|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
๐ e-Commerce ตัวช่วยผู้ประกอบการคลิกทางเลือกธุรกิจสู่ทางรอดในยุคน้ำมันแพง
๐ tarad.com ผู้นำร้านค้าออนไลน์ วัดสถิติ 7 เดือนแรก ร้านค้าเปิดเว็บเพิ่มกว่าเท่าตัว
๐ สินค้าแฟชั่นโตมากสุด สอดคล้องผู้หญิงชอบช้อป กล้าจ่าย กลุ่มพระเครื่องไม่น้อยหน้า ทำ e-Catalog โชว์
๐ ชี้จังหวะเหมาะปัจจัยสนับสนุนเพียบ อินเตอร์เน็ต ขนส่ง บัตรเครดิต ถูก-เร็ว-ดี
๐ ร้านค้าเอ็มบีเคตีปีกขยายช่องทางค้าใหม่ เตรียมดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เจาะฐานกลุ่มใช้อินเตอร์เน็ท
จากการสำรวจของ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” พบว่าผู้ประกอบการจำนวนมากโดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อมกำลังตื่นตัวสนใจการทำธุรกิจโดยอาศัยช่องทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มากขึ้น ทั้งในกลุ่มที่เพิ่งคิดจะเริ่มต้น และในกลุ่มที่กำลังพัฒนาให้ก้าวหน้าไปอีก
โดยเฉพาะเมื่อการแข่งขันรุนแรงขึ้น ต้นทุนและข้อจำกัดในการทำธุรกิจแบบเดิมมีมากขึ้น รวมทั้ง แรงบีบจากการปรับตัวของราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ผู้บริโภคมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นแต่ส่วนใหญ่รายได้ไม่สูงขึ้นตาม จึงต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด ขณะที่ปัจจัยเกื้อหนุน e-Commerce มีมากขึ้น เป็นทางเลือกทั้งในการขายและการซื้อ
๐ รัฐผนึกเอกชนเดินหน้ากระตุ้นตลาด
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาด ดอท คอม จำกัด เจ้าของเว็บไซต์ tarad.com และ thaisecondhand.com ผู้ให้บริการเว็บไซต์ซึ่งเป็นเหมือนตลาดนัด (e-Marketplace) รายใหญ่ของไทย กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการให้ความสนใจในการทำธุรกิจผ่าน e-Commerce หรือร้านค้าออนไลน์กันมากขึ้น
โดยสังเกตุจากการเป็นวิทยากรรับเชิญให้ทั้งภาครัฐและเอกชนสัปดาห์ละครั้งเป็นอย่างต่ำ จากเดิมเดือนละไม่กี่ครั้ง โดยมีจำนวนผู้เข้าฟังมาก และส่วนใหญ่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ e-Commerce มากกว่าเดิม และเกือบ 50% ของผู้ฟังมีธุรกิจอยู่แล้วต้องการใช้ช่องทางนี้เพื่อทำให้ธุรกิจดีขึ้น ส่วนผู้ฟังที่เหลือกำลังมองหาโอกาสใหม่ทางธุรกิจโดยการใช้อินเตอร์เน็ท
ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการเห็นความสำเร็จของผู้ที่ใช้ช่องทางนี้อยู่แล้ว ประกอบกับปัจจัยสนับสนุนหลายๆ ด้าน เช่น การเข้าถึงง่าย ใช้งานง่าย ค่าบริการอินเตอร์เน็ทถูกลง การขนส่งสินค้าผ่านไปรษณีย์ทำได้สะดวกรวดเร็วปลอดภัยติดตามสินค้าได้ และการชำระเงินบนออนไลน์ทำได้ง่าย เป็นต้น
รวมทั้ง การจดทะเบียนธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าทำให้ผู้บริโภคหรือลูกค้าเชื่อถือมั่นใจผู้ขายมากขึ้น เพราะไม่ว่าจะเป็นแบบบุคคลหรือนิติบุคคลเมื่อจดทะเบียนแล้วจะมีการยืนยันตัวตนสืบค้นได้ ซึ่งปัจจุบันจำนวนผู้จดทะเบียนมีทั้งหมด 1,000 กว่ารายแล้ว (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมจากตารางหรือwww.dbd.go.th)
ในส่วนของ เว็บไซต์ tarad.com ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันร้านค้าออนไลน์มาเปิด 16,305 ร้านค้า เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีประมาณ 7,000 ร้านค้า มีสินค้าเกือบ 2 แสนรายการ และมีผู้เข้าชมเว็บวันละ 1 เหมื่นกว่าราย
โดยมีสินค้าแฟชั่นเพิ่มขึ้นมากที่สุด ซึ่งสัมพันธ์กับการใช้อินเตอร์เน็ทที่มีผู้หญิงมาใช้มากขึ้น และกล้าซื้อสินค้าออนไลน์ ทำให้ตลาดนี้เพิ่มโตเร็ว ส่วนสินค้าที่เติบโตอย่างไม่น่าเชื่อ คือ ของสะสมประเภทพระเครื่อง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะมีการเรียนรู้การใช้อินเตอร์เน็ทขยายวงมากขึ้น
ส่วนสินค้าที่ขายดีอยู่แล้วเป็นกลุ่มบันเทิง เช่น ซีดี เพลง ภาพยนตร์ เช่นหนังชุดของเอฟ 4 ซึ่งหาซื้อยาก มีการซื้อผ่านเว็บมาก นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่นๆ ที่ขายได้มาก เช่น ของเล่น โทรศัพท์มือถือ ซอฟท์แวร์ รวมทั้งกลุ่มที่น่าสนใจมากมาย เช่น บ้าน รถบรรทุก สัตว์เลี้ยง ของใช้ในบ้าน เป็นต้น
สำหรับการกระตุ้นผู้ประกอบการ ภาวุธ กล่าวว่า เน้นหนักที่การให้ความรู้เกี่ยวกับ e-Commerce ร่วมมือกับภาครัฐพัฒนาภาพรวมสนับสนุน และในส่วนของบริษัทฯ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาใช้ “เว็บไซต์สำเร็จรูปฟรี” ซึ่งทำมานานแล้ว และได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ เพราะเมื่อทดลองใช้แล้วได้ผล การใช้ง่าย ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้ เช่น ข้อมูลได้ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ การบริการหน้าเว็บได้เอง ปรับเปลี่ยนได้เองทั้งรูปแบบร้านค้า ตัวสินค้า ราคา มีแบบฟอร์มอีเมลตอบกลับ เป็นต้น
รวมทั้ง สามารถยกระดับพัฒนาให้ร้านค้าออนไลน์ใหญ่ขึ้น เมื่อต้องการใส่สินค้าและรายละเอียดต่างๆ มากขึ้น เช่น มีชื่อโดเมนเนม แต่มีการเก็บค่าบริการแต่ไม่สูงเฉลี่ยเดือนละประมาณ 100 กว่าบาท คุ้มค่ากับการลงทุน โดยมีการบริการและเพิ่มการใช้งานใหม่ๆ เรื่อยๆ เช่น การทำภาพสามมิติ มีระบบเก็บสถิติผู้เข้าชม ระบบช้อปปิ้งการ์ด ระบบชำระเงินผ่านบัตรเครดิต บริการดูสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ และการบริหารจัดการให้ลูกค้าใช้สะดวก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาพรวมปัจจุบัน การค้าขายบนร้านค้าออนไลน์ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นสำหรับประเทศไทย แต่ประชากรผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันจากข้อมูลมีประมาณ 7 ล้านคน ขณะที่เว็บไซต์มีมากมาย เพราะฉะนั้น กลยุทธ์ของการค้าขายบนโลกออนไลน์ ภาวุธบอกว่า เมื่อจะจับปลาต้องเข้าถึงแหล่งปลา ต้องรู้ว่าลูกค้าอยู่ที่ไหน มีการประชาสัมพันธ์ให้ถึง เป็นการตลาดอย่างหนึ่งที่ผู้ประกอบการต้องเข้าใจ
นอกจากนี้ การรวมกลุ่มผู้ประกอบการมีความสำคัญ จึงจัดทำเว็บไซต์ thaiecommerce.org เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงผู้ประกอบการให้มาพบปะพูดคุย และกำลังก่อตั้งชมรมผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซไทย เพื่อหาทางพัฒนาและแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งในส่วนที่แก้ไขกันเอง และประสานไปยังภาครัฐทำให้สำเร็จผลง่ายขึ้น ขณะนี้มีผู้ประกอบการทยอยเข้าร่วมมากขึ้น
๐ SMEs มุ่งเพิ่มโอกาสใหม่
พงษ์ โอฬารธนกุล เจ้าของร้านขายของเล่น Cherrytoyshop กล่าวว่า การใช้ e-commerce ยิ่งจำเป็นมากขึ้นแน่นอน เพราะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าเข้าถึงได้มาก แม้ว่าทางร้านจะยังเน้นให้ลูกค้ามาที่ร้าน เพราะจะได้มีโอกาสขายสินค้าอื่นเพิ่มขึ้นอีก สำหรับลูกค้าในประเทศ
“ส่วนลูกค้าต่างประเทศก็มีการค้าขายที่ได้ผล เช่น ของเล่นบางอย่างแม้จะนำเข้ามาจากสิงคโปร์ แต่ลูกค้าที่สิงคโปร์หาซื้อที่นั่นไม่ได้เพราะสินค้าหมด แต่ทางร้านฯ เรามี การโชว์สินค้าไว้ในเว็บทำให้ลูกค้าหาเราพบ แม้ราคาจะสูงกว่าแต่ลูกค้ายินดีจ่าย”
นอกจากนี้ ในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมามีการชำระเงินผ่านบัตรเครดิต จากเดิมที่มักจะชำระผ่านการโอนเงิน หรือมาซื้อโดยตรง แสดงว่าลูกค้าให้ความมั่นใจในระบบมากขึ้น
สำหรับ cherrytoyshop.com เปิดมาประมาณ 4 ปีแล้วเพราะก่อนหน้านั้นเกิดปัญหาลูกค้าเข้าถึงยาก มีร้านอยู่ที่ดิโอลด์สยามซึ่งทำเลถูกบังด้วยกลุ่มร้านผ้าไหม แต่เมื่อค้าขายบนอินเตอร์เน็ตทำให้กิจการรอดมาได้ แม้ว่าสภาพเศรษฐกิจจะย่ำแย่แต่ยังสามารถรักษายอดขายไว้ได้ไม่ให้ตกลง
นอกจากนี้ เห็นว่าการเปิดเว็บไซต์เองหรือร้านค้าออนไลน์ก็เหมือนกับเป็นแค่ทรายเม็ดหนึ่งในทะเล ต้องทำให้ลูกค้าหาให้พบ ซึ่งการเข้าอยู่ใน e-Marketplace ที่ดีช่วยแก้ปัญหาได้ เช่น การช่วยให้ลูกค้าค้นเจอในเสิร์ชเอ็นจิ้นดังๆ ได้ง่าย
สุทธิ ลีละวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทฯ ได้จัดทำเว็บไซต์ของร้านค้าห้องมาตรฐานที่มีอยู่ 362 ราย ในศูนย์การค้าเอ็มบีเค เสร็จแล้ว ยกเว้นกลุ่มเฟอร์นิเจอร์ซึ่งกำลังปรับปรุงพื้นที่
ส่วนร้านค้าย่อยๆ ซึ่งต้องการเช่นกัน จะดำเนินต่อไปโดยผ่านผู้ประกอบการที่มาเช่าช่วงไปดูแลซึ่งเป็นร้านเล็กๆ ที่มีอยู่กว่า 2 พันร้านค้า
โดยทำเป็น MBK e-Shopping Mall ใน http://mall.mbk-center.com อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ที่ทำให้เป็นโปรแกรมสำเร็จรูปที่ร่วมมือกับ tarad.com เบื้องต้นเป็นแบบฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าร้านค้าต้องการพัฒนาต่อไปก็ทำได้โดยมีค่าใช้จ่ายตามบริการที่เพิ่มขึ้น
สำหรับกลุ่มเป้าหมาย คาดว่าจะทำให้ลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติหันมาใช้เว็บไซต์นี้เพราะมีพฤติกรรมชอบวางแผน ปัจจุบันมีสัดส่วน 20%ของลูกค้าทั้งหมดที่เข้ามาในศูนย์การค้าฯ หรือประมาณ 2 หมื่นคนต่อวัน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ลูกค้ากลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้น 10% นอกจากนี้ เชื่อว่ามีลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่ต้องการซื้อสินค้าในเอ็มบีเคแต่ไม่ชอบการเดินช้อปปิ้งในห้าง
เสาวณีย์ ฉวีวรรณ Brand Manager บริษัท ฮิวแมนทัช จำกัด ผู้ผลิตและออกแบบของตกแต่งบ้าน กล่าวว่า เดิมทำเว็บไซต์เพื่อเป็นแคตตาล็อคมาประมาณ 5 ปี และใช้ทำธุรกิจแบบ Business to Business (B to B) แต่เพิ่งจะพัฒนาเป็นการร้านค้าออนไลน์แบบ Business to Customer (B to C)หรือแบบขายปลีกโดยจัดสินค้าให้เหมาะสมตัดสินใจสั่งซื้อได้ง่าย โดยนำสินค้าที่ขายดีอยู่แล้ว ราคาไม่สูง และจัดส่งสะดวกมาเสนอกว่า 100 รายการ เช่น ปลอกหมอน ถ้วยกาแฟ เป็นต้น
เพราะเชื่อว่าช่องทางนี้น่าจะช่วยเพิ่มยอดขายอีกทางหนึ่ง จากปกติซึ่งวางจำหน่ายให้ห้างสรรพสินค้าต่างๆ ซึ่งมีการแข่งขันสูงขึ้น รวมทั้งต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านบริหารจัดการสินค้า เช่น ค่าขนส่ง ส่วนแบ่งกำไรที่ต้องให้กับห้าง
โดยจะประชาสัมพันธ์ผ่านพันธมิตรที่มีอยู่ เช่น สมาคมนักออกแบบผลิตภัณฑ์ โครงการโฮมสไมล์คลับของธนาคารกสิกรไทยที่ทำขึ้นเพื่อลูกค้าสินเชื่อที่อยู่อาศัย โฮมดีดีดอทคอม และแพ็กเกจสินค้าของบริษัทฯ ซึ่งช่วงแรกเน้นเจาะกลุ่มผู้ต้องการใช้และชอบของตกแต่งบ้าน
ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางจำหน่ายใหม่ มียอดขายเพิ่มขึ้น ที่สำคัญยังช่วยให้เก็บข้อมูลของลูกค้า และใช้สื่อสารได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยให้ทำการตลาดได้ดีขึ้นอีกด้วย
สำหรับอุปสรรคของ e-Commerce ในด้านลูกค้ามักจะไม่มั่นใจเรื่องการจ่ายเงิน น่าจะดีขึ้นเพราะผู้ให้บริการบัตรเครดิตมีการรับรองเรื่องข้อมูลบัตรเครดิตของลูกค้า และลูกค้ารู้ว่าสามารถปฏิเสธการจ่ายได้ หากไม่ได้รับสินค้า ประกอบกับ การขนส่งซึ่งพัฒนาให้ลูกคค้าสบายใจเพราะติดตามสินค้าได้ว่ากำลังเดินทางอยู่ ณ จุดไหน ซึ่งในส่วนไปรษณีย์ไทยมี EMS ซึ่งส่งได้รวดเร็วและดูแลดี ส่วนต่างประเทศผู้ให้บริการแข่งกันพัฒนาตลอด ไม่ว่าจะเป็น Fedex , UPS , DHL เลือกใช้ได้
เห็นได้ว่า การทำ e-Commerce ผ่านโลกออนไลน์ เป็นหนทางที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการเข้าถึงลูกค้า และเปิดตลาดใหม่ๆ ในยุคที่ต้องปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โอกาสใหม่ๆ และการแข่งขันที่รุนแรง
|
|
 |
|
|