|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
*บางจากจับมือฟอร์ด จัดแคมเปญซื้อรถคันละบาท ช่วยชาติด้วยแก๊สโซฮอล์
*ไอ.ซี.ซี. หยิบ ARROW WRINKLE FREE มาสะบัดฝุ่น คราวนี้ภายใต้แคมเปญ เชิ้ตช่วยชาติ...ประหยัดไฟ
*ดี-ไทย น้ำลำไยขวดละ 18 บาท แนวคิดช่วยชาวสวน และช่วยชาติ ของ ตัน โออิชิ
*และอีกหลากหลายแคมเปญ “ช่วยชาติ” ที่แพร่ระบาดไปทั่วทุกอณูของสินค้า-บริการ และขอเข้ามามีส่วนร่วมกับกระแสนี้ด้วยคน
หากไล่เรียงผู้ประกอบการที่แห่แหนเข้ามาร่วมวง “ช่วยชาติ” ครั้งนี้ น่าจะมากกว่าสิบเจ้า อาทิ บางจาก ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รถยนต์ฟอร์ด เคทีซี แอร์โรว์ ฯลฯ แม้จะมีบางรายที่ไม่เกี่ยวข้องนักกับการช่วยประหยัดพลังงาน แต่ด้วยความสามารถทางการตลาด และความต้องการช่วยชาติจริงๆ ทำให้ในที่สุดก็สามารถนำสภาพแวดล้อมนี้มาสร้างเป็น “ลูกเล่น” ทางการตลาดได้
นักการตลาดบางคนกล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า แคมเปญช่วยชาติทั้งหลายที่ออกมาในช่วงเวลานี้ จริงแล้วเป็น social marketing ซึ่งหากมองรูปแบบการช่วยชาติของผู้ประกอบการทั้งหลายอาจแบ่งได้เป็น 2 ลักษณะ คือ อย่างแรก เป็นการช่วยชาติจริงๆอย่างกรณีของตัน ภาสกรนที เจ้าพ่อโออิชิ ที่นำลำไยที่มีอยู่มากมายในท้องตลาด และแทบไม่มีราคามาทำน้ำลำไย อย่างที่สอง ใช้กระแสมาจุดประกายปริบททางการตลาดใหม่ๆ ซึ่งนอกจากจะช่วยชาติตามเจตนารมณ์ที่ประกาศออกไปแล้ว ยังสร้างยอดขายไปด้วยในตัว
อย่างเช่นกรณีของบัตรเครดิตเคทีซีกับแคมเปญเติมน้ำมันลดทันที 20 สตางค์ต่อลิตร หรือลด 1% ต่อทุกยอดการใช้จ่ายของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งในมุมหนึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายให้น้อยลงแล้ว อีกมุมหนึ่งยังเป็นการทำกลยุทธ์การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า หรือ CRM (Customer Relationship Management) ที่บริษัทเจ้าของบัตรต้องนำเสนอบริการใหม่ๆให้กับลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าเกิดความจงรักภักดีและอยู่กับบัตรนี้ต่อไปนานๆ
ดังจะเห็นได้ว่าแม้บัตรเครดิตของทั้ง 2 ค่ายจะนำเรื่องการช่วยชาติ และประชาชนมานำเสนอในแคมเปญโฆษณา แต่ท้ายสุดก็วกกลับมาอยู่ที่ยอดการใช้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินค้าของทั้งคู่โดยตรง
สำหรับเหตุผลที่ทำให้หลายผู้ประกอบการหันมาให้ความสนใจกับกระแสนี้ ก็เนื่องมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่หลายคนเชื่อว่าเริ่มย่ำแย่ อันเนื่องมาจากภาวะน้ำมันแพงขึ้นชนิดไม่ติดเบรก แถมด้วยข่าวการแห่ปรับราคาข้าวของเครื่องใช้ที่มีให้เห็นกันทุกวัน ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจากการประมาณการของธนาคารแห่งประเทศไทยในปีนี้ขยายตัวเท่ากับ 4-5% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 3-4% ซึ่งไม่เพียงแต่บรรดา blue collar เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบแต่ white collar รวมถึงเจ้าของกิจการหลายรายก็ได้รับผลพวงนี้เข้าเต็มๆด้วยเช่นกัน
ขณะที่สมาคมวิจัยการตลาดแห่งประเทศไทย สำรวจทัศนคติของประชากรจำนวน 500 คนในเขตกรุงเทพฯ เมื่อ 18-19 มิถุนายน 2548 พบว่า 55% ของกลุ่มตัวอย่างมีความรู้สึกไม่สู้ดีต่อสภาวะเศรษฐกิจของตนเอง เกี่ยวกับสถานภาพทางการเงินในอีก 12 เดือนข้างหน้า โดย 41% พบว่าไม่ค่อยมั่นใจ และ 14% ไม่มั่นใจเลย
สำหรับกลุ่มคนที่ประอบอาชีพลูกจ้างมีความกังวลเกี่ยวกับสินค้าราคาแพงมากถึง 60% พนักงานบริษัท 52% ช่างเทคนิคมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะสินค้ามีราคาแพงที่ 49% ส่วนกลุ่มผู้บริหารมีความกังวลใจเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ และการว่างงานที่ 51% เจ้าของกิจการ 49% ส่งผลให้คนส่วนใหญ่ 49% เริ่มระวังการใช้จ่าย
เมื่อประชาชนไม่มั่นใจในเศรษฐกิจจนชะลอการใช้จ่าย แถมเงินในกระเป๋ายังเหลือน้อยเช่นนี้ กลยุทธ์ช่วยเหลือกระเป๋าผู้บริโภคจึงออกมากันเป็นพรวน ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยผู้บริโภคเท่านั้น แต่ผลดียังเป็นบูมเมอแรงสะท้อนเข้าหาองค์กรของตนด้วยเช่นกัน
การตลาดช่วยชาติ
ช่วยพีอาร์องค์กร
ชื่นจิตต์ แจ้งเจนกิจ อาจารย์ประจำ ภาควิชาบริหารการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้มุมมองกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”ว่า การจับกระแสช่วยประเทศชาติประหยัดพลังงานมาทำแคมเปญ โปรโมชั่นในรูปแบบต่างๆนั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมการทำประชาสัมพันธ์ ที่สินค้าหรือองค์กร ซึ่งมีชื่อเป็นที่ติดตลาดแล้ว ออกมาแสดงท่าทีว่าสินค้ามีส่วนร่วมในการรับผิดชอบสังคม และเข้าร่วมโครงการ ต่างๆ ในรูปแบบของ Sponsorship สร้างภาพลักษณ์
หากเป็นองค์กรหรือหน่วยงาน ที่เข้ามาทำการตลาดช่วยชาติ ส่วนใหญ่จะไม่คาดหวังในยอดขาย แต่สิ่งที่เป็นเป้าหมายหลักนั้นคือ ต้องการยกภาพลักษณ์ขององค์กรให้สูงขึ้นอีกระดับหนึ่ง แม้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น จะไม่เกิดผลทันที แต่ในระยะยาว มีการทำประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้เกิดขึ้นกับองค์กรนั้น
แต่ถ้าเป็นแบรนด์กับตัวสินค้าที่ทำแคมเปญโปรโมชั่นช่วยชาติประหยัดพลังงาน ผลที่ได้รับจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะกิจกรรมส่งเสริมการตลาดและส่งเสริมการขาย ซึ่งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ จะเป็นจุดที่ติดตลาดได้ดีและมีผลกับการตัดสินใจซื้อของคนรุ่นใหม่ ที่การตลาดยุคใหม่แบ่งตามไลฟ์สไตล์ให้เป็นกลุ่ม Reformer มีค่านิยมเพื่อช่วยเหลือสังคม และมีลักษณะเป็นนักอนุรักษ์นิยม ซึ่งมีสัดส่วน 17 % ของคนไทยจำนวน 60 ล้านคน
เห็นได้ว่ามีบางอีเวนต์ใช้ช่วงฤดูกาลของสินค้าเข้ามาเกี่ยวพัน เพื่อกำหนดกิจกรรมขึ้นมาตัวอย่างเช่น “งานมหกรรม รวมพลังไทย กินลำไยเพื่อเกษตรกร”
หรือในกรณีสินค้าบางประเภท ต้องทำการตลาดในระยะเวลาที่อยู่ในกระแส ถ้าไม่ทำในระยะเวลาสินค้าจะขายไม่ได้ หรือไม่ก็ตายไปจากตลาดเช่น การทำตลาดน้ำลำไยและลำไยอบแห้ง ภายใต้แบรนด์ "ดี ไทย บาย โออิชิ" ที่ใช้การสื่อสารการตลาด ผ่านโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางสื่อโทรทัศน์ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยหันมาบริโภคลำไย และแก้ไขปัญหาล้นตลาด รวมถึงคีย์แมสเสจที่ว่า “รายได้ทั้งหมดหลังหักค่าใช้จ่าย จะมอบเป็นทุนการศึกษาให้กับลูกหลานเกษตรกร” ก็ถือว่าเป็นตัวผลักดันทำให้องค์กรได้ภาพลักษณ์ และสินค้ายังมียอดขายดีตามมาอีกด้วย
แม้แคมเปญโปรโมชั่นจะมีผลเกิดขึ้นกับผู้บริโภคในช่วงนี้ ที่เป็นกระแสเท่านั้น เพราะในที่สุดแล้ว ลำไยก็ไม่ได้เป็นผลไม้ที่กินในชีวิตประจำวัน พอถึงช่วงนอกฤดู การทำตลาดก็จะดร็อปลงไปและคนก็จะเลิกดื่ม แต่ค่ายโออิชิ มีแผนการทำตลาดในระยะยาวคือ วางตำแหน่งทางการตลาด "ดี ไทย" ให้เป็นแบรนด์และสินค้ากลุ่มผลไม้แปรรูป ช่วยแก้ไขปัญหาล้นตลาดของเกษตรกรในทุกๆฤดูกาล
นอกจากนั้น การจัดกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการส่งเสริมการขายช่วยชาติ ยังเป็นเครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญ และจำเป็นอย่างมากของค่ายรถยนต์ เพราะการนำกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ เข้ามาช่วยสนับสนุน ในยุคนี้ที่ราคาน้ำมันแพง ดอกเบี้ยขึ้นสูงจะมีผลกับตลาดและกำลังซื้อ
มีข้อสังเกตว่า สินค้าอุปโภคบริโภค ที่เป็นแบรนด์ลีดเดอร์ ส่วนใหญ่ยังไม่ให้ความสำคัญ เข้าร่วมกิจกรรมการตลาดช่วยชาตินัก แต่กลับให้ความสนใจการตลาดแบบแข่งราคา หรือออกลดขนาด ออกไซส์ใหม่ๆมาทำตลาด ซึ่งเป็นเพราะกิจกรรมประเภทนี้ช่วยสร้างภาพลักษณ์ มากกว่าสร้างกำไร
ดังนั้น ตราบใดที่วิกฤติการณ์เช่นนี้ยังคงอยู่ การตลาดและการทำประชาสัมพันธ์ ที่ตามกระแสในรูปแบบช่วยชาติก็ยังคงนำมาใช้ได้ โดยไม่ตกกระแส
ช่วยชาติช่วยประหยัดพลังงาน
ในช่วงเวลาไม่กี่เดือนที่ผ่านมามีหลายองค์กรเข้ามาโหนกระแสช่วยชาติกันเต็มไปหมด และสามารถแบ่งการช่วยออกได้เป็นหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบแรก ช่วยประหยัดพลังงาน ซึ่งมีหลายองค์กรเข้ามาร่วมในส่วนนี้ค่อนข้างมาก เช่น มาสเตอร์คูล ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เป็นต้น รูปแบบที่สอง ช่วยผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น บัตรเครดิต เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ชูเรื่องประหยัดไฟ ยูนิลีเวอร์ที่มีข่าวว่าจะร่วมกับกรมการค้าภายในผลิตสินค้าราคาถูกมาจำหน่าย และรูปแบบที่สาม ช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ล้นตลาด เช่น ดีไทย บายโออิชิ เป็นต้น
หากรวบรวมความเคลื่อนไหวขององค์กรต่างๆที่เข้ามามีส่วนร่วมในช่วงเวลานี้ เห็นจะได้แก่ ค่ายยางสยามมิชลิน เข้าร่วมนโยบายประหยัดน้ำมันกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงานแห่งชาติ จัดโครงการ มิชลิน ช่วยคุณ ช่วยชาติ ประหยัดน้ำมัน เรียนรู้วิธีใช้ยางอย่างประหยัด
โครงการเอ็นจีวีเพื่อเศรษฐกิจไทยของปตท. ที่ต้องการให้รถสองแถวใช้ NGV ซึ่งกลุ่มสามมิตร มอเตอร์ ผู้ผลิตหลังคาเหล็ก เข้าร่วมกิจกรรมด้วย โดยการออกแบบรถสองแถวที่ใช้ก๊าซ NGV แทนน้ำมัน เพื่อเป็นรถโดยสารสาธารณะ
หรือโครงการ "รวมพลังช่วยชาติ ด้วยแก๊สโซฮอล์” โปรโมชั่นส่งเสริมการขายเติมครบ 300 บาท ลุ้นรับ ฟอร์ด เอสเคป 3 คัน หรือทดลองขับ ลุ้นเติมฟรีๆ 100-500 บาท ซึ่งเป็นการตลาดที่มีเป้าหมาย สนับสนุนให้คนไทยเติมแก๊สโซฮอล์ในระยะยาวและสนับสนุนนโยบายของรัฐที่ยกเลิกจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ออกเทน 95 ภายในปี 2550 โดยเป็นการร่วมมือของ 3 หน่วยงาน ค่ายรถยนต์ ฟอร์ด จับมือกับกระทรวงพลังงาน และค่ายบางจากบริษัทน้ำมันของคนไทย
ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เข้ามาร่วมกระแสอาทิ การตลาดของเครื่องปรับอากาศนอกอาคาร “มาสเตอร์คูล”ที่เปิดตัว รุ่นประหยัดไฟ10-27% เพื่อสนองนโยบายรัฐช่วยชาติประหยัดพลังงาน และเครื่องปรับอากาศเซ็นทรัล แอร์ ส่งนีโอเทค แอร์ประหยัดรุ่นช่วยชาติ ที่ชูจุดเด่นประหยัดพลังงานลงตลาด
เทรน ค่ายเครื่องปรับอากาศ จับมือกับกระทรวงพลังงานช่วยชาติประหยัดไฟฟ้า จัดโครงการ “ล้างแอร์ประหยัดไฟกำไรต่อที่ 3” ซึ่งเป็นโครงการให้บริการล้างเครื่องปรับอากาศฟรีแก่ประชาชนที่ช่วยชาติประหยัดไฟฟ้า จนได้รับส่วนลดค่าไฟฟ้าจากโครงการ “ประหยัดไฟกำไร 2 ต่อ”ที่สิ้นสุดโครงการไปแล้ว
หลอดไฟฟิลิปส์ ที่วางจุดขายเรื่องการประหยัดพลังงาน ก็หยิบกระแสมาเช่นกัน ด้วยการส่งหลอดประหยัดไฟ ฟลูออเรสเซนต์ ซูเปอร์ ขั้วเขียว ที่ชูจุดขายด้านความคุ้มค่าและประหยัดพลังงาน ลงทำตลาด
ส่วนสินค้าที่ไม่มีผลทางตรง กับการรณรงค์ประหยัดพลังงานช่วยชาติ แต่อาจมีผลทางอ้อมก็กระโจนลงสู่การเข้ามาร่วมวง มหกรรมช่วยชาติ.. โดยใช้วลีคำว่า “ช่วยชาติ” มาเป็นกลยุทธ์การตลาด ช่วยเหลือเกษตรกรในเรื่องผลผลิตลำไยล้นตลาดด้วยเช่น
“มหกรรม กินลำไยช่วยชาติ” เป็นกิจกรรมที่ร่วมมือกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดารา-นักร้องในสังกัดต่างๆ และมีการสร้างสีสัน แรงดึงดูดให้คนมาร่วมงานจัดเวทีให้จา-พนม ยีรัมย์ พรีเซ็นเตอร์ลำไยของไทย มาร่วมโชว์ลีลาบู๊และกินลำไยช่วยชาติ
อีกทั้ง กลยุทธ์การทำตลาดน้ำลำไย และลำไยอบแห้ง ภายใต้แบรนด์ “ดีไทย” ซึ่งเป็นภารกิจ“ลำไยช่วยชาติ”ลดปัญหาเกษตรกรผลิตลำไยไม่ได้ราคา เข้าซื้อลำไยจำนวน 800 ตันจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ของโออิชิ
เสื้อเชิ้ตช่วยชาติ ประหยัดไฟ ของแอร์โรว์ ซึ่งมีการวางตำแหน่งทางการตลาดให้สินค้าช่วยชาติประหยัดพลังงาน จากคุณสมบัติรีดได้เรียบได้เร็ว ส่งผลให้เกิดการประหยัดไฟมากขึ้น ค่ายไอ.ซี.ซี. ฯผลิตเสื้อเชิ้ตรุ่นนี้มา10 กว่าปีแล้ว และเมื่อมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการผลิตที่ดีขึ้น ผสมเข้ามาในจังหวะนี้ ที่การตลาดอยู่ในกระแสการประหยัดพลังงาน จึงสอดคล้องกับเสื้อเชิ้ตช่วยชาติได้เป็นอย่างดี
บัตรเครดิตเคทีซี ช่วยชาติประหยัดพลังงาน ด้วยคอนเซ็ปต์ "Hot&Shorts" เป็นไอเดียที่ต้องการรณรงค์ให้พนักงานแต่งชุดทำงานแบบลำลองกางเกง หรือกระโปรงสั้น และเสื้อยืดให้เหมาะกับสภาพอากาศร้อน อีกทั้งยังเป็นการประหยัดพลังงานจากเครื่องปรับอากาศ เพื่อสนับสนุนนโยบายประหยัดพลังงานช่วยชาติ
กระดาษ “ดั๊บเบิ้ล เอ” ชูกระบวนการผลิตกระดาษด้วยพลังงานที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าชีวมวล ทำให้ไม่ต้องใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงในกระบวนการผลิต ช่วยประเทศชาติประหยัดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงได้ถึง200 ล้านลิตรต่อปี หรือ 4,400 ล้านบาท
รวมทั้งการร่วมสนับสนุนช่วยชาติประหยัดน้ำมันของค่ายมือถือ ออเร้นจ์ ซึ่งออกมาแสดงจุดยืนที่ชัดเจนผ่านโฆษณาโฆษณาจัสทอล์คชุด “Help” ที่มีแนวคิดช่วยชาติประหยัดนำมัน คิดถึงไม่ต้องเดินทางหากัน เพียงยกหูโทรศัพท์ ก็คุยกันได้นานจนหายคิดถึง
แนวโน้มแรงอีกนานนนน
ความจริงการทำตลาดช่วยชาติไม่เพียงแต่เป็นกลยุทธ์การตลาดที่เรียกว่า Social Marketing ดังที่กล่าวไว้แล้วในตอนต้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการทำ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่กำลังฮอต ฮิต มากในช่วงเวลานี้ เนื่องจากยุคnetwork community กำลังขยายเครือข่ายใหญ่โตมโหฬาร และด้วยอานุภาพความร้ายกาจของการส่งข้อความที่กระจายไปหาผู้คนได้ทั่วทุกหนทุกแห่งทุกที่ ทุกเวลา จึงเป็นจุดที่ทำให้ผู้ไม่หวังดีบางคนสามารถทำร้านคน ตราสินค้า หรือองค์กรใดให้เสื่อมเสียได้ภายในเพียงเวลาไม่กี่ชั่วโมง
ดังนั้น หลายองค์กรในปัจจุบันจึงพยายามทำ CSR ขึ้นมาเพื่อมาเป็นเกราะให้กับองค์กรให้ยากต่อการทำลายของผู้ไม่หวังดี
สำหรับรายล่าสุดที่เพิ่งเห็นการนำ CSR เข้ามาใช้เป็นป้อมปราการให้กับองค์กรของตนอย่างชัดเจนก็คือ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่โดนบรรดาองค์กรอิสระ และพล.ต.จำลอง ศรีเมือง ดาหน้าขวางไม่ยอมให้บริษัทดังกล่าวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วยวิธีการต่างๆนาๆ ทั้งก่อม็อบปิดถนน หรือการซื้อโฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผานมาโดยให้เหตุผลว่าเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเบียร์มอมเมาประชาชน และอื่นๆ
หลังจากนั้นทางไทยเบฟฯก็ซื้อโฆษณาเต็มหน้าหนังสือพิมพ์หลายฉบับเพื่อบอกเล่าเก้าสิบว่าจริงแล้วบริษัทคือใคร ทำธุรกิจอะไร และรับผิดชอบต่อสังคมอย่างไร พร้อมกับแจกแจงผลงานที่เคยทำในช่วงที่ผ่านมา อาทิ รักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการศึกษา สนุบสนุนโรงพยาบาลและอนามัย ส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม และวรรณกรรม เป็นต้น
เรียกได้ว่าเป็นการสวนหมัดข้อกล่าวหาต่างๆที่ถูกกระหน่ำมาตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมานับตั้งแต่มีข่าวว่าบริษัทไทยเบฟฯจะเข้าระดมทุนในตลาดฯ
นักการตลาดหลายคน กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ด้วยความเห็นที่ตรงกันว่า แนวโน้มของการทำตลาดโดยใช้กระแสช่วยชาติ ช่วยสังคมจะยิ่งมีให้เห็นเพิ่มมากขึ้นต่อไปในอนาคต เพราะสินค้าหากคิดเพียงแต่สร้างชื่อ สร้างแบรนด์เพื่อหวังยอดขายไม่พอเสียแล้วในยุคปัจจุบัน แต่จำเป็นจะต้องอยู่กับสังคมให้ได้ด้วย หรือบางทีไทยเบฟฯอาจต้องขอยืมแนวทางของ Kirin ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่รายหนึ่งของโลก ที่เปลี่ยนภาพจากผู้ผลิตอบายมุขไปผลิตสินค้าที่ฉีกแนวจากเดิมออกไป
เพราะโดยปกติ กิจการที่ผลิตเหล้า บุหรี่ ก็มักจะถูกตราหน้าว่าเป็นผู้สนับสนุนสินค้าที่เป็นอบายมุขหรือทำลายสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการผลิตที่ประเทศใดก็ตาม นั่นอาจจะเป็นเหตุผลหลักประการหนึ่ง ที่ทำให้บริษัท คีริน บริวเวอรี่ ยักษ์ใหญ่วงการเครื่องดื่มมึนเมาของญี่ปุ่นหันไปเพิ่มสายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มประเภทโยเกิร์ตเพื่อสุขภาพอีกสายธุรกิจหนึ่ง
ที่เป็นเช่นนี้ได้ ก็เพราะว่าบริษัท คีริน บริวเวอรี่ ได้ตกลงความร่วมมือกับบริษัท โยเกิร์ต ฮอนช่า เพื่อร่วมมือกันฟอร์มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
ในการดำเนินการดังกล่าวนั้น คีริน กรุ๊ป และบริษัทโยเกิร์ตที่กล่าวถึงข้างต้น ได้เข้าไปซื้อหุ้นของกันและกัน เป็นเงินรวมกันกว่า 5 พันล้านเยน
จากการประเมินผลที่คาดว่าจะได้รับจากการดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพใหม่ของพวกเขา คือ การนำจุดแข็งของแต่ละฝ่าย มาเสริมสร้างซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจใหม่ของอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น และมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น
ที่จริงแล้ว นอกเหนือไปจากการดำเนินธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพร่วมกันแล้ว บริษัททั้งสองแห่งนี้ได้เคยทำความตกลงระหว่างกัน เพื่อใช้ระบบการผลิตและการจัดจำหน่ายของกันและกัน และการร่วมกันสร้างช่องทางการจำหน่ายใหม่ที่เป็นตู้กดอัตโนมัติแบบหยอดเหรียญ ที่ทำร่วมกันมาสักพักหนึ่งแล้วพบว่าได้ผลดีอย่างน่าพอใจ
|
|
 |
|
|