|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
ภูเก็ตในวันนี้กำลังจะตาย!!...แนวทางแก้ไขกลับไม่เป็นไปตามขั้นตอน...แคมเปญต่างๆที่ภาครัฐกระหน่ำใส่ภูเก็ตหวังฉุดนักท่องเที่ยวเข้ามาอาจล้มเหลว ทิศทางท่องเที่ยวภูเก็ตยังคงมืดมน ขณะที่ภาครัฐเองกำลังเดินหลงทาง...
วิจิตร ณ ระนอง ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ยอมรับว่าแคมเปญที่ภาคเอกชนและภาครัฐกำลังทำอยู่ในปัจจุบันโดยหยิบกลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาใช้เพื่อดึงนักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ต เป็นเพียงกระตุ้นตลาดในระยะสั้นเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติต้องการทราบถึงความปลอดภัยเมื่อได้มาเที่ยว
“เราได้ส่งปัญหาและแนวทางแก้ไขให้ภาครัฐช่วยเหลือซึ่งทางผู้ใหญ่ระดับผู้มีอำนาจของรัฐบาลได้สั่งการลงมาแล้ว แต่เมื่อมาถึงฝ่ายปฏิบัติเรื่องกลับเงียบไปไม่มีการดำเนินต่อ”วิจิตร กล่าวพร้อมกับเสริมว่า
ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการออกไปทำตลาดในต่างประเทศพบว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่ยังไม่เชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเสนอแนวทางแก้ไขออกเป็นสามเรื่องหลักๆด้วยกันคือ
1.การประชาสัมพันธ์ไปทั่วโลกเกี่ยวกับข้อเท็จจริงว่าประเทศไทยมีระบบป้องกันรักษาความปลอดภัยเต็ม 100% เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน
2.การจัดแคมเปญต่างๆออกมาเพื่อกระตุ้นตลาดซึ่งตอนนี้ภาครัฐกลับทำก่อนข้อที่ 1
3.สายการบินที่ขนคนเข้าไปภูเก็ตรัฐน่าจะมีมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายในการลดค่าเฟดต่างๆเพื่อธุรกิจดำเนินต่อไปได้
ขณะที่แนวทางทั้ง 3 ขั้นตอนว่า ปัจจุบันพบว่าแนวทางแก้ไขไม่ได้เป็นไปตามขั้นตอน ดังนั้นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นจึงอาจส่งผลให้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปภูเก็ตไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้
“คิดดูง่ายๆ ถ้านักท่องเที่ยวยังฝังใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้เกิดความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยวแล้ว ให้เขามาฟรีๆก็ไม่มีใครเขาอยากมา ถ้าไปคุณไปอิรักฟรีคุณจะไปหรือป่าว! หรือถ้าให้คุณไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้คุณจะไปไหม?”วิจิตรอธิบายเป็นฉากๆ
ขณะเดียวกันถ้าจะให้ภาคเอกชนไปดำเนินการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวเองนั้นคงเป็นไปได้ยากเพราะเม็ดเงินที่ทำประชาสัมพันธ์นั้นค่อนข้างสูงและภาครัฐก็มีศักยภาพมากกว่าซึ่งเป็นเรื่องสำคัญสร้างชื่อเสียงระดับประเทศด้วย
วิจิตรยังกล่าวอีกว่าหากแนวทางแก้ไขทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนนั่นหมายถึงการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงได้ถูกเผยแพร่ออกไปแล้วจะสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยวได้อย่างแน่นอนซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจต่อนักท่องเที่ยว สิ่งที่จะตามมาก็คือการอัดแคมเปญต่างๆเพื่อกระตุ้นนักท่องเที่ยวเป็นแผนต่อไป
“ปัจจุบันการเล่นกลยุทธ์เรื่องราคามาเป็นตัวล่อถามว่าถ้ามองกันถึงผลระยะสั้นนั้นบางทีอาจจะได้ผลบ้าง แต่ถ้าจะส่งผลให้กับท่องเที่ยวระยะยาวนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะยังไม่มีหน่วยงานภาครัฐช่วยทำการประชาสัมพันธ์ข้อเท็จจริงเรื่องความปลอดภัยกันเลย”วิจิตรกล่าวถึงที่มาที่ไปของเหตุผล
วอนรัฐช่วยธุรกิจการบิน
สภาพธุรกิจการบินที่ขนนักท่องเที่ยวเข้าภูเก็ตก็ไม่ต่างอะไรไปจากธุรกิจบนเกาะภูเก็ตเช่นกัน จากอดีตมีสายการบินทั้งของไทยและต่างประเทศจำนวน 370 ไฟล์ต่อสัปดาห์ที่บินเข้าภูเก็ต ล่าสุดเหลือเพียง 200 ไฟล์เท่านั้น ซึ่งแต่ละไฟล์บางทีมีผู้โดยสารไม่ถึงครึ่งแถมต้องเลื่อนเวลาหรือเปลี่ยนเครื่องไปก็มี ขณะเดียวกันทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรัดเข็มขัดเพื่อความอยู่รอด เพราะราคาน้ำมันที่ถีบตัวสูงขึ้นส่งผลทำให้หลายสายการบินต้องยกเลิกเส้นทางนี้ออกไปด้วยความจำใจ
วิจิตร เผยถึงธุรกิจสายการบินให้ฟังว่า ปัจจุบันสายการบินที่เหลืออยู่ก็ย่ำแย่ไปตามๆกันไม่รู้ว่าจะยกเลิกไปอีกหรือไม่ ทางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยทำได้แค่เพียงนำเสนอให้ภาครัฐช่วยลดค่าเฟดต่างๆเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกอบการให้เขาสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้เท่านั้น
“หากมีสายการบินเหลือน้อยลงจะส่งผลทำให้ประเทศไทยเสียเปรียบต่างประเทศแน่นอน และกว่าเขาจะขอเปิดเส้นทางบินก็ต้องใช้เวลา ถ้าภาครัฐไม่เร่งดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งสำหรับธุรกิจการบินแล้วคาดว่าภูเก็ตก็คงฟื้นตัวได้ยาก”วิจิตรชี้ถึงเหตุและผลในการแก้ไข
โรงแรมดิ้นหนีตาย
ในอดีตแต่ละปีที่ผ่านมารายได้ท่องเที่ยวของภูเก็ตตกราวๆประมาณ 1.2 แสนล้านบาท ถ้าคิดเป็นเดือนๆหนึ่งก็จะสูงถึง 1 หมื่นล้านบาทต่อเดือนทีเดียว ขณะที่ยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าภูเก็จเฉพาะตัวเลขทางอากาศปีหนึ่งประมาณ 4-5 แสนคน ปัจจุบันตั้งแต่ต้นปีถึงตอนนี้ลดลงเหลือเพียงแค่ 1 แสนคนเท่านั้น ซึ่งกว่าจะถึงช่วงฤดูไฮซีซัน ไม่มีใครสามารถคาดเดาได้ว่าตัวเลขจะพุ่งสูงเทียบเท่าในอดีตหรือไม่
ด้าน วิจิตร ในฐานะเจ้าของโรงแรมเพิลล์ ภูเก็ต เปิดเผยว่า ปัจจุบันอัตราการเข้าพักโรงแรมของนักท่องเที่ยวโดยรวมทั้งภูเก็ตมีประมาณ 10% เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละแห่งต่างก็รัดเข็มขัดด้วยการประหยัดพลังงานไฟฟ้าถึงขึ้นต้องปิดไฟที่ไม่จำเป็น
“แต่ถ้าเป็นโรงแรมในระดับ 5 ดาว บางครั้งเราก็ปิดไฟเหมือนกันแต่ก็ไม่ให้กระทบกับลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการ เพราะไม่อย่างนั้นแล้วค่าใช้จ่ายแต่ละเดือนไม่คุ้ม”วิจิตร กล่าว
การทำตลาดในต่างประเทศ วิจิตร เล่าให้ฟังว่ามีการเดินทางไปออก โรดโชว์ ประชาสัมพันธ์เพราะเป็นฤดูกาลจองห้องพักของนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวยุโรป บางครั้งเขายังไม่เข้าใจถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องความปลอดภัยก็หันไปจองห้องพักในประเทศอื่นๆแทน
“เป็นเรื่องที่หนักหนาสาหัสเหมือนกันสำหรับภาคเอกชนที่ต้องทำการตลาดแบบขาดการประชาสัมพันธ์ในระดับประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยว ผลสุดท้ายเราก็เสียเปรียบต่างประเทศอยู่ดี”วิจิตรกล่าว
ความพยายามแก้ไขปัญหาของภาครัฐเพื่อฟื้นฟูการท่องเที่ยวภูเก็ตให้กลับคืนมาโดยเร็ว แต่ขาดการเอาใจใส่อย่างจริงจังของข้อมูลที่ภาคเอกชนหยิบยื่นเสนอมาจนทำให้ถูกภาคเอกชนมองว่าเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด
ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐจะต้องกลับมาทบทวนที่มาที่ไปของปัญหาอีกครั้งอย่างจริงจัง รวมถึงแนวทางแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามระบบกลไกที่ภาคเอกชนชี้แนะ ซึ่งคาดว่ายังไม่สายเกินแก้ไขที่ภูเก็ตจะกลับมาคึกคักด้วยนักท่องเที่ยวอีกครั้งในฤดูไฮซีซันที่กำลังจะมาถึง...
|
|
|
|
|