ธุรกิจขนส่งด่วนทางอากาศในประเทศไทยกำลังโตวันโตคืทำเอาผู้ประกอบการต่างชิงดีชิงเด่นแย่งความเป็นผู้นำ ล่าสุด ดีเอชแอลประกาศตัวขอเป็นผู้นำในประเทศไทย พร้อมโชว์ศักยภาพเพิ่มเงินลงทุนมหาศาล สร้างความแข็งแกร่งการให้บริการ ด้านเฟดเอ็กซ์ไม่น้อยหน้าท้าชนเปิดบริการเอสเอ็มอีมีสัดส่วนพุ่งกระฉูดกว่า 50% ทำให้ทีเอ็นทีต้องปรับกลยุทธ์ใหม่ใช้แผนเพิ่มบริการการความหลากหลาย และสุดท้ายผลกระทบจึงต้องตกไปที่ไปรษณีย์ไทยที่ต้องดิ้นต่อไปเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด
แม้ว่าตัวเลขของการแข่งขันในธุรกิจขนส่งด่วนทางอากาศที่มีการวิจัยออกมาแล้วว่าจะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 15% ก็ตามและยังเป็นการพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เป็นรายได้รองมาจากการท่องเที่ยวที่กำลังประสบปัญหาจากเหตุการณ์ต่างๆด้วยเช่นกัน จนทำให้ผู้ประกอบการหลายฝ่ายต่างวิตกกังวลถึงทิศทางในอนาคตอันใกล้นี้ว่าจะมีการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น กอปรการเปิดการค้าเสรีที่เป็นปัจจัยในการต่อสู้เพื่อหากลยุทธ์มาต่อสู้กันบนสนามธุรกิจ
เจาะยุทธศาสตร์ดีเอชแอล
"ดีเอชแอลได้ลงทุนทั้งสิ้นมากกว่า 1,100 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 44,000 ล้านบาท ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิกนี้ ซึ่งเรามั่นใจว่าด้วยการลงทุนในบุคลากร โครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายเหล่านี้ทำให้วันนี้ดีเอชแอลยืนอยู่ในตำแหน่งที่ดีที่สุด และสามารถช่วงชิงโอกาสความได้เปรียบในตลาดที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วนี้"เฮอร์เบิต วงศ์ภูษณชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอชแอล เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว
สำหรับการลงทุนครั้งสำคัญของดีเอชแอล ประเทศไทย ในปีนี้ได้แก่ การเปิดสำนักงานใหญ่ การแนะนำสุดยอดอุปกรณ์พกพาไร้สายอัจฉริยะคู่กายคูเรียร์หรือ Global Courier Real-Time Handheld Device ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถติดตามสถานะสินค้าแบบเรียลไทม์ ตลอดจนการขยายศักยภาพเครือข่ายขนส่งด่วย เอเชีย แอร์ เน็ตเวิร์ก (Asian Air Network: AAN) เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการลูกค้ากว่า 30,000 ราย โดยเพิ่มเครื่องบินขนส่งของดีเอชแอลรุ่นโบอิ้ง 737-200 จำนวน 1 ลำ รองรับเส้นทางขนส่งในมาเลเซีย กรุงเทพฯ โฮจิมินห์ และล่าสุดได้นำเครื่องบินแอร์บัส A300-600F อีก 1 ลำมาเพิ่มบริการเส้นทางระหว่างกรุงเทพฯ และปีนัง โดยปัจจุบันเครือข่ายเอเชีย แอร์ เน็ตเวิร์ก ของดีเอชแอล ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ให้บริการครอบคลุม 25 จุดหมายปลายทางใน 16 ประเทศ ผ่านเครื่องบินดีเอชแอลโดยเฉพาะให้บริการทั้งสิ้น 40 ลำและเที่ยวบินพาณิชย์กว่า 800 เที่ยวบินต่อวัน
ในปี 2548 ดีเอชแอลจะลงทุนเพิ่มในด้านต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น เช่นการอัพเกรดศูนย์บริการ 2 แห่งที่บริเวณถนนเพชรบุรีและสนามบินสุวรรณภูมิซึ่งกำลังจะเปิดในปีหน้า นอกจากนี้ดีเอชแอลมีแผนเปิดศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (อีดีไอ) ที่บางพลี และเปิดศูนย์บริการใหม่อีก 2 แห่งที่แหลมฉบังและธนบุรี รวมถึงการสร้างศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงาน (Quality Control Center) แห่งที่ 2 ที่สำนักงานใหญ่ของดีเอชแอล ซึ่งมอบการเชื่อมต่อแบบเรียลไทม์ที่ช่วยให้ดีเอชแอลสามารถบริหารงานเชิงรุก และควบคุมทุกขั้นตอนกระบวนการขนส่งชิปเม้นท์ นอกจากนี้ ดีเอชแอลจะสานต่อการพัฒนาอุปกรณ์พกพาไร้สายอัจฉริยะในช่วงเฟสที่ 2 หรือการรองรับลายเซ็นดิจิตอล ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีหน้าเช่นกัน
"กลยุทธ์ทางการตลาดของดีเอชแอลในปีหน้า จะมุ่งเน้นการเพิ่มความจงรักภักดีของฐานลูกค้าเดิมด้วยการนำเสนอโซลูชั่นที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ธุรกิจของลูกค้าสูงสุด นั้นหมายความว่า ทีมงานของเราต้องเข้าใจธุรกิจและรู้ใจลูกค้าเป็นอย่างดี โดยเราจะจัดกิจกรรมทางตลาดในรูปแบบต่างๆ สำหรับลูกค้าในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ดีเอชแอล จะมุ่งเน้นการเพิ่มส่วนแบ่งครองใจลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพ ด้วยการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ และการจัดกิจกรรม below-the-line ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โรดโชว์ อีเว้นท์ การตลาด กิจกรรม Tie-in Activity และให้การสนับสนุนสปอนเซอร์ต่างๆ" นายเฮอร์เบิต กล่าว
เฟดเอ็กซ์ท้าชน
ปีเตอร์ ยิน รองประธานเฟดเอ็กซ์ ประจำภูมิภาคแปซิฟิคใต้ กล่าวว่าปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมถือเป็นธุรกิจหลักที่ใช้บริการของเฟดเอ็กซ์มากถึงร้อยละ 50 และนับว่าจะมีการขยายตัวสูงขึ้นในการส่งสินค้าเพื่อไปทำตลาดที่ต่างประเทศ ซึ่งยังคงใช้แรงงานภายในประเทศในการผลิตและส่งอกไปทำตลาด
"ธุรกิจภาพยนตร์ในประเทศนิวซีแลนด์ที่นิยมใช้บริการในการส่งออกฟิล์มภาพยนตร์ไปทั่วโลก ส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยจะนิยมส่งออกจิวเวลรี่ไปต่างประเทศ และแนวโน้มการใช้บริการธุรกิจทางด้านนี้มากขึ้น ธุรกิจเอสเอ็มอีของไทยถือว่ามีความโดดเด่นมากกว่าธุรกิจประเภทอื่น"ปีเตอร์ ยิน กล่าวพร้อมกับเสริมอีกว่า
เพื่อเป็นการรองรับการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น จึงได้เพิ่มบริการ International Priority Drug Goods หรือ IPDG เป็นการให้บริการขนส่งสินค้าที่เกี่ยวข้องกับยาและบริการทางการแพทย์ เช่นส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจต่างประเทศ การขนส่งยากที่ต้องการความรวดเร็วในการขนส่ง หรือแม้กระทั่งเสริมหมายเลขโทรศัพท์อัตโนมัติในการให้บริการขนส่งตลอด 24 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน
"เฟดเอ็กช์อยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกสนามบินในฟิลิปปินส์ 2 แห่งและในจีน 1 แห่งเพื่อให้เป็นฮับทางด้านการขนส่งสินค้าของเฟดเอ็กซ์ โดยยังไม่ได้พิจารณาให้สนามบินสุวรรณภูมิเป็นฮับทางด้านการขนส่งของบริษัท แต่ก็ได้มีการลงทุนก่อสร้างสำนักงานในสนามบินสุวรรณภูมิไว้แล้วเช่นกัน"ปีเตอร์ ยิน กล่าวทิ้งท้าย
"ทีเอ็นที" เล็งบริการใหม่ๆเอาใจลูกค้าไทย
ด้าน เดวิด เรคคอร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด การขาย และการบริการลูกค้า บริษัท ทีเอ็นที ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ มีทิศทางของการเติบโตที่ดี โดยในส่วนของประเทศไทย ทีเอ็นที เอ็กเพรส ได้รับการตอบรับที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา ดังนั้นในปี 2548 ทีเอ็นที เอ็กเพรส จึงมีแผนการเพิ่มบริการที่หลากหลาย พร้อมสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านบริการขนส่งด่วนและลอจิสติกส์ และเพื่อตอบสนองความมั่นใจต่อลูกค้า ที่สามารถไว้วางใจในการเชื่อมต่อธุรกิจที่สะดวกและรวดเร็ว ทั้งในตลาดในประเทศและต่างประเทศ จกาเครือข่ายของทีเอ็นที เอ็กซ์เพรส กว่า 200 ประเทศทั่วโลก
"บริการขนส่งด่วนของเรา เป็นองค์ประกอบสำคัญของกลยุทธ์การให้บริการ ที่ครบวงจรของทีเอ็นที เอ็กซเพรส เพราะต้องอาศัยเครือข่ายด้านข้อมูลในส่วนของการขนส่งทางบกและทางอากาศ และเรามีแผนที่จะลงทุนเพิ่มเติมอีกมากในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว"เดวิด กล่าวพร้อมกับเสริมว่า
ทีเอ็นที เอ็กซ์เพรส ประสบความสำเร็จจากผลประกอบการที่พิ่มขึ้นในปี 2547 โดยจากในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2547 โดยมียอดขายรวม 9,020 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ซึ่งมียอดขายรวม 8,682 ล้านยูโร ถึง 3.9% ทั้งนี้พบว่าคิดเป็นกำไร 241 ล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2546 ซึ่งมีกำไร 165 ล้านยูโร ถึง 46.1%
ทีเอ็นที เอ็กซ์เพรส เป็นผู้ให้บริการขนส่งด่วนทางอากาศชั้นนำของโลก ให้บริการส่งเอกสรธุรกิจ พัสดุภัณฑ์และสินค้า ประมาณ 3.3 ล้านชิ้นต่อสัปดาห์ ไปยังจุดหมายกว่า 200 ประเทศทั่วโลก ผ่านศูนย์กลางกระจายสินค้ากว่า 900 แห่ง มยานพาหนะใช้ในการขนส่ง 18,000 คัน เครื่องบิน 42 ลำ นอกจากนั้น ยังเป็นผู้ให้บริการที่มีความพร้อมในด้านสาธารณูปโภคพื้นฐานในการให้บริการขนส่งด่วนทั้งทางอากาศและทางภาคพื้นดินปัจจุบัน ทีเอ็นที เอ็กซ์เพรส มีพนักงานกว่า 43,000 คนทั่วโลก และเป็นองค์กรแรกที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ในฐานะองค์กรที่มีความเป็นเลิศด้านการพัฒนาบุคลากร ในปี 2546
บทบาทไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างไร
ตัวเลขของศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า แนวโน้มการขยายตัวของภาคการส่งออก ที่มีประมาณการว่าจะขยายตัวถึง 20% ในปีนี้ และต่อเนื่องในปีหน้าอีก 8% ตลอดจนรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้นำระบบโลจิสติกส์ มาใช้เพิ่มศักยภาพนั้น จะส่งผลดีต่อกิจการไปรษณีย์ไทยให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้นในยุคที่แนวโน้มใช้บริการไปรษณีย์ลดลง
โดยในแผนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทยนั้น กิจการไปรษณีย์ ถูกจัดให้อยู่ในส่วนของการให้บริการรับส่งสินค้าและพัสดุให้ถึงมือผู้รับ (Door to Door Service) ซึ่งเป็นบริการทั้งในและระหว่างประเทศร่วมกับ ร.ส.พ. และการบินไทย จำกัด ซึ่งทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุด้วยว่า บทบาทที่สำคัญของกิจการไปรษณีย์ไทยในกระบวนการโลจิสติกส์มีความเป็นไปได้สูง ที่จะช่วยเสริมให้ระบบโลจิสติกส์ของไทยได้รับการพัฒนาขึ้น เนื่องจากไปรษณีย์ไทยมีจุดแข็งหลายประการ
ได้แก่ การมีเครือข่ายที่ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีจำนวนสาขาให้บริการจำนวนมากถึง 4,219 แห่ง แบ่งออกเป็นที่ทำการไปรษณีย์รับจ่าย 954 แห่ง และที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต 3,271 แห่ง ซึ่งพร้อมรองรับบริการ โดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดที่มีจุดบริการไปรษณีย์ทั่วถึง
นอกจากนี้ ยังมีจำนวนพนักงานทั่วประเทศกว่า 20,000 คน ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในพื้นที่ให้บริการที่ครอบคลุม และสามารถดำเนินการได้สะดวก มีความชำนาญในการจัดส่งไปรษณียภัณฑ์เป็นอย่างดี
ขณะเดียวกัน ค่าบริการไปรษณีย์ของไทยยังจัดว่าอยู่ในอัตราที่ต่ำ แม้ว่าจะมีการปรับอัตราค่าบริการไปแล้ว แต่ก็ยังจัดว่าอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับบริการไปรษณีย์ของต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ไปรษณีย์ไทย จำเป็นต้องเตรียมพร้อม และปรับตัวเพื่อรับมือการจัดตั้งเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้านสินค้าและบริการ เนื่องจากปัจจุบันมีผู้ให้บริการระดับโลกจากหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ต้องการมาเปิดให้บริการในประเทศไทย โดยเฉพาะในส่วนของบริการส่งพัสดุภัณฑ์ด่วน (Express Delivery Services : EDS) และบริการด้านการขนส่งแบบโลจิสติกส์
นอกจากนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาจะยังไม่มีการเปิดเสรี บริการขนส่งทางไปรษณีย์ในประเทศอย่างเป็นทางการ แต่ปัจจุบันก็มีผู้ให้บริการต่างประเทศ เช่น เฟดเด็กซ์, ดีเอชแอล, ทีเอ็นที ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความชำนาญในบริการขนส่งระบบโลจิสติกส์ มีเครือข่ายให้บริการที่ครอบคลุมทั่วโลก เข้ามาให้บริการในไทยอยู่แล้ว
ดังนั้น หากธุรกิจบริการไปรษณีย์และขนส่งเหล่านี้ เข้ามาให้บริการในประเทศอย่างเต็มรูปแบบก็อาจส่งผลต่อภาวะการให้บริการ ของไปรษณีย์ไทยด้วยเช่นกัน เนื่องจากเป็นบริการที่คล้ายคลึงกัน
ธุรกิจ"แอร์ คาร์โก"ปีไก่สดใสขยายตัวต่อเนื่อง
ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ หรือ "แอร์ คาร์โก" ตลอดปี 2547 ที่ผ่านมา มีการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อเทียบกับธุรกิจสายการบิน หลังจากที่ได้ประสบกับภาวะตกต่ำจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายน ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสิ้นปีนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าภาพรวมจะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็นตัวเลข 2 หลัก หรือประมาณ 14-15% ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นธุรกิจที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมากในระบบการค้า ของโลก โดยประมาณว่าร้อยละ 34 ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศต้องอาศัยการขนส่งโดยทางกาศ
จากรายงานของ World Air Cargo Forecast โดยบริษัท โบอิ้ง แห่งสหรัฐซึ่งเป็นผู้ผลิตอากาศยานรายใหญ่ของโลกได้คาดการณ์ไว้ว่า ในช่วงเวลา 20 ปีนับตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ย 6.2% ต่อปี ในขณะที่ธุรกิจสายการบินโดยสารจะเติบโตเฉลี่ยเพียง 5.2% ต่อปี โดยที่ภูมิภาคเอเชียจะมีอัตราเติบโตสูงที่สุดคือเฉลี่ยกว่า 8.5% ต่อปี นอกจากนั้นยังคาดการณ์อีกว่าจำนวนเครื่องบินที่ใช้บรรทุกสินค้าของสายการบินที่ให้บริการขนส่งสินค้าหรือแอร์ คาร์โกทั่วโลก จะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าจากจำนวนเกือบ 1,800 ลำในปัจจุบัน เป็นประมาณ 3,500 ลำในปี 2023 อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าปริมาณสินค้าที่ขนส่งทางอากาศจะสูงถึงกว่า 60 ล้านตันในปี 2017 เทียบกับปริมาณเกือบ 40 ล้านตันในปัจจุบัน
สำหรับปัจจัยหลักด้านเศรษฐกิจและการค้าที่จะทำให้ธุรกิจการขนส่งสินค้าทางอากาศทวีความสำคัญและมีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างมาก ได้แก่ 1.การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการพัฒนาทั้งทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรมของโลกได้ก่อให้เกิดประเภทของสินค้าต่างๆ หลากหลายขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่มีมูลค่าสูง แต่มีขนาด ปริมาตรและน้ำหนักไม่มาก ซึ่งเป็นสินค้าที่จำเป็นต้องอาศัยระบบการขนส่งที่รวดเร็วปลอดภัยและมีการดูแลสภาพของสินค้าอย่างดีที่สุด ทั้งนี้บริการขนส่งสินค้าทางอากาศ คือระบบการขนส่งที่สามารถตอบสนองความต้องการเหล่านี้ได้ 2.แนวทางการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่เรียกว่า Just-in-Time Concept ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งในการดำเนินธุรกิจยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้ประกอบการในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศจะต้องบริหารสต็อกสินค้าให้ดีและต้องอาศัยระบบการจัดส่งสินค้าจากผู้ผลิตไปสู่ผู้ขายและสู่ตลาดที่มีความรวดเร็วตรงเวลา ถูกต้องและแม่นยำ 3.การขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเติบโตของปริมาณการค้าของโลก ได้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ปริมาณและประเภทของสินค้าที่ต้องอาศัยการขนส่งทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ศึกษา-ขนส่ง-ไมซ์ หัวหอกดึงรายได้แทนท่องเที่ยว
ขณะเดียวกัน สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) พยายามผลักดัน 3 ธุรกิจบริการ 'การศึกษา-ขนส่งทางอากาศ-จัดแสดงสินค้า'ขึ้นเป็นหัวหอกดึงรายได้เข้าประเทศ ลดการพึ่งพาท่องเที่ยว พร้อมวางยุทธศาสตร์ทิศทางการพัฒนาหวังเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจภาคบริการ เพราะปัจจุบันรายได้หลักในภาคบริการของไทย มาจากการท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงมาก เพราะทุกครั้งที่เกิดวิกฤติต่างๆ เช่น โรคซาร์ส ไข้หวัดนก และคลื่นยักษ์ 'สึนามิ' ต่างมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรงทั้งสิ้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกระจายความเสี่ยงโดยหันมาเน้นภาคบริการที่หลากหลาย อาทิ การแพทย์ สปา และความบันเทิง
การพัฒนาภาคบริการอื่นๆ ยังไม่มีการวางแผนหรือมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ดังนั้นเพื่อยกระดับให้กับสินค้าบริการของไทย การวางยุทธศาสตร์ให้กับ 3 ธุรกิจนี้ จะต้องเน้นการให้บริการในเชิงคุณภาพมากกว่าปริมาณ และหากจะมีการกำหนดให้ไทยเป็นศูนย์กลางในธุรกิจเหล่านี้แล้ว จะต้องระบุให้ชัดว่าในความเป็นศูนย์กลางนั้นมีอะไรที่เป็นรูปธรรมบ้าง ไม่ใช่เอาแต่ตั้งหน่วยงานเพิ่มขึ้น ทั้งที่หน่วยงานลักษณะเดิมมีอยู่แล้ว และยังต้องมีความเชื่อมโยงกับภาคอื่นๆ ด้วย
ยกตัวอย่างเช่นการจะเป็นศูนย์กลางการบิน แต่การจัดอับดับสายการบินของเอเชียพบว่า ไทยอยู่อันดับที่ 12 ขณะที่สิงคโปร์อยู่ในอันดับที่ 1 ยิ่งโดยเฉพาะในธุรกิจด้านการขนส่งทางอากาศและภาคบริการอื่น หากสนามบินสุวรรณภูมิเสร็จไม่ทันตามกำหนด จะส่งผลกระทบต่อภาคบริการโดยรวมได้ และถือเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะกระทบทั้งเรื่องการขนส่งสินค้าและคน ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นคู่แข่งสำคัญที่กำลังจับตาดูเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด
|