการซื้อเพื่อไว้เป็นที่พักแขกเมืองรวมเป็นเงิน 124,758 บาท (ข้อมูลจากหอจดหมายเหตุ
แห่งชาติ)
ในปี พ.ศ.2452 กระทรวงธรรมการ ได้ย้ายจากพระราชวังบวรสถานมงคล (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงละครแห่งชาติ)
ไปอยู่ ณ บ้านเจ้าพระยารัตนา ธิเบศร์ และในปี พ.ศ.2463-2465 ได้ทำการรื้อเรือนบริวารด้านหลังแล้วสร้างตึกที่ทำการใหม่อีก
3 ชั้น เชื่อมต่อกับตัวบ้านหลังเดิม โดยอาคารใหม่มีความกลมกลืนกับบ้านหลังเดิมมากที่สุด
บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ทั้งที่เป็นบ้านเดิม กับอาคารที่ก่อสร้างต่อเติมได้ใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงธรรมการ
จนถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2483 หลังจากนั้นได้ใช้เป็นที่ทำการของกรมเกษตรการประมง
และสำนักงานเกษตร กรุงเทพมหานคร
ในเดือนมิถุนายน 2542 ได้มีการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์
และกระทรวงธรรมการอีกครั้ง ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 141 ล้านบาท เพื่อเป็นที่ทำการของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
มีการซ่อมแซมส่วนหลักๆ เช่น การซ่อมแซมโครงสร้างหลังคา และเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคาใหม่โดยยังคงลักษณะและสีเช่นเดียวกับของเดิม
การซ่อมแซมทั้งภายในภายนอก การเปลี่ยนประตูหน้าต่างที่ชำรุด การวางสายไฟฟ้าใต้ดินและการวางระบบสุขาภิบาลใหม่หมด
แบ่งพื้นที่ในอาคารออกเป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกบ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์เดิม
ได้ปรับปรุงเป็นที่ทำงานของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้บริหารศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนที่ 2 อาคารกระทรวงธรรมการเดิม ได้ปรับปรุงเป็นที่ทำงานของข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ
การตกแต่งภายในอาคารทั้ง 2 หลังนี้ ยังคงยึดรูปแบบโบราณตาม สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกผสมผสานกับสถาปัตยกรรมไทย
วัสดุที่ใช้ยังคงเป็นไม้สักเกือบทั้งหมด
ประมาณเดือนกันยายน พ.ศ.2543 ศาลรัฐธรรมนูญได้ย้ายเข้ามาทำงานในสถานที่ที่เป็นอาคารเก่าแก่
ที่เต็มไปด้วยความสวยงามของงานด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งได้ปรับปรุงให้มีสภาพคงเดิม
และเหมาะสมกับการใช้งานในปัจจุบัน และที่สำคัญสถานที่แห่งนี้ยังทำให้ผู้คนได้ระลึก
ถึงเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ ผู้เป็นสามัญชนที่ทำคุณประโยชน์ต่อแผ่นดินไทย ผู้เป็นเจ้าของบ้านหลังนี้อีกด้วย
บ้านเจ้าพระยารัตนาธิเบศร์ได้รับการขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อวันที่ 30
กันยายน 2531 และได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภท สถานที่ราชการ จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ.2545