การตัดสินใจลดมูลหนี้ให้กับบริษัทซับไมครอน คิดเป็นสัดส่วนถึง 86% อาจเป็นการส่งสัญญาณให้เห็นถึงแนวคิดในการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้
(NPL) ของบรรษัทบริหาร สินทรัพย์ไทย (บสท.) ซึ่งเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน
กำลังจะมีการ เปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
เป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้การดำเนินงานของ บสท. เป็นไปตามทิศทาง และวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการจัดตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาเมื่อเกือบ
2 ปีก่อน
กระบวนการการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เป็นสิ่งที่พูดกันตลอด เวลา 5 ปี หลังประเทศไทยต้องประสบกับวิกฤติว่า
แนวทางที่ได้มีการนำมาใช้กันนั้น เป็นการแก้ไขปัญหาไม่ถูกจุด
การปรับโครงสร้างหนี้ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่ใช้วิธียืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกหนี้
ยังไม่มีการลงลึกไปถึงรายละเอียด ของโครงสร้างของหนี้ ซึ่งประกอบด้วย เงินต้น
และดอกเบี้ย ค้างจ่าย
โดยเฉพาะตัวหลังซึ่งมีตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก จากเกณฑ์การคิดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่ถูกกำหนดไว้ในอัตราสูงลิ่ว
การใช้วิธียืดระยะเวลาการชำระหนี้ โดยยังคงยอดเงินต้น และดอกเบี้ยค้างชำระไว้เท่าเดิม
ถึงที่สุดแล้วลูกหนี้ที่ผ่านการปรับโครงสร้าง ก็จะต้องหวนกลับมาเป็น NPL
รอบใหม่ เพราะมูลหนี้ได้เพิ่มสูงขึ้นกว่าเมื่อคราวไปขอกู้ครั้งแรกอย่างมาก
จากการที่ธนาคารเจ้าหนี้ได้รวมยอดดอกเบี้ยค้างจ่ายเข้าไปไว้กับยอดเงินต้น
เมื่อประกอบกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มีน้อยลง
สิ่งที่มีการเรียกร้องกันมาก คือการตัดสินใจแก้ไขปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จ โดยการพบกันแบบครึ่งทาง
ระหว่างฝ่ายเจ้าหนี้ที่ต้องยอมลดยอดมูลหนี้ลงมาโดยเฉพาะส่วนที่เป็นดอกเบี้ยค้างจ่าย
ส่วนลูกหนี้ก็จะต้องยอมสละความเป็นเจ้าของให้เหลือน้อยลง โดยการหาผู้ร่วมทุนรายใหม่
แต่ดูเหมือนสถาบันการเงินแทบทุกแห่งไม่กล้าตัดสินใจนำวิธีนี้มาใช้ เพราะเกรงว่าจะมีผลต่อรายได้ของตนเองในอนาคต
การแก้ไขปัญหา NPL ในช่วงที่ผ่านมา จึงดำเนินการไปได้ช้ามาก
เมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เขามีนโยบายที่ชัดเจนที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นโดยเร็วที่สุด
โดยการออกพระราชกำหนดจัดตั้งบสท. ขึ้นมารับผิดชอบการแก้ไขปัญหานี้โดยเฉพาะ
แต่เนื่องจากโครงสร้างของคนทำงานใน บสท. ซึ่งส่วนใหญ่มาจากข้าราชการประจำ
ถูกตีกรอบไว้ด้วยระเบียบ กฎเกณฑ์ ของทางการ จึงทำให้ขาดความกล้าในการตัดสินใจแก้ไขหนี้แต่ละรายอย่างเบ็ดเสร็จ
แม้ว่าโดยเนื้อหาในกฎหมาย บสท.ที่รัฐบาลนี้ได้นำเสนอจนผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ
ได้มอบอำนาจการตัดสินใจขั้นเด็ดขาดให้กับคณะกรรมการบริหารบสท.แล้วก็ตาม
โครงสร้างคนทำงานดังกล่าว ทำให้ตลอดเวลากว่า 1 ปี การแก้ไขปัญหา NPL ที่ดำเนินการโดย
บสท.จึงยังไม่มีความคืบหน้าจนเป็นที่พอใจของรัฐบาล และว่ากันว่าด้วยสาเหตุนี้
เป็นผล ให้มีการเปลี่ยนตัวกรรมการผู้จัดการ บสท.จาก ร.ต.ยอดชาย ชูศรี ที่มาจากแบงก์ชาติ
เป็นสมเจตน์ หมู่ศิริเลิศ ที่ขอยืมตัวมาจากบริษัทหลักทรัพย์ธนชาติ เมื่อ
1 เดือนเศษที่ผ่านมา
การเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ บสท.ที่เกิดขึ้น ดูเหมือนจะมีผลให้แนวคิดในแก้ไขปัญหา
NPL ของบสท.ถูกเปลี่ยนแปลงไปด้วยโดยอัตโนมัติ
การตัดสินใจของคณะกรรมการบริหาร บสท. ซึ่ง มีสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังเป็นประธาน
ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ถือเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญยิ่ง
มติที่ประชุมในวันนั้น บสท.ได้ยอมลดมูลหนี้ให้กับบริษัทซับไมครอน เทคโนโลยี่
เป็นวงเงินถึง 1.2 หมื่น ล้านบาท หรือ 86% ของมูลหนี้เดิม ที่ บสท.ได้รับโอนมาประมาณ
1.5 หมื่นล้านบาท
การตัดสินใจครั้งนี้ เป็นผลให้กิจการของซับไมครอนสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ภายหลังจากต้องหยุด ชะงักมาเป็นเวลากว่า 5 ปี
ซับไมครอน เป็นเจ้าของโครงการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ (เวเฟอร์แฟบ) ซึ่งเป็นสินค้าที่ยังมีความต้องการในตลาด
ปัญหาของโครงการนี้คือจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก และโชคร้ายที่โครงการนี้เกิดขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจของไทยกำลังจะถึงจุดวิกฤติ
หลังวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 โครงการที่ได้ลงทุน ไปแล้วกว่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ต้องหยุดชะงักลง บริษัทที่กำลังจะได้เข้าไประดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องกลายเป็น
NPL ด้วยมูลหนี้ที่สูงถึง 1.9 หมื่นล้านบาท
ช่วงที่ผ่านมา ชาญ อัศวโชค เจ้าของโครงการพยายามดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเจรจากับเจ้าหนี้
แต่แผนการ ของเขาไม่ได้รับการยอมรับ จนในที่สุด NPL รายนี้ต้องถูกโอนมาอยู่ในความรับผิดชอบของบสท.
ชาญใช้เวลาเจรจากับเจ้าหนี้กว่า 4 ปีไม่ประสบผลสำเร็จ แต่ บสท.ใช้เวลาพิจารณาเพียง
1 ปี กลับสามารถหาทางออกให้ได้
การตัดสินใจลดมูลหนี้ลง 86% เพื่อเปิดทาง Infineon และ Meissmer &
Wuist ผู้ลงทุนจากเยอรมนี นำเงินก้อนใหม่ใส่เข้ามา มีผลให้โครงการนี้สามารถเริ่มต้นเดินหน้าต่อไปได้ในต้นปีหน้า
และจะเป็นการเพิ่มการจ้างงานให้กับคนไทยอีกประมาณ 1 แสนคน
การแก้ไขปัญหาให้กับบริษัทซับไมครอน นับเป็นมิติใหม่ของการแก้ไข NPL ของไทย
และหาก บสท.กล้า ตัดสินใจเช่นนี้ต่อไป เชื่อว่าการแก้ไข NPL ทั้งระบบจะประสบความสำเร็จได้ในอีกไม่นานนัก