|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ กันยายน 2548
|
|
ด้วยราคาน้ำมันที่พุ่งกระฉูดตลอดช่วง 2 ปีนี้ เปิดทางให้เชื้อเพลิงชีวภาพ ซึ่งมีราคาถูกกว่า มีโอกาสเข้ามาแทนที่น้ำมันเบนซินและดีเซลในอนาคตอันใกล้
"เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซินกำลังจะสูญพันธุ์" Acir Padilha ผู้บริหาร Embraer ประกาศอย่างมั่นอกมั่นใจ
Embraer เป็นผู้ผลิตเครื่องบิน Ipanema ซึ่งเป็นเครื่องบินที่ใช้เอทานอลเป็นเชื้อเพลิงเป็นรายแรกของโลก และรับดัดแปลงเครื่องยนต์ที่ใช้เบนซินของเครื่องบิน ให้สามารถใช้เอทานอลได้ ขณะนี้ Embraer มีรายชื่อลูกค้าเข้าคิวยาวเหยียดไปตลอดถึง 2 ปีเต็มๆ
Joel Rosado เจ้าของบริษัทให้บริการเครื่องบินแท็กซี่ในบราซิล เป็นลูกค้ารายหนึ่งของ Embraer เมื่อราคาน้ำมันเริ่มเชิดหัวขึ้นตั้งแต่ 2 ปีก่อน Rosado ก็ตัดสิน ใจสั่งซื้อเครื่องบิน Ipanema ซึ่งใช้เอทานอล ทันที ซึ่งทำให้เขาประหยัดค่าน้ำมันไปได้ถึง 40% โดยที่ประสิทธิภาพของเครื่องบินไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด จากเดิมที่ 20% ของรายได้ ต้องหมดไปกับค่าน้ำมัน
ไม่แปลกที่ Rosado ซึ่งเป็นชาวบราซิล จะตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้เอทานอล อย่างไม่ไยดีต่อเบนซินอีกต่อไป เพราะขณะนี้ บราซิลได้กลายเป็นประเทศผู้ผลิตเอทานอล รายใหญ่ที่สุดในโลก จนกำลังจะได้รับฉายา ว่า "ซาอุดีอาระเบียแห่งเอทานอล" เหมือนที่ซาอุดีอาระเบียเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก
ขณะนี้ไร่อ้อยของบราซิลผลิตอ้อยป้อนโรงงานผลิตเอทานอล 320 แห่ง และกำลังจะสร้างเพิ่มขึ้นอีก 50 แห่งภายใน 5 ปี ข้างหน้า แม้ว่าส่วนใหญ่ของผู้ที่ใช้รถ 20 ล้านคนในบราซิล ยังคงเติมน้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 25% แต่รถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่เรียกว่า flex-fuel สามารถที่จะใช้เอทานอล ล้วนๆ โดยไม่ต้องผสมกับเบนซินและสามารถเติมเอทานอล ซึ่งมีราคาถูกกว่าเบนซินถึงครึ่งหนึ่งได้ ตามปั๊มน้ำมันทุกแห่งตั้งแต่เมืองใหญ่อย่าง Rio ไปจนถึงท้องถิ่นที่ห่างไกลใน Amazon
เพื่อที่จะผลิตเอทานอลให้เพียงพอกับความต้องการที่กำลังพุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ บริษัทผู้ผลิตอ้อยและบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ข้ามชาติกำลังจะลงทุน 6 พันล้านดอลลาร์ ในการเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อยและ สร้างโรงงานผลิตเอทานอลภายใน 5 ปีข้างหน้า และขณะนี้บราซิลได้ส่งออกเอทานอลไปยังเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ซึ่งกำลังลดการพึ่งพิงน้ำมัน
อย่างไรก็ตาม แม้บราซิลจะเป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ที่สุด ในโลก แต่เชื้อเพลิงชีวภาพไม่เหมือนน้ำมัน จะไม่มีประเทศใดประเทศ เดียวที่สามารถจะผูกขาดตลาดเอทานอล รวมทั้งตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพอื่นๆ ได้แต่ผู้เดียว เหมือนเช่นที่ประเทศในตะวันออกกลางผูกขาดตลาดน้ำมัน
ในสหรัฐฯ การใช้เอทานอลซึ่งผลิตจากข้าวโพดกำลังเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากการออกกฎหมายด้านอากาศสะอาดและการใช้มาตรการจูงใจทางภาษี สหรัฐฯ ก็เป็นผู้ผลิตเอทานอลรายใหญ่ของโลกไม่แพ้บราซิล โดยการผลิตได้เพิ่มขึ้นเท่าตัวตั้งแต่ปี 2001 เป็น ต้นมา และขณะนี้การใช้เอทานอลในสหรัฐฯ มีสัดส่วน 3% ของเชื้อเพลิงทุกชนิด
กฎหมายพลังงานฉบับใหม่ที่เพิ่งผ่าน สภาคองเกรสสหรัฐฯ ไปเมื่อเดือนก่อน จะยิ่งทำให้การผลิตเอทานอลในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว
ส่วนในยุโรป เยอรมนีได้กลายเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลรายใหญ่ที่สุดของโลก ไบโอดีเซลเป็นเชื้อเพลิงที่มีค่าออกเทนและสมรรรถนะสูง โดยผลิตได้จาก rapeseed พืชน้ำมันชนิดหนึ่ง ซึ่งกำลังทำให้ยอดขายน้ำมันดีเซลตามปั๊มน้ำมันในเยอรมนีลดลง
ในอีกกว่า 30 ประเทศ ตั้งแต่ไทยจนถึงอินเดีย ออสเตรเลีย และมาลาวี มีการเพาะปลูกพืชน้ำมันหลากหลายชนิด เช่น ปาล์มน้ำมัน ถั่วเหลือง และมะพร้าว เพื่อนำมาทำเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ เวเนซุเอลา อินโดนีเซีย และฟิจิ เพิ่งประกาศเมื่อเดือนที่แล้วว่า จะเริ่มผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพโดยหวังจะเลียนแบบบราซิล ซึ่งได้ปฏิวัติทั้งชนบท และอุตสาหกรรมรถยนต์ไปพร้อมกัน
ทั้งหมดนี้กำลังแสดงว่า ยุคเชื้อเพลิง ปิโตรเลียมครองโลกกำลังจะหมดไป และยุคของเชื้อเพลิงรุ่นใหม่คือเชื้อเพลิงชีวภาพ กำลังเริ่มต้นขึ้นแล้วหรือเปล่า
แน่นอนไม่มีใครคาดว่า น้ำมันจะหมดบทบาทลงในชั่วเวลาเพียงข้ามคืน หรือ แม้แต่อีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้า
แม้ว่าการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่การใช้เชื้อเพลิงชีวภาพเช่น เอทานอล และไบโอดีเซล ก็ยังคงมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับการใช้เชื้อเพลิงจากซากฟอสซิล โดยยังคงมีสัดส่วนการใช้น้อยเหมือนกับพลังงานแบบหมุนเวียนกลับมาใช้ได้อย่างเช่น พลังงานลม หรือแสงอาทิตย์
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงลิ่วอย่างไม่หยุดยั้งและความ วิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและภูมิอากาศโลกที่แปรปรวน รวมทั้งความวิตกว่าน้ำมันดิบกำลังจะหมดโลก ทำให้โอกาสที่เอทานอลและเชื้อเพลิงชีวภาพอื่นๆ จะเข้ามาแทนที่น้ำมันในอนาคต ค่อนข้าง สดใส
ถึงแม้ว่าหลายประเทศในโลกจะกำลังมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนารถพลังงานไฮโดรเจน แต่ก็ยังต้องใช้เวลาพัฒนาอีกไม่ต่ำกว่า 30 ปี ในขณะที่เชื้อเพลิงชีวภาพดูเหมือนจะเป็นเชื้อเพลิงชนิดใหม่ตัวแรกในรอบศตวรรษ ที่สามารถจะท้าชนเชื้อเพลิงปิโตรเลียมได้
ในขณะที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังวิตกกับปัญหาโลกร้อน เชื้อเพลิง ชีวภาพดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดของปัญหาดังกล่าว ในการลด การแพร่ก๊าซคาร์บอน ทำให้ในขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกต้องการเชื้อเพลิงชีวภาพมาผสมกับน้ำมัน และบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่าง Shell และ British Petroleum ก็ได้ทุ่มลงทุนอย่างหนัก เพื่อตอบสนอง ความต้องการของประเทศเหล่านั้น
Shell กลายเป็นผู้จัดจำหน่ายเอทานอลรายใหญ่ที่สุดในโลก ผ่านเครือข่ายปั๊มน้ำมันที่มีอยู่ทั่วโลกของตน แม้แต่บริษัทที่ไม่เกี่ยวกับสินค้าเชื้อเพลิงโดยตรงอย่าง Du Pont และ Volkswagen ก็ยังพยายามเบียดตัวแทรกเข้ามาขอส่วนแบ่งในตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพที่มีมูลค่ามากกว่า 20,000 ดอลลาร์นี้
ส่วนเกษตรกรทั่วโลกก็กำลังตื่นเต้นที่ผลิตผลของพวกเขากำลังมีตลาดใหม่ขนาดใหญ่มารองรับด้านนักสิ่งแวดล้อมต่างพากันสรรเสริญเชื้อเพลิงชนิดใหม่นี้ว่าสะอาดและยั่งยืน เพราะก๊าซคาร์บอนที่แพร่ออกมาจากเชื้อเพลิงชีวภาพ จะถูกดึงออกจากชั้นบรรยากาศได้อย่างง่ายดายโดยพืช นอกจากนี้บางส่วนของก๊าซคาร์บอนและพลังงานที่ได้จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวภาพ จะเข้าสู่กระบวนการผลิตปุ๋ย การขนส่งคมนาคมและการกลั่น ผลก็คือ เชื้อเพลิงชีวภาพจะสามารถลดการแพร่กระจายก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนลงได้มากถึง 90%
แต่หนทางที่เชื้อเพลิงชีวภาพจะสามารถเข้ามาแทนที่น้ำมัน ยังดูมีปัญหาอยู่มาก เช่น จะมีพื้นที่เพาะปลูกมากเพียงพอที่จะปลูกพืชที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยที่ไม่ไปกระทบกับการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารของมนุษย์หรือไม่ และลำพังเชื้อเพลิงชีวภาพเองจะสามารถครองใจตลาดได้หรือไม่ หากรัฐเลิกจูงใจทางภาษีและเลิกให้เงินอุดหนุน โดยเฉพาะหากราคาน้ำมันเกิดลดลง
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการเมืองในการค้าโลก โดยในขณะนี้พวกที่ปกป้องภาคเกษตรในประเทศร่ำรวยซึ่งทรงอิทธิพล ได้พยายามจะกีดกันเชื้อเพลิงชีวภาพจากบราซิล ปากีสถาน และประเทศกำลังพัฒนา อื่นๆ ทำให้เส้นทางเดินของเชื้อเพลิงชีวภาพ ยังดูซับซ้อน และมีการเมืองมาเกี่ยวข้องด้วย มาก จนยังไม่สามารถจะคาดการณ์อนาคตที่แน่นอนของเชื้อเพลิงชนิดใหม่นี้ได้
อันที่จริงน้ำมันปิโตรเลียมก็เป็นเชื้อเพลิงชีวภาพอย่างหนึ่ง โดยเกิดจากซากพืชที่ถูกแรงกดดันอย่างมหาศาลมานานนับล้านๆ ปี จนทำให้อะตอมของไฮโดรเจนและ คาร์บอนในพืชนั้นเกิดการเรียงตัวใหม่ กลาย เป็นโมเลกุลที่เมื่อถูกเผาไหม้จะปลดปล่อยพลังงานออกมาอย่างมหาศาล
เช่นเดียวกัน เราสามารถจะสกัดน้ำมันจากพืชได้ด้วยการใช้แรงกดดันอย่างหนัก Rudolf Diesel วิศวกรเยอรมันผู้คิดค้นเครื่อง ยนต์ดีเซล ซึ่งได้ชื่อตามเขา ในปี 1897 ก็ใช้น้ำมันถั่วเป็นเชื้อเพลิงเครื่องยนต์ชนิดใหม่ที่เขาคิดค้นขึ้น พืชอีกหลายชนิดคืออ้อย sugar beet และองุ่น ก็สามารถนำมาหมักบ่มจนได้แอลกอฮอล์หรือเอทา นอล ซึ่งก็เหมือนกับเชื้อเพลิงจากซากพืช ทั้งน้ำมันจากพืชและเอทา นอลต่างเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอน ซึ่งจะปลดปล่อยพลังงานออกมาเมื่อถูกเผาไหม้
สิ่งที่ทำให้เชื้อเพลิงชีวภาพน่าสนใจอย่างมากก็คือ การที่เครื่องยนต์ที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันสามารถจะใช้เชื้อเพลิงชีวภาพได้โดยสามารถนำเชื้อเพลิงชีวภาพไปผสมกับน้ำมันเบนซินหรือดีเซลและยังสามารถจ่ายผ่านปั๊มน้ำมันที่มีอยู่แล้วได้ โดยเครื่องยนต์แบบเผาไหม้สามารถใช้น้ำมันที่ผสมเอทานอลในสัดส่วนที่มากถึง 10% โดยไม่จำเป็นต้องดัดแปลงเครื่องยนต์เลย แต่หากส่วนผสมของเอทานอลมีสัดส่วนสูงกว่านั้น จะต้องดัดแปลงเครื่องยนต์ให้เป็นแบบ flex-fuel ซึ่งรถยนต์ใหม่มากกว่าครึ่งหนึ่งในบราซิลใช้เครื่องยนต์แบบนี้
ส่วนไบโอดีเซล ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสะอาด สมรรถนะสูง และมีความคล้ายคลึง กับดีเซลปิโตรเลียมอย่างมาก ผลิตขึ้นมาจากน้ำมันที่สกัดได้จากเมล็ดพืช เช่น ถั่วเหลือง หรือ rapeseed ผสมกับเมทานอล (แอลกอฮอล์ชนิดหนึ่ง) และตัวเร่งปฏิกิริยา เครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันสามารถ ใช้น้ำมันดีเซลที่ผสมไบโอดีเซลได้มากถึง 20% โดยไม่ต้องดัดแปลงเครื่องยนต์
ด้วยเหตุที่เชื้อเพลิงชีวภาพไม่ทำให้ใครต้องคิดประดิษฐ์รถยนต์ขึ้นมาใหม่ ทำให้ เชื้อเพลิงชีวภาพมีข้อได้เปรียบเหนือเซลล์ เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีความซับซ้อนมากกว่า และทำให้หลายประเทศได้เลือกเชื้อเพลิงชีวภาพเป็นทางออก อย่างง่ายๆ ในการลดการนำเข้าน้ำมัน
อย่างเช่นไทยเราเอง กำลังสร้างโรงงานผลิตเอทานอลหลายสิบแห่ง เพื่อจะผลิตเอทานอลจากอ้อยและแกลบ ส่วนจีนได้สร้างโรงงานผลิตเอทานอล เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงที่ใหญ่ที่สุดในโลกแล้วที่เมือง Jilin โดยใช้ข้าวโพด และยังกำลังทดลองผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง มะเขือเทศและ อ้อย โดยกำลังศึกษาวิธีการผลิตของบราซิล อย่างใกล้ชิด และยังคิดจะนำเข้าเอทานอลจากบราซิลด้วย
ด้านญี่ปุ่นได้ลงนามซื้อเอทานอลจากบราซิลล็อตแรก 15 ล้าน ลิตรเมื่อเดือนพฤษภาคม ตามเป้าหมายที่จะเพิ่มการใช้เอทานอลให้ได้ 3% ของการใช้น้ำมันเบนซิน ซึ่งเท่ากับญี่ปุ่นจะมีความต้องการบริโภคเอทานอล 1.8 พันล้านลิตรต่อปี
ส่วนประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ซึ่งตั้งเป้าจะเพิ่มการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพให้ได้ 6% ภายในปี 2010 ซึ่งกลายเป็นช่องว่างการ ผลิตที่หลายประเทศฝันอยากจะเข้าไปมีส่วนแบ่งบ้าง อย่างเช่นมาเลเซีย ขยายการปลูกปาล์มน้ำมันและกำลังตั้งโรงงานผลิตไบโอดีเซล เพื่อเล็งตลาดเยอรมนีอันเป็นชาติสมาชิกหนึ่งของ EU โดยเฉพาะ
และในระบบเศรษฐกิจโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเชื้อเพลิงชีวภาพ การที่สามารถเพาะปลูกได้ตลอดทั้งปีและมีแรงงานราคาถูกเหลือเฟือ ของประเทศด้อยพัฒนา จะยิ่งเป็นข้อได้เปรียบเชิงแข่งขันที่สำคัญเหนือประเทศพัฒนาแล้วในซีกโลกเหนือ ซึ่งมีอากาศหนาวเย็นทำให้มีฤดูกาลเพาะปลูกสั้น และมีค่าใช้จ่ายในการเพาะปลูกสูง
บราซิลซึ่งมีข้อได้เปรียบดังกล่าวอยู่มาก สามารถขายเอทานอล ในราคาเพียง 25 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบาร์เรล ซึ่งถูกกว่าราคาน้ำมันดิบกว่าครึ่ง บราซิลยังใช้อ้อยซึ่งนำมากลั่นเป็นเอทานอลนั้นเอง มาเป็นปุ๋ยในไร่อ้อยและเป็นเชื้อเพลิงในโรงกลั่นเอทานอลด้วย ทำให้บราซิล ใช้เชื้อเพลิงปิโตรเลียมในการผลิตเอทานอล น้อยกว่ายุโรปและสหรัฐฯ
การผลิตเอทานอลและไบโอดีเซลในยุโรปและสหรัฐฯ จะต้อง เสียค่าใช้จ่ายถึง 50 ดอลลาร์หรือมากกว่า เนื่องจากฤดูกาลเพาะปลูก สั้น และผลผลิตที่ได้ต่ำกว่า รวมทั้งค่าแรงที่สูง ดังนั้น หากสหรัฐฯและยุโรปจะผลิตเอทานอลเพื่อให้มาทดแทนการใช้น้ำมันในสัดส่วนเพียงแค่ 10% ของการใช้น้ำมัน โดยใช้พืชและเทคโนโลยีการเพาะปลูกที่มีอยู่ในปัจจุบัน จะต้องใช้พื้นที่เพาะปลูกถึง 40%
ตรงข้าม สำหรับประเทศด้อยพัฒนา ในซีกโลกใต้ ซึ่งปลูกอ้อยอยู่แล้ว อย่างเช่น บราซิลและอินเดีย จะสามารถผลิตเอทานอล ในสัดส่วน 10% ของการใช้น้ำมันของโลกได้โดยไม่ยากลำบากอะไรเลย นอกจากนี้ยังมีมาเลเซีย อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ที่มีศักยภาพพอที่จะผงาดขึ้นเคียงบ่าเคียงไหล่กับบราซิล ในการเป็นผู้ผลิตเอทานอลจากอ้อยรายใหญ่ของโลก
อย่างไรก็ตาม ตลาดเชื้อเพลิงชีวภาพ โลกที่กำลังค่อยๆ เติบโตขึ้นนี้ ต้องเจอปัญหาการเมืองในการค้าโลก ประเทศพัฒนา แล้วอ้างเหตุผลด้านสิ่งแวดล้อมบังหน้า การให้เงินอุดหนุนเกษตรกร EU อ้างว่าเพื่อส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ จึงให้เงินอุดหนุนเกษตรกร 45 ยูโรต่อหนึ่งเฮกตาร์ ที่ใช้ไปในการเพาะปลูกพืชเชื้อเพลิงชีวภาพ ทำให้เกษตรกรชาวยุโรปมีแรงจูงใจที่จะกีดกันไม่ให้เอทานอลราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามา ในตลาดอียูได้
เมื่อปากีสถานได้สิทธิพิเศษในการเข้าสู่ตลาด EU ในปี 2002 และได้เริ่มส่งออกเอทานอลไปยังยุโรป แต่นักล็อบบี้ภาคเกษตรของ EU สามารถชักจูงให้ทางการ EU เปลี่ยนนโยบายและตั้งกำแพงภาษีใหม่ นอกจากนี้แต่ละประเทศสมาชิก EU ยังกำหนดมาตรฐานเชื้อเพลิงชีวภาพของตนที่ไม่เหมือนกันอีกด้วย ส่วนสหรัฐฯ ก็เรียกเก็บภาษีเอทานอลจากบราซิล 50 เซ็นต์ต่อแกลลอน
นอกจากนี้ประเทศพัฒนาแล้วยังได้เริ่มคิดค้นเทคโนโลยีที่เหนือชั้นกว่า ในการผลิตเอทานอลจากพืช โดยแทนที่จะสกัดเชื้อเพลิงจากอ้อยหรือเมล็ดของพืชน้ำมัน ซึ่งเป็นเพียงส่วนเดียวของพืชทั้งต้น บริษัทที่เพิ่งเกิดใหม่ในประเทศพัฒนาแล้ว กลับกำลังสร้างโรงงานใหม่ ที่สามารถจะนำพืชทั้งต้นมาเปลี่ยนให้เป็นเชื้อเพลิงได้ โดยไม่ต้องทิ้งส่วนใดเลย
ทั้งนี้เทคโนโลยีการหมักบ่มในปัจจุบัน ทำให้ต้องทิ้งเซลลูโลส หรือเส้นใยพืช ยิ่งในการผลิตไบโอดีเซล น้ำมัน ที่สกัดได้จะได้มาจากเมล็ดเท่านั้น แต่ส่วนที่เหลือทั้งหมดของต้นจะถูกทิ้งไป
บริษัท Iogen ของแคนาดา ได้ริเริ่มสร้างโรงงานแห่งแรกของโลก ที่สามารถนำฟางที่ทิ้งแล้วมาผลิตเป็นเอทานอลได้ โดยใช้เอนไซม์ที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งสามารถทำได้ในราคาถูก มาเปลี่ยนเซลลูโลสในฟาง ให้กลายเป็นกลูโคส ซึ่งสามารถนำไปหมักบ่มจนได้เอทานอล
Shell Oil ได้ลงทุน 46 ล้านดอลลาร์ สนับสนุน Iogen ให้สร้างโรงงานที่ใหญ่ยิ่งขึ้น เพื่อผลิตเอทานอล 200,000 ตันต่อปี โดยจะมีค่าใช้จ่ายอยู่เพียงประมาณ 1.30 ดอลลาร์ต่อแกลลอนเท่านั้น
ส่วนในเยอรมนี Volkswagen กำลังให้เงินสนับสนุนบริษัท Choren Industries เพื่อพัฒนากระบวนการสังเคราะห์เชื้อเพลิงดีเซล คุณภาพสูงจากเซลลูโลสของต้นไม้และฟาง ขณะนี้รถยนต์ที่ใช้อยู่ภายในสำนักงานใหญ่ของ Volkswagen ในเมือง Wolfsburg ได้ทดลองใช้เชื้อเพลิงชนิดใหม่ที่ผลิตได้จากโรงงานนำร่องของ Choren แล้ว โดยบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ดังกล่าว มีแผนจะสร้างโรงงานเต็มรูปแบบในปี 2007 ซึ่งจะทำให้สามารถลดพื้นที่เพาะปลูกพืชที่นำมาใช้ผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพได้
Volkswagen ยังให้เงินสนับสนุนการวิจัยพัฒนาพืชโตเร็วต่างๆ เช่น ต้น willow และต้น poplar แบบโตเร็ว ดอกทานตะวัน 50 หัว และข้าวโพดที่โตเร็วกว่าปกติ 3 เท่า
ส่วนสหรัฐฯ ก็กำลังจะใช้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ เพื่อให้สามารถ ผลิตเอทานอลให้ได้สัดส่วนถึง 30% ของการใช้น้ำมันเบนซินในปัจจุบันภายในปี 2030 โดยไม่จำเป็นต้องเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกพืชเชื้อเพลิงชีวภาพ หรือกระทบการเพาะปลูกพืชที่เป็นอาหารมนุษย์
แต่ข่าวที่น่าประหลาดใจที่สุดอาจจะเป็นการที่เชื้อเพลิงชีวภาพ อาจจะทำให้การพัฒนาเชื้อเพลิงไฮโดรเจนกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น ซึ่งขณะนี้การตื่นตัวในเชื้อเพลิงชีวภาพก็ได้ทำให้ยุคของไฮโดรเจนต้องล่าช้าออกไปเป็นอีก 30 ปีข้างหน้าแล้ว เมื่อทั่วโลกล้วนแต่เจริญรอยตามบราซิล ในการหันมาส่งเสริมการผลิตเอทานอล ยิ่งเมื่อเทคโนโลยีในการผลิตเอทานอลพัฒนาขึ้น และคนหันมานิยมใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่รวมการพัฒนาเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ ที่สามารถใช้ทดแทนน้ำมัน การพัฒนาเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนก็อาจไม่จำเป็นอีก ต่อไป หรืออย่างมาก เชื้อเพลิงชีวภาพก็อาจจะเป็นยุคที่เชื่อมระหว่าง ยุคน้ำมันปิโตรเลียมไปสู่ยุคไฮโดรเจนก็เป็นได้
แปลและเรียบเรียงจาก
Newsweek August 8, 2005
โดย เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์
|
|
|
|
|