Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ ตุลาคม 2545








 
นิตยสารผู้จัดการ ตุลาคม 2545
กำแพงเมืองจีนกำลัง "พังทลาย"             
 





หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ของโลกกำลัง "พังทลาย" ลงทีละน้อย ด้วยไม่อาจต้านทานพลังทำลาย อันร้ายกาจของธรรมชาติและ ความเจริญทางเศรษฐกิจ

ความยิ่งใหญ่ของกำแพงเมืองจีนยังไม่อาจเทียบได้กับคำร่ำลือต่างๆ นานาเกี่ยวกับตัวมันเองได้ แม้แต่เพียงข้อเท็จจริงที่ไม่เกินจริงเกี่ยวกับกำแพงเมืองจีน ก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่ใครก็ตามที่ได้รู้ คำกล่าวขวัญอันเกินจริงทั้งหลายเกี่ยวกับสิ่งมหัศจรรย์ของโลกแห่งนี้ เริ่มมาจากเจ้าของกำแพงฯ เอง

ชาวจีนเรียกกำแพงเมืองจีนว่า "กำแพงหมื่นลี้" ซึ่งเกินความจริงไปมาก ถึงแม้ว่าความยาวที่แท้จริงของกำแพงเมืองจีนจะยาวถึงขนาดจากกรุง Paris ไปถึงกรุง Karachi เมืองหลวงของปากีสถานก็ตาม ที่ว่ากำแพงเมืองจีนสร้างมาตั้งแต่ 2,000 ปีก่อนก็เป็นการพูดอย่างคลุมเครือ เพราะ อันที่จริงบางส่วนของกำแพงฯ ยังมีอายุเก่าแก่ยิ่งกว่านั้นอีกหลายร้อยปี และความจริงอีกอย่างที่คนไม่ค่อยรู้ก็คือ กำแพงเมืองจีนหา ใช่กำแพงเดี่ยวๆ ที่สร้างขึ้นในคราวเดียวกันไม่ หากแต่ประกอบ ขึ้นด้วยป้อมปราการนับสิบๆ แห่ง ที่ตั้งอยู่ใกล้ชิดกันมากอย่างไร้ระเบียบ กำแพงเมืองจีนเพิ่งจะเป็นอย่างที่เราเห็นกันทุกวันนี้กล่าว คือ เชื่อมต่อเป็นแนวเดียวกันในยุคราชวงศ์หมิงนี้เอง ซึ่งมีอายุราชวงศ์อยู่ระหว่างปี 1368-1644 คำร่ำลือเกี่ยวกับกำแพงเมืองจีนที่เคยได้ยินกันอยู่บ่อยๆ อีกเรื่องหนึ่งก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน นั่นคือ เราไม่สามารถมองเห็นกำแพงเมืองจีนได้จากบนดวงจันทร์

ที่น่าเศร้าไปกว่านั้น เรากำลังจะไม่เห็นกำแพงเมืองจีนจากบนโลกด้วยเช่นกัน เพราะขณะนี้กำแพงเมืองจีนกำลังพังทลายลงทีละน้อย ด้วยไม่อาจต้านทานพลังทำลายอันร้ายกาจของ ธรรมชาติและกระแสพัฒนาเศรษฐกิจได้ ทะเลทราย ความเจริญเศรษฐกิจ และนักท่องเที่ยวกำลังกลืนกินประเทศจีน

ในปีนี้กองทุน World Monuments Fund ซึ่งตั้งอยู่ใน New York ได้เพิ่มเติมกำแพงเมืองจีนเข้าอยู่ในรายชื่อ "โบราณสถานที่ใกล้สูญสลาย" (most endangered sites) ของตนเป็นครั้งแรก "ปกติแล้ว เป็นเรื่องยากมากที่จะมีสถานที่ที่มีชื่อเสียงระดับโลก ปรากฏอยู่ในรายชื่อสถานที่ที่ใกล้จะ 'สูญพันธุ์' เพราะคนทั่วไปมักไม่ค่อยเชื่อว่า สถานที่ที่โด่งดังขนาดนั้นจะตกอยู่ในสภาพที่ต้อง การความช่วยเหลือจริงๆ" Bonnie Burnham ประธานกองทุน ดังกล่าวให้ความเห็น

แต่กำแพงเมืองจีนกำลังต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจริงๆ ปัญหาคือ "จะเริ่มที่ตรงไหน เพราะมันยาวมากเหลือเกิน" คือคำกล่าวของ William Lindesay นักอนุรักษ์ชาวอังกฤษ ผู้กำลังพยายามอย่างยิ่งยวด ที่จะช่วยชีวิตกำแพงเมืองจีน อย่างน้อยก็ในส่วนที่ยังเป็นกำแพงของแท้แต่ดั้งเดิมโดยยังไม่ได้ถูกบูรณะขึ้นใหม่ รวมไปถึงภูมิทัศน์โดยรอบกำแพงบริเวณใกล้กรุงปักกิ่ง ให้คงสภาพธรรมชาติไว้ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ Lindesay เรียกความพยายามของตัวเองว่า "โครงการอนุรักษ์โบราณสถานที่ใหญ่ที่สุดที่ท้าทายที่สุดในโลก"

โอลิมปิก 2008 ที่จีนจะเป็นเจ้าภาพ ทำให้ประเด็นการฟื้นฟูบูรณะมรดกทางวัฒนธรรมกลายเป็นประเด็นร้อนแรงในจีนขณะนี้ จีนมุ่งมาดปรารถนาอย่างยิ่งยวดที่จะอวดความเป็นสุดยอด ของตนต่อชาวโลกในโอกาสอันงามนั้น แต่น่าเสียดาย ที่ในความคิด ของทางการจีนกลับเห็นว่า วิธีที่จะทำให้ตนดูดีในสายตาชาวโลก คือการรื้อทำลายสิ่งที่เป็นของแท้แต่โบราณ แล้วสร้างมันขึ้นมาใหม่ โดยคิดว่านั่นคือการบูรณะของเก่า

เกือบ 20 ปีก่อน เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำสูงสุดของจีนผู้ล่วง ลับไปแล้ว ได้ริเริ่มการรณรงค์ระดับชาติเพื่อฟื้นฟูบูรณะกำแพงเมืองจีน โดยมีคำขวัญว่า "รักประเทศชาติ ร่วมบูรณะกำแพงหมื่นลี้" ในเวลานั้น 2 ใน 3 ของสัญลักษณ์ประจำชาติจีนอันยิ่งใหญ่แห่งนั้น ได้พังทลายกลายเป็นเพียงกองดินกองอิฐไปเรียบร้อย แล้ว หลังจากยืนหยัดผ่านสงคราม ลมฟ้าอากาศ และการสร้างความเสียหายต่อกำแพง อย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของชาวจีนมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยชาวบ้านผู้ยากไร้ได้รื้อเอาอิฐของกำแพงฯ ไป สร้างบ้านและเล้าหมู

ส่วนแรกของกำแพงที่ได้รับการบูรณะในครั้งนั้นคือบริเวณ Badaling ซึ่งอยู่ในเขตภูเขาห่างจากกรุงปักกิ่งไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 72 กิโลเมตร Zhang Jianxin เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานดูแลมรดกทางวัฒนธรรมของทางการจีน ยังคงจำได้ดีถึง ภาพกำแพงเมืองจีนที่ยังบริสุทธิ์ผุดผ่องตามธรรมชาติของบริเวณ นั้น เมื่อปี 1979 เมื่อครั้งที่เขาสำรวจรอบๆ บริเวณกำแพงฯ ด้วย การขี่จักรยาน ซึ่งต้องใช้เวลาถึงสัปดาห์เต็มๆ และยังได้เผชิญกับ หมาป่าด้วย

แต่วันนี้บริเวณดังกล่าวได้กลายเป็นกึ่งสวนสนุกกึ่งสถานที่จัดงานเทศกาล และกึ่งศูนย์การค้า ที่บริหารโดยบริษัทแห่งหนึ่งที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในฮ่องกงไปเสียแล้ว พื้นที่โดยรอบกำแพงคลาคล่ำไปด้วยรถบัสท่องเที่ยว แผงขายเสื้อเชิ้ต และขาตั้งโชว์รูปถ่ายนักท่องเที่ยวกำลังขี่อูฐ รวมทั้งรูปปั้นผู้พัน Sanders ขนาด เท่าคนจริง ที่ยืนยิ้มแฉ่งหิ้วตะกร้าใหญ่ยักษ์ที่เต็มไปด้วยไก่ทอด KFC เดี๋ยวนี้ Zhang พยายามที่จะไม่เฉียดกรายไปแถวนั้นอีกเลย "กลิ่นอายของประวัติศาสตร์ไม่มีเหลืออีกแล้ว" เขากล่าวอย่างอาลัย

แต่เหล่าผู้กุมอำนาจในปักกิ่งดูเหมือนจะไม่แคร์ เพราะกำแพงเมืองจีนคือตัวทำเงินเข้าประเทศ ส่วนต่อไปของกำแพงฯ ที่ถูกบูรณะต่อจากนั้นคือส่วนที่เปิดให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปชมได้อีกแห่งหนึ่ง ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองหลวงไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ 97 กิโลเมตรที่ Mutianyu ที่นี่นักท่องเที่ยวสามารถนั่งกระเช้าลอยฟ้าขึ้นไปยังส่วนบนสุดของกำแพง ส่วนขาลงสามารถไถลลงมาตามทาง ภูเขาด้วยเลื่อน จึงไม่น่าแปลกใจแต่อย่างใดที่ Larry Summers อธิการบดี Harvard University ต้องถึงกับออกปาก เมื่อครั้งที่เขาเดินทางมาเยือน กำแพงเมืองจีนส่วนที่ใกล้กรุงปักกิ่งในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า "รถโกคาร์ท สวนสนุกแบบ Disney Land ซุ้มประตูสีทอง อย่างนี้จะดีหรือ" พร้อมกับทอดถอนใจ

จะดีหรือไม่ก็ตาม แต่คลื่นความทันสมัยกำลังถาโถมเข้าซัดกำแพงเมืองจีนอย่างหนักหน่วง และไม่แต่เฉพาะกำแพงฯ ส่วนที่ตั้งอยู่ใกล้เมืองหลวงเท่านั้น ที่สุดปลายของกำแพงเมืองจีนทางทิศตะวันออก ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงปักกิ่งไปประมาณ 320 กิโลเมตรและจรดทะเลจนดูเหมือนกำแพงฯ ผุดขึ้นมาจากทะเล จนคนจีนเรียกขานว่า "หัวมังกร" กำแพงฯ ส่วนนี้เหลือแต่ฐานรากของแท้เพียงบางส่วน

อกนั้นเป็นส่วนที่ถูกสร้างขึ้นใหม่ในช่วงปลายทศวรรษ 1980 หัวมังกรของจริงนั้นถูกรื้อทำลายไปด้วยน้ำมือของคณะสำรวจจากยุโรป ตั้งแต่ปี 1900 ทุกวันนี้ บริเวณกำแพงฯ ส่วนนี้ซึ่งตั้งอยู่ใกล้ Shanhaiguan เต็มไปด้วยคนขายของที่ระลึกที่แย่งกันยื่นสินค้าพรวดมาจ่อหน้าคุณ และ พยายามตื๊อให้ถ่ายรูปในชุดฮ่องเต้โบราณหรือชุดนายพลสมัยใหม่เป็นที่ระลึก เท่านั้นยังไม่พอ ใกล้หัวมังกรยังมีชิงช้ายักษ์ที่เรียกว่า Dragon Boat เครื่องเล่นสไตล์สวนสนุกสมัยใหม่ที่มีลีลาโล้หน้าโล้หลัง ชนิดทำมุมตั้งฉากกับพื้นอย่างน่าเสียวไส้ในความปลอดภัยของคนนั่ง

แต่การท่องเที่ยวที่ไร้รสนิยมยังไม่ใช่ปัญหาที่หนักที่สุด ที่รุมเร้ากำแพงเมืองจีนอยู่ในขณะนี้ หากแต่เป็นความเฉยเมยของคนจีนต่างหาก ทั้งที่มาจากชาวบ้านยากไร้ที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ กำแพงเมืองจีน ที่ต้องการเงินในกระเป๋าของนักท่องเที่ยวมาต่อชีวิตไปวันๆ และจากเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ยินดีเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ กับการทำผิดกฎหมายอนุรักษ์โบราณวัตถุสถาน ซึ่งก็มีอยู่น้อยยิ่งกว่าน้อยอยู่แล้ว เพื่อแลกกับเงินสินบน

ความจริงแล้ว ส่วนใหญ่ของกำแพงเมืองจีนยังไม่ได้ถูกบูรณะ แต่ยังคงสภาพของแท้แต่ดั้งเดิมอยู่ ทั้งยังตั้งอยู่ท่ามกลางภูมิทัศน์ธรรมชาติ จึงยังคงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เอาไว้อย่างเต็มเปี่ยม แม้จะอยู่ในสภาพที่ชำรุดทรุดโทรม คำถามคือ สภาพอันบริสุทธิ์นี้จะรอดพ้นเงื้อมมือของกระแสการพัฒนาไปได้อีกกี่น้ำ

ทุกวันนี้ ไม่ว่านักท่องเที่ยวจะแวะพักที่จุดไหนบนกำแพงฯ ก็จะต้องพบเห็นเศษขยะเกลื่อนกลาด ตัวหนังสือและภาพที่ขีดเขียนเลอะเทอะบนกำแพงโดยพวกมือบอน และรถม้าสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชาวบ้านยากจนเสนอเป็นบริการ แม้แต่ส่วนของกำแพง ที่น่าชมมากที่สุดแห่งหนึ่งคือ หมู่บ้าน Huanghuacheng ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากปักกิ่งไปทางเหนือเพียง 64 กิโลเมตร อันมีเชิงเทินเก่าแก่อายุ 500 ปีตั้งอยู่ ก็กลายเป็นที่ตั้งบูธขายน้ำอัดลม

บ่ายวันหนึ่งในฤดูร้อน ชาวบ้านพากันมาชุมนุมบนเชิงเทินแห่งนี้เพื่อจุดประทัด การขายประทัด และดอกไม้ไฟ เป็นอาชีพที่โปรดปรานที่สุดของชาวบ้านที่นี่ เพราะเป็นวิธีดูดเงินจากนักท่องเที่ยวได้ง่ายๆ หลังจากเสียงประทัดที่ดังจนหูแทบแตกสิ้นสุดลง ชาวบ้านก็พบว่าประกายไฟจากประทัดกระเด็นไปติดหญ้าแห้งๆ ที่ขึ้นอยู่บนเชิงเทิน แต่พวกเขายังคงหัวเราะเฮฮาขณะช่วยกันดับไฟที่กำลังไหม้ป้อมโบราณอย่างไม่อินังขังขอบ ครู่ต่อมา ชาวบ้านช่วยกันตั้ง "ด่านเก็บเงิน" ขึ้นมาอย่างไม่มีพิธีรีตอง สำหรับเก็บเงินค่าเข้าชมเชิงเทินจากนักท่องเที่ยว ชายคนหนึ่งถึงกับตอกประตูเหล็กหน้าตาน่าเกลียดติดตรึงกับซุ้มโค้งของเชิงเทิน กั้นเป็น มุมพักผ่อนส่วนตัวยามว่างจาก "งาน" เก็บเงินค่าเข้าชม

ความเสียหายที่เกิดกับกำแพงเมืองจีนบริเวณหมู่บ้าน Huanghuacheng นี้ยังนับว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับที่เกิดขึ้นกับกำแพงฯ ที่ตั้งอยู่ในแถบชนบทห่างไกลจากหูตาของปักกิ่ง

3 ปี ก่อนที่ Inner Mongolia คนงานก่อสร้างทางหลวงได้รื้อทำลายบางส่วนของเชิงเทินแห่งหนึ่งที่มีอายุเก่าแก่กว่า 2,000 ปี เจ้าหน้าที่หน่วยงานดูแลมรดกทางวัฒนธรรมประจำท้องถิ่นพยายามจะขัดขวาง แต่ถูกยับยั้งด้วยคำสั่งจากกระทรวงคมนาคมซึ่งมีอำนาจมากกว่า และต้องยอมให้กำแพงเมืองจีนถูกทำลายเสียหาย เพราะทางหลวงสาย 110 นี้เป็นทางหลวงที่สำคัญ มากที่เชื่อมระหว่างภาคตะวันออกของจีนกับ Tibet

แต่กำแพงทางด้านตะวันตกกำลังเผชิญปัญหาใหญ่ ที่ทรงอำนาจอิทธิพลยิ่งไปกว่าข้าราชการในปักกิ่งเสียอีก นั่นคือธรรมชาติ ขณะนี้บางส่วนของกำแพงเมืองจีนได้จมหายอยู่ใต้ทะเลทราย Gobi ซึ่งกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกทีแล้ว ผืนแผ่นดินอันแห้งผากดังกล่าว กำลังแผ่ขยายกินอาณาบริเวณทางภาคเหนือของจีนอย่างกว้างขวางขึ้นตลอดเวลา สาเหตุเนื่องมาจากการทำปศุสัตว์เกินขนาด ระดับน้ำใต้ดินลดระดับลง และการใช้ที่ดินอย่างไม่ระมัดระวังตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา

กำแพงด้านตะวันตกซึ่งเก่าแก่กว่าสมัยราชวงศ์หมิงนี้ ไม่เหมือนกับกำแพงที่สร้างในสมัยหมิงที่ใช้หินและอิฐ โดยสร้างขึ้นจากดินซึ่งขณะนี้กำลังผุกร่อนอย่างหนัก หลังจากยืนหยัดต้านทาน แรงลม พายุทะเลทราย และน้ำท่วมฉับพลัน มานานนับร้อยๆ ปี

ไม่มีใครมีมนต์วิเศษที่จะช่วยชีวิตกำแพงเมืองจีนได้ ปักกิ่งมีกฎหมายคุ้มครองกำแพงเมืองจีนส่วนที่อยู่ในอำนาจปกครองโดยตรงของตน ซึ่งมีความยาวราว 640 กิโลเมตรก็จริง แต่ไม่เคยได้รับการเคารพและปฏิบัติตาม การที่กฎหมายห้ามมิให้มีสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์ในรัศมีครึ่งกิโลเมตรจากตัวกำแพงฯ ไม่อาจยับยั้ง นักธุรกิจใน Huanghuacheng ไม่ให้สร้างภัตตาคาร โรงแรม และแม้กระทั่งสถานีฐานโทรศัพท์มือถือบนยอดของเชิงเทินโบราณได้ ทางการปักกิ่งแก้ไขปัญหานี้อย่างไรน่ะหรือ ร่างกฎหมายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น

แต่มีปัญหาบางอย่างที่แม้แต่อำนาจของกฎหมายและเทคโนโลยีสมัยใหม่ก็ยังเอื้อมไปไม่ถึง สิ่งก่อสร้างที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งบนกำแพงเมืองจีนคือด่านแห่งหนึ่งที่สร้างด้วยดิน มีความยาว 46 เมตรและกว้าง 3.6 เมตรตั้งอยู่ใน Yumenguan มณฑล Gansu ไม่ไกลจากสุดปลายของกำแพงทางทิศตะวันตกเท่าไรนัก

ด่านแห่งนี้บรรพบุรุษชาวจีนสร้างขึ้นด้วยภูมิปัญญาโบราณ พวกเขาทำอิฐโดยนำดินมาผสมกับฟาง ไม้สน ไข่แดงและแป้งเปียกที่ทำจากข้าว อิฐโบราณเหล่านี้กำลังผุกร่อนไปตามกาลเวลา โดยไม่มีลูกหลานชาวจีนคนใด ที่จะมีปัญญาซ่อมแซมมันให้กลับเป็นเหมือนเดิมได้ "เราไม่รู้วิธีทำอิฐแบบนั้นอีกแล้ว" Luo Zhewen ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกำแพงเมืองจีนรุ่นแรกๆ ยอมรับว่าจนด้วยเกล้า "เราไม่มีความสามารถจะผลิตอิฐที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับของบรรพบุรุษ"

ใกล้ๆ กัน ป้อมปราการอายุ 630 ปีที่ Jiayuguan ผุดขึ้นมาจากทะเลทรายอย่างโดดเดี่ยว ราวกับภาพลวงตากลางทะเลทราย ตัดกับความขาวโพลนของหิมะที่ปกคลุมอยู่บนเทือกเขา

Qilian ผู้รับผิดชอบการบูรณะป้อมแห่งนี้คิดว่า พวกเขาสามารถจะซ่อมแซมป้อมซึ่งกำลังผุพังให้แข็งแกร่งเหมือนเดิมได้ "พวกเขาคิดว่าซีเมนต์น่าจะใช้ได้ดีเพราะเป็นประดิษฐกรรมสมัยใหม่" ไกด์คนหนึ่งกำลังบรรยายให้นักท่องเที่ยวฟัง "แต่ซีเมนต์หนักเกินกว่าที่โครงสร้างเดิมของป้อมจะรับไว้ได้ ดังนั้น ส่วนที่สร้างขึ้นใหม่นั้นจึงพังทลายลง" บางทีคนแถวนั้นคงจะอายสภาพความเสียหายที่เกิดขึ้น ใครบางคนจึงได้พยายามจะบดบังมันด้วยการนำเอาไฟคริสต์มาสมาประดับไว้

แม้จะมีปัญหาอุปสรรคมากมาย แต่ Lindesay ยังหวังว่าจะสามารถช่วยชีวิตกำแพงในส่วนที่ยังเป็นของแท้แต่ดั้งเดิมไว้ได้ เขาหลงใหลในกำแพงเมืองจีนอย่างถอนตัวไม่ขึ้นมาตั้งแต่เมื่อ 15 ปีก่อน เมื่อเขาได้เดินบนกำแพงจนตลอดความยาว 4,000 กิโล เมตร ต้องผจญทั้งโรคภัยไข้เจ็บ สุนัขและชาวบ้าน เขาเรียก กำแพงเมืองจีนว่า "พิพิธภัณฑ์กลางแจ้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่ไร้ภัณฑารักษ์" ในฐานะประธานชมรม "เพื่อนกำแพงเมืองจีน" เขารณรงค์เรื่องการรักษาความสะอาดและให้ความรู้เกี่ยวกับกำแพงเมืองจีนอย่างสม่ำเสมอ

ไม่นานมานี้ Lindesay เพิ่งจะทำข้อตกลงกับทางการปักกิ่งและองค์กร UNESCO ให้ช่วยอนุรักษ์กำแพงเมืองจีนส่วนที่ยังเป็นของแท้แต่ดั้งเดิม รวมไปถึงภูมิทัศน์ใกล้กับกำแพงฯ โดยการจัดตั้งเป็นเขตอนุรักษ์พิเศษ เขาหวังว่า ด้วยวิธีนี้จะสามารถโน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นตระหนักว่า กำแพงเมืองจีนไม่ใช่เพียงสิ่งก่อสร้างธรรมดาๆ แต่เป็นสถานที่พิเศษอันโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และต้องการการบริหารจัดการอย่างระมัดระวังและ "ทะนุถนอม"

Lindesay กำลังเล่นกับของยาก ชาวจีนส่วนใหญ่มองกำแพงเมืองจีนเป็นเพียงสถานที่ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเท่านั้น ชาวจีนอีกเป็นจำนวนมากยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะรู้สึกกับกำแพงเมืองจีนอย่างไรดี

ด้านหนึ่งกำแพงเมืองจีนเป็นสมบัติของชาติและมรดกทางวัฒนธรรมอันน่าภาคภูมิใจ แต่อีกด้านหนึ่ง กำแพงเมืองจีนคือสัญลักษณ์ของการกดขี่ของผู้ปกครองเผด็จการ ชาวจีนหลายหมื่น หลายแสนคนต้องพลีชีพในระหว่างการก่อสร้างกำแพงเมืองจีน ซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันการรุกรานของอนารยชน ซึ่งปัจจุบันเป็นพลเมืองทางภาคเหนือของจีน

ชาวจีนอีกหลายคนเห็นว่า จิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีนผู้ทรงโปรดให้สร้างกำแพงเมืองจีน เป็นผู้โหดร้ายทารุณ และเป็นต้นแบบของเผด็จการที่ Mao Zedong เลียนแบบ นอกจากนี้ชาวจีนยังคงไม่ลืมเพลงกล่อมเด็กที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงนาง Meng Chiang สตรีในสมัยฮั่น ที่สามีตายด้วยความหิวโหยอดอยากขณะทำงานสร้างกำแพง หลังจากที่ศพของเขาถูกฝังอยู่ใต้กำแพง นางก็ร่ำไห้จนกระทั่งกำแพงในส่วนนั้น พังทลายลง

นักอนุรักษ์หวังว่าชาวจีนรุ่นใหม่จะสามารถเรียนรู้ที่จะรักกำแพงเมืองจีนได้ในที่สุด ไม่ว่าจะถูกต้องหรือไม่ แต่ในสายตาของชาวตะวันตกแล้ว ไม่มีสิ่งใดในเมืองจีนที่น่าทึ่งมากเท่ากับกำแพงเมืองจีนอีกแล้ว

จีนชอบที่จะแกล้งทำเป็นว่าไม่แคร์คนต่างชาติ ก็ขนาด จิ๋นซีฮ่องเต้ยังทรงสร้างกำแพงเมืองจีนเพื่อป้องกันจีนจาก "ชาวต่างชาติ" มาแล้ว ซึ่งก็ไม่เคยได้ผลเลยแม้แต่น้อย "ชาวต่างชาติ" ยังคงกรีธาทัพรุกรานจีนครั้งแล้วครั้งเล่า ตั้งแต่ชนเผ่ามองโกลถึงแมนจู ต่างบุกข้ามกำแพงมาอย่างไม่แยแสสนใจราวกับไม่เคยมีกำแพงเมืองจีนตั้งอยู่

ทุกวันนี้ ผู้คนยอมบินมาไกลถึงครึ่งโลก เพียงเพื่อจะได้ ยลกำแพงเมืองจีนสักครั้งหนึ่ง จีนจะต้าน "การรุกราน" จากคนต่างชาติครั้งนี้ได้กระนั้นหรือ ในเมื่อประวัติศาสตร์มักจะซ้ำรอยอยู่เสมอ

แปลและเรียบเรียงจาก Newsweek August 5, 2002 เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ linpeishan@excite.com

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us