"บ้านทรุด บ้านร้าว ซื้อบ้านไม่ได้บ้าน สาธารณูปโภคขาดคนดูแล นานาปัญหาที่เกิดขึ้นกับโครงการบ้านจัดสรร ในยุคตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ จนกลายเป็นประเด็นท็อปฮิตระบาดไปทั่ววงการอสังหาริมทรัพย์ในช่วงวิกฤตทางเศรษฐกิจ "
ล่าสุด ลูกบ้านโครงการบ้านจัดสรรหรูหรา ราคาแพง ในโครงการกฤษดามหานคร โครงการ 18 ,20,31 และ 39 ได้รวมตัวกันโวยบมจ. กฤษดามหานคร ในฐานะเจ้าของโครงการ ในข้อหาทอดทิ้งลูกบ้าน ไม่ดูแลส่วนความเรียบร้อยในโครงการ ทั้งด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การดูแลสาธารณูปโภคส่วนกลาง น้ำเสีย น้ำท่วม ปัญหาขยะเน่าเหม็น ขณะที่ตัวแทนกฤษดาฯรับเรื่อง เคลียร์ปัญหา
ณัฐวัฒน์ แพรพริ้วงาม ประธานกรรมการหมู่บ้านกฤษดานคร โครงการ 20 เปิดเผยว่า ปัจจุบันลูกบ้านโครงการกฤษดานครได้รับความเดือดร้อน จากการพักอาศัยภายในโครงการ18,20,31 และ 39 โดยมีปัญหาหลัก ๆ 7 ข้อ ประกอบด้วย 1.ความไม่มีปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 2.ทรัพย์สินส่วนกลางขาดคนดูแลรับผิดชอบ 3.คนงานทะเลาะวิวาท ก่อให้เกิดมลภาวะทางเสียง 4. แสงสว่างไม่เพียงพอ 5.วัชพืชขึ้นเต็มโครงการ สร้างความรกร้าง และ 6.น้ำเสีย น้ำท่วมถนน
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ตัวแทนหมู่บ้านได้แจ้งปัญหาที่ลูกบ้านได้รับความเดือดร้อนแก่ บริษัท กฤษดามหานคร ,บริษัท โพรเกรส จำกัด ในฐานะผู้บริหารงานด้านสาธารณูปโภค รวมถึงบริษัท เค วัน อาร์คิเทค แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งทางกฤษดาฯรับเรื่องดังกล่าวไว้เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่ตัวแทนของบริษัท กฤษดามหานคร ชี้แจงว่า ได้มอบหมายให้บริษัท โปรเกรส พรอพเพอร์ตี้ แมนเนจเมนท์ จำกัด เป็นผู้ดูแลสภาพแวดล้อมและจัดการด้านระบบสาธารณูปโภคของโครงการบ้านกฤษดานครทั้งหมด เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกบ้าน
ส่วนปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะลูกบ้านไม่จ่ายเงินค่าส่วนกลาง ซึ่งเป็นเงินเพียงเดือนละ 500 บาทต่อหลังเท่านั้น โดยบริษัทเก็บได้เพียง 30% ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายสำหรับการดูแลส่วนกลาง และทุกวันนี้ โครงการต้องออกเงินเพื่อจ่ายค่าดูแลส่วนกลางมากถึงเดือนละ 94,000 บาทต่อโครงการ หากลูกบ้านจ่ายเงินครบ บริษัทก็พร้อมที่จะปรับปรุงสาธารณูปโภคส่วนกลางให้อยู่ในสภาพดีทันที
"ปัจจุบันบริษัทได้รับเงินค่าบริการสาธารณะจากลูกบ้าน จำนวน 110 หลัง จากจำนวนแปลงที่ที่อยู่ในโครงการ 969 แปลงรวมได้รับเงินเพียงเดือนละ 56,350 บาท ขณะที่มีรายจ่ายเดือนละ150,554 บาท ซึ่งเท่ากับว่าบริษัทต้องรับภาระเดือนละ 94,204 บาท หรือปีละ 1,130,448 บาท"
ส่วนกรณีที่ลูกบ้านต้องการให้มีการจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรนั้น ยังติดข้อกฎหมายที่ดิน ซึ่งระบุว่าใน 1 โครงการจะมีนิติบุคคลบ้านจัดสรรได้เพียงหน่วยงานเดียว ขณะที่บริษัทเปิดขายโครงการเป็นเฟส แต่ละเฟสก็จะมีชื่อเรียกเป็นตัวเลข อีกทั้งที่ดินทำเลนั้นเป็นแปลงขนาดใหญ่ และยังมีแผนพัฒนาที่ดินส่วนที่ยังเหลือ จึงทำให้ไม่สามารถส่งมอบทรัพย์สินส่วนกลางหรือจัดตั้งนิติบุคคลบ้านจัดสรรได้
|