หลังเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติสึนามิ เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ที่ประสบภัย โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจประเภทโรงแรมและรีสอร์ตได้รับ ผลกระทบเป็นอย่างมาก ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่จะมีมูลค่าความเสียหายอยู่ในหลัก 100 ล้านบาท ซึ่งก็เป็นเรื่องยากหากผู้ประกอบการคิดที่จะพลิกฟื้นธุรกิจขึ้นมาใหม่ โดยปราศจากความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะในเรื่องของเงินทุน ที่เป็นปัจจัยหลักในการฟื้นฟูธุรกิจ
ทั้งนี้ ทางสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ สสว. ก็เป็นหนึ่งในหน่วยงานของภาครัฐ ที่มีโครงการกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital Fund) โดยเป็นการเข้าไปร่วมถือหุ้นกับผู้ประกอบการ จนเมื่อผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้เองจึงจะถอนหุ้นออกมา ซึ่งทางสสว.ได้รับเงินอนุมัติในการดำเนินโครงการนี้จำนวน 5,000 ล้าน บาท โดยที่ผ่านมามีผู้ประกอบการหลายรายที่เข้าร่วมทุนกับโครงการนี้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ประสบภัยธรรมชาติสึนามิในจังหวัดภูเก็ต และพังงา
สำหรับผู้ประกอบการที่ประสบภัยทางธรรมชาติสึนามิในจังหวัดพังงานั้น ถือว่าเป็นผู้ประกอบการโรงแรมและรีสอร์ตได้รับผลกระทบอย่างหนัก ซึ่งบางแห่งอยู่ในขั้นตอนการก่อสร้าง ยังไม่ได้เปิดขายห้องพัก แต่ก็ต้องถูกภัยธรรมชาติสึนามิพัดพาธุรกิจที่วาดฝันไว้ว่าจะโกยรายได้จาก นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติในช่วงไฮ-ซีซัน ผู้ประกอบการเหล่านั้นถึงกับหมดตัวจากภัยธรรมชาติในครั้งนี้ อย่างเจ้าของ บริษัท บุณฑริกาวิลล่า จำกัด นายภคิน รักแต่งาม ซึ่งปลูกสร้างรีสอร์ตในสไตล์ฮันนีมูนสวีท บริเวณหาดลายัน จ.ภูเก็ต เตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีในวันที่ 28 ธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา แต่ก็เกิดเหตุภัยธรรมชาติสึนามิขึ้นก่อน ส่งผลทำให้สูญเงินไปกว่า 120 ล้านบาท โดยคาดว่าการก่อสร้างในครั้งใหม่นี้จะใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30%
โดยทางบริษัท บุณฑริกาวิลล่า จำกัด ได้รับเงินจากกองทุนร่วมลงทุน ของ สสว. จำนวน 30 ล้านบาทเพื่อใช้ในการฟื้นฟูธุรกิจ ให้กลับมาต้อนรับลูกค้าได้ หลังจากที่ต้องฝันสลายไปกับคลื่นสึนามิ ซึ่งรูปแบบของที่พักสไตล์รีสอร์ตภายใต้ชื่อบุณฑริกานั้น จะเป็นที่พักที่เน้นความเป็นส่วนตัวอย่างมากโดยบ้านพักทุกหลังบนเนื้อที่ 5 ไร่เศษ จำนวน 21 หลัง จะมีสระว่ายน้ำ ล้อมรอบด้วยรั้วสูง 2 เมตร ทุกหลัง เพื่อต้องการให้ลูกค้าได้รับความเป็นส่วนตัว และการพักผ่อนให้มาก ที่สุด ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่สนใจในการเข้าพักห้องในลักษณะนี้เป็นลูกค้า ชาวเกาหลีที่นิยมการมาฮันนีมูนต่างประเทศ และกลุ่มลูกค้าในระดับพรีเมียม เนื่องจากราคาห้องพักค่อนข้างสูง โดยในช่วงไฮซีซัน ราคาจะอยู่ที่ 28,000-32,000 บาท แต่ หากในช่วงที่เป็นเทศกาลท่องเที่ยวสากล และเป็นวันหยุดยาวของชาวต่างชาติราคาจะพุ่งสูงขึ้นไปถึง 38,000-40,000 บาท โดยในปีนี้จะเน้นการทำตลาดกับลูกค้าในกลุ่มเอเชียก่อน และในปีหน้าจะเริ่มบุกตลาดในแถบยุโรปอย่างจริงจัง ซึ่งบุณฑริกาวิลล่า จะพร้อมเปิดให้บริการก่อนวันที่ 26 ธันวาคม 2548 นี้
"ในเรื่องของราคาเราไม่ได้มีการปรับลดลงเหมือนผู้ประกอบการรายอื่น โดยเราคิดว่าถ้าในช่วงเปิดบริการใหม่เรามีการลดราคาเพื่อเน้นปริมาณนักท่องเที่ยว แต่เมื่อธุรกิจเราติดตลาดแล้วจะมาเพิ่มราคาห้องพักจะมีความเป็นไปได้ยาก และจะทำให้ขาดความน่าเชื่อถือจากลูกค้า แต่เราจะเน้นไปที่โปรโมชันเสริมต่างๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการท่องเที่ยวให้แก่ลูกค้าแทน" นายภคินกล่าว
แม้ว่าหลังเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติสึนามิแล้วทำให้นายภคินถึงกับหมดตัว แต่เขาก็ไม่มีความท้อถอยในการดำเนินธุรกิจโดยกล่าวว่า หากเกิดภัยสึนามิขึ้นมาอีกก็จะสร้างใหม่อีก เพราะเรายังไม่ได้เห็นสิ่งที่เราวาดฝันไว้กับเพื่อนๆ เลย และคิดว่าการสู้ดำเนินธุรกิจต่อถือว่าเป็นความท้าทายอย่างหนึ่ง
ส่วนผู้ประกอบการอีกรายหนึ่ง ซึ่งก็ประสบปัญหาที่ใกล้เคียงกันคือยังไม่ได้เปิดให้บริการห้องพักก็ต้องมาเจอภัยธรรมชาติสึนามิทำลายก่อนคือ บริษัท ปะการัง พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด นายกรีวุฒิชัย ตรีครุธพันธุ์ บริเวณเขาหลัก จ.พังงา ที่ได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งสิ่งก่อสร้างที่เหลือจะเป็นฐานรากและเสาบางต้นเท่านั้น ส่งผลให้สูญเงินไปกับการก่อสร้างถึง 120 ล้านบาท ซึ่งเหตุที่ความเสียหายหนักคงเป็นทำเลที่ตั้ง โดยอยู่บริเวณ เขาหลัก เป็นแหลมยื่นลงไปในทะเล ทำให้บริเวณนั้นมีสภาพเหมือนเกาะมีน้ำทะเลทั้ง 2 ด้าน ซึ่งบริษัทฯ นี้ทางสสว.เข้าร่วมทุนจำนวน 50 ล้านบาท เพื่อการฟื้นฟูธุรกิจ โดยรูปแบบ ของปะการัง พร็อพเพอร์ตี้ จะอยู่ในระดับ 3-4 ดาว ราคาห้องพักอยู่ที่ 2,500-5,500 ล้านบาท คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในสิ้นปีนี้ โดยในช่วงแรกจะปรับลดราคาลงมาประมาณ 10-20% เพื่อสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหลายหน่วยงานจะเร่งเข้าไปให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ ในเรื่องของเงินทุน แต่อีกปัจจัยหนึ่ง ที่สำคัญของการดำเนินธุรกิจคือเรื่องของ "กำลังใจ" ในการต่อสู้กับอุปสรรค ที่ผู้ประกอบการทั้งหลายต่างมีอยู่อย่างเต็มเปี่ยม แถมยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ก็ถือเป็น ส่วนหนึ่งที่สร้างให้เอสเอ็มอีไทยมีความเข้มแข็ง และสามารถยืนหยัดในการดำเนินธุรกิจต่อไปได้
|