แม้ธนาคารไทยพาณิชย์จะใช้เวลายาวนานไปกับการวางรากฐานระบบ IT แต่จนถึงวันนี้โครงสร้างของ
Core Banking ที่ใช้เวลาทำมานาน ก็ยังไม่นิ่งพอ
เมื่อเปลี่ยนจากยุคของวิชิต ญาณอมร อดีตรองผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานเทคโนโลยีและปฏิบัติการ
มาสู่ยุคของจรัมพร โชติกเสถียร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานเทคโนโลยี การสร้างความสมบูรณ์ให้กับระบบ
Core Banking จึงเป็นภารกิจที่ยังต้องทำต่อเนื่อง
"Architecture map ของไทยพาณิชย์เปลี่ยนจากระบบเก่าเยอะมาก ไม่ต่ำกว่า
1 ใน 3 ที่ถูกเปลี่ยน" จรัมพร โชติกเสถียร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ สายงานเทคโนโลยี
ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าว
โครงสร้างระบบไอที ที่เคยมุ่งเน้นพัฒนา application software จากภายในเป็นสิ่งที่ธนาคารแห่งนี้เคยเชื่อว่า
ธนาคารเริ่มต้นอินเทอร์เน็ตได้ก่อนใคร แต่นั่นอาจไม่เหมาะกับปัจจุบัน ความหลากหลายของอุปกรณ์ปลายทาง
มาตรฐานที่แตกต่างกัน ความซับซ้อนของการให้บริการ จำเป็นต้องอาศัยการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องรองรับได้
ตัวอย่างที่เกิดขึ้นคือ โครงสร้างพื้นฐานของระบบ IT ที่เคยเชื่อมโยงจาก
server ที่รองรับกับอุปกรณ์ปลายทางในรูปแบบต่างๆ ที่จะเข้าไปดึงข้อมูลจาก
core banking ได้โดยตรง เช่น ระบบลูกหนี้ ระบบฝากเงินที่นอกจากจะมีความอ่อนไหว
ยังไม่สามารถรองรับการใช้งานในปริมาณมากๆ ได้ ทางแก้ไขก็คือ การนำเอาระบบ
Middle ware มาเป็นหน้าด่านหน้า รองรับและกลั่นกรองคำสั่งต่างๆ ที่มาจากช่องทางการให้บริการที่หลากหลายก่อน
ไม่ต้องไปดึงจากระบบ core banking โดยตรง
เพื่อให้เท่าทันการแข่งขันกับธนาคารข้ามชาติ ที่มีประสบการณ์ และ know-how
ที่มากกว่า ธนาคารไทยพาณิชย์จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ จากการพัฒนาซอฟต์แวร์ใช้งานภายใน
มาสู่การซื้อซอฟต์แวร์ที่ได้มาตรฐานจากภายนอกมาใช้งาน และนั่นคือ ที่มาของการลงทุนระบบ
cash management ใหม่ จากระบบพัฒนาเองไปซื้อระบบจากผู้ผลิตซอฟต์แวร์ระดับโลก
นอกเหนือจากระบบ Trade finance ซื้อมาติดตั้งใหม่เมื่อปลายปีที่แล้ว ระบบ
cash management ระบบใหม่จะถูกซื้อมาติดตั้งเพื่อรองรับกับลูกค้าองค์กร และเป้าหมายในการหารายได้จากค่าธรรมเนียม
เพื่อทดแทนรายได้จากดอกเบี้ยจะเริ่มขึ้นในปลายปี รวมทั้งระบบบริหารการเงินที่จะเริ่มขึ้นในต้นปีหน้า
รวมทั้งระบบจัดการภายในที่เป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหาร ที่ใช้บริหารกำไร
profitability จะถูกนำมาติดตั้ง ผลที่เกิดขึ้นก็คือจะทำให้ผู้บริหารเห็นภาพ
360 องศาของธนาคารว่าจะมีรายได้และทำกำไรมาจากหน่วยงานใดบ้าง
แม้การลงทุนจะถูกใช้ไปสำหรับการรองรับกับช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ แต่สิ่งที่ต้องทำคู่กัน
ก็คือการปรับเปลี่ยนสาขาให้เป็นจุดขายผลิตภัณฑ์ เป็นเรื่องที่ธนาคารท้องถิ่นแห่งนี้ต้องใช้เงินมากที่สุดในช่วง
2 ปีมานี้ จึงเป็นเรื่องของการลงทุนติดตั้งระบบ FBA Navigator ที่จะติดตั้งตามเคาน์เตอร์บริการพนักงานตามสาขา
ซึ่งเป็นระบบที่สามารถรองรับทั้งงานขายและบริการอยู่ในจอเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
ซื้อเช็ค โอนเงินต่างจังหวัด ฝาก ถอนเงิน หรือแม้แต่ขายบัตรเครดิต
ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ทางการเงิน บวกกับความต้องการที่มีความสลับซับซ้อนระบบบริหารลูกค้าสัมพันธ์
CRM : Customer Relationship management เป็นระบบที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ตัดสินใจลงทุนมาตั้งแต่
2 ปีที่แล้ว เพื่อช่วยในการขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลถูกต้องและแม่นยำ
มาช่วยให้การนำเสนอขายผลิตภัณฑ์ทางการเงิน สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้ามากที่สุด
แม้ว่า การเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นแกนกลางของธนาคาร core banking ได้ถูกปรับใหม่
ซึ่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ เชื่อว่าระบบ core banking จะสมบูรณ์ในปลายปีนี้
ซึ่งอาจรวมไปถึงระบบลูกหนี้ และบัญชี ก็อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นธนาคารที่ต้องให้บริการแก่ลูกค้าทุกสถานที่ทุกเวลา
ใช้ได้กับอุปกรณ์ปลายทางได้ทุกชนิด ทำให้ธนาคารท้องถิ่นแห่งนี้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่
"ถ้าสถาปัตยกรรมดี อะไรๆ ก็คล่องตัว และเร็วไปหมด การตัดตอนระหว่างระบบหน้าบ้านกับหลังบ้าน
ตรงไหนคือ cash management ตรงไหนคือระบบลูกหนี้ ถ้าเราตัดตอนถูก การออกผลิตภัณฑ์ก็สบาย"
จรัมพรบอก "ถ้าเราไม่มีตรงนี้งานก็ไม่เดิน"