|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เปิดแผนพลพรรคต้านพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สร้างแนวร่วมดึงประชาชน-ผู้นำท้องถิ่น กดดันรัฐบาลนอกสภา ขณะที่ "ทักษิณ"เมินเสียงชี้แนะ เตรียมส่ง "วิษณุ-ชิดชัย"รับหน้าเสื่อแจงฝ่ายค้าน มั่นใจเคลียร์ได้ทุกประเด็นร้อน
หลังจากที่พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวได้ใช้งานมาครบ 1 เดือน
รับมือ "ทักษิณ"ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ "ฝ่ายค้าน-ครป.-สภาสูง"สร้างแนวร่วมนอกสภา ไม่หวั่นหากพ่ายเกมทางนิติบัญญัติ เตรียมจัดเวทีระดมสมองทั่วทุกภาคอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปหลังจากจบเกมการนำพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินเข้าประชุมในสภาผู้แทนฯ แล้ว คือการประเมินทิศทางการใช้อำนาจของนายกฯทักษิณ ชินวัตร ในฐานะผู้นำมีสิทธิอันชอบธรรมในการใช้กฎหมาย จะเข้าข่ายเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างที่ ใครต่อใครต่างพากันวิตกกังวลหรือไม่ ด้วยท่าทีที่ผ่านมาจากนายกฯทักษิณ กับการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ นั้นมีหลายแง่มุมที่หลายคนไม่อาจวางใจได้
จวบจนการแสดงจุดยืนก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาในสภาจากฝ่ายรัฐบาล ที่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลไม่จำเป็นต้องตื่นตูมแก้ไขในประเด็นที่ถูกโจมตีตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่มีการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวนี้ ทุกเหตุผลที่ใครติดใจสงสัยรัฐบาลได้ส่ง มือกฎหมายชั้นครู "วิษณุ เครืองาม"รองนายกฯ และพล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ รองนายกฯและรมว.ยุติธรรม รับหน้าเสื่อเคลียร์กับฝ่ายค้านกลางที่ประชุมสภาฯไว้เรียบร้อยแล้ว
เมื่อเกมจากรัฐบาลออกมาในรูปที่ว่าไม่ให้น้ำหนักจากฝ่ายต้านพ.ร.ก.อย่างชัดเจนเช่นนี้ นั่นหมายความบรรดาพลพรรคฝ่ายตรงข้ามนายกฯทักษิณ ต้องพยายามพลิกหาทางออกเพื่อเตรียมรับมือต่อไป หากจะหวังส่งเสียงให้รัฐบาลหันมาให้ความสำคัญต่อการเสนอแนะแนวทางต่างๆ ข้อบกพร่องของพ.ร.ก.ก็คงต้องลืมไปได้เลย...
ปชป.เตรียมล่า 5 หมื่นชื่อกดดันรบ.
สำหรับพรรคฝ่ายค้านทั้งชาติไทยและ ประชาธิปัตย์ นั้นย่อมรู้ดีว่าการถกเถียงเพื่อหวังเอาชนะรัฐบาล ที่กุมเสียงไว้มากมายถึง 377 เสียงไม่มีทางเป็นไปได้อย่างแน่นอน แม้คณะทำงานของพรรคที่ดูแลด้านความมั่นคงและฝ่ายกฎหมายของพรรคจะเตรียมรับมือ หรือนำเสนอให้มีการแก้ไข ปรับเปลี่ยนในบางประเด็นก็ตาม แต่ในที่สุดแล้วก็คงหนีปรากฎการณ์ "พวกมาก ลากไป"ของพรรคไทยรักไทยในสภาผู้แทนฯ ไม่พ้นอยู่ดี ดังนั้นจึงไม่แปลกหากประชาธิปัตย์ จะเตรียมหาทางออกหรืองัดง้างการใช้อำนาจของนายกฯไว้ล่วงหน้า..
สุวโรช พะลัง ส.ส.ชุมพร ระบุ พรรคประชาธิปัตย์จะนำข้อมูลจากการสัมนาเรื่อง"พ.ร.ก."ที่ หาดใหญ่ ที่จัดในวันที่ 22 สิงหาคม ข้อมูลฝ่ายความมั่นคงของพรรค รวมทั้งข้อมูลจากส.ส. ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มาสรุปในที่ประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ก่อน เพื่อนำเสนอในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรในการเปิดประชุมสมัยสามัญในวันที่ 24 สิงหาคม
"การที่รัฐบาลนำเรื่อง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เข้าสภานั้นก็เพื่อให้เป็นไปตามขั้นตอน แต่ไม่ได้คิดที่จะรับฟังใครทั้งนั้น ที่ทำไปเพราะแรงกดดันจากหลายฝ่าย
พรรคประชาธิปัตย์ได้เตรียมนำข้อมูลจากการประชุมสัมมนาส.ส. ที่ผ่านมามาสรุปเพื่อเป็นข้อเสนอต่อที่ประชุมสภาฯแล้ว เรายังจะเดินหน้าต่อในเรื่องนี้อีก "
นอกจากนี้พรรคฝ่ายค้านจะเสนอให้มีการยกร่างพ.ร.ก.เป็นพระราชบัญญัติ และจะรวบรวมรายชื่อประชาชน 5 หมื่นชื่อเพื่อส่งให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา พิจารณา รวมทั้งจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ เพื่อกดดันรัฐบาลไม่ให้ใช้อำนาจในทางที่ไม่เหมาะสมต่อไป
ส.ว.จ้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญเร่งตีความ
และนั่นคือยุทธวิธีที่ฝ่ายค้านเตรียมเอาไว้รับมือกับฝ่ายรัฐบาล ภายหลังจากที่จบเกมในสภาผู้แทนฯ แล้ว ซึ่งคงไม่แตกต่างไปจากความเคลื่อนไหวในส่วนของสภาสูง โดยเฉพาะกลุ่มส.ว. ที่แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการบังคับใช้พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ของรัฐบาลมาก่อนหน้านี้...
ทองใบ ทองเปาด์ ส.ว.มหาสารคาม ระบุ ในส่วนของ ส.ว.เห็นว่ามีประเด็นที่รัฐบาลต้องให้คำตอบและความชัดเจนหลายเรื่องด้วยกัน ทั้งในเรื่องของความรีบเร่งออกพ.ร.ก.ที่ผ่านมา มีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ เมื่อนำมาบังคับใช้ไปแล้ว ได้ผลอย่างไร
"ถึงแม้ว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับนี้จะผ่านสภาฯไปแล้วก็ตาม หากเราทำอะไรไม่ได้ ส.ว.เองก็จะอาศัยช่องทางเล็กๆ เพื่อที่จะทำให้ประชาชนเห็นว่าเราไม่ได้นิ่งดูดาย โดยจะดำเนินการล่าลายชื่อของ ส.ว.กี่คนก็ได้ ที่ไม่เห็นด้วย กับ พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะให้ความเป็นธรรม คิดว่าไม่มีแค่ ส.ว.ที่ทำเช่นนี้ แต่องค์กรอื่นๆ ก็จะลุกขึ้นฮือต้าน พ.ร.ก.ฉบับนี้เช่นกัน อย่างไรก็ตามผมจะขอแนวร่วมจากภาคประชาชนให้ช่วยกันผลักดันในเรื่องนี้ด้วย"
ครป.ดึง "ผู้นำท้องถิ่น"เปิดแนวรบทั่วทุกภาค
ขณะที่ความเคลื่อนไหวจากภาคประชาชน ผ่านคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ก็ไม่ได้นิ่งเฉยเช่นกัน มีการประสานงานระหว่างองค์กรภาคประชาชนจากต่างจังหวัด มาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะองค์กรในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาพื้นที่3 จังหวัดภาคใต้โดยตรง
"ช่วงเปิดประชุมสภาฯสมัยสามัญ ทาง ครป.จะทำหนังสือส่งถึง ส.ส.และส.ว.ทั้ง 700 ท่าน เพื่อชี้แจงเหตุผลในการค้าน พ.ร.บ.ฉบับนี้ และให้รัฐสภา คว่ำ พ.ร.ก.ฉบับนี้ นอกจากนั้นหลังจากที่รอคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินว่าจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่"
สุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย
(ครป.) ระบุ พร้อมทั้งบอกถึงแนวทางการเคลื่อนไหวเพื่อหาแนวร่วมจากภายนอก ด้วยการจัดให้มีการสัมมนาเพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้นำท้องถิ่นตลอดจนนักวิชาการ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นตามจังหวัดต่างๆ โดยก่อนหน้านี้ได้นำร่องจัดการสัมมนาไปแล้วที่จ.สงขลา และจ.ขอนแก่น แต่ต่อจากนี้จะเปิดแนวรบให้ทั่วทุกภาคอย่างต่อเนื่องต่อไป
ดร.วรเจต ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ภายหลังเมื่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนฯเรียบร้อยแล้ว จำเป็นต้องมีการแก้กฎหมายเพิ่มเติมหลายมาตรา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการกำหนดให้คำนิยาม ของคำว่า "สถานการณ์ฉุกเฉิน" ให้แคบลงและชัดเจน ตรวจสอบการควบคุมการใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในยามฉุกเฉิน
นักวิชาการชี้แก้ไขเพิ่มหลายมาตรา
นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาในมาตราที่ว่าด้วยการใช้อำนาจของศาลปกครอง การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยจะดำเนินการอย่างไร และศาลจะมีแนวทางอนุมัติอย่างไร ญาติจะมีสิทธิเข้าเยี่ยมหรือไม่ ประเด็นการยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่โดยลักษณะถ้อยคำ จะสั่งในการปฏิบัติอย่างไร ถ้าหากฟ้องให้รัฐผิด ก็จะไปพันกับมาตรา 16 ซึ่งเป็นเนื้อหาปลีกย่อย ว่าด้วยการกำจัดสิทธิของสื่อมวลชน ซึ่งทำให้ประชาชนหวาดกลัว
"กฎหมายเรื่องของกรณีฉุกเฉินเราจะใช้ได้ผลเฉพาะ การเกิดการจลาจล เกิดภัยภิบัติอย่างรุนแรง แต่ใช้กับเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดภาคใต้ไม่ได้"
ดร.วรเจต ยังระบุ ถึงการการประกาศเขตสถานการณ์ฉุกเฉิน 3 เดือนนั้นบทบัญญัตินี้จะต้องแก้ไข และการต่ออายุสถานการณ์ฉุกเฉินฉบับนี้จะต้องเข้สู่การพิจารณาของสภาผู้แทนฯเช่นกัน
เมื่อมีฝ่ายที่เห็นต่างไปจากนายกฯทักษิณ คือฝ่ายค้าน สภาสูง นักวิชาการและองค์กรภาคประชาชา พากันวางเกมนอกสภา เพื่อเตรียมรับมือหลังจากที่รัฐบาลเป็นฝ่ายได้รับชัยชนะจากการมี 377 เสียงในสภา หวังที่จะให้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถเป็นเครื่องมือตอบสนองต่อการแก้ปัญหาไฟใต้ได้อย่างแท้จริงก็ตาม แต่ดูเหมือนคำตอบของเกมนี้ได้ถูกกำหนดเอาไว้ตั้งแต่แรกโดยผู้นำที่ "ทักษิณ"ไว้เบ็ดเสร็จอยู่แล้ว
|
|
|
|
|