|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
ความเคลื่อนไหวทางการตลาดล่าสุดของ “เอไอเอส” กับการเปิดตัวโปรแกรม “เอไอเอสพลัส” (AIS Plus) คือการทลายกำแพงการให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกค้ากว่า 15 ล้านใหม่ จากเดิมที่เป็นการดูแลผ่านผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าใช้ในแต่ละโปรดักส์ มาเป็นการดูแลลูกค้าโดยมองความต้องการของลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric)
ไม่เพียงแต่เป็นการทลายกำแพงของรูปแบบสิทธิประโยชน์สำหรับลูกค้าเท่านั้น แต่นี่กำลังเป็นการทลายกำแพงที่ปิดกั้นการประสานงานภายในองค์กรที่มาจากหลากหลายหน่วยงาน ให้เข้ารวมกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อนำเสนอรูปแบบสิทธิประโยชน์ที่ครบถ้วนทุกจุดความต้องการได้อย่างครบวงจร
“ทำไมเราไม่ให้สิทธิประโยชน์ลูกค้าในนามของเอไอเอสแบรนด์เดียวกันเลย” เป็นสิ่งที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ใช้เป็นโจทย์ในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกค้า
ที่ผ่านมาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของเอไอเอส ไม่ว่าจะเป็น จีเอสเอ็ม แอดวานซ์ วัน-ทู-คอล! สวัสดี ต่างก็มีการดูแลลูกค้าภายใต้แบรนด์เหล่านี้ ด้วยรูปแบบที่มีเอกลักษณ์สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์เหล่านั้น
แต่ในความเป็นจริงแล้วรูปแบบการให้สิทธิประโยชน์แบบเดิมๆ นี้ ไม่สามารถที่จะตอบทุกความต้องการของฐานลูกค้าทั้งหมดของเอไอเอสได้
อาทิ ผู้ใช้บริการโพสต์เพดอาจต้องการรับส่วนลดจากโปรแกรมฟรีด้อมไลฟ์ ซึ่งเป็นสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าพรีเพด หรือลูกค้าในกลุ่มอื่นๆ อยากที่จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งที่ได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ อย่างมากมาย ในกลุ่มลูกค้าเซเรเนด ซึ่งถูกมองว่าเป็นกลุ่มลูกค้าไฮโซเท่านั้น
เอไอเอสจึงกลับมาทบทวนกลยุทธ์ทางการตลาดในการดูแลกลุ่มลูกค้าทั้ง 15 ล้านคนใหม่ ภายใต้โปรแกรมเดียวกัน คือ “เอไอเอสพลัส สิทธิพิเศษที่ให้คุณมากกว่า” เพื่อเป็นแหล่งรวมสิทธิพิเศษทั้งหมดให้กับลูกค้าทุกราย ไม่ว่าลูกค้าคนนั้นจะใช้ผลิตภัณฑ์ใดๆ อยู่ก็ตาม
ภายใต้เอไอเอสพลัส เอไอเอสได้จัดแบ่งผู้ใช้บริการออกเป็นทั้งหมด 3 กลุ่ม โดยไม่แบ่งตามผลิตภัณฑ์แต่แบ่งตามยอดการใช้บริการ รวมถึงไลฟ์สไตล์ ได้แก่ AIS Basic กลุ่มลูกค้าทั่วไป AIS Classic ลูกค้าที่ใช้บริการเฉลี่ยเดือนละ 600-1,500 บาท และ AIS Serenade ลูกค้าที่ใช้บริการเฉลี่ยต่อเดือน 1,500 บาทขึ้นไป หรือลูกค้าที่ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 10 ปี
ยิ่งลักษณ์ เน้นย้ำถึงการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดูแลลูกค้าใหม่ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำบริการที่เอไอเอสให้เหนือกว่าที่คู่แข่งในตลาดสามารถให้ได้ทั้งหมด
บริการต่างๆ ที่ลูกค้าจะได้รับจากโปรแกรมเอไอเอสพลัส มีทั้ง ด้านบริการ (Servie) ซึ่งเอไอเอสมีนวัตกรรมบริการต่างๆ จากเครือข่ายและโมบายไลฟ์มานำเสนอให้การใช้ชีวิตสะดวกและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น SIM Bank, Multi SIM และ mPAY
ด้านส่วนลด (Privilege) เอไอเอสได้ร่วมกับพันธมิตรหลากหลายรูปแบบ มอบส่วนลดจากร้านค้ามากกว่า 15,000 ร้าน และด้านกิจกรรม (Activities) สำหรับส่วนลดการเข้าร่วมกิจกรรมที่จัดขึ้นจากพันธมิตร รวมไปถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อลูกค้าเอไอเอส
การปรับเปลี่ยนในครั้งนี้ทำให้แม้แต่ลูกค้าที่เพิ่งจะเข้ามาเป็นลูกค้าเอไอเอส สามารถรับสิทธิประโยชน์ได้ทันที ลูกค้าพรีเพดสามารถแสดงบัตรเติมเงิน สำหรับลูกค้ากลุ่ม Basic ส่วนกลุ่มลูกค้า Classic สามารถติดต่อขอรับบัตร AIS Card และกลุ่มลูกค้า Serenade ได้รับบัตร Serenade ส่งตรงถึงบ้านทันที
“ลูกค้าเอไอเอสจะได้รับสิทธิหรือส่วนลดพิเศษที่มากยิ่งขึ้น ดียิ่งกว่า ตรงใจยิ่งกว่า ในสองทาง คือดียิ่งกว่ามากยิ่งกว่าผู้ให้บริการรายอื่นอย่างแน่นอน และดียิ่งกว่า มากยิ่งกว่า ในแต่ละกลุ่มลูกค้าของเอไอเอส” ยิ่งลักษณ์ ได้ย้ำคำว่ามากกว่า และก็มากกว่า ที่พ่วงมาภายใต้โปรแกรม “เอไอเอสพลัส”
และเหนือสิ่งอื่นใดกับโปรแกรม “เอไอเอสพลัส” นี้ ย่อมเสมือนกลยุทธ์ที่ผูกมัดใจลูกค้ามือถือให้อยู่กับระบบเครือข่ายของเอไอเอสตราบนานเท่านาน ท่ามกลางสมรภูมิการแข่งขันที่รุนแรงระหว่างผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แต่ละรายในปัจจุบันนี้
ไม่เพียงแต่เอไอเอสเท่านั้นที่ได้มีการพัฒนากลยุทธ์เรื่องของดูแลลูกค้าและดำเนินการอย่างจริงจังในการสร้างรูปแบบการดูแลลูกค้า แต่ผู้ให้บริการอื่นๆ อย่างดีแทค ก็มีการดูแลเช่นกัน อย่างแมกซิไมซ์การ์ด ที่ดูแลลูกค้าที่อัตราการใช้งานต่อเดือนจำนวนมากๆ หรือทรูพริวิเลจการ์ด ที่พร้อมจะให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ แก่ลูกค้าในกลุ่มธุรกิจของทรู คอร์ปอเรชั่น
การปรับเปลี่ยนของเอไอเอส น่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการของผู้ให้บริการรายอื่นๆ ด้วยในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะทุกรายต่างรู้ดีว่าการแข่งขันในช่วงนี้ต้องสร้างจุดเด่นเรื่องของการบริการเข้ามาช่วงชิงฐานลูกค้า หลังจากที่ทุกค่ายเล่นสงครามราคามาตั้งแต่ต้นปี
โปรแกรมสิทธิประโยชน์จากค่ายไหนจะตรงใจผู้บริโภคมากน้อยกว่ากัน ผู้บริโภคเท่านั้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกใช้บริการด้วยตนเอง
|
|
 |
|
|