|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
สถานการณ์การท่องเที่ยวเอาต์บาวนด์ โดยเฉพาะเส้นทางไกลอย่างยุโรป สหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ร่อแร่...ร่อแร่ เหตุจากหลายปัจจัยเศรษฐกิจรุมเร้า โดยเฉพาะราคาน้ำมันปลีกในประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อดัชนีความเชื่อมั่นร่วงกระฉูดเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน หลายบริษัททัวร์เร่งปรับทิศ ตามนักเที่ยวที่เปลี่ยนพฤติกรรมหันมาเที่ยวประเทศบ้านใกล้เมืองเคียงแทน
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้สำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2548 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงทุกรายการทำสถิติใหม่อีกครั้ง โดยดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตลดจาก 96.9 อยู่ที่ 96.0 ต่ำสุดรอบ 40 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณน่าเป็นห่วงที่ดัชนีเคลื่อนไหวระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ชี้ให้เห็นว่าผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่นมากขึ้น โดยเห็นว่าการที่เศรษฐกิจชะลอตัวจะมีผลต่อรายได้ในอนาคต ทำให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภค และแน่นอนว่าย่อมชะลอในเรื่องการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน
“เอาต์บาวนด์ตอนนี้เงียบ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงโลว์ซีซัน แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพเศรษฐกิจ ที่ส่งผลต่อความรู้สึกของนักท่องเที่ยวถ้าที่ไหนต้องเสียเงินเยอะจะไม่อยากไป ทำให้สถานที่เที่ยวไกลๆมีจำนวนนักท่องเที่ยวตกลงไป เพราะนักท่องเที่ยวต้องควักเงินไปเป็นค่าภาษีน้ำมันผกผัน ค่าประกันภัยในการเดินทาง และอื่นๆ เพิ่มเป็นเงินหลายพันบาทต่อการเดินทาง เช่นถ้าเดินทางไปสหรัฐอเมริกาต้องจ่ายเพิ่มถึง 6,000 บาท หรือหากจะเดินทางไปนิวซีแลนด์ก็ต้องจ่ายเพิ่มอีก 4,000 บาท เป็นต้น ขณะที่สถานที่ท่องเที่ยวใกล้ๆยังขายได้ดี” รสกมล วงศ์เชาวนาถ ผู้จัดการการท่องเที่ยวนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”
สอดคล้องกับที่ วิบูลย์ กมลโต กรรมการสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว ระบุว่า การปรับราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะ 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้สายการบินหลายแห่งเรียกเก็บค่าเซอร์ชาร์จน้ำมันเพิ่มเติมจากค่าตั๋วโดยสารปกติ ประกอบกับค่าใช้จ่ายอื่นๆที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาแพกเกจทัวร์มีการปรับเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยประมาณ 5-10% ด้วยเหตุนี้ตลาดเอาต์บาวนด์มียอดลดลง
“บางรายกำหนดราคาแพกเกจไว้ไม่ต่างจากเดิมมากนัก แต่ค่าใช้จ่ายที่ลูกค้าต้องรับภาระจริงกลับเพิ่มขึ้นจากค่าเซอร์ชาร์จน้ำมันที่แต่ละสายการบินเรียกเก็บ รวมทั้งภาษีและค่าประกันภัยที่เป็นตัวเลขสูงพอสมควร ทำให้ลูกค้าลังเลการตัดสินใจเดินทาง”
เช่นเดียวกับที่ เถกิง สวัสดิพันธ์ เจ้าของบริษัทนำเที่ยวเถกิง ทัวร์ ได้อธิบายสภาพของทัวร์เอาต์บาวนด์ในช่วงนี้ไว้ว่า จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กับภาวะราคาน้ำมันแพง ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ จึงหันมาประหยัดค่าใช้จ่าย ประกอบกับเป็นช่วงโชว์ซีซันของนักท่องเที่ยวคนไทยด้วย จึงส่งให้ธุรกิจนำเที่ยวเส้นทางต่างประเทศในช่วงนี้ซบเซา คาดว่ายอดนักท่องเที่ยวคนไทยที่เดินทางไปต่างประเทศช่วงเดือนมิ.ย.-ต.ค. 2548 จะลดลงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนไม่น้อยกว่า 20%
เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับกันอย่างเร่งด่วน สิ่งที่ทำในช่วงเวลานี้คือ การโปรโมตแพกเกจทัวร์ที่เดินทางเพียง 3-5 วัน เพื่อใช้ราคาเป็นตัวจูงใจให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางง่ายขึ้น ทำให้ในสภาพเศรษฐกิจเช่นนี้แพกเกจทัวร์ที่เกิน 6 วันขึ้นไปจะมีลูกค้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเส้นทางอังกฤษ อเมริกา และยุโรป
ส่วนตลาดที่มีอัตราเติบโตมากก็คือ ประเทศในแถบเอเชียที่ไม่ต้องเดินทางไกลนัก อย่างจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ เป็นต้น จากตัวเลขธุรกิจนำเที่ยวในช่วง มิ.ย.2547 – พ.ค. 2548 พบว่า แม้ธุรกิจนำเที่ยวไปต่างประเทศของไทยจะยังมีอัตราการเติบโตราว 10% แต่ประเทศยอดนิยมที่คนไทยสนใจเดินทางไปมากที่สุดก็คือประเทศจีน
สำหรับยอดนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาฮ่องกง จากการเปิดเผยตัวเลขของคณะกรรมการการท่องเที่ยวของฮ่องกงก็ชี้ให้เห็นว่ามีตัวเลขนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน ซึ่งเหตุผลหลักที่ทำให้ประเทศแถบเอเชียมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไปมากขึ้นก็คือ ราคาค่าเดินทางค่อนข้างถูกจากการที่สายการบินต้นทุนต่ำหั่นราคาค่าตั๋วอย่างสะบั้นหั่นแหลก แถมประเทศต่างๆยังจัดกิจกรรมดึงนักท่องเที่ยวกันอย่างหนัก โดยนำกลยุทธ์ราคามาเป็นแม่เหล็กในการดึงดูดผู้บริโภค
ท่ามกลางการแข่งดึงนักท่องเที่ยวที่มีอยู่อย่างจำกัดนั้นเอง ทางประเทศทางแถบยุโรปที่เสียส่วนแบ่งการตลาดไปพอสมควรทั้งจากราคาค่าเดินทางที่ค่อนข้างไกล ค่าใช้จ่ายที่มากตามตัว แถมยังเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตก็ได้ออกหมัดตอบโต้บ้างประปราย แต่เนื่องจากเป็นประเทศที่เน้นนักท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ จึงทำการโต้ตอบเรื่องราคาไม่ค่อยชัดเจนนัก ในเรื่องนี้ รสกมล ให้ความเห็นว่า การนำราคามาเล่นอาจส่งต่อการท่องเที่ยวในระยะยาว เพราะหากลดไปแล้ว การทำราคาให้ขึ้นกลับมาดังเดิมจะทำได้ยาก
แม้การท่องเที่ยวของแต่ละประเทศจะยังสงวนท่าทีไม่ค่อยออกอาวุธโต้กลับ แต่สายการบินที่มีเส้นทางไปยังประเทศเหล่านั้นไม่ยอมอยู่เฉยด้วย จึงจัดแคมเปญเพื่อเรียกคะแนนคืนมาบ้างในลักษณะของมวยแทน อย่างเช่น บริติช แอร์เวยส์ จัดโปรโมชั่นเส้นทางกรุงเทพ-ซิดนีย์-กรุงเทพ ด้วยราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินชั้นเวิลด์ ทราเวลเลอร์ (ชั้นประหยัด) ในราคา 16,670 บาท ไม่รวมอัตราภาษีต่างๆ และประกันภัยการเดินทาง
สายการบินแอร์นิวซีแลนด์จัดโปรโมชั่น “Winter Sale” ที่ตอบสนองความต้องการของนักเที่ยวทุกกลุ่ม ด้วยแพกเกจที่มีให้เลือก 5 แบบ ด้วยราคาแพกเกจเริ่มต้นที่ 34,750 บาท โดยคาดว่าจะสามารถกระตุ้นยอดขายบัตรโดยสาร พร้อมแพกเกจได้มากกว่า 30% จากไตรมาสที่ผ่านมา
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของการตอบโต้เพื่อแย่งชิงนักท่องเที่ยวระหว่างประเทศที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก กับประเทศที่เสียค่าใช้จ่ายน้อย แต่เชื่อว่าในช่วงระยะเวลานับจากนี้ประเทศทางแถบเอเชียน่าจะยังเป็นฝ่ายมีชัยเหนือประเทศทางแถบยุโรปที่แม้จะมีทัศนียภาพที่สวยงาม แต่ท่ามกลางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยเช่นนี้ อีกทั้งประเทศทางเอเชียพยายามสร้างจุดขายใหม่ๆออกมา อย่างฮ่องกงที่กำลังจะเปิดตัวดีสนีย์แลนด์ในช่วงปลายปีก็น่าจะเป็นแม่เหล็กหนึ่งที่จะมาดึงนักเที่ยวจากไทยให้ไปได้ไม่ยาก
|
|
 |
|
|