|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2548
|
|
ในฐานะที่เป็นสายการบินแห่งชาติที่มีอายุยาวนานกว่า 45 ปี การย้ายฐานปฏิบัติการจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดของคน "การบินไทย"
เดือนเมษายนที่ผ่านมา พนักงานการบินไทย 542 คน ตัดสินใจ early retire ก่อนเวลาเกษียณอายุการทำงานจริง หลังตัดสินใจแน่ชัดแล้วว่าตนเองและครอบครัวไม่อาจจะยอมรับสภาพความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ภายหลังจากที่การบินไทยจะต้องย้ายฐานปฏิบัติการทั้งหมดจากสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งจะถึงกำหนดเวลาเปิดใช้จริงในอีกไม่นานนี้
หากคำนวณจากตำแหน่งหน้าที่และความรับผิดชอบแล้ว เฉพาะพนักงานการบินไทยที่จะต้องย้ายไปประจำการที่สนามบินสุวรรณภูมิจะมีมากถึง 15,000 คน จากพนักงานการบินไทยทั่วโลกทั้งสิ้น 25,000 ชีวิต แม้จำนวนพนักงานที่ตัดสินใจลาออก ทั้งแบบเกษียณอายุก่อนกำหนด หรือลาออกทั้งๆ ที่อายุการทำงานยังเหลืออีกหลายสิบปีจะไม่มากนักเมื่อเทียบกับจำนวนพนักงานของการบินไทยที่มีอยู่
แต่ก็ถือเป็นผลกระทบที่เห็นได้เด่นชัดที่สุดอย่างหนึ่ง อันจะเกิดขึ้นจากนโยบายของภาครัฐในการตัดสินใจเปลี่ยนสนามบินนานาชาติจากสนามบินดอนเมืองในพื้นที่ของกองทัพอากาศที่ใช้กันมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา มาเป็นสนามบินที่ทั้งใหญ่และทันสมัยกว่าอย่างสนามบินสุวรรณภูมิ
เมื่อภาพการเป็นสายการบินอันดับหนึ่งเริ่มชัดเจน มีแผนการรองรับอย่างเป็นรูปธรรมกับการเติบโตที่จะเกิดขึ้น จึงไม่มีทางไหนจะมาเปลี่ยนแผนการย้ายไปยังสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นส่วนเติมเต็มให้การบินไทยไปยังจุดที่ตั้งเป้าเอาไว้ได้ ดังนั้นพนักงาน 15,000 คน ที่จะต้องเดินทางไปปฏิบัติงานในสนามบินแห่งใหม่ ย่อมต้องยอมรับเงื่อนไขอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเช่นกัน ยกเว้นพนักงานที่ตัดสินใจลาออกพร้อมรับเงินก้อนหนึ่งติดมือไปแล้วก่อนหน้านี้
การบินไทยลงมือสำรวจในเรื่องบุคลากรของการบินไทยที่จะได้ผลกระทบจากการย้ายที่ทำงานใหม่ทั้งสิ้น 3 ครั้ง 2 ครั้ง ทำโดยสมาคม สโมสร และสหภาพการบินไทย เป็นแกนหลัก และครั้งที่ 3 ให้เอแบคเข้ามาสำรวจเพิ่มเติมตาม Migration Plan ของบริษัทที่จัดตั้งขึ้น เพื่อศึกษาความกดดันที่จะเกิดขึ้นตามมาภายหลังจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปของพนักงาน เพื่อนำมาซึ่งการวางแผนงานต่างๆ
ผลการสำรวจนำมาซึ่งการออกแบบและจัดเส้นทางการเดินรถรับ-ส่งพนักงานใหม่ทั้งหมด รวมถึงการวางแผนเพื่อจัดหาบ้านพักอาศัยให้พนักงานกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ที่อยากจะย้ายบ้าน
ในจำนวนนี้กว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต้องการซื้อบ้านใหม่ หากคำนวณจากตัวเลขพนักงานของการบินไทยทั้งหมด นั่นหมายถึงว่า บ้านใหม่ของพนักงานการบินไทยคงเทียบเท่าได้กับการเกิดชุมชนคนการบินไทยขนาดย่อมขึ้นมาในละแวกใกล้เคียงสนามบินสุวรรณภูมิกันเลยทีเดียว
การบินไทยเองไม่ได้นิ่งเฉย ให้สโมสรพนักงานการบินไทยเป็นผู้ดำเนินจัดหาบริษัทที่ดำเนินการเรื่องที่พักอาศัย สร้างบ้านหลายราคา หลายระดับ เพื่อให้พนักงานของบริษัทได้เช่าซื้อ หรือผ่อนในราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด ล่าสุดกระบวนการคัดเลือกบริษัทสร้างบ้านให้กับพนักงานการบินไทยได้ข้อตกลงเบื้องต้นกับ 2 บริษัทคือ มั่นคงเคหะการ และแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ในวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมาคือ วันที่ทีมประชาสัมพันธ์ของการบินไทยตัดสินใจจัดสัปดาห์ "สุวรรณภูมิ" แก่พนักงานทั้งหมดของการบินไทย เพื่อหาข้อสรุปและตัดสินใจว่ามั่นคงเคหะการได้ให้ผลตอบแทนหรือให้บ้านที่ไม่เป็นที่พึงพอใจแก่พนักงานของบริษัทหรือไม่ ก่อนการตัดสินใจเลือกหมู่บ้านให้กับพนักงานในเวลาต่อมา
Migration Plan ยังลงรายละเอียดถึงเรื่องบุตรหลานพนักงานทั้งหมด ในเวลาเดียวกัน การบินไทยได้มีการทำสำรวจโรงเรียนที่อยู่ละแวกใกล้เคียงสนามบินแห่งใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่ระดับอนุบาล ประถมศึกษา หรือแม้แต่มหาวิทยาลัย ทั้งหมดเพื่อเป็นข้อมูลแก่พนักงาน อีกทั้งยังได้ประสานกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อให้สิทธิพิเศษแก่บุตรหลานของพนักงานที่ต้องย้ายโรงเรียนกลางคัน
ขณะที่ประเด็นซึ่งพนักงานการบินไทยให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คือเรื่องการรักษาพยาบาล ซึ่งมาเป็นอันดับหนึ่งจากการสำรวจของเอแบค ในเบื้องต้นการบินไทยเชื่อว่าคงเกิดผลกระทบกับพนักงานทั้งหมดเป็นแน่ เนื่องจากสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้สุวรรณภูมิมีไม่มากนัก แต่ก็ยังมองเห็นความหวังที่รัฐบาลจะสร้างโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น หลังจากที่โครงการภาครัฐเอง ก็มองเห็นอยู่แล้วว่าสนามบินแห่งใหม่จะก่อให้เกิดนครสุวรรณภูมิขึ้นมาด้วยในเวลาต่อมา
ทุกวันนี้การบินไทยเริ่มแผนฝึกฝนพนักงาน เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยก่อนการไปทำงานในสนามบินจริง การตั้ง Coach Leader หรือผู้นำฝึกหนึ่งคนฝึกคนได้อีกเจ็ดคน กระจายออกไปเรื่อยๆ เพื่อให้การฝึกนั้นทั่วถึง คือแผนการหนึ่งในแผนการย้ายการทำงานทั้งหมด และรอคอยตั้งเวลาการฝึกแบบเข้มข้นขึ้น โดยนับถอยหลัง 6 เดือน ก่อนการย้ายไปยังสนามบินจริง และวันสำคัญในการซ้อมใหญ่ ทั้งการนำเครื่องบินลงจอด การบริการของพนักงานการบินไทยทุกส่วน แบบครบทั้งสนามบินที่ยังกำหนดวันไม่ได้ว่าเป็นเมื่อใด
"เนื่องจากเป็นเรื่องของวิถีชีวิต วิถีชีวิตในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องจะย้ายบ้านไปอยู่ที่ใหม่ การมีบ้านที่ใหญ่ขึ้น มีห้องนอนมากขึ้นเท่านั้น แต่หมายถึงทุกอย่างรอบตัวที่หายไป คุณยายอยู่บ้าน ตอนเย็นจะต้องไปไหว้พระทุกวัน จะต้องทำอย่างไร ถามว่าตอนเย็นวันพุธ พนักงานเคยต้องนัดเจอกับเพื่อนบ้าน แต่เมื่อย้ายไปทำงานที่ใหม่ เขาไม่ได้สัมผัสกับสิ่งดังกล่าวซึ่งเคยทำติดต่อกันมากว่า 10 ปี ถามว่าเขาจะเป็นอย่างไร เพราะฉะนั้นการบินไทยต้องดูแลจนถึงปัญหาสุดท้ายที่เขาต้องเจอ ไม่ใช่ดูแลเพียงตัวเขาอย่างเดียวเท่านั้น" กนก อภิรดี กรรมการ ผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย อธิบายกับ "ผู้จัดการ" ให้เห็นภาพการเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดขึ้น กับพนักงานของตนในเร็ววันนี้
วันนี้พนักงานการบินไทยหลายคนคงเตรียมใจเอาไว้ล่วงหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตนและครอบครัว ทั้งเวลาที่หายไปหลายชั่วโมงต่อวัน จากการเดินทางไกลยิ่งขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงระบบการทำงานใหม่ทั้งหมดจากที่ทำงานใหม่และใหญ่กว่า เมื่ออย่างไรเสียหากสนามบินสุวรรณภูมิจะเป็นที่มั่น ที่จะทำให้การบินไทยกลับมาเป็นเบอร์หนึ่งของธุรกิจการบินได้อีกครั้ง คนการบินไทยเองก็คงต้องยอมรับเงื่อนไขหลายข้ออย่างปฏิเสธไม่ได้
|
|
|
|
|