|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2548
|
 |

เมื่อดูประวัติการทำงานแล้ว ต้องถือว่าเชาวลิต เอกบุตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม จำกัด (มหาชน) เป็นลูกหม้อของเครือซิเมนต์ไทยอย่างแท้จริง เพราะหน้าที่การงานตลอด 23 ปี นับจากจบการศึกษาล้วนวนเวียนอยู่ในกิจการของเครือซิเมนต์ไทยทั้งสิ้น
นอกจากนี้เขายังมีโอกาสได้ผ่านประสบการณ์ที่หลากหลาย ทั้งมีส่วนร่วมในช่วงแรกของการเริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์มาใช้ในเครือซิเมนต์ไทย การริเริ่มโครงการใหม่ๆ ไปจนถึงการปรับโครงสร้างของเครือในช่วงวิกฤติ
เชาวลิตจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในสาขาเครื่องกล เขาเกือบเข้าทำงานที่เครือซิเมนต์ไทยตั้งแต่ตอนเรียนจบ แต่ตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโท สาขา Industrial Engineering & Management ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย หรือ AIT ที่ตอบรับมาในช่วงเดียวกับเครือซิเมนต์ไทย
"ตอนนั้นผมสมัครไปทั้งสองที่ เอไอทีตอบรับมา ทางปูนฯ ก็รับ แต่ผมเลือกไปเรียนต่อเพราะเอไอทีมีทุนให้เรียน เรียนแล้วได้เงินด้วยผมก็เรียนดีกว่า" เชาวลิตย้อนความหลัง
แต่เมื่อจบจากเอไอทีแล้ว เขาก็ได้เข้ามาทำงานที่เครือซิเมนต์ไทยในที่สุด โดยเริ่มงานครั้งแรกในปี 2525 ที่ศูนย์คอมพิวเตอร์ของเครือ (โดยมีสมบูรณ์ ชัชวาลย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม คนปัจจุบันเป็นผู้จัดการศูนย์คอมพิวเตอร์คนแรกในเวลานั้น) ซึ่งในช่วงนั้นเป็นจังหวะที่เครือซิเมนต์ไทยเริ่มนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานมากขึ้น ทั้งในเรื่องของระบบงาน การวางแผนการผลิตและการรายงานระบบสารสนเทศต่างๆ ในโรงงาน การทำงานในจุดนี้จึงเหมือนเป็นการปูพื้นและสร้างความเข้าใจในธุรกิจโดยรวมของเครือให้กับเชาวลิต เนื่องจากเขาต้องเข้าไปศึกษากระบวนการทำงานของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ด้วย
ในช่วงปี 2530 ซึ่งเป็นช่วงการขยายตัวของเครือซิเมนต์ไทย เชาวลิตได้รับการชักชวนให้เข้าร่วมโครงการไทยซีอาร์ที ที่เป็นการผลิตหลอดภาพโทรทัศน์ เขาเข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่แรกเริ่ม ทั้งการคัดเลือกพันธมิตรร่วมทุน การออกแบบโรงงาน ไปจนถึงการเดินเครื่องทำการผลิต ประสบการณ์ที่เขาได้รับจากโครงการนี้มีหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมคุณภาพ เทคนิคการผลิตไปจนถึงด้านการตลาด ซึ่งทั้งหมดนี้มีส่วนช่วยอย่างมากเมื่อเขาเข้ารับงานในกลุ่มธุรกิจกระดาษในอีกหลายปีต่อมา
เดือนเมษายน 2540 เชาวลิตถูกโยกย้ายจากไทยซีอาร์ทีเข้ามาที่หน่วยงานพัฒนาธุรกิจและโครงการ (Busineess Development and Project) ที่ปูนซิเมนต์ไทย หน่วยงานนี้ตามปกติแล้วจะดูแลการขยายงานของเครือซิเมนต์ไทย แต่จังหวะนั้นเครือได้หยุดการขยายตัวมาตั้งแต่ปลายปี 2539 เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มก่อเค้าลางไม่ค่อยดี จังหวะพอดีกับในเดือนกรกฎาคม มีการลอยตัวค่าเงินบาท ทำให้บทบาทของหน่วยงานพัฒนาธุรกิจต้องเปลี่ยนแปลงจากที่คอยหาโอกาสในการขยายตัวกลับมาดูเรื่องของการปรับโครงสร้างแทน
ประสบการณ์ที่ได้จากการทำงานในช่วงนั้นมีค่าอย่างมากต่อเชาวลิต เพราะเป็นโอกาสที่หาได้ไม่ง่ายนักที่จะมีส่วนร่วมในการปรับโครงสร้างของกลุ่มธุรกิจที่มีขนาดใหญ่เช่นนี้ อีกทั้งยังได้ศึกษาภาพใหญ่ทั้งหมดของเครือ โดยเขาได้เข้าร่วมทีมการปรับโครงสร้างของเครือซิเมนต์ไทยที่ชุมพล ณ ลำเลียง มาบัญชาการเอง นอกจากตัวเขาแล้วยังมีกานต์ ตระกูลฮุน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย ที่ถูกเรียกตัวกลับจากการบริหารกิจการของเครือที่ประเทศอินโดนีเซียในเวลานั้น
หลังจากปรับโครงสร้างเสร็จแล้ว เขาถูกส่งไปรับหน้าที่กรรมการผู้จัดการ ไทยซีอาร์ที แต่บทบาทครั้งนี้มีเป้าหมายที่ชัดเจน คือ ดูแลกิจการเพื่อหาจังหวะขายตามแผนการปรับโครงสร้าง หลังจากดูแลอยู่ 3 ปีก็ถูกโยกย้ายอีกครั้ง คราวนี้เข้ามาอยู่ในกลุ่มธุรกิจกระดาษตั้งแต่สิงหาคม 2545 ในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ควบ 3 บริษัท คือ ผลิตภัณฑ์กระดาษไทย กระดาษสหไทยและสยามเซลลูโลส ก่อนจะเข้ารับตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เยื่อกระดาษสยาม ในปี 2547 จนถึงปัจจุบัน
|
|
 |
|
|