มณฑลเจ้อเจียง ปลุกกระแสเมืองเศรษฐกิจระดับโลก เตรียมพร้อมต้อนรับทัพนักลงทุนไทย ชูศักยภาพระบบคมนาคมขนส่งทางทะเลที่ดีที่สุดในแดนมังกร เผยอุปทานด้านอุตสาหกรรมเกษตร เครื่องจักร เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรคมนาคม และยาสมุนไพรมาแรง ขณะที่ธุรกิจเครื่องหนัง เสื้อผ้า สิ่งทอ น่าจับตามอง ตัวเลขทัพลงทุนต่างชาติล่าสุด มีถึงเกือบ 5 พันแห่ง
มลฑลเจ้อเจียง เป็นแดนอุตสาหกรรมชั้นนำของประเทศ ตั้งอยู่ติดทะเลทางตะวันออกเฉียงใต้ของดินแดนจีน และทางใต้ของสามเหลี่ยมแม่น้ำแยงซีเกียง มีพื้นที่ 101,800 ตร.กม. ประกอบด้วยภาคธุรกิจหลากหลายประเภทได้แก่ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรคมนาคม ยาสมุนไพรและวิศวกรรมเคมีภัณฑ์ อีกทั้งอุตสาหกรรมเครื่องหนัง เสื้อผ้า สิ่งทอ และไหม อยู่ในระดับแถวหน้าของประเทศ
เปิดประตูรับลงทุนไทย
อนุสนธิ์ ชินวรรโณ กงสุลใหญ่ ของนครเซี่ยงไฮ้ รายงานผลการหารือระหว่างกงสุลใหญ่ กับจง ชาน รองผู้ว่าการมณฑลเจ้อเจียง เมื่อเร็วๆนี้ ว่า ขณะนี้ได้มีความร่วมมือทางด้านการลงทุน โดยทางเจ้อเจียงได้เชิญชวนให้นักลงทุนไทยเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์เครื่องจักร และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งทางเจ้อเจียงพร้อมที่จะให้ความสะดวกในทุกๆด้าน เช่น การเผยแพร่ข้อมูลด้านการลงทุน การต้อนรับทัพลงทุนของไทยที่จะเข้าไปดูงาน เป็นต้น
โดยเฉพาะปีหน้า (ค.ศ.2004) ทาง เจ้อเจียง ได้จัดระบบข้อมูลใหม่เพื่อเป็นรายละเอียดสำหรับนักลงทุนต่างชาติที่สนใจเข้ามาลงทุน โดยมีข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์สำหรับนักลงทุน ทั้งด้านกฎหมาย ข้อจำกัด และความต้องการด้านธุรกิจของเจ้อเจียง ที่มีผลต่ออุปสงค์ อุปทาน
ทั้งนี้ ทางกงสุลใหญ่จะเตรียมประสานกับรัฐบาลไทยเพื่อจัดประชุม และเตรียมพร้อมให้กับทัพนักลงทุนของไทย ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนต้นปีหน้า เพื่อให้ได้ข้อมูลชัดว่า จะมีนักลง ทุนไทยที่มีความสนใจเข้าไปลงทุนมากน้อยแค่ไหน
ในปัจจุบันเจ้อเจียงเป็นมณฑลที่มีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศในปี 2546 เท่ากับ 111.11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว สูงถึง 2,400 ดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2003 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของเจ้อเจียงเท่ากับ 920,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 14% จีดีพีเฉลี่ยต่อหัวเท่ากับ 19,730 หยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2
มลฑลแห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นฐานการลงทุนและฐานการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของจีน และเป็นแหล่งที่สามารถให้ผลิตผลทางการเกษตรจำนวนมหาศาล โดยมีการพัฒนาการเกษตรแผนใหม่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งพื้นที่แถบนี้ยังเป็นเขตที่มีความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว
ปี 2003 มูลค่าเพิ่ม 431,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 16.4% ธุรกิจอุตสาหกรรมของรัฐและที่ไม่ใช่ของรัฐที่มีรายได้มากกว่า 5 ล้านหยวนขึ้นไป มีมูลค่าเพิ่มรวม 319,400 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 23.7% เป็นอุตสาหกรรมหนักมูลค่า 163,700 ล้านหยวน คิดเป็น 51.3% อุตสาหกรรมเบามูลค่า 155,700 ล้านหยวน คิดเป็น 48.7% ผลกำไร 78,580 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 30.4%
มูลค่าการเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งสามภาค เป็นดังนี้ ภาคการเกษตรมีมูลค่าเพิ่ม 72 ,200 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 2.7% ภาคอุตสาหกรรม 483,000 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 การบริการ 364,800 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 โครงสร้างสัดส่วนของอุตสาหกรรมทั้งสามเท่ากับร้อยละ 7.8 ,52.5, และร้อยละ 39.7 ตามลำดับ
ศักยภาพเทียบเซียงไฮ้
นอกจากนี้ เจ้อเจียงยังมีความสำคัญใกล้เคียงกับเซี่ยงไฮ้ โดยมีพัฒนาการทางเศรษฐกิจที่ไล่เลี่ยกัน โดยได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ที่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับเซี่ยงไฮ้ได้ เช่น สะพานเชื่อมปากอ่าวสู่เซี่ยงไฮ้ความยาว 36 กม. โครงการรถไฟฟ้าสนามแม่เหล็ก Maglev จากเซี่ยงไฮ้สู่หังโจว และโครงการทางหลวงหลายสาย เป็นต้น
สิ่งเหล่านี้จะเป็นเครื่องดึงดูดให้เขตดังกล่าวมีความน่าสนใจที่จะเข้าไปลงทุน แม้ว่าอัตราค่าเช่าที่ดิน ค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจจะสูงเกือบเท่าเซี่ยงไฮ้ แต่ก็มีข้อได้เปรียบในแง่ความสะดวกของระบบขนส่งที่จะเชื่อมโยงกับเซี่ยงไฮ้และเมืองท่าต่างประเทศ มีแรงงานที่มีทักษะและความรู้ค่อนข้างสูง และมีความเป็นสากลในเรื่องกฎระเบียบมากกว่า
ต่างชาติแห่ลงทุนเกือบ 5 พันแห่ง
ตลอดปี 2003 มีธุรกิจของต่างชาติที่ได้รับอนุมัติให้ก่อตั้งบริษัทในมณฑลเจ้อเจียงทั้งสิ้น 4,442 แห่ง เงินลงทุนในสัญญา 12,050 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.5 มีโครงการลงทุนนอกมณฑล 301 โครงการ มูลค่ารวมการลงทุน 96.58 ล้านเหรียญ เพิ่มขึ้นร้อยละ 51.8 โดยธุรกิจมณฑลเจ้อเจียงสนใจอย่างมาก คือ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและโทรคมนาคม ยาสมุนไพร และวิศวกรรมเคมีภัณฑ์
ที่ผ่านมาจึงมีเอกชนไทยหลายรายประสงค์จะขยายการลงทุนในเขตนี้ เช่น บริษัทสหยูเนี่ยนกำลังสนใจเปิดโรงเรียนนานาชาติ Dulwich ที่เมืองหังโจว จากเดิมที่มีกิจการโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้า 3 แห่งตามเมืองต่างๆ ในมณฑล
|