|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2548
|
|
หลังจากวันที่ 29 กันยายน 2548 ผู้คนที่อาศัยอยู่ในตลาดหัวตะเข้และบริเวณใกล้เคียงชุมชนลาดกระบัง คงต้องไปปรึกษากับคนที่พักอยู่
บริเวณ กม.27 ถนนพหลโยธิน แล้วว่าเขาจะใช้ชีวิตอยู่อย่างไร หากสนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้อย่างเป็นทางการ
เสียงดังกระหึ่มไม่ต่ำกว่า 65 เดซิเบล ของเครื่องบินที่กำลัง landing ลงบนพื้นรันเวย์ของสนามบินดอนเมือง ที่มาพร้อมกับละอองน้ำมัน ซึ่งเกิดขึ้นแทบจะทุกๆ 2 นาที อาจเป็นความเคยชินของคนที่อาศัยอยู่บริเวณ กม.27 ถนนพหลโยธิน และบริเวณคลองหนึ่ง ถนนสายรังสิต-ลำลูกกา กับพื้นที่โดยรอบ
แต่ภาพดังกล่าว กลับเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนที่อาศัยอยู่บริเวณชุมชนลาดกระบัง โดยเฉพาะร้านค้า ร้านอาหารในตลาดหัวตะเข้ รวมถึงบรรดาอาจารย์ และนักศึกษา ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง ชุมชนขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่ปลายรันเวย์สนามบินสุวรรณภูมิทางด้านเหนือ ซึ่งถูกใช้เป็นทิศทางสำหรับการลงจอดของเครื่องบิน เพียงไม่กี่กิโลเมตร
คนเหล่านี้จะใช้เวลาเท่าใดในการปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิต และสภาพแวดล้อมใหม่ ที่กำลังจะมาถึง
"เขาไม่สนหรอกว่า เสียงจะดัง หรือมีละอองน้ำมัน เพราะหลายคนเขาพอใจที่ได้รับเงินค่าเวนคืนที่ดินกันไปแล้ว คนละไม่ต่ำกว่า 3 รอบ" คนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี บอกกับ "ผู้จัดการ"
"ชุมชน" คือตัวอย่างผลกระทบอันเนื่องมาจากการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่จับต้องได้มากที่สุดในเวลานี้ ไม่ว่าจะด้วยผลกระทบจากมลพิษทางเสียงของเครื่องบินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ฝุ่น และควันจากการก่อสร้างถนนหนทาง อาคารที่พักอาศัย และบ้านจัดสรรที่ผุดขึ้นตามมาเป็นดอกเห็ด
ชุมชนลาดกระบัง หนึ่งในอีกหลายชุมชนที่มีพื้นติดกับสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งปัจจุบันยังคงวิถีชีวิตความเป็นชานเมืองเอาไว้ได้อย่างครบถ้วน ชาวบ้านหลายคนยังคงดำรงชีวิตอย่างสมถะ ริมสองฟากฝั่งคลองเรือหางยาว คือพาหนะสำคัญสำหรับการสัญจรไปมาในลำคลอง หลายคนยังทำนา และปลูกผักกระเฉดขาย ขณะที่อีกหลายคนปลูกหอพักให้นักศึกษาเช่า และเปิดร้านค้าขายในตลาดหัวตะเข้
ชาวบ้านในชุมชน ไม่ได้รับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านมลพิษทั้งเสียง และละอองน้ำมันของเครื่องบินที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างแท้จริง แม้จะเคยผ่านการชี้แจงและเสนอแผนการเตรียมพร้อมในการรับมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบ้างแล้วก็ตามที
ต่างจากผู้บริหาร อาจารย์ และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง นับพันชีวิต ที่มีแผนรองรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับบรรยากาศการเรียนการสอนเหล่านี้
แผนการรองรับของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีหลายอย่างทั้งการติดเครื่องปรับอากาศในห้องเรียนกระจกพิเศษ 2 ชั้น เพื่อป้องกันเสียง การใส่วัสดุในการป้องกันเสียงในตัวอาคารใหม่ทั้งหมด จะป้องกันปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ คงต้องใช้เวลาอีกหลายปีในการพิสูจน์
แต่ที่เป็นไปได้มากที่สุดคือ อาคารหอพักอาจารย์ ซึ่งเป็นตึกสูง 12 ชั้น ตั้งอยู่ใกล้กับรันเวย์สนามบินมากที่สุด อาจจะต้องถูกรื้อบริเวณชั้น 11-12 ออกไป เพราะจะกลายเป็นสิ่งกีดขวางแนวทางลงของเครื่องบิน
ผู้บริหารของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร คนหนึ่งบอกกับ "ผู้จัดการ" ว่า ถึงที่สุดแล้ว หากการเกิดขึ้นของสนามบินสุวรรณภูมิ สร้างอุปสรรคแก่บรรยากาศการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย จนไม่สามารถแก้ไขได้ ทางออกทางเดียวคือการย้ายสถานที่ไปยังที่ใหม่ ซึ่งได้มีการวางแผนออกแบบพิมพ์เขียวเอาไว้แล้ว
ว่ากันว่าแนวคิดในการย้ายมหาวิทยาลัยนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากทางฝั่งผู้บริหารของมหาวิทยาลัยเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังมาจากแรงผลักดันของสนามบินสุวรรณภูมิเองด้วย เพราะตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ สนามบินจะต้องเจียดงบประมาณจำนวนหนึ่งมาสนับสนุนโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว หากจะต้องป้องกันมลภาวะต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัย วงเงินงบประมาณดังกล่าวอาจสูงถึง 16,000 ล้านบาท
มหาวิทยาลัยเองก็ได้เล็งพื้นที่เอาไว้แล้วว่าหากจะย้ายสถานที่กันจริงๆ อาจจะไปอยู่บริเวณจังหวัดนครปฐม "แต่ก็คงจะใช้เวลาอีกหลายปีถึงจะได้ข้อสรุป" ผู้บริหารรายเดิมบอก
หากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ย้ายออกไป กลุ่มคนที่จะได้รับผลกระทบตามมา คือบรรดาพ่อค้า แม่ค้า และเจ้าของหอพักในตลาดหัวตะเข้ ที่อาศัยนักศึกษาและอาจารย์ของมหาวิทยาลัย เป็นลูกค้าประจำมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี
ในอีกด้านหนึ่ง ตลอดเวลาหลายปีของการก่อสร้างสุวรรณภูมิ การเกิดขึ้นของแคมป์คนงานก่อสร้างของบริษัทรับเหมาต่างๆ ที่ผุดขึ้นมารายล้อมพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบิน ได้ก่อให้เกิดชุมชนคนงานขนาดใหญ่เท่ากับบางหมู่บ้านในต่างจังหวัดกันเลยทีเดียว
ตลาดสดขนาดย่อม ปากทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิกลายเป็นจุดอึกทึกที่ชาวบ้านในละแวกนั้นพบเห็นได้แทบทุกเช้าของวันทำงาน
เส้นทางการเดินทางเข้า-ออกสนามบินในวันทำงาน ทำให้สภาพการจราจรเนืองแน่นด้วยขบวนรถขนคนงานจำนวนมหาศาลที่มุ่งหน้าเข้าและออกพร้อมกันในเวลาดังกล่าว
แม้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อสนามบินสร้างเสร็จพร้อมจะเปิดให้บริการ แต่ใช่ว่าปัญหาการหลั่งไหลของประชากรนอกพื้นที่เข้าไปยังพื้นที่ใกล้เคียงกับสนามบินจะสิ้นสุด ตราบใดที่ยังไม่มีการวางแผนรับมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพราะหากเปรียบเทียบจำนวนของประชากรที่คาดว่าจะต้องเข้าไปใช้แรงงานตำแหน่งต่างๆ ในสนามบินใหม่อีกนับหมื่นคนแล้ว ก็ทำให้เห็นภาพของชุมชนที่จะขยายตัว และเปลี่ยนแปลงสภาพกลายไปเป็นชุมชนเมืองได้อย่างไม่ยากนัก
ถึงเวลานี้ ชุมชนเหล่านี้อาจจะไม่มีแม้สิทธิ์เลือกไม่ให้สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังคงมีสิทธิ์เลือกที่จะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
|
|
|
|
|