ธปท. เตรียมงัดกฎหมาย ปว. 58 เอาผิดกับผู้ประกอบการนอนแบงก์ 74 รายที่ยังไม่ยื่นขออนุญาตประกอบธุรกิจกับแบงก์ชาติ หลังจากหมดเขตเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ระบุโทษสูงสุดจำคุก 1-3 ปี พร้อมห่วงการปล่อย กู้ของบุคคลธรรมดาที่ธปท.ไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ ด้าน "พินิจ" สั่งตรวจใบปลิวโฆษณา เงินด่วนข้อความเลิศหรู "สคบ." รับลูกประสานผวจ.ทั่วประเทศเก็บใบปลิวตามเสาไฟฟ้า เผยมีลูกหนี้รายเดียวถือบัตรเครดิต 11 ใบ รูดจนเพลินไม่มีปัญญาจ่ายต้องหันให้รัฐช่วยแฮร์คัตดอกเบี้ยและค่าปรับ
นายพงศ์อดุล กฤษณะราช ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน และตรวจสอบสถาบันเฉพาะกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ธปท.กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล เพื่อหามาตรการจัดการกับบริษัทประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล (นอนแบงก์) ที่ไม่ได้ยื่นขออนุญาตกับ ธปท. หลังจากที่เปิดให้ยื่นขออนุญาตภายใน 60 วัน ซึ่งหมดเขตไปแล้วเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้ มีบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่ยื่นเรื่องเข้ามาเพียง 26 บริษัท (รายใหม่ 1 บริษัท) จากที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมดประมาณ 100 บริษัท ส่วนที่เหลือ 74 บริษัท ยังไม่ได้มายื่นขออนุญาต หาก ธปท.มีมาตรการเข้าไป ตรวจสอบแล้วจะลงโทษตามกฎหมายของประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 (ปว.58) โดยมีโทษสูงสุดคือ จำคุก 1-3 ปี
โดยตามข้อกำหนดของ ธปท. ผู้ประกอบธุรกิจ สินเชื่อส่วนบุคคลรายเก่าที่ไม่ได้มายื่นขออนุญาตจดทะเบียนกับ ธปท. ภายใน 60 วันจะไม่สามารถดำเนินธุรกิจปล่อยสินเชื่อได้อีกต่อไป ดังนั้นบริษัทที่ เหลือดังกล่าวอาจละเมิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลของ ธปท. คือ ประกอบธุรกิจอยู่ทั้งที่ไม่มีใบอนุญาต "
ขณะนี้ ธปท.ยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบบริษัทที่ไม่มาจดทะเบียน ว่าสาเหตุเป็นเพราะเขารู้แต่ไม่มา ขออนุญาตหรือไม่รู้จริงๆ ตอนนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการ ธปท. กำลังดูอยู่ เพราะมันยากที่จะเข้าไปจัดการกับพวกนี้ ต้องมีหลักฐานที่ชัดเจนว่าเขาผิดยังไง" นายพงศ์อดุลกล่าว
นอกจากนี้ ธปท.ยังเป็นห่วงในกรณีการปล่อย กู้โดยบุคคลที่ ธปท.ไม่สามารถเข้าไปควบคุมได้ เนื่อง จากถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล และ ธปท.จะควบคุมได้เฉพาะนิติบุคคลที่ทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งนี้ นอกจากที่มาจดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ไว้ก่อนหน้านี้แล้ว เชื่อว่ายังมีอีกหลายบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลโดยไม่ถูกกฎหมาย
ด้านนายสามารถ บูรณวัฒนาโชค ผู้อำนวยการ สายนโยบายความเสี่ยงและวิเคราะห์ ธปท. กล่าวย้ำว่า นอนแบงก์ที่ไม่ได้มายื่นขออนุญาตภายในกำหนดระยะเวลาของ ธปท. จะไม่สามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลได้อีกต่อไป แต่ ธปท.ยังเปิดโอกาส ให้ติดต่อขออนุญาตกับ ธปท.ได้ และพร้อมที่จะพิจารณา รวมถึงผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการจะทำธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลด้วย แต่ระหว่างที่รอใบอนุญาตจะยังไม่สามารถประกอบธุรกิจได้
สำหรับธนาคารพาณิชย์นั้นไม่จำเป็นต้องมาขออนุญาตกับ ธปท.เพราะสามารถประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลได้ตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์อยู่แล้ว เพียงแต่จะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การควบคุมการธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล
นางธาริษา วัฒนเกส รองผู้ว่าการสายเสถียร-ภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ช่วงที่ผ่านมามีทั้งผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลรายเก่า และรายใหม่เข้ามายื่นเรื่อง ซึ่งเป็นจำนวนมากพอสมควร ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ที่ต้องการทำธุรกิจสินเชื่อ ส่วนบุคคลก็คงจะทยอยส่งเรื่องเข้ามาเรื่อยๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นนอน-แบงก์ ได้แก่ บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (AEONTS) แคปปิตอล โอเค จีอี แคปปิตอล อเมริกัน เอ็กซ์-เพรส และ เซทเทเลม เป็นต้น "พินิจ" สั่งตรวจใบปลิวโฆษณาเงินด่วน
นายพินิจ จารุสมบัติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (คคบ.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เร่งตรวจสอบใบปลิวของธุรกิจบริการเงินด่วนต่างๆ ของบุคคล ธรรมดา เพราะอาจจะเข้าข่ายเป็นการโฆษณาลักษณะที่หลอกลวงผู้บริโภค เช่น ข้อความดอกเบี้ย ต่ำเพียง 1% ต่อเดือน, ไม่ต้องมีคนค้ำประกัน, กู้ได้ตั้งแต่ 5,000-300,000 บาทโดยไม่ยึดบัตร, ไม่มีค่าธรรมเนียมการใช้วงเงิน, อนุมัติภายใน 30 นาทีรับเงินสดทันที และเพียงมีบัตรเครดิต ธนาคารใดก็กู้วงเงินได้เต็มที่ เป็นต้น
"หากพบว่าไม่เป็นไปตามที่โฆษณาในใบปลิวหรือตั้งใจหลอกลวงจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ก็จะให้ดำเนินการคดีตามกฎหมายทันที" นายพินิจ กล่าว
นางสุกัญญา สันทัด ผู้อำนวยการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา สคบ. กล่าวว่า สคบ. ได้ประสานงานไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ ให้ดำเนินการเก็บ และห้ามปรามให้ติดใบโฆษณาของธุรกิจบริการเงินด่วนตามเสาไฟฟ้า, ตู้โทรศัพท์ และที่สาธารณะ เพราะกลัวจะทำให้ผู้บริโภคถูกหลอก เนื่องจากมีลักษณะไม่น่าเชื่อถือ และที่สำคัญเป็นการ เพิ่มจำนวนขยะในพื้นที่ด้วย
ทั้งนี้ ต้องการให้ประชาชนที่มีปัญหาการเงินควร กู้เงินจากบริษัทที่น่าเชื่อถือและถูกต้องตามกฎหมาย ดีกว่า เพราะปัจจุบันกู้ง่าย และที่สำคัญมีปัญหาเรื่อง ถูกหลอกลวงน้อยกว่าแต่หากไม่จำเป็นการใช้เงินจริงๆ หรือนำเงินไปใช้จ่ายในลักษณะฟุ่มเฟือย สคบ. ไม่อยากให้กู้เงินเพราะจะมีปัญหาเรื่องของดอกเบี้ยและค่าปรับตามมาภายหลัง เช่น ผู้บริโภครายหนึ่งมี บัตรเครดิตของธนาคารต่างๆ 11 ใบ แต่ไม่สามารถ ชำระหนี้ได้ทันก็เลยมาร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่กองสัญญาให้เชิญบริษัทมาเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอลดดอกเบี้ย และธรรมเนียมค่าปรับลง
สำหรับประเด็นการร้องเรียนบัตรเครดิตส่วนใหญ่ เช่น ได้ยกเลิกการใช้บัตรไปแล้วแต่มีการเรียก เก็บค่าธรรมเนียม, บัตรเครดิตสูญหาย แต่มีค่าใช้จ่าย เกิดขึ้นภายหลัง,ผู้ร้องไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามใบแจ้งยอดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น, ซื้อสินค้าแต่ทางร้านที่จำหน่ายสินค้าทำรายการซ้ำ,บริษัทต่อสมาชิกบัตร แต่ผู้ร้องไม่ยินยอม,ไม่ได้รับความเป็นธรรมเกี่ยวกับเครดิตบูโร และธนาคารยึดเงินในบัญชีเงินฝาก โดย อ้างว่าเป็นการชำระหนี้ที่เกิดจากการใช้บัตร เป็นต้น
รายงานข่าวจาก สคบ. กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการเงินด่วนเน้นสินเชื่อกับลูกค้าระดับล่างและระดับกลาง โดยใช้วิธีการโฆษณาในแง่ที่ดีแต่ก็ทำให้เกิดความเข้าใจผิดจำนวนมากดังนั้นจึงขอเตือน ให้ประชาชนระมัดระวังการกู้เงินด่วนให้มาก โดยเฉพาะการอ่านรายละเอียดของเงื่อนไขก่อนเซ็นสัญญา
|