นักวิชาการยำใหญ่เอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เผยเซ็นสัญญาปุ๊บไทยขาดดุลการค้าทันที 1.45 แสนล้านบาท เพราะญี่ปุ่นที่ดูเหมือนจะเปิดตลาดให้สินค้าไทยมาก และไทยเปิดให้น้อย แต่ไส้ในมูลค่ากลับต่างกันลิบลับ เสนอแนะ "ทักษิณ" ตั้งสำนักงานดูแลมาตรฐานสินค้านำเข้าเป็นวาระแห่งชาติ สกัดสินค้าด้อยคุณภาพภายใต้เอฟทีเอเข้าถล่มไทย ส.อ.ท.เผยล่าสุดแหล่งกำเนิดสินค้าเกษตรอีก 229 รายการยังคุยไม่จบ ด้าน "พิศาล" ถูกนายกฯ เรียกตัวด่วน หมดโอกาสชี้แจง เกษตรกรภาคเหนือถอดบทเรียนเจ็บปวดเปิดเสรีค้าไทย-จีน
นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยในการสัมมนา FTA ไทย-ญี่ปุ่น : ประเทศไทยจะได้ประโยชน์หรือผลกระทบอะไร ที่จัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ วานนี้ (24 ส.ค.) ว่า ในปี 2547 ที่ผ่านมา ไทยขาดดุลการค้ากับญี่ปุ่นเป็นมูลค่า 350,000 ล้านบาท และขาดดุลมาตลอด 30 ปี ตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา ดังนั้น จึงอยากให้รัฐบาลชี้แจงว่าในการทำเอฟทีเอกับญี่ปุ่นเพื่ออะไร ต้องการแค่การขยายตัวของมูลค่าการค้า การขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือสามารถลดการขาดดุลการค้าต่อญี่ปุ่นได้หรือไม่
ทั้งนี้ แม้การทำเอฟทีเอ ญี่ปุ่นจะเปิดตลาดสินค้าและบริการให้ไทยจำนวนมาก เมื่อเทียบกับจำนวนรายการสินค้าที่ไทยเปิดตลาดให้ญี่ปุ่น แต่มูลค่าการส่งออกสินค้าที่ญี่ปุ่นเปิดให้ไทยนั้นน้อยมากเมื่อเทียบกับสินค้าที่ไทยเปิดให้ญี่ปุ่น โดยสินค้าที่ญี่ปุ่นเปิดให้ไทยมีมูลค่าส่งออกรวม 85,000 ล้านบาท แต่ไทยเปิดให้ญี่ปุ่น 230,000 ล้านบาท
"เมื่อเปิดเอฟทีเอ คิดในส่วนของสินค้าที่จะมีการเปิดตลาดให้แก่กัน ไทยจะขาดดุลการค้าทันที 145,000 ล้านบาท ซึ่งแสดงให้เห็นว่าที่ญี่ปุ่นเปิดตลาดให้ไทยดูเหมือนจะมาก และไทยเปิดให้ญี่ปุ่นน้อย แต่เมื่อดูมูลค่าการค้าขายระหว่างกัน ไทยเสียเปรียบมาก"นายอัทธ์กล่าว
นายอัทธ์กล่าวว่า สำหรับสินค้าเกษตรที่มีการพูดกันในเรื่องกฎแหล่งกำเนิดสินค้า ซึ่งเห็นด้วยว่าไทยอย่าไปยอม ถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ไม่ต้องเซ็นสัญญา และอยากจะขอเตือนว่ารัฐบาลเคยคำนึงหรือไม่ว่าญี่ปุ่นมีกฎหมายที่เป็นมาตรการกีดกันการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) มาก โดยเฉพาะมาตรการสุขอนามัยพืชและสัตว์ ซึ่งครอบคลุมทั้งอาหาร พืช ยา โรคสัตว์ โดยสินค้าไทยยังไม่ผ่านมาตรการนี้เลย ที่สำคัญไม่ได้มีการนำเรื่องนี้มาอยู่บนโต๊ะเจรจา แม้จะเปิดเอฟทีเอก็ไม่มีประโยชน์เพราะสินค้าไทยยังถูกกีดกันนำเข้าอยู่ดี
"รัฐบาลไทยจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องมาตรฐานสินค้าทั้งเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ โดยจะต้องจัดเป็นวาระแห่งชาติ มีการจัดตั้งหน่วยงานขึ้นมาดูแลโดยเฉพาะ และอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกหารือภาคเอกชนทั้งสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เพื่อร่วมกันหามาตรการดูแลเรื่องมาตรฐานสินค้าที่จะนำเข้าภายใต้เอฟทีเอ" นายอัทธ์กล่าว
นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานส.อ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ยังมีสินค้าเกษตรอีก 229 รายการจากทั้งหมด 727 รายการที่ยังตกลงเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าไม่ได้ หรือคิดเป็นมูลค่าส่งออกสินค้าดังกล่าว 42,000 ล้านบาทจากมูลค่าส่งออกรวม 727 รายการ 72,000 ล้านบาท ซึ่งหากตกลงกันได้ จะทำให้มูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรของไทยไปญี่ปุ่นได้มากกว่านี้
ส่วนการเปิดเสรีในกลุ่มไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์นั้น ส.อ.ท.มองว่า ปัจจุบันนี้ญี่ปุ่นลงทุนในจีนเป็นอันดับ 1 รองลงมา คือไทย และกว่า 40% ของนักลงทุนที่ญี่ปุ่นที่ลงทุนในไทยเป็นกลุ่มยานยนต์ และอีก 20% เป็นกลุ่มไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งผลจากเอฟทีเอจะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถยนต์ อะไหล่ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในภูมิภาคนี้ได้ ซึ่งจะมีเงินไหลเข้ามากมาย แต่ทั้งนี้ ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้ประกอบการของไทยจะปรับตัวให้มีความ สามารถในการแข่งขันได้อย่างไร
"ในเรื่องของภาษีที่จะสูญทันที 10,000 ล้านบาทในปีแรก และเสียรายได้ภาษี 42,000 ล้านบาทในอีก 10 ปีข้างหน้า ไม่อยากให้มองอย่างนั้น เพราะญี่ปุ่นเองก็จะเสียรายได้จากการปรับลดภาษีให้ไทยเช่นกัน แต่ผู้ผลิตจะได้ประโยชน์ในแง่ของการลดต้นทุนการผลิต ที่จะมีแหล่งวัตถุดิบราคาถูก นำเข้ามาผลิตสินค้าเพื่อส่งออก ส่วนผู้บริโภคจะได้บริโภคสินค้าที่ราคาถูกลง"นายสมพงษ์กล่าว
ทั้งนี้ ตามกำหนดการสัมมนาครั้งนี้ นายพิศาล มาณวพัฒน์ รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น จะต้องมาร่วมในการบรรยายด้วย แต่ทางฝ่ายผู้จัดได้แจ้งว่านายพิศาลถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกพบกะทันหันที่ทำเนียบรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถมาชี้แจงได้ จึงทำให้การสัมมนาในวันนี้ จึงมีแต่ภาคเอกชนและนักวิชาการที่พูดถึงการทำเอฟทีเอไทย-ญี่ปุ่น เป็นครั้งแรก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้จัดงาน และได้มีการเปลี่ยนกำหนดการพูดของเอกชนและนักวิชาการออกกระทันหัน
ภาคเกษตรรับผลกระทบค้าเสรีเต็มๆ
ในวันเดียวกันนี้ นายพิษณุ เหรียญมหาสาร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเสวนาวิชาการเรื่องการค้าเสรี : ตัวแปรแนวโน้มเกษตรกรรมในภูมิภาค จัดโดยชมรมศิษย์เก่าบูรณะชนบทและเพื่อน ว่า การทำเอฟทีเอไทย – จีน ไม่มี เพราะการเปิดเสรีที่เกิดขึ้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเก็บเกี่ยวล่วงหน้า Early Harvest Program ตามข้อตกลงเปิดค้าเสรีอาเซียน-จีน ที่จะมีการลดภาษีลงเหลือ 0-5% ภายในปี 2010 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนเก่า 6 ประเทศ และ ภายในปี 2015 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนใหม่ และจะยังมีการลดภาษีแบบ Fast track สำหรับประเทศในกลุ่มอาเซียนภายในปี 2007
ส่วนผลกระทบที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากกรณีการนำเข้ากระเทียม แท้จริงแล้วไม่ได้เกิดขึ้นจากการเปิดเสรีไทย-จีน เพราะกระเทียมยังเป็นสินค้าอ่อนไหวที่ได้รับการปกป้องภายใต้มาตรการโควตาภาษีขององค์การการค้าโลก โดยมีการควบคุมโควตานำเข้าไว้ที่ 100 ตัน จ่ายภาษีที่ร้อยละ 20% ส่วนการนำเข้าเกินโควตายังต้องเสียภาษีในอัตราสูงคือ 57% ดังนั้น การที่ราคากระเทียมตกต่ำจึงไม่ได้เป็นผลกระทบจากการเปิดเสรีแต่อย่างใด
นายพิษณุ ยังกล่าวว่า ภายใต้การเปิดเสรีอาเซียน-จีนยังยืดหยุ่นให้มีการกำหนดรายการสินค้าอ่อนไหวอีกประเทศละ 400 รายการ ซึ่งแต่ละประเทศสามารถกำหนดสินค้านั้นได้เอง ในท้ายที่สุด เกษตรกรต้องปรับตัว และหากปรับตัวไม่ได้ก็ต้องหันไปผลิตอย่างอื่น
ด้านนางสาวสุพาณี ธนีวุฒิ นักวิจัยจากชมรมศิษย์เก่าฯ กล่าวว่า หลังการลงนามเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ในปี 1992 ยังมีความพยายามผลักดันเปิดเสรีในอีกหลายข้อตกลงทั้งระดับองค์การการค้าโลก และระดับทวิภาคี น่าสังเกตว่า ประเทศที่เป็นสมาชิก WTO ส่วนใหญ่จะมีการเปลี่ยนแปลงด้านความร่วมมือทางเศรษฐกิจเข้มข้นมากกว่าประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกอย่างลาว หรือเวียดนาม แต่ทิศทางแนวโน้มล้วนมุ่งสู่การเปิดเสรีทั้งสิ้น
ส่วนผลของการเปิดเสรีในระยะ 12 ปีที่ผ่านมา ไม่พบความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจระดับมหภาคที่ชัดเจน การส่งออกและนำเข้าสินค้าภายในกลุ่มอาเซียนมีความเปลี่ยนแปลงน้อย ยังคงพึ่งพาเศรษฐกิจ/การลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้น การเปิดเสรีจึงเป็นการทำให้อาเซียนพึ่งพาภายนอกมากกว่าการสร้างความเข้มแข็งภายใน แต่ผลกระทบต่อเกษตรกรชัดเจน แม้จะไม่สามารถกล่าวได้ว่าเป็นผลจากเขตการค้าเสรีอาเซียนโดยตรงแต่พบว่าเกษตรกรอยู่ในภาวะยากจน เป็นหนี้ และไม่มีอำนาจต่อรอง ซึ่งเป็นลักษณะร่วมของเกษตรกรทั้งภูมิภาค
วิ่งตามตลาดบทเรียนล้มเหลวซ้ำซาก
นางดวงทิพย์ ต๊ะวนา เกษตรกรจากอำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ในอดีตเคยทำนาปลูกข้าว และปลูกลำไยที่หัวไร่ปลายนา ซึ่งเมื่อลำไยมีราคาดีขึ้นก็เปลี่ยนที่นามาเป็นสวนลำไย แต่มาถึงปัจจุบันราคาลำไยเหลือเพียงกิโลกรัมละ 4-5 บาท ทั้งที่เคยขายได้มากกว่ากิโลกรัมละ 160 บาท ทำให้เป็นหนี้
เกษตรกรอำเภอสารภี บอกว่า สภาพตลาดลำไยปัจจุบันถูกควบคุมโดยพ่อค้าคนจีนเกือบหมดแล้วหลังจากที่มีการเปิดเสรีมีพ่อค้าจีนจำนวนมากเข้ามาลงทุนซื้อลำไยจากเกษตรกรเพราะมีสายต่อทางการตลาดโดยตรงกับตลาดในประเทศจีน ซึ่งในระยะแรกจะซื้อลำไยในราคาแพงกว่าพ่อค้าไทยเล็กน้อย แต่ต่อมาเมื่อควบคุมตลาดได้ก็กดราคาลง ราคาลำไยปัจจุบันสามเกรด AA, A และ B อยู่ที่ 9, 4 และ 2 บาท มานานกว่า 2 ปีแล้ว พ่อค้าไทยที่เคยรับซื้อ ก็ขาดทุนทำให้เลิกซื้อ สาเหตุของการขาดทุนมาจากสินค้าถูกตีกลับด้วยมาตรการที่ไม่ใช้ภาษี เมื่อขาดทุนซ้ำกันเพียง 2 ฤดูก็หมดเงินทุนที่จะมาซื้อลำไยจากชาวบ้านอีก ทำให้ปัจจุบันทำให้เหลือแต่พ่อค้าจีนเข้ามารับซื้อ
“การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรบอกว่านำพ่อค้าจีนเข้ามาซื้อลำไยและแก้ไขปัญหาราคาลำไยตกต่ำ ขอยืนยันว่าพ่อค้าที่เข้ามาเป็นพ่อค้าจีนเดิมที่เข้ามารับซื้ออยู่แล้วไม่ได้เป็นเจ้าใหม่” นางดวงทิพย์ กล่าว
นอกจากนี้ มาตรการที่ให้เงินกู้กับสหกรณ์เพื่อมาซื้อลำไยในราครที่สูงกว่าราคาตลาดกลับเป็นการทำให้เกษตรกรมีภาระ เพราะเมื่อซื้อลำไยไปแล้วไม่ทราบว่าจะเอาลำไยไประบายที่ไหนเนื่องจากว่าตลาดในเมืองจีนมีผลผลิตราคาถูกที่พ่อค้าจีนซื้อไว้อยู่แล้ว หลายสหกรณ์จ่ายเพียงใบประทวนสินค้าไม่ได้จ่ายเงินสดให้กับเกษตรกรเพราะไม่ต้องการขาดทุน
“นโยบายที่รัฐให้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตามความต้องการของตลาด เป็นบทเรียนซ้ำซากที่เรารู้อยู่แล้ววันนี้สิ่งที่บอกกับเพื่อนเกษตรกรคือการรักษาตัวรอด ปลูกเพื่ออยู่เพื่อกินให้ได้จะให้ไปแข่งขันไม่มีทางชนะ” นางดวงทิพย์ กล่าว
|