|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2548
|
|
สุวรรณภูมิไม่ได้มีนัยสำคัญในฐานะที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทย ให้กลายเป็นฮับหรือศูนย์กลางการบินในภูมิภาค อย่างที่ฝันกันมาตลอดเท่านั้น แต่ยังมีนัยสำคัญ ต่อสายการบินแห่งชาติอย่าง "การบินไทย" ที่ต้องการเป็นเบอร์หนึ่งของบริษัทการบินด้วยในทางเดียวกัน
ด้วยข้อจำกัดของสนามบินดอนเมืองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสถานที่ที่คับแคบลง จากการขยายเที่ยวบินของสายการบินต่างๆ เพื่อรองรับนักเดินทางทั้งในและต่างประเทศ และการเข้ามาจับจองพื้นที่เพิ่มขึ้นของสายการบินโลว์คอสแอร์ไลน์ เช่นเดียวกันกับเรื่องระบบบริหารจัดการที่ยังคงเอกลักษณ์ความเป็นสนามบินรุ่นเก่าล้วนแล้วแต่เป็นข้อเสียเปรียบในการดำเนินกิจการของการบินไทยแทบทั้งสิ้น
ผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยเองถึงกับเคยเปรียบเทียบสนามบินดอนเมืองในวันนี้เอาไว้ว่า ไม่ต่างอะไรกับ "สวนจตุจักร" เนื่องจากความหนาแน่นของผู้คนที่หันมาใช้การเดินทางด้วยสายการบินมากขึ้น สถานที่คับแคบของดอนเมืองทำให้รู้สึกเหมือนเดินเลือกซื้อสินค้าท่ามกลางผู้คนมากมายอยู่ในสวนจตุจักร ขณะที่ยกให้สนามบินสุวรรณภูมิเปรียบได้กับ "ห้างดิเอ็มโพเรียม" ด้วยความโอ่โถง และความสวยงามของตัว terminal และการบริการแบบใหม่ที่จะเกิดขึ้น
ข้อได้เปรียบทุกประการของสนามบินแห่งใหม่ ทำให้วันนี้ผู้บริหารการบินไทยพูดกับ "ผู้จัดการ" อย่างมั่นใจ โดยไม่ลังเลว่า "สุวรรณภูมิ" เป็น "More Opportunity" หรือ "โอกาสของอนาคต" ของการบินไทยโดยแท้ โดยเฉพาะตัวสนามบินสุวรรณภูมิที่จะทำให้เกิดโอกาสของอุตสาหกรรมการบินใหม่ๆ ได้อีกมาก
แม้ความจริงก่อนหน้านี้ การบินไทยเองก็ได้วางนโยบายเอาไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่าจุดยืนของการบินไทยอยู่ตรงไหน หากไม่มีสนามบินสุวรรณภูมิเกิดขึ้น มิติการแข่งขันเพื่อชนะของการบินไทยนั้นจะประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
แต่เมื่อเป้าหมายของการบินไทยคือการเป็น First Choice Carrier และการบินไทยก็ได้พยายามมาตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา เพื่อที่จะให้ผู้โดยสารตัดสินใจเลือกบินด้วยเครื่องบินของการบินไทยจากทุกเส้นทางเป็นอันดับแรกก่อนสายการบินอื่น แต่เมื่อวันนี้การบินไทยยังไม่เป็นสายการบินอันดับหนึ่งที่ทำให้ทุกคนหันมาเลือกใช้บริการเป็นอันดับแรก สุวรรณภูมิจึงเป็นโอกาสที่เข้ามาเติมเต็มความหวังดังกล่าวในที่สุด
"การบินไทยกำหนดแผนไว้ล่วงหน้าถึง 20 ปีว่าหากจะต้องการชนะต้องทำอะไรบ้าง เปรียบได้กับการสงครามจะชนะได้นั้น ไม่ได้มีเพียงหนึ่งปัจจัยเท่านั้น ต้องประกอบไปด้วยยุทโธปกรณ์สารพัด ทั้งดาวเทียม อาวุธ กล้องส่องทางไกล ทุกอย่างเหล่านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนประกอบที่จะช่วยให้การบินไทยชนะได้แม้จะผ่านไป 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า หากถามผม ผมเองก็ตอบได้ชัดเจน เพราะได้วางไว้ชัดเจนแล้วตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว สุวรรณภูมิถือเป็นองค์ประกอบหนึ่งเท่านั้น ก็เหมือนกับที่จอดรถผมเท่านั้น รถผมก็คือเรือบินนั่นเอง"กนก อภิรดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทยบอกกับ "ผู้จัดการ" ระหว่างการพูดคุยยาวนานถึงสองชั่วโมงเมื่อไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้
เครื่องบินสีใหม่ อุปกรณ์ตกแต่งภายในใหม่ยกชุด พร้อมเครื่องแบบพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน และพนักงานบริการภาคพื้นดินแบบใหม่ ที่เพิ่งจะเปิดตัวไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นแผนรองรับการเปลี่ยนแปลงสำหรับการย้ายไปสุวรรณภูมิด้วยอย่างหนึ่ง นอกเหนือจากการรองรับกิจกรรมอื่นๆ อีกมากที่จะเกิดขึ้น
เช่นเดียวกันกับการวางแผนย้ายให้บริการลูกค้าในระดับ Premium Class แบบยกกระบิจากดอนเมืองทั้งหมด โดยการบินไทยในฐานะที่เป็นพันธมิตรของกลุ่ม Star Alliance ได้ลงทุนสร้าง "Star Lounge" เพื่อให้ผู้โดยสารจากสายการบินทั้ง 16 แห่งในกลุ่มเข้ามาใช้บริการได้ในที่เดียว หากไม่ต้องการลงทุนไปกับการเปิด lounge เป็นของตัวเอง เช่นเดียวกันกับที่สนามบินใหม่ในนาโงยา ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสายการบิน ANA รับเป็นเจ้าภาพสร้าง lounge แบบเดียวกัน
เมื่อเครื่องแตะถึงพื้นรันเวย์ ผู้โดยสารระดับพรีเมียมจะได้รับการต้อนรับเป็นพิเศษด้วยรถรับ-ส่งส่วนตัวไปจนถึง lounge ที่จะมีพนักงานคอยทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในเรื่องเอกสาร เช่นเดียวกันกับผู้โดยสารขาออกที่จะได้รับการต้อนรับแบบพิเศษ โดยเฉพาะบริการ sit-down check-in โดยไม่ต้องรอคิวทำการ check-in ที่หน้าเคาน์เตอร์ดังเช่นผู้โดยสารชั้นประหยัด
นอกเหนือจาก "Star Lounge" แล้วการบินไทยยังให้ความสำคัญกับเรื่อง First Impression เพื่อเรียกนักท่องเที่ยวระดับ high-grade เข้าเมืองไทยมากกว่าแค่การรองรับนักท่องเที่ยว Back Packer อย่างเดียวเท่านั้น
Lounge ที่กว้างขวาง หรูหรา และโอ่โถงกว่าเดิมของการบินไทยที่จะเปิดให้บริการในสนามบินแห่งใหม่ ประกอบไปด้วยห้องอาบน้ำ สถานที่นวด สปา ร้านอาหารที่บริหารโดยโรงแรมชั้นนำ ขณะที่ผู้โดยสารชั้นประหยัดสามารถเลือกเข้าใช้บริการ "Economy Lounge" ที่การบินไทยได้ขอพื้นที่มาตกแต่ง และยกพื้นที่ให้กับการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) เป็นคนบริหารจัดการ
แม้กระทั่งการเตรียมความพร้อมให้มี Arrival Lounge ใน Airport Hotel โรงแรมที่การบินไทยลงทุนร่วมกับ ทอท. ซึ่งตั้งอยู่ด้านหน้าบริเวณอาคารที่พักผู้โดยสารในสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อเตรียมรับมือกับพฤติกรรมของนักธุรกิจในโลกยุคอนาคต ที่ส่วนใหญ่มักจะไม่รอ check-in โรงแรมตอนเที่ยง หลายครั้งคนกลุ่มนี้เลือกที่จะเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ในช่วงเช้า เข้าพักในโรงแรมใกล้ที่สุด เพื่ออาบน้ำอาบท่าและไปประชุมได้ทันที
Arrival Lounge จะเป็นสถานที่เน้นออกแบบให้มีห้องอาบน้ำ พนักงานต้อนรับจะนำสูทหรือเสื้อผ้าสำหรับนักเดินทางออกมารีดหรือแขวนให้ เพื่อเตรียมพร้อมใช้งานหรือเดินทางไปประชุมได้ทันที ขณะที่โรงแรมแห่งนี้จะกลายเป็นสถานที่สำหรับดึงดูดให้นักเดินทางนิยมใช้ไทยเป็นทางผ่าน หรือเป็นสถานที่ต่อเครื่องไปยังเป้าหมายอื่นให้ได้มากที่สุด
กนกบอกว่า นี่ถือเป็นหัวใจและเป้าหมายที่สนามบินสิงคโปร์พยายามผลักดันมาตลอด เนื่องจากสิงคโปร์เองไม่มีพื้นที่ หรือทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวดังเช่นประเทศไทย จึงพยายามผลักดันให้มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาแวะพักเพื่อการเปลี่ยนเครื่องให้ได้มากที่สุด และดูเหมือนจะทำได้ดีเมื่อเทียบกับเมืองไทยในปัจจุบัน เนื่องจากระบบการอำนวยความสะดวก รวมถึงการต่อเชื่อมระหว่างเที่ยวบินไปยังประเทศต่างๆ นั้นค่อนข้างสมบูรณ์กว่า
ในปีหนึ่งๆ การบินไทยมีตารางการบินกว่าแสนตารางการบิน หรือเดือนละประมาณ 8 พันไฟลต์ มีการต่อเชื่อมเส้นทางแต่ละแห่งแตกต่างกันออกไป หลายครั้งที่เส้นทางการบินเหล่านี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ นั่นคือไม่เพียงแต่การต่อเชื่อมเวลาการบินในแต่ละเที่ยวไปยังแต่ละประเทศจะไม่สัมพันธ์กันจนเอื้อให้นักเดินทางตัดสินใจเลือกไทยหรือสายการบินไทยเป็นศูนย์กลางในการเดินทางต่อไปยังประเทศอื่นแล้ว ตารางการบินที่ไม่เป็นระบบนัก ยังทำให้การบินไทยเสียค่าใช้จ่ายในการจอดแวะพักในสนามบินแต่ละประเทศมากขึ้นอีกด้วย
หลัง Star Alliance ทำการศึกษาที่เรียกว่า Global Connectivity Improvement เสร็จสิ้น การบินไทยจึงเข้าสู่ภาวะของการเปลี่ยนแปลงตารางการบินของตัวเองแบบขนานใหญ่อีกครั้ง โดยตัดสินใจปรับเส้นทางการบินของตนทั่วโลกเสียใหม่ เพื่อให้เส้นทางการเชื่อมต่อนั้นเกิดผลมากที่สุด
เช่นหากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาจากประเทศฝรั่งเศสและถึงไทยในช่วงกลางคืน นักท่องเที่ยวคนเดียวกันต้องการเดินทางไปยังกรุงฮานอยของเวียดนามในคืนนั้น ก็สามารถทำได้ทันที โดยการบินไทยมีเครื่องบินลำที่รับส่งผู้โดยสารไปยังฮานอยในช่วงเวลากลางคืนได้หลังจากที่สายการบินไทยจากฝรั่งเศสมาถึงเมืองไทยภายใน 2 ชั่วโมง โดยที่นักท่องเที่ยวคนดังกล่าวไม่ต้องค้างคืนและเสียเวลาไปเปล่าประโยชน์อย่างที่ผ่านมา
การทำเช่นนี้ทำให้นักท่องเที่ยวเลือกที่จะบินสายการบินไทย แทนที่จะเลือกใช้สายการบินอื่น เพื่อบินตรงไปกับฮานอย หรือใช้สายการบินไทยบินมาเมืองไทย แต่ต่อสายการบินอื่นไปยังฮานอย
หลังจากเสนอแนวคิดของการจัดเส้นทางตารางการบินใหม่ทั้งหมดนับแสนเที่ยวต่อปีต่อหน้า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในกรุงโรม เมื่อหลายเดือนก่อน การบินไทยตัดสินใจทดลองจัดตารางการบินบางเส้นทางใหม่ในดอนเมือง เพื่อทดสอบเส้นทางก่อนการนำไปใช้อย่างเต็มรูปแบบในสนามบินสุวรรณภูมิ
เฉพาะ 3 เดือนแรกของการทดลองการเชื่อมต่อที่ดอนเมือง การบินไทยสามารถหารายได้เพิ่มขึ้นกว่า 400 ล้านบาท พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าการต่อเชื่อมเส้นทางใหม่ทั้งหมดจะทำให้การบินไทยแย่งลูกค้าที่จะเลือกสายการบินอื่นได้มากถึง 350,000 คน ซึ่งก็เท่ากับรายได้ที่จะเกิดขึ้นกว่า 3,200 ล้านบาทเลยทีเดียว
เรื่องสถิติถือว่าเป็นเรื่องแปลก ประเทศไหนที่มีสนามบินติดอันดับโลก สายการบินของประเทศนั้นมักจะต้องติดอันดับโลกด้วยทุกครั้งไป การบินไทยเองก็คงหวังเอาไว้ไม่น้อยที่จะเป็นเบอร์หนึ่งในเร็ววัน ตามรอยสนามบินสุวรรณภูมิที่เชื่อกันว่าจะกลายเป็นเบอร์หนึ่งของภูมิภาคด้วยเช่นกัน
|
|
|
|
|