คมนาคมเตรียมสรุปขึ้นค่ารถเมล์ ก.ย.นี้ คาดขยับ อีก 1 บาทอ้างผลศึกษาจุฬาฯ ระบุต้นทุนน้ำมันเพิ่ม ขสมก.-ผู้ประกอบการเอกชนแบกรับภาระมากเกินไป "พงษ์ศักดิ์" เผยนำร่องปรับเครื่องยนต์รถขสมก.ใช้ก๊าซเอ็นจีวีปีนี้ได้แค่ 1,000 คัน ยังไม่เห็นผลต้องยอมให้ขึ้นค่าโดยสารก่อน ขณะที่ ปตท.-ขสมก.-บขส. เริ่มโครงการติดตั้งอุปกรณ์เอ็นจีวีแล้ว
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นทำให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ต้องรับภาระต้นทุนน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกทั้งในปีนี้ รถขสมก.ที่จะติดตั้งอุปกรณ์เครื่อง ยนต์มาใช้ก๊าซเอ็นจีวีจะมีแค่ 1,000 คันเท่านั้น ดังนั้นกระทรวงคมนาคม คงจะต้องพิจารณาให้มีการปรับขึ้นค่าโดยสารในช่วงแรกเล็กน้อย และเมื่อ ขสมก.มีการติดตั้งอุปกรณ์ เอ็นจีวีกับรถโดยสารครบทั้งหมด ค่าโดยสารจะต้องถูกบังคับให้ลดลง เนื่องจาก ราคาก๊าซเอ็นจีวี นั้นต่ำกว่าราคาน้ำมันดีเซล 50%
"ที่ผ่านมา เชื้อเพลิงเป็นต้นทุนที่สูงทำให้ขสมก.ต้องแบกรับภาระการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซเอ็นจีวีจะทำให้ต้นทุนเชื้อเพลิงลดลงมากส่งผลให้สามารถนำส่วนต่างที่ประหยัดลงไปใช้ในการให้บริการผู้โดยสารที่ดีขึ้น ส่วนค่าโดยสารที่จะปรับขึ้นนั้น กระทรวงคมนาคมจะตั้งคณะทำงานมาศึกษาในรายละเอียด"
ด้านพล.อ.ชัยนันท์ เจริญศิริ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ภายในเดือนกันยายนนี้จะมีการปรับขึ้นค่าโดยสารรถขสมก.และรถร่วม ขสมก. ซึ่งแนวโน้มคาดว่าจะให้ปรับขึ้นอีก 1 บาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ประกอบการเอกชน เนื่องจากผลศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับตัวเลขของผู้ประกอบการเอกชนไม่ตรงกัน โดยเฉพาะเรื่องค่าซ่อมบำรุง ส่วนรถยูโรทู อาจต้องปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 บาท เพราะเป็นรถที่ใช้น้ำมันมาก แต่อย่างไรก็ตาม ข้อสรุป ตัวเลขที่จะปรับขึ้นนั้นยังไม่ได้ข้อยุติ
ปตท.-ขสมก.-บขส.ร่วมมือใช้ก๊าซเอ็นจีวี
วานนี้ (31 ส.ค.) ได้มีการ ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือส่งเสริมการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในภาคการขนส่งและการร่วมดำเนินโครงการขยายการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชน กรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ระหว่างกระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคม และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รวมทั้งสิ้น 3 ฉบับ โดยสัญญาฉบับแรกว่าด้วยความร่วมมือส่งเสริมการสนับสนุนการใช้ก๊าซเอ็นจีวี ในภาคการขนส่ง โดยทั้งสองกระทรวงจะผลักดันการใช้ก๊าซเอ็นจีวีให้เพิ่มมากขึ้น โดยกำหนดให้ 1. รถยนต์โดยสาร ขสมก. รถแท็กซี่ รถสามล้อ รถบรรทุก รถไฟและเรือประมง เปลี่ยนมาใช้ก๊าซเอ็นจีวี 2. กำหนดให้รถที่อยู่ในความดูแลและบริหารโดยบริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ใช้เครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี 3.ลดภาษีประจำปีทะเบียนรถยนต์ที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวี 4. เร่งขยายจำนวนสถานีบริการก๊าซเอ็นจีวี โดยสนับสนุนให้ใช้พื้นที่ริมทางหลวงและทางรถไฟในการวางท่อส่งก๊าซและสร้างปั๊มเอ็นจีวี รวมทั้งสนับสนุนใช้ที่ริมน้ำในการสร้างปั๊มเอ็นจีวีลอยน้ำ
เอ็มโอยูฉบับที่ 2 เพื่อดำเนินโครงการติดตั้งอุปกรณ์และดัดแปลงการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในรถขสมก.จำนวน 1,000 คัน โดยปตท.จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวให้ก่อนและเรียกเก็บคืนโดยไม่คิดดอกเบี้ยจากการบวกเพิ่มในราคาก๊าซเอ็นจีวีกิโลกรัมละ 5 บาทและเอ็มโอยู ฉบับที่ 3 เป็นการลงนามบันทึกความเข้าใจในการดำเนินโครงการนำร่องติดตั้งอุปกรณ์และดัดแปลงใช้เอ็นจีวีในรถโดยสารประจำทางบขส.โดยจะนำรถโดยสารบขส.ที่ วิ่งในเส้นทางภาคตะวันออกและภาคกลางที่มีปั๊มเอ็นจีวีรองรับจำนวน 30 คัน มาติดตั้งอุปกรณ์ก๊าซเอ็นจีวี หลังจากนั้นจะขยายปั๊มไปในเส้นทางภาคอื่นๆ และบขส. จะนำรถที่เหลืออีกกว่า 1,000 คันมาดัดแปลงเครื่องยนต์เพื่อใช้ก๊าซเอ็นจีวีต่อไป
นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า การร่วมมือกันระหว่างกระทรวงพลังงาน และกระทรวงคมนาคมในครั้งนี้จะทำให้การขยายการใช้ก๊าซเอ็นจีวีในภาคคมนาคมขนส่งประสบความสำเร็จมีประสิทธิภาพ และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากดำเนินการได้ตาม Roadmap ฉบับปรับปรุงที่ได้นำเสนอต่อกระทรวงพลังงานประเทศไทยจะมีรถใช้ก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 180,000 คัน ในปี 2551 ซึ่งจะสามารถใช้ก๊าซธรรมชาติปริมาณ 220 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ทดแทนการใช้น้ำมันได้ประมาณ 2,200 ล้านลิตรต่อปี คิดเป็นมูลค่าเทียบเท่านำเข้าน้ำมันดิบ ณ ราคาปัจจุบัน มีมูลค่าถึง 41,100 ล้านบาทต่อปี
|