Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กันยายน 2548








 
นิตยสารผู้จัดการ กันยายน 2548
ยุคสายลมแสงแดด             
โดย ธวัชชัย อนุพงศ์อนันต์
 


   
search resources

Social




จำได้ว่า สามเดือนก่อนผมมีโอกาสเข้าร่วมในขบวนนักศึกษาที่รวมตัวกันไปประท้วงรัฐบาลออสเตรเลียในมหาวิทยาลัย ในตัวเมืองบริสเบน และต่อด้วยการเดินขบวนไปตามท้องถนนใจกลางเมือง เนื่องจากรัฐบาลต้องการจะแก้กฎหมายบางอย่างเกี่ยวกับการไม่บังคับให้นักศึกษาที่เข้าเรียนมหาวิทยาลัยต้องสมัครเป็นสมาชิกของสโมสรนักศึกษา แต่กฎหมายนี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของสโมสรนักศึกษาโดยตรง เพราะจะขาดเงินอุดหนุนจากมหาวิทยาลัย

ประเด็นนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่กฎหมายฉบับนี้จะเข้าสู่สภา เช่นเดียวกับการประท้วงโดยเหล่านักศึกษาทั่วประเทศที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ

VSU หรือ Voluntary Student Unionism เป็นแนวคิดที่มีมานานพอสมควรแล้ว และประเด็นนี้ก็เป็นที่ถกเถียงกันมาตลอดเวลาเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงทศวรรษ 1990 และมาเป็นประเด็นอีกครั้งนับจากการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศออสเตรเลียเมื่อปีกลาย

การไม่มี VSU ทำให้นักศึกษาที่เข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นสมาชิกสโมสรนักศึกษาโดยอัตโนมัติและเงินค่าเล่าเรียนที่นักศึกษาจ่าย ส่วนหนึ่งจะเป็นค่าบริการนักศึกษาซึ่งทางมหาวิทยาลัยจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่งทางมหาวิทยาลัยจะนำมาใช้เพื่อจัดหาบริการให้แก่นักศึกษาเอง ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะเป็นเงินที่มหาวิทยาลัยส่งต่อไปยังสโมสรนักศึกษา ซึ่งสโมสรนักศึกษาจะนำเงินงบประมาณส่วนนี้ไปบริหารจัดการกันเอง โดยสโมสรนักศึกษาก็จะจัดหาบริการต่างๆ ให้แก่นักศึกษาในมหาวิทยาลัย เช่น บริการถ่ายเอกสาร, บริการขายอาหาร, เครื่องดื่ม, โรงภาพยนตร์, หนังสือ, ตำราเรียน, และกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงงบประมาณที่จะมอบให้แก่ชมรม หรือกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ด้วย

มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ (UQ) ที่ผมศึกษาอยู่ 57% ของเงินค่าบริการนักศึกษาที่นักศึกษาแต่ละคนจ่าย (คิดเป็นประมาณ 78 เหรียญออสเตรเลีย โดยหนึ่งเหรียญออสเตรเลียประมาณ 31-32 บาทไทย) จะส่งตรงไปยังสโมสรนักศึกษา (UQ Union) เงินเหล่านี้จะถูกใช้ในการจัดสรรบริการ, สิ่งอำนวยความสะดวก, เจ้าหน้าที่ และจ้างงานพนักงานเพื่อช่วยในกิจการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านขายของ, บริการให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย, หน่วยให้บริการเกี่ยวกับที่พักอาศัย, โรงภาพยนตร์, ผับ, ก่อสร้างอาคารต่างๆ, ปรับปรุงสถานที่ รวมถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ

เงินที่เหล่านักศึกษาบริหารนี้จึงค่อนข้างมากพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยแห่งรัฐควีนส์แลนด์ที่ผมศึกษาอยู่ ก็มีเงินบริหารกว่าหนึ่งล้านเหรียญออสเตรเลีย อย่างไรก็ดี ปริมาณเงินจะขึ้นอยู่กับขนาดของมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน

แต่การบริหารเงินของสโมสรนักศึกษาก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน บางส่วนเห็นว่าบริการต่างๆ ที่จัดโดยสโมสรศึกษาไม่ค่อยคุ้มค่ากับเงินค่าบริการที่นักศึกษาต้องจ่ายในแต่ละปี ในขณะที่บางส่วนก็นำไปลงทุนในโครงการที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือไม่คุ้มทุน

VSU จึงเป็นแนวคิดที่จะให้นักศึกษาที่เข้ามหาวิทยาลัยสามารถเลือกที่จะสมัครเป็นสมาชิกสโมสรนักศึกษาหรือไม่ก็ได้ตามความสมัครใจ โดยเมื่อเป็นสมาชิกก็จะสามารถใช้บริการต่างๆ ที่ทางสโมสรนักศึกษาจัดสรรไว้ได้อย่างเต็มที่ ในขณะที่คนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกก็อาจจะต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติมตามแต่กำหนด

ปี 1998 คณะกรรมการเกี่ยวกับนโยบายการศึกษาระดับสูง ได้มีแนวคิดที่จะนำ VSU มาใช้ในภาคการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ในปี 1999 รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของออสเตรเลียจึงได้เสนอญัตติแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูงเข้าไปในสภา อย่างไรก็ตาม ฝ่ายค้านบางส่วนในขณะนั้นแสดงความไม่เห็นด้วย ซึ่งทำให้หลายคนไม่แน่ใจว่าชะตากรรม ของกฎหมายนี้จะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดี VSU ถูกใช้ในรัฐออสเตรเลียตะวันตกมาตั้งแต่ปี 1995 โดยให้นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่าต้องการจะเป็นสมาชิกของสโมสรนักศึกษาหรือไม่ ในขณะที่รัฐวิกตอเรียนำมาใช้ในปี 1993 แต่ในรูปแบบอื่น กล่าวคือ ไม่บังคับให้เป็นสมาชิกของสโมสรนักศึกษา แต่นักศึกษายังคงจะต้องจ่ายค่าบริการนักศึกษา แต่เงินส่วนนี้จะนำไปใช้เพื่อจัดหาบริการและสิ่งอำนวยความสะดวกที่ส่งผลโดยตรงต่อสถาบันการศึกษาและนักศึกษาเท่านั้น โดยมิใช่บริการที่เกิดจากการเป็นสมาชิกสโมสรนักศึกษา ดังนั้น นักศึกษาจึงยังสามารถได้รับบริการและใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่สถาบันจัดหาให้ แต่อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงกว่าเมื่อไปใช้บริการที่จัดหาโดยสโมสรนักศึกษา

VSU กลายมาเป็นหัวข้อถกเถียงอีกครั้งหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลพรรค Liberal นำโดยนายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด ซึ่งสามารถยึดกุมอำนาจการบริหารได้อีกครั้ง มีความเห็นว่า กลุ่มสโมสรนักศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆ มีเจตจำนงที่จะต่อต้านการกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งของนายจอห์น โฮเวิร์ด

ซึ่งจะเห็นได้จากการพยายามรณรงค์อย่างต่อเนื่องของกลุ่มสโมสรนักศึกษาร่วมกับองค์กรที่มีแนวคิดแบบซ้าย หรือ สังคมนิยม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มทั้งทางการเมือง, สังคม และวิชาการ อีกหลายๆ กลุ่มทั่วประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มีเหล่านักศึกษาเป็นแกนกลางของการดำเนินกิจกรรม ได้จัดกิจกรรมในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปลายปีที่แล้ว แสดงการสนับสนุนพรรคฝ่ายค้านสองถึงสามพรรคอย่างออกหน้าออกตา และประกาศว่าจะไม่มีวันเลือกนายจอห์น โฮเวิร์ดให้กลับมาเป็นนายรัฐมนตรีใหม่อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ต้องสืบสาวราวเรื่องไปถึงช่วงที่รัฐบาลจอห์น โฮเวิร์ด ตัดสินใจส่งกองทหาร ไปร่วมกับสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ในการบุกประเทศอิรักในช่วงที่ผ่านมา

ความขัดแย้งในเรื่องการเข้าร่วมสงครามอิรักระหว่างกลุ่มนักศึกษาที่ไม่เห็นด้วยกับฟากรัฐบาลที่เห็นถึงข้อดีหลายๆ อย่างของการเข้าร่วม กอปรกับการเคลื่อนไหวของพรรคฝ่ายค้านอย่าง Labour นำโดยอดีตหัวหน้าพรรค (ซึ่งปัจจุบันลาออกแล้ว) คือ Mark Latham ที่อาศัยประเด็นนี้ในการโจมตีพรรครัฐบาลอย่างแข็งขัน ทำให้ประเด็นเรื่อง VSU ถูกจุดขึ้นมาอีกครั้งหลังการเลือกตั้งใหญ่ผ่านพ้นไป

รัฐบาลอ้างเหตุผลว่า เงินที่สโมสรนักศึกษาต่างๆ ได้ไป โดยมากนำไปใช้ในกิจกรรมทางการเมือง ไม่ได้ใช้เพื่อบริการนักศึกษาด้วยกันเอง รัฐบาลจึงเห็นว่าจะต้องนำ VSU มาใช้เพื่อให้นักศึกษาสามารถเลือกได้ว่า จะเป็นสมาชิกและใช้บริการที่มีอยู่หรือไม่ เพราะถ้านักศึกษาไม่เห็นว่าบริการที่สโมสรนักศึกษาจัดไว้เป็นธรรมหรือเหมาะสมกับเงินที่จ่ายให้แต่ละปี ก็สามารถเลือกที่จะไม่เป็นสมาชิกได้

ด้วยเหตุนี้ การเผชิญหน้าระหว่างรัฐบาลกับนักศึกษาจึงเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฝ่ายหนึ่ง คือ รัฐบาลที่คิดว่าตัวเองเสียผลประโยชน์จากเงินของตัวเองที่นำไปสนับสนุนการศึกษา แต่นักศึกษากลับเอาไปต่อต้านพวกตน

ในขณะที่นักศึกษามองว่า พวกเขาถูกลิดรอนเสรีภาพ โดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งความเห็นทางการเมืองก็เป็นเสรีภาพในการแสดงออกเช่นกัน นอกจากนี้ VSU คือ การพยายามขัดขวางบทบาทของสโมสรนักศึกษา

นักศึกษาเห็นว่า VSU เป็นแผนการต่อเนื่องของรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา Brendan Nelson ที่จะปฏิรูปการศึกษาระดับสูง ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปีกลายโดยการขึ้นค่าเล่าเรียน และพยายามให้มหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยรัฐบาลอ้างว่าเหตุที่ต้องให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงออกนอกระบบ เพราะว่ารัฐบาลไม่มีเงินมากพอที่จะสนับสนุนการศึกษาแล้ว

แต่นักศึกษาให้ความเห็นว่า เป้าหมายของการปฏิรูป คือ การทำให้มหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงออกนอกระบบ เพื่อที่รัฐบาลจะไม่ต้องให้เงินสนับสนุน นั่นหมายความว่า สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในเรื่องการศึกษาที่ประชาชนควรจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพถูกลิดรอนไป ระบบการศึกษาชั้นสูงจะเก็บเอาไว้ให้คนที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น คนยากจนไม่มีสิทธิ์ศึกษาต่อระดับสูง

VSU จึงมิใช่แค่ทำให้ความสามารถของนักศึกษาในการต่อต้านการปฏิรูปการศึกษาหมดไปเท่านั้น แต่จะทำให้การรณรงค์ทางการเมืองของนักศึกษาหมดไปด้วยเช่นกัน เพราะที่ผ่านมานักศึกษามีการรณรงค์ทางการเมืองในหลากหลายประเด็น ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านการเข้ายึดครองประเทศอิรัก, ต่อต้านเรื่องสีผิว และการเข้าแย่งชิงทรัพยากรและที่ดินของชาวพื้นเมือง

เหตุผลที่รัฐบาลอ้างว่าไม่มีเงินนั้น ไม่จริง เพราะรัฐบาลเอาเงินส่วนใหญ่ไปสนับสนุนการส่งทหารเข้าไปยังประเทศอิรัก และทำให้หนึ่งในข้อความรณรงค์ของเหล่านักศึกษา คือ "Money for education not war" หรือให้สนับสนุนเงินเพื่อการศึกษา มิใช่สงคราม

อย่างไรก็ดี การที่พรรครัฐบาลสามารถครองที่นั่งทั้งสองสภาเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมาได้ น่าจะทำให้ข้อเสนอเรื่อง VSU ซึ่งสอดแทรกเข้าไปในการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการศึกษาระดับสูงในช่วงปลายเดือนสิงหาคมปีนี้ จะสามารถผ่านสภาได้โดยไม่ยากเย็นนัก

ขณะที่ผมกำลังเขียนบทความยังไม่มีความเคลื่อนไหวที่เด่นชัดนักจากภาคการเมือง แต่เหล่านักศึกษา พวกเขาจัดไฮด์ปาร์ก และเดินขบวนบนท้องถนนอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา เช่นเดียวกับที่พวกเขาเคยจัดเมื่อสามเดือนก่อน

แต่ครั้งนี้หนักแน่นขึ้นและเข้มข้นขึ้น

ส่วนหนึ่งเพราะมีแนวโน้มว่า VSU จะถูกเสนอเข้าสู่สภาในไม่ช้า แต่อีกส่วนหนึ่ง นี่อาจจะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้ว สำหรับการรณรงค์ทางการเมืองของเหล่านักศึกษา

และเมื่อนั้นเหล่านักศึกษาออสเตรเลียก็จะเข้าสู่ยุคสายลมแสงแดด

อ่านเพิ่มเติม
1. Kenny, Z. (2005), 'VSU : an attack on democracy', Green Left Weekly, April 13, 2005.

2. Collins, K-A (1999), Voluntary Student Unionism : Protecting the Rights of Australian Students?, Research Bulletin No.7/99, Brisbane: Queensland Parliamentary Library.

3. Hastings, G. (2004), VSU Legislation Experiences in WA, Victoria and Federally, NUS (National Union of Students), http://www.nus.asn.au

4. Kenny, Z. (2005), 'No VSU! Students won't be silenced', Green Left Weekly, April 27, 2005.

5. NUS (2005), Anti-VSU Bullentin, Number 4, April 26, 2005.

6. NUS (2005), Anti-VSU Bullentin, Number 5, April 27, 2005.

7. http://www.uqunion.uq.edu.au/stopvsu   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us