|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คลังปรับลดจีดีพีอีกรอบ ทั้งปีหดเหลือ 4.1-4.6% จากเดิมประมาณการไว้ที่ระดับ 4.6-5.1% ปัจจัยเสี่ยงราคาน้ำมันยังพุ่งสูงต่อเนื่อง และจีดีพีไตรมาสแรกชะลอตัว เกิดจากหลายปัจจัยที่เป็นซัปพลายช็อก ขณะที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอาจสูงถึง 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 2.8% ของจีดีพี ด้านแบงก์ชาติ หนุนกระทรวงการคลังปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ เพื่อสอดคล้องกับความเป็นจริง
นายสมชัย สัจจพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยถึง ผลการประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2548 ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2548 จะขยายตัวได้ 4.1-4.6% ต่อปี เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับเศรษฐกิจในไตรมาส 1 ขยายตัวเพียง 3.3% ต่อปี
โดย MPI ในไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ 7.7% เพิ่มขึ้นจาก 3.8% ในไตรมาสแรก API อยู่ที่ -2.9% เพิ่มขึ้นจาก -7.8% ในไตรมาสแรก จำนวน นักท่องเที่ยวต่างประเทศอยู่ที่ 1.9% เพิ่มขึ้นจาก -8.6% ในไตรมาสแรก และตัวเลขจีดีพีของประเทศคู่ค้า เช่น จีน เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ไตรมาส 2 มีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยเพิ่มขึ้นจาก 9.4% เป็น 9.5%, 2.7% เป็น 3.3% และ 2.7 เป็น 5.2% ตามลำดับ
นอกจากนี้ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังของปีจะสูงกว่าครึ่งแรกของปีเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายบริหาร การส่งออก การท่องเที่ยว และการนำเข้า ซึ่งจะช่วยให้ดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้นด้วย รวมทั้งรัฐบาลยังมีการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมกลางปี มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นและมีเม็ดเงินลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ (เมกะโปรเจกต์) และปัจจัยลบต่างๆ ในประเทศเริ่มคลี่คลายลง เช่น สึนามิ ภัยแล้ง ไข้หวัดนก
ดังนั้น สศค. จึงประมาณการด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจในกรณีสูง คือ สามารถกระตุ้น ให้มูลค่าสินค้าส่งออกในครึ่งหลังของปีขยายตัวได้ 20% ต่อปีตามเป้าหมาย และควบคุมสินค้านำเข้าไม่ให้มูลค่าสินค้านำเข้าขยายตัวเกินกว่า 26.4% หรือทำให้การส่งออกทั้งปีขยายตัวระดับ 16.4% และควบคุมสินค้านำเข้าทั้งปีไม่ให้ขยายตัวเกิน 28.7% จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจครึ่งปีหลังโตระดับ 5.5% และเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 4.6%
ส่วนในกรณีต่ำ คือ สามารถมูลค่าสินค้าส่งออกในครึ่งหลังของปีขยายตัวได้ 18% ต่อปี มูลค่าสินค้านำเข้าขยายตัวไม่เกิน 26% หรือผลักดันให้ การส่งออกทั้งปีอยู่ที่ 15.4% และควบคุมการนำเข้าไม่ให้ เกิน 28.5% จะทำให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ครึ่งปีหลังโต 4.5% และเฉลี่ยทั้งปีจะอยู่ที่ 4.1%
ทั้งนี้ ผลการประมาณการด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในกรณีสูงดังกล่าว จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีขาดดุลประมาณ 3.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.2% ของจีดีพี ส่วนในกรณีต่ำดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปี จะขาดดุลประมาณ 4.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 2.8% ของจีดีพี ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงครึ่งหลังของปีจะกลับมาเกินดุลได้ประมาณ 1.2-2.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากที่ขาดดุลถึง 6.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในครึ่งแรกของปี ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปทั้งปีจะอยู่ที่ 4.5% ต่อปี เร่งตัวขึ้นตามการปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก
นายสมชัย กล่าวว่า ผลการประมาณดังกล่าว อยู่บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยอยู่ที่ 48.3 เหรียญต่อบาร์เรล หรือในช่วงครึ่งปีหลังเฉลี่ยประมาณ 55 เหรียญต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นสมมติฐานในคราวก่อนที่ใช้ 42.5 เหรียญต่อบาร์เรล และอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 11 ประเทศคู่ค้า โตระดับ 3.4% เท่ากับสมมติฐานที่ใช้ประมาณการเดิม หม่อมอุ๋ยหนุนคลังลดจีดีพี
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)กล่าวว่า การที่กระทรวงการคลังปรับประมาณการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ลงเหลือ 4.1-4.6 % ว่า เป็นเรื่องดีเพราะเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธปท.จะมีการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจของเดือนกรกฎาคมในวันนี้ (31 ส.ค.) ซึ่ง ธปท.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจหรือไม่ คงจะต้องพิจารณาจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดอีก 1-2 เดือน ทั้งนี้ จะมีการประเมินเศรษฐกิจเบื้องต้นในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 กันยายนที่จะถึงนี้
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทได้ปรับตัวอ่อนค่าลง ตามค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้น ส่วนการที่ค่าเงินรูเปียห์ของประทศอินโดนีเซีย อ่อนค่าลงมากที่สุดในรอบ 4 ปี มีสาเหตุมาจากปัญหาราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งประเทศอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการนำเข้าน้ำมันเป็นจำนวนมาก รวมทั้งปัญหาภัยแล้งภายในประเทศอินโดนีเซียเอง
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) บีที จำกัด เปิดเผยว่า ในครึ่งปีหลังเศรษฐกิจจะมีการขยายตัวมากว่า 4% เนื่องจากตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลการค้าปรับตัวขึ้น แต่ก็มีความเป็นห่วงเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จากการที่รัฐบาลมีการประกาศลอยตัวราคาน้ำมัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทำให้ประชาชนมีการประหยัดการใช้น้ำมัน แต่เฉลี่ยทั้งปีจะไม่ถึง 4% จากที่ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจมีการขยายตัวน้อย จากได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
นายก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ราคาน้ำมันถ้าขึ้นไม่เกิน 80 ดอลลาร์ยังไม่น่าห่วง ถือว่ายังอยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยยังรับไหว ดุลการค้าในช่วงที่ผ่านมาก็เริ่มที่จะดีขึ้น แต่ถ้าราคาน้ำมันที่สูงขึ้น อาจส่งผลต่อดุลการค้าในครึ่งปีหลังของไทย ซึ่งทางภาครัฐต้องมีการดูแลในการนำเข้าสินค้าบางประเภทมากขึ้น
|
|
|
|
|