|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2548
|
|
หลังจากปล่อยให้บัตรเครดิตเจ้าอื่นสร้างสีสันในตลาดจนดึงยอดผู้ถือบัตรแซงหน้าไปได้ ปีนี้บัตรเครดิตกสิกรไทยวางกลยุทธ์เชิงรุกมากขึ้น
ประเดิมด้วยการออกโปรดักต์ใหม่ ที่จะสร้างความมั่นใจในการใช้จ่าย และให้สิทธิประโยชน์กับผู้ถือบัตรมากขึ้น
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา หากเทียบกับผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายอื่นแล้วต้องถือว่าบัตรเครดิตกสิกรไทยเงียบไปพอสมควร แต่การเปิดตัวบัตร Ideal Card ที่เป็นชิปการ์ดเป็นรายที่สองของไทย เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ที่ผ่านมา อาจจะเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่านับจากนี้กสิกรไทยพร้อมแล้วที่จะเปิดเกมรุกในตลาดมากขึ้น โดยเริ่มจากการออกโปรดักต์ ที่จะสร้างความมั่นใจในการใช้จ่ายให้กับผู้ถือบัตรมากขึ้นอย่างชิปการ์ดนี่เอง
Ideal Card เป็นบัตรเครดิตที่ใช้ชิปมาเก็บข้อมูลการใช้บัตรของลูกค้า ช่วยให้ข้อมูลมีความปลอดภัยและป้องกันการปลอมแปลงบัตรได้ดีกว่าบัตรแถบแม่เหล็กแบบเดิม ข้อดีอีกประการหนึ่งของบัตรชนิดนี้ก็คือ ร้านค้าพันธมิตรของกสิกรไทยสามารถเรียกดูข้อมูลคะแนนสะสมหรือประวัติการใช้บัตรที่ร้านค้าของตนเองได้ที่จุดขาย ช่วยให้ทำโปรโมชั่นหรือให้สิทธิ ประโยชน์กับผู้ถือบัตรได้ทันที
กสิกรไทยเปิดตัวบัตรชิปการ์ดพร้อมกับพันธมิตรเริ่มต้น จำนวน 62 ราย มีทั้งที่เป็นไลฟ์สไตล์ชอปปิ้ง ร้านอาหาร กีฬา การเดินทาง สปาและสุขภาพ โดยคาดว่าภายในปีนี้จะออกบัตร Ideal Card ได้ประมาณ 40,000 ใบ และจะทยอยเปลี่ยนบัตรเครดิตทั้งหมดของธนาคารให้เป็นบัตรชิปการ์ดทั้งหมดภายใน 2 ปีเริ่มจากบัตรแพลทินัมที่จะเปลี่ยนได้ทั้งหมดภายในเดือนกันยายนนี้
"พันธมิตร 62 ราย เป็นแค่ช่วงเริ่มต้น หลังจากนี้เราจะเพิ่มทั้งจำนวนและความหลากหลายของพันธมิตร เพื่อให้ครอบคลุมการใช้จ่ายของผู้ถือบัตรมากขึ้น" ปรวรรณ สุดศก ผู้อำนวยการฝ่ายบัตรเครดิต ธนาคารกสิกรไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการ"
ธนาคารกสิกรไทยตั้งเป้ายอดผู้ถือบัตรเครดิตสิ้นปีนี้จำนวน 830,000 ใบ เพิ่มขึ้น 100,000 ใบจากปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ลดลง เนื่องจากในปี 2547 มีจำนวนบัตรใหม่ถึง 130,000 ใบ อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวลงนี้ไม่ได้เกิดกับกสิกรไทย เพียงรายเดียวแต่เป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดบัตรเครดิตทั้งระบบ เนื่องจากผู้ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของ บัตรเครดิตส่วนใหญ่จะมีบัตรกันอยู่แล้ว ทำให้การหาลูกค้าใหม่ทำได้ยากขึ้น ประกอบกับมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การเติบโตในปีนี้ชะลอตัว
นอกจากการเพิ่มจำนวนบัตรแล้ว กสิกรไทย ยังให้ความสำคัญกับการเพิ่มยอดใช้จ่ายผ่านบัตรโดยใช้กิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เช่น KBANK Smart Pay ซึ่งเป็นบริการผ่อนชำระผ่านบัตร หรือ KBANK Smart Billing บริการชำระค่าสาธารณูปโภค ผ่านบัตร ไปจนถึงการลงทะเบียน Verified by Visa เพื่อความปลอดภัยในการใช้บัตรซื้อสินค้าทางอินเทอร์เน็ต
หากจะเปรียบเทียบระหว่างผู้ให้บริการบัตรเครดิตรายใหญ่ของไทยแล้ว บัตรเครดิตกสิกรไทยดูจะมีข้อได้เปรียบคู่แข่งอยู่หลายประการ ข้อที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดก็คือ ต้นทุนทางการเงินที่สามารถใช้เม็ดเงินจากฐานเงินฝากที่มีอยู่ ทำให้ต้นทุนต่ำกว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่สถาบันการเงินอยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันก็ยังมีเครือข่ายทั้งที่เป็นสาขาและพนักงานธนาคารทั่วประเทศช่วยทำตลาดให้ รวมทั้งยังมีชื่อเสียงและความน่าเชื่อถือของธนาคารที่สั่งสมมาแต่เดิมเป็นจุดขายอีกประการหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม การทำงานภายใต้โครงสร้างของธนาคารก็มีข้อจำกัดที่ทำให้ไม่สามารถใช้กิจกรรมการตลาดที่หวือหวา ฉีกแนวออกไปจากแนวทางของธนาคารได้มากนัก ทั้งๆ ที่ตลาดบัตรเครดิตในปัจจุบันมุ่งแข่งขันกันที่การสนองตอบไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ซึ่งดูเหมือน KTC จะเป็นเจ้าแรกๆ ที่จับกระแสนี้ได้ก่อนใคร
กลยุทธ์หนึ่งที่กสิกรไทยนำมาใช้เพื่อขยายฐานผู้ถือบัตรเครดิตให้มากขึ้นก็คือ การออกบัตรร่วมกับพันธมิตร (co-brand) ซึ่งที่ผ่านมา กสิกรไทยให้ความสำคัญกับกลยุทธ์นี้เป็นพิเศษ เนื่องจากช่วยให้ได้ฐาน ลูกค้าใหม่ที่ไม่เคยถือบัตรเครดิตหรือมีธุรกรรมใดๆ กับธนาคารมาก่อน เรียกว่าเป็นกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารยังเจาะไม่ถึงก็ว่าได้ ปัจจุบันกสิกรไทยได้ออกบัตร co-brand ร่วมกับพันธมิตรรวม 18 ราย มีทั้งที่เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย บริษัทรถยนต์ ห้างสรรพสินค้า และบริษัทขายตรง เช่น โรงเรียนสวนกุหลาบ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลพญาไท
อย่างไรก็ตาม ในปีนี้กสิกรไทยได้วางเป้าหมายที่จะขยายจำนวนบัตรและกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร co-brand ปัจจุบันของธนาคารมากกว่าการเพิ่มจำนวนพันธมิตร เนื่องจากการทำ co-brand ต้องมีการทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับพันธมิตรและการมีพันธมิตรจำนวนมากเกินไปอาจส่งผลกระทบต่อการทำงาน ร่วมกัน และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของบัตรกสิกรไทยโดยรวมได้
ตลาดบัตรเครดิตที่เริ่มชะลอตัวลงในปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบ การต้องวางกลยุทธ์ในเชิงรุกให้มากขึ้น ทั้งการเพิ่มบริการใหม่ๆเพื่อเพิ่มความสะดวกและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ถือบัตรมากขึ้น
บัตรเครดิตกสิกรไทยก็เป็นอีกรายหนึ่งที่เริ่มเปิดเกมรุกเพื่อชิงส่วนแบ่งตลาดกลับคืนมาบ้างแล้ว
|
|
|
|
|