ผ้าไหมผืนสวยจากฝีมือคนไทยในดินแดนเล็กๆ แห่งซีกโลกตะวันออก คือจุดเริ่มต้นของความประทับใจที่ผู้คนมีต่อแบรนด์ จิม ทอมป์สัน
มาตลอดระยะเวลากว่า 54 ปี
การร่วมทุนกับบริษัทพิมพ์ผ้าอายุ 100 กว่าปี จากประเทศอังกฤษด้วยกรรมวิธีโบราณ "BLOCK PRINT" ได้ตอกย้ำวิธีคิดที่ว่า คุณค่าของสินค้าไม่จำเป็นต้องเกิดจากไฮเทคโนโลยีอย่างเดียว
ด้วยแบรนด์ที่เข้มแข็ง ทำให้วันนี้ จิม ทอมป์สัน มั่นใจที่จะผลิตสินค้าได้หลากหลายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผ้าไหมอย่างเดียวอีกต่อไป
ในปี 2549 หากจิม ทอมป์สัน ชาวอเมริกันที่มาสร้าง ตำนานให้กับผ้าไหมไทยยังอยู่ เขาจะมีอายุครบ 100 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทยที่เขาตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2494 ก่อนที่จะหายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อเช้าวันหนึ่งในปี 2510 บริเวณคาเมรอน ไฮแลนด์ ทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย
และดีลหนึ่งที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ เมื่อประมาณเดือน มิถุนายน 2548 ที่ผ่านมา คือการร่วมทุนกันระหว่างผ้าไหมไทย จิม ทอมป์สัน กับบริษัท TurnBull บริษัทพิมพ์ผ้าตกแต่ง บ้านเก่าแก่มีอายุกว่า 100 ปี จากประเทศอังกฤษ ซึ่งสะท้อน ให้เห็นวิธีคิดของบริษัทนี้ชัดเจนว่า แม้ระยะวลาที่ผ่านไปจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้อย่างต่อเนื่องในโรงงานที่ปักธงชัย แต่จิม ทอมป์สัน ก็ยังเน้นการผลิตด้วยมือ เพื่อเชื่อมต่อกับประเพณีดั้งเดิมและอารมณ์ที่ละเมียดละไมของมนุษย์
เป็นจุดขายของบริษัทที่ต้องการสร้างสินค้าให้กับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และแตกต่างไปจากสินค้าในโรงงานทอผ้า ของประเทศจีนและประเทศอินเดีย ซึ่งโฟกัสไปยังตลาด mass product มากกว่า
แต่หากจะมองในมิติหนึ่งก็อาจหมายถึงการแข่งขัน ในตลาดสิ่งทอโลกที่รุนแรงขึ้น ทำให้จิม ทอมป์สัน ต้องหาสินค้าที่ทางยุโรปทำไม่ได้แล้ว และจีน อินเดีย ก็ไม่สนใจ
"คุณค่าของงานฝีมือ ความยากลำบาก ความต่างที่ไม่เหมือนใคร น่าจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงาน โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเน้นเครื่องจักรที่ทันสมัยอย่างเดียว" อีริค บี บู๊ทซ์ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดต่างประเทศ ผู้มีบทบาทสำคัญ ในบริษัทอุตสาหกรรมไหมไทย และเป็นผู้ผลักดันทำให้เกิดบริษัท TurnBull-Thompson อธิบายถึงวิธีคิด
TurnBull เป็นบริษัทสุดท้ายในโลกที่ยังใช้ Block Printing ซึ่งเป็นกรรมวิธีการพิมพ์ผ้าลายโบราณของยุโรป เขียน ลายผ้าบนบล็อกไม้และพิมพ์ลงบนเนื้อผ้าด้วยมือ ช่างต้องมีความชำนาญอย่างมาก เพราะแต่ละลายจะละเอียดมาก อายุ ของบล็อกไม้ที่ได้เห็นในวันนั้นประมาณ 50-80 ปี และปัจจุบันไม่มีการทำพิมพ์ประเภทนี้ขึ้นมาอีกแล้ว
น้ำหนักของมือในการกดพิมพ์ลาย และการใช้ค้อนไม้ ที่หนักมากทุบลงบนพิมพ์ ให้ได้ลายที่เชื่อมต่อกัน ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญอย่างมากในการทำลายที่ยาก ความยาวเพียง 16 เมตร อาจใช้เวลาทำประมาณ 1 สัปดาห์ หากลายไม่ยากนัก 16 เมตร อาจใช้เวลาเพียง 3 วัน
แน่นอน ด้วยวิธีการอันยาวนานแบบนี้ จีนกับอินเดียไม่สนใจ เพราะด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัยเขาสามารถพิมพ์ผ้า ได้วันละเป็นหมื่นๆ เมตร ถึงแม้ราคาขายผ้าทั่วไปในราคาประมาณเมตรละ 1 พันบาท แต่การพิมพ์บล็อกสามารถขายได้ที่ราคาประมาณ 2-3 หมื่นบาทต่อเมตร
ผู้บริหารของ TrunBull ยอมขายหุ้นให้จิม ทอมป์สัน 50 เปอร์เซ็นต์ แล้วย้ายฐานการผลิตทั้งหมดมาที่ปักธงชัย ทั้งๆ ที่ยังมีออร์เดอร์ส่วนหนึ่ง เพราะปัญหาการขาดคนงาน โดยที่จิม ทอมป์สัน เองก็ต้องรับเด็กใหม่ที่จบด้านไฟน์อาร์ต เข้ามาเทรนงานกับผู้เชี่ยวชาญจากประเทศอังกฤษ เป็นเวลา หลายเดือน ก่อนที่จะลงมือผลิตงานชิ้นแรกเมื่อประมาณเดือนกรกฎาคม
"เรารับออร์เดอร์วันนี้ กว่าจะพิมพ์เสร็จอาจต้องใช้เวลาประมาณ 4 ปีครึ่ง แต่ก็มีคนรอ ผมว่าจุดที่แตกต่างตรงนี้จะสร้างความมีคุณค่าในเนื้อผ้า สิ่งที่ผมอยากเห็นต่อไป จากบล็อกพิมพ์ลายก็คือพัฒนาลายที่เป็นเอกลักษณ์ของเราเอง" อีริคเล่าด้วยความภูมิใจ และเขาอธิบายว่า
"การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นเรื่องที่ผมเห็นด้วย และจำเป็นต้องพัฒนาต่อไป แต่ผมไม่เห็นด้วยที่เราจะลืม Design Tradition ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ผมอาจจะเปิดแผนกใหม่ ขึ้นมา แต่ต้องใช้มือทำ เริ่มด้วยเพนต์สีด้วยมือ แยกสีด้วยมือ นำไปทำสกรีนด้วยมืองานที่ออกมาจะมีความเป็นธรรมชาติมากกว่า แต่บางอย่างต้องเอามาผสมผสานกับเทคโนโลยีเพื่อให้เร็วขึ้น เช่น ต้องนำมาแกะลายด้วยคอมพิวเตอร์"
ไลฟ์สไตล์ของผู้บริหารหนุ่มคนสำคัญของยุคนี้มีความคล้ายคลึงกับนายห้างจิมที่หายตัวไปอย่างมาก อีริคเรียนจบมาทางด้านประวัติศาสตร์ หลงใหลงานศิลปะ และหัตถ-กรรมพื้นบ้านของเอเชียเหมือนกับจิม ทอมป์สัน ดังนั้น การพยายามรักษางานที่เป็น Crafts-manship ของมนุษย์ จึงน่าจะเป็นวิธีคิดเดียวกัน หากนายห้างจิมยังคงมีชีวิตอยู่
การขายผ้าไหมทอมือยังสามารถสร้างยอดขายได้อย่างต่อเนื่อง ปุ่มปมบนเนื้อไหมที่เกิดจากการพัฒนาสายพันธุ์ของบริษัทเองกลายเป็นเทคเจอร์ที่มีเสน่ห์ และเป็นเอกลักษณ์ ของไหมไทย ที่ไม่สามารถทำได้ด้วยเครื่องจักร ในประเทศของคู่แข่ง
จิม ทอมป์สัน เป็นบริษัทผลิตผ้าไหมรายใหญ่บริษัทเดียวในประเทศไทย ที่มีขั้นตอนทุกอย่างครบวงจร ตั้งแต่การลงทุนเรื่องฟาร์มหม่อนไหมในเนื้อที่ 3,000 ไร่ ตั้งแต่ปี 2531 เพื่อพัฒนาการปลูกหม่อน พัฒนา ไหมสายพันธุ์ต่างๆ แทนการนำเข้ารังไหมจากประเทศจีน
ต้นทุนในเรื่องดังกล่าวจะเป็นปัญหาในอนาคตต่อไปหรือไม่ เคยเป็นคำถามที่น่าสนใจ
"ผู้จัดการ" มีโอกาสได้กลับไปเยือนฟาร์มหม่อนไหม เชิงเขาพญาป่า และลำน้ำสำราย ที่ต่อเนื่องมาจากลำพระเพลิง ในอำเภอปักธงชัย อีกครั้ง เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ที่นั่นยังเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ
"การส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงไหม เรายังทำอย่างต่อเนื่อง สายพันธุ์ใหม่ก็ยังต้องพัฒนาต่อไป แม้ไม่ได้ลงทุนอย่างชัดเจนในเรื่องของเม็ดเงิน เพราะไม่จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณในเรื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องจักรแต่เราก็มีฐานข้อมูลในการพัฒนาสายพันธุ์เก็บไว้ตลอด เพราะกว่าจะได้สายพันธุ์ใหม่ๆ ต้องใช้เวลา คาดว่าปีหน้าเราจะมีสายพันธุ์ใหม่ที่แข็งแรงกว่าเข้ามาอีก พันธุ์เดิมพอเราใช้ไปนานๆ มันอาจจะถดถอยได้"
จริยา มีชื่น ผู้จัดการฟาร์มหม่อนไหม พนักงานรุ่นบุกเบิกอีกคนหนึ่งเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง เธอเล่าต่อว่า สมาชิก เลี้ยงไหมที่ใช้สายพันธุ์ของบริษัทและกระจายอยู่ตามจังหวัด ต่างๆ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดลงจากเมื่อประมาณ 3-4 ปีก่อน เพราะเมื่อปี 2545 ไหมโลกราคาตกอย่างมากเหลือเพียงกิโลกรัมละไม่ถึง 80 บาท ทำให้เกษตรกรต้องหันไปปลูกพืชอย่างอื่นแทน และปีที่ผ่านมาก็เกิดภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตหม่อนไหมของสมาชิกลดลงอีกเช่นกัน แต่ตอนนี้ราคาไหมโลกเพิ่มขึ้นอีกแล้ว และบริษัทต้องใช้เวลาในการกลับมาอีกครั้งของเกษตรกร
นอกจากเตรียมขยายจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นแล้วทางฟาร์มฯ ยังต้องให้ความสำคัญกับการเทรนนิ่งบุคลากรที่ต้อง ออกไปแนะนำการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมกับสมาชิกเพื่อให้ผลผลิตของเขาออกมาดีที่สุด
ในปีที่ผ่านมา ทางฟาร์มหม่อนไหมมีกิจกรรมในการหารายได้เพิ่มด้วยกิจกรรมท่องเที่ยวฟาร์มแนวใหม่ โดยเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าไปท่องเที่ยวในฟาร์มตลอดวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก เพียง 1 เดือนนั้นมีตัวเลขคนเข้าชมถึง 5,300 คน โดยมีผักสด และการปลูกฟักทองพันธุ์ยักษ์ เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
ดูเหมือนว่าการลงทุนในฟาร์มหม่อนไหมเป็นเรื่องที่ยังคงเดินหน้าต่อไป การขยายบ่อเก็บน้ำเพิ่มขึ้นทำให้ในปีนี้ ทางโรงงานสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้ถึง 900,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อป้องกันหากเกิดปัญหาภัยแล้งในอนาคต การติดตั้งระบบ น้ำหยด ซึ่งมีต้นทุนต่ำเพื่อควบคุมปริมาณน้ำในการเพาะปลูก หม่อน จัดทำโรงไหมที่ควบคุมอุณหภูมิในการเพาะพันธุ์
ปีที่แล้วสมาชิกสามารถผลิตรังไหมได้เพียง 141 ตัน ลดจากปี 2546 ที่ผลิตได้ประมาณ 196 ตัน ทำให้บริษัทต้องนำเข้าไหมยืนและไหมพุ่งจากจีนเป็นจำนวน 167 ตัน เป็นเม็ดเงิน 166 ล้านบาท แต่ส่วนใหญ่ไหมที่นำเข้าจากจีน จะนำมาผลิตเป็นเนกไท และของที่ระลึกมากกว่าเอามาผลิต เป็นสินค้าตกแต่งบ้าน ที่ยังเป็นไหมจากพันธุ์ในประเทศ
ประเทศจีน ยังเป็นประเทศที่จัดส่งเส้นด้ายไหมที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นผู้กำหนดราคาในตลาดโลกของเส้นด้ายไหมทั้งหมดด้วย และนี่คือเหตุผลที่สำคัญอย่างยิ่งว่า ทำไมจิม ทอมป์สัน จึงยังจำเป็นต้องลงทุนในเรื่องการผลิตหม่อนไหม และพัฒนาโรงสาวไหมเองอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน จิม ทอมป์สัน ยังมีกี่ทอมือทั้งหมดในโรงงาน 63 เครื่อง เป็นจำนวนที่ไม่ต่างจากเมื่อ 5 ปีก่อนมากนัก เพียง แต่คราวนี้คนงานที่เคยเป็นผู้หญิงทั้งหมด เริ่มมีผู้ชายเข้ามาร่วมงานด้วยทำให้สามารถทอผ้าด้วยมือที่มีขนาดหน้ากว้างขึ้น แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปชัดเจนก็คือจำนวนเครื่องจักรทอผ้าใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น
ในปี 2532 มีการทยอยสั่งซื้อเครื่องจักรที่ทันสมัยจาก ประเทศเยอรมนี กว่า 30 เครื่อง ปี 2539 สั่งซื้อเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีระบบควบคุมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ ทั้งหมด และมีแผนจะสั่งเครื่องจักรเพิ่มกว่า 50 เครื่อง ภายใน ปี 2545 ทำให้ในปี 2547 บริษัทมีเครื่องจักรเพิ่มแล้วถึง 55 เครื่อง เป็นแบบใช้หัวแจ๊กการ์ดอิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ 29 เครื่อง แบบ DOBBY 21 เครื่อง แบบ DOBBY ที่มีความกว้าง เป็นสองเท่าอีก 3 เครื่อง กำลังรอส่งมอบในปีนี้อีก 2 เครื่อง และเป็นแบบแอร์เจ็ตอีกอีก 2 เครื่อง
เครื่องจักรส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องใหม่ในวงการทอผ้า แต่เป็นครั้งแรกที่เอามาใช้กับผ้าไหมในเมืองไทย ซึ่งจะทำ ลายผ้าที่ยาก และลายแปลกๆ มากขึ้น
"เราอยากให้เอเย่นต์ที่เข้ามาเห็นว่าที่โรงงานเรามีทุกอย่างที่เป็นไฮเทคโนโลยี มีทั้งที่เป็นดิจิตอล และยังมีที่พิเศษกว่านั้นคือมีเครื่องทอมือ มีเครื่อง Block Printing คุณไม่ต้องไปเมืองจีนหรืออินเดียหรอก ที่นี่มีทุกราคา"
ผลผลิตรวมจากการทอผ้าด้วยเครื่องจักร และทอมือ ในปี 2547 ประมาณ 1.5 ล้านเมตร เป็นผ้าไหมทอด้วยมือ 644,000 เมตร เป็นผ้าทอด้วยเครื่องจักร 880,000 เมตร
จากตัวเลขที่ปรากฏ ตอกย้ำชัดเจนว่าจุดเริ่มต้นของ ผ้าไหมทอมือส่วนหนึ่งแทนที่ด้วยเครื่องจักรที่ทันสมัย ซึ่ง สามารถทอผ้าอย่างอื่นได้หลากหลายขึ้น (อ่านรายละเอียดใน Design Strategy)
หลังจากการหายตัวไปของจิม ทอมป์สัน ธุรกิจของเขายังคงดำเนินต่อเนื่องยาวนาน ภายใต้การบริหารของวิลเลียม เอ็ม บู๊ทซ์ (บิดาของอีริค บี บู๊ทซ์) ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน
จากยอดขายปีละไม่กี่สิบล้าน เมื่อปี 2510 ทะลุยอดขายไปถึง 1,450 ล้านบาท เมื่อปี 2541 และเพิ่มเป็น 2,340 ล้านบาท ในปี 2547 ที่ผ่านมา เป็นรายได้จากการขายส่งใน ประเทศ 1,552 ล้านบาท และเป็นรายได้จากต่างประเทศ 424 ล้านบาท
ยุคแรกนายห้างจิม เริ่มทำตลาดโดยการนำผ้าไหมสีสดที่ใช้ตัดเสื้อผ้าจากชุมชนบ้านครัว กลับไปฝากเพื่อนฝูงที่อเมริกา ต่อมาก็เริ่มทำของที่ระลึกเป็นเนกไท และปลอก หมอน หลังจากนั้นก็เริ่มทำผ้าตกแต่งบ้านนำไปขาย เมื่อเขา หายไปทุกอย่างก็เลยหยุดอยู่แค่นั้น
ปัจจุบันผ้าตกแต่งบ้านของจิม ทอมป์สัน มีตลาดใหญ่ อยู่ที่อเมริกา และยุโรป ในขณะที่สินค้าปลีกอื่นๆ มีตลาดใหญ่ในเมืองไทย ที่มีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นชาวญี่ปุ่น ยุโรป และอเมริกา รวมทั้งตลาดในเอเชียอีกหลายประเทศ (อ่านเรื่องประกอบ Power Marketing)
แม้เริ่มด้วยผ้าไหมแต่บริษัทกลับโตอย่างรวดเร็วด้วยสินค้าประเภทของที่ระลึก หรือที่เรียกว่า นิคแน็ค บริษัทจึงได้พัฒนาผลิตภัณฑ์หลากหลายขึ้น จับกลุ่มลูกค้าหลายระดับ โดยเน้นผู้มีรายได้ปานกลางไปถึงสูง พร้อมๆ กับให้ความสำคัญต่อตลาดเมืองไทยมากขึ้น เช่นเคยดึงดีไซเนอร์ ห้องเสื้อชื่อดัง นคร สัมพันธารักษ์ มาออกแบบเสื้อผ้าไหมที่ทันสมัย ในโครงการ "Nagara for Jim Thompson" หรือดึง อู้ พหลโยธิน มาร่วมดีไซน์เฟอร์นิเจอร์เพื่อสินค้าผ้าตกแต่งบ้าน
ภาพเมทินี กิ่งโพยม นางแบบชื่อดังสวมใส่เสื้อผ้าไหม จิม ทอมป์สัน ที่ดีไซน์จากนาการา ยืนคู่ช้างไทย ดูเหมือนยังไม่เลือนไปจากความทรงจำของหลายคน และเป็นการตลาดที่ได้ผลอย่างมากในเรื่องชื่อเสียง แต่ไม่แน่ใจว่าจะได้ผลในเรื่องยอดขายหรือไม่ เพราะว่าวันนี้เสื้อผ้าคอลเลกชั่น ของนาการา ไม่ได้อยู่ในร้านของจิม ทอมป์สัน ต่อไป
ถึงแม้ไม่ได้ทำงานกับห้องเสื้อ แต่ในส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ในคอนเซ็ปต์ของจิม ทอมป์สัน ไลฟ์สไตล์ยังคงความหลากหลาย ทั้งเนกไท ผ้าพันคอ กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เครื่องสำอาง เสื้อยืดของคนทุกรุ่นในครอบครัว ตุ๊กตาผ้าไหม ฯลฯ
เป็นวิธีคิดของอีริคเช่นกันว่า ไลฟ์สไตล์ของคนเอเชีย เป็นที่ยอมรับในตลาดโลกมากขึ้น ในขณะเดียวกันยังทำให้แบรนด์ของเขา สามารถแทรกลงไปในตลาดของผู้มีรายได้เกือบทุกระดับในเมืองไทย
ปีที่แล้วยอดขายปลีกรวมในประเทศอยู่ที่ 1.4 พันล้าน บาท จากจำนวนทั้งหมดประมาณ 30 สาขา เพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2546 เป็นยอดขายในกรุงเทพฯ อย่างเดียว 1 พันล้านบาท หรือ 75 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายทั้งประเทศ ซึ่งเกิดจากยอดขายใน 5 สาขาหลักคือ สาขาสุริวงศ์, อิเซตัน, ดิเอ็มโพเรียม, พิพิธภัณฑ์บ้านจิม ทอมป์สัน และที่เซ็นทรัล ชิดลม
ประมาณเมื่อกลางปีนี้บริษัทได้ออกสินค้าใหม่คือ เครื่องใช้ในห้องนอน เช่น ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ผ้าห่ม รวมไปถึงเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร เช่น จาน ชาม ช้อนส้อม แน่นอน สินค้าพวกนี้ต้องผ่านการดีไซน์จากดีไซเนอร์ของบริษัท แต่จ้างผู้ผลิตรายใหม่ที่มีคุณภาพและต้องควบคุมมาตรฐานการผลิตอย่างเข้มข้น เพื่อให้แบรนด์เข้มแข็งยิ่งขึ้น
สินค้าที่หลากหลายส่งผลต่อเนื่องไปยังการปรับเปลี่ยน ลุคใหม่ของแต่ละสาขา รวมทั้งการทำงานหนักอีกครั้งของฝ่ายต่างประเทศ และเส้นทางของผ้าไหมแบรนด์ดังยังขยาย เข้าสู่ธุรกิจบริการ ด้วยการขยายสาขาร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง โดยเปิดตัวสาขาล่าสุดไปเมื่อ 1 สิงหาคม 2547 ที่ผ่านมา
ในเดือนกรกฎาคมนี้เช่นกัน ที่พนักงานจากสำนักงาน ใหญ่ ถนนสุริวงศ์ เริ่มทยอยเก็บของย้ายไปอยู่บ้านหลังใหม่อาคารสูง 8 ชั้น ในสุขุมวิท ซอย 93 ติดกับอาคารเอสเคเค ซึ่งเป็นโรงงานผลิตในกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็นอาณาจักรเดียว กันทั้งหมด
จำนวนพนักงานเกือบ 3 พันคน และยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต้องเตรียมปรับโครงสร้างบริหารภายในครั้งใหญ่ จิม ทอมป์สัน ยุคนี้จึงน่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง
|