CPF ปรับเป้าส่งออกกุ้งไปยุโรป 300% หลังอียูคืนสิทธิจีเอสพี ให้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ ผู้บริหารเชื่อกุ้งไทยจะแข่งขันด้านราคาได้เป็นธรรมมากขึ้น และทำให้สามารถส่งออกขายได้เพิ่มขึ้น มั่นใจหนุนกำไรบริษัทพุ่ง
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)(CPF) เปิดเผยกรณีสหภาพยุโรปให้ความช่วยเหลืออุตสาหกรรมกุ้งไทย หลังประสบภัยสึนามิ ด้วยการคืนสิทธิพิเศษทางภาษีหรือจีเอสพี ในอัตราเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ อาทิ มาเลเซีย อินเดียและอินโดนีเซีย โดยมีผลบังคับใช้ย้อนหลังตั้งแต่ 1 สิงหาคม 48 ที่ผ่านมาว่าเดิมกุ้งไทยต้องเสียภาษีนำเข้าในอัตราสูงสุดเพียงประเทศเดียวที่ 12% สำหรับกุ้งสดแช่แข็ง และ 20% สำหรับกุ้งปรุงแต่ง
ส่งผลให้ไทยส่งกุ้งไปขายยังสหภาพยุโรปได้เพียงไม่ถึง 1% ของปริมาณการนำเข้ากุ้งทั้งหมดของสหภาพยุโรปที่สูงถึง 700,000 ตัน เมื่อ ได้รับการคืนสิทธิพิเศษทางภาษี ไทยจะเสียภาษีในอัตราเดียวกับคู่แข่งคือ กุ้งแช่แข็ง 4.2% และกุ้งปรุงแต่ง ที่ 7% นั่นคือกุ้งจากไทยจะสามารถแข่งขันทางด้านราคาได้อย่างเป็นธรรมมากขึ้น
"เชื่อว่าปริมาณการส่งออกกุ้งไทยไปยุโรปจะค่อยๆสูงขึ้น จนเท่ากับก่อนถูกตัดจีเอสพีที่ส่งออกได้ในปริมาณ 35,000 ตัน และโดยในส่วนของ CPF คาดว่าสิ้นปีนี้ จะสามารถส่งออกกุ้งไปสหภาพยุโรปได้ถึง 6,000 ตัน จากเดิม 2,000 ตัน เพิ่มขึ้นราว 300% ส่งผลให้การส่งออกกุ้งโดยรวมทุกตลาดของ CPF ณ สิ้นปีนี้น่าจะอยู่ที่ 45,000 ตัน จากเดิม 12,000 ตัน และคาดว่าปีหน้าจะส่งออกได้ทั้งสิ้น 60,000-70,000 ตัน" นายอดิเรกกล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจาก CPF ได้ทุ่มเทการวิจัยพัฒนากระบวนการเลี้ยงกุ้งและสร้างโรงงานแปรรูปกุ้งในระยองและสมุทรสาคร ด้วยเงินลงทุนกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่ง ณ วันนี้ โรงงานทั้ง 2 แห่งได้แล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ เป็นโรงงานที่มีมาตรฐานอาหารปลอดภัยเป็นที่ยอมรับ ด้วยการนำมาตรการความปลอดภัยในอาหาร หรือ Food Safety มาใช้ในทุกขั้นตอนการผลิตภายในโรงงานแปรรูปกุ้งที่ได้การรับรองตามมาตรฐานสากลที่หลากหลาย และมีระบบตรวจสอบย้อนกลับ ของกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน
นายอดิเรกยังกล่าวอีกว่า เมื่อไม่ ต้องเจอมาตรการกีดกันทางภาษีอย่างจีเอสพี ก็นับได้ว่าต้นทุนการเลี้ยงกุ้งของเมืองไทยถูกที่สุดในโลก เนื่องจาก เทคโนโลยีการผลิตลูกกุ้ง อาหารกุ้ง และเทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งของไทย มี ประสิทธิภาพที่ดีกว่าทุกๆประเทศ เมื่อ มาผนวกกับการแปรรูปเพิ่มมูลค่าในสินค้ากุ้งแล้ว ก็ยิ่งจะทำให้ได้ราคาที่ดี มีกำไรสูง ซึ่งจะเป็นที่มาของการสร้างรายได้มหาศาลให้แก่ประเทศชาติ
สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 2 ปีนี้พบว่า CPF มีกำไรสุทธิ 2,733 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มี 901.27 ล้านบาท ส่งผลให้กำไรต่อหุ้นเพิ่มจาก 17 สตางค์ ต่อหุ้น เป็น 51 สตางค์ต่อหุ้น หรือกำไรเพิ่ม 203.18% ขณะที่ผลงานครึ่งแรกปีนี้พบว่ามีกำไร 4,005 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,222% โดยกำไรงวดครึ่งปีแรกถือเป็นยอด กำไรสุทธิสูงสุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากการขยายตัวของยอดขายในทุกธุรกิจ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยศักยภาพในการพัฒนาสินค้าคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาด โดยเฉพาะในส่วนของการส่งออกกุ้งและไก่ ที่มียอดขายเติบโต 189% และ 28% ตาม ลำดับ และหากช่องทางในการส่งออก กุ้งมีเพิ่มขึ้นอีก ก็ยิ่งจะส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานของบริษัทด้วย
|