ผ่าอาณาจักรเจ้าพ่อน้ำเมา "เจริญ สิริวัฒนภักดี" เผยปรับโครงสร้างภายในเสร็จแล้ว แบ่งธุรกิจ 3 กลุ่ม ประกอบด้วย แอลกอฮอล์ และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง-อสังหาริมทรัพย์-การเงินและประกัน ภายใต้บริษัทแม่ "ที.ซี.ซี.โฮลดิ้ง" พร้อมลุย มั่นใจเบียร์ช้างเข้าตลาดหลักทรัพย์สำเร็จ เหตุทำธุรกิจถูกกฎหมายและตลาดฯไม่มีข้อห้าม เผยนโยบายรัฐมีท่าที สนับสนุน ขู่หากเบียร์ช้างเข้าตลาดหุ้นไม่ได้อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนของต่างชาติ
แหล่งข่าวจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือเบียร์ช้าง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า ขณะนี้บริษัทในเครือของนายเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มแอลกอฮอล์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และกลุ่มสถาบันการเงินและประกัน ทั้ง 3 กลุ่มธุรกิจอยู่ภายใต้ ที.ซี.ซี. โฮลดิ้ง ซึ่งมีทุนจดทะเบียน 23,700 ล้านบาท
ทั้งนี้ ธุรกิจแอลกอฮอล์จะอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะอยู่ภายใต้การดูแลของบริษัท ที.ซี.ซี. แลนด์ และสุดท้ายธุรกิจที่เกี่ยวข้อง กับการเงินจะอยู่ภายใต้การจัดการ ของ บริษัท ที.ซี.ซี. แคปปิตอล
สำหรับบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ทุนจดทะเบียน ณ วันที่ 29 ตุลาคม 2546 อยู่ที่ 22,000 ล้านบาท (การประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุด ได้มีมติให้เพิ่มทุนโดยระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 7,000 ล้านบาท) หลังเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจะทำให้มูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5-3 แสนล้านบาท มีบริษัทในเครือ 48 แห่ง มีโรงงานแอลกอฮอล์ 1 โรง โรงงานเบียร์ 2 โรง โรงงานสุรา 16 โรง โรงงานผลิตถังไม้โอ๊ก 1 โรง โรงงานผลิตอิฐ 1 โรง ส่วนตราสินค้าได้แก่ แม่โขง แสงโสม มังกรทอง สาเกชิโนบุ เบียร์ช้าง เบียร์อาชา น้ำดื่มและน้ำโซดาตราช้าง เป็นต้น มีพนักงานประมาณ 19,000 คน
ขณะที่บริษัท ที.ซี.ซี. แลนด์ มีทุนจดทะเบียน 13,000 ล้านบาท และบริษัท ที.ซี.ซี แคปปิตอล ทุนจดทะเบียน 2,400 ล้านบาท โดยสินทรัพย์รวม 3 กลุ่มธุรกิจ ซึ่งอยู่ภายใต้ที.ซี.ซี. โฮลดิ้ง มีมูลค่าหลายแสนล้านบาท
แหล่งข่าวกล่าวถึงความคืบหน้าในการผลักดันบริษัท ไทยเบฟเวอเรจฯ เมื่อวันที่ 20 ก.ค. ได้มีการประสานงานกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งอยู่ในชั้นของ Confidential Filing ซึ่งได้ทำงานร่วมกันตลอดเวลา เพื่อตรวจสอบข้อมูล เอกสารหลักฐานต่างๆ ก่อนที่จะมีการตรวจสอบโรงงาน
อย่างไรก็ตาม มีคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯบางรายที่ไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของเบียร์ช้าง โดยอ้างใน เรื่องศีลธรรม และมีกระแสการต่อต้านจากม็อบทั้งใน ส่วนของกลุ่มสันติอโศก และธรรมกาย ซึ่งบานปลาย จนทำให้คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ คณะ กรรมการก.ล.ต.ต้องเลื่อนการพิจารณาการนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
"กลุ่มต่อต้านเบียร์ช้างหลงประเด็น เพราะวัตถุประสงค์หลักที่เราเข้าตลาดฯก็เพื่อบุกตลาดต่างประเทศ สร้างความเชื่อมั่นต่างชาติ หลังจากเราพยายามสร้างแบรนด์เบียร์ช้างให้ติดตลาด ผ่านการสนับสนุนสโมสรเอฟเวอร์ตัน ซึ่งเป็นก้าวหนึ่งในการทำให้เบียร์ช้างของไทยบุกตลาดต่างประเทศ ไม่ใช่เข้า มาระดมทุนเพื่อเพิ่มกำลังผลิตในประเทศ หรือทำให้คนไทยดื่มเบียร์หรือเหล้ามากขึ้น เชื่อว่าในที่สุด ไทยเบฟฯจะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯสำเร็จ" แหล่งข่าวย้ำ
ส่วนที่มีหลายฝ่ายตั้งคำถามว่าทำไมเบียร์ช้างถึง ไม่แสดงท่าทีออกมาตอบโต้กลุ่มม็อบที่ต่อต้านเบียร์ช้างเข้าตลาดฯ แหล่งข่าวกล่าวว่า ต้องการประเมินสถานการณ์ว่าจะเป็นอย่างไรมีกลุ่มไหนเข้ามาเกี่ยวข้อง และที่สำคัญการออกมาตอบโต้จะทำให้กระแสต่อต้านรุนแรงมากขึ้น
"ถ้าไม่ชอบให้คนกินเหล้าก็ควรให้ความรู้เรื่องเหล้าหรือการดื่มสุรา ซึ่งในต่างประเทศเขาให้ความรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง หรือมีการจำกัดสถานที่จำหน่าย จำกัดอายุผู้ดื่มสุรา ส่วนการจำกัดการโฆษณา ในช่วงที่ผ่านมาก็มีการกำหนดแล้ว การที่มาต่อต้านไม่ให้เรา เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯถือว่าไม่มีเหตุผลรองรับเพียงพอ"
แหล่งข่าวกล่าวยืนยันว่า เบียร์ช้างยังคงมีเจตนา ที่ชัดเจนในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย แม้ก่อนหน้าจะมีการจดทะเบียน บริษัท อินเตอร์แนชั่นแนล เบฟเวอเรจ ในประเทศฮ่องกง ซึ่งมีหลายฝ่ายมองว่าหากไม่สามารถเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยได้จะไปจดทะเบียนในตลาด หุ้นฮ่องกง แต่ในความเป็นจริงแล้ว เบียร์ช้างยังไม่มี แผนสองที่จะจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศ เพราะการดำเนินการต่างๆ ถูกต้องตามกฎหมายมาโดยตลอด
"ประเด็นคือจะเข้าจดทะเบียนในตลาดฯได้หรือ ไม่ อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล ซึ่งล่าสุดมีท่าทีสนับสนุนที่ชัดเจนขึ้น แต่หากเบียร์ช้างไม่สามารถเข้าตลาดได้ เชื่อว่าอาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติที่เตรียมเข้ามาลงทุนในไทย เพราะไม่มีหลักประกันในการดำเนินธุรกิจให้เขา หากเกิดกระแสกดดัน" แหล่งข่าวกล่าว
ด้านผลการดำเนินงานของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจฯ สิ้นสุด ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2547 มีรายได้รวม 95,081.70 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มสุรา 46,983.81 ล้านบาท กลุ่มเบียร์ 47,747.37 ล้านบาท กลุ่มธุรกิจต่อเนื่อง 350.52 ล้านบาท ขณะที่มีการจ่าย ภาษีให้กับรัฐในปี 2547 รวม 53,136.35 ล้านบาท แบ่ง เป็น ภาษีสรรพสามิต 39,233.75 ล้านบาท ภาษีเก็บเพื่อกระทรวงมหาดไทย 3,923.38 ล้านบาท เงินสมทบ กองทุนเสริมสร้างสุขภาพ 784.68 ล้านบาท ภาษีศุลกากร 514.77 ล้านบาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม 5,215.46 ล้านบาท ภาษีนิติบุคคล 3,464.31 ล้านบาท ในปี 2547 มีกำไรสุทธิ 9,722.04 ล้านบาท
รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากการศึกษาข้อมูลของตลาดหลัก-ทรัพย์ฯพบว่า ตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศที่มีธุรกิจแอลกอฮอล์จดทะเบียนมีจำนวน 45 ประเทศ โดยมีจำนวนบริษัทในธุรกิจแอลกอฮอล์เข้าจดทะเบียนรวม 251 บริษัท
โดยตลาดหลักทรัพย์ในอาร์เจนตินามีหลักทรัพย์จดทะเบียน 3 บริษัท ออสเตรเลีย 14 บริษัท ออสเตรีย 7 บริษัท เบลเยียม 4 บริษัท บราซิล 3 บริษัท แคนาดา 10 บริษัท ชิลี 7 บริษัท จีน 23 บริษัท สาธารณรัฐเช็ก 3 บริษัท เดนมาร์ก 6 บริษัท อียิปต์ 1 บริษัท ฟินแลนด์ 2 บริษัท ฝรั่งเศส 12 บริษัท เยอรมนี 32 บริษัท กรีซ 4 บริษัท ฮ่องกง 5 บริษัท ฮังการี 2 บริษัท อินเดีย 2 บริษัท อินโดนีเซีย 2 บริษัท อิตาลี 2 บริษัท ญี่ปุ่น 8 บริษัท ลักเซมเบิร์ก 1 บริษัท มาเลเซีย 2 บริษัท เม็กซิโก 2 บริษัท โมร็อกโก 1 บริษัท เนเธอร์แลนด์ 3 บริษัท นิวซีแลนด์ 2 บริษัท ปากีสถาน 1 บริษัท เปรู 6 บริษัท ฟิลิปปินส์ 3 บริษัท โปแลนด์ 2 บริษัท โปรตุเกส 2 บริษัท รัสเซีย 1 บริษัท สิงคโปร์ 1 บริษัท สโลวีเนีย 1 บริษัท แอฟริกาใต้ 4 บริษัท เกาหลีใต้ 7 บริษัท สเปน 7 บริษัท ศรีลังกา 1 บริษัท สวีเดน 1 บริษัท สวิตเซอร์แลนด์ 3 บริษัท ตุรกี 4 บริษัท อังกฤษ 27 บริษัท สหรัฐฯ 15 บริษัท และนิวซีแลนด์ 1 บริษัท
ส่วนตลาดหลักทรัพย์ที่ไม่มีข้อมูลการจดทะเบียนของบริษัทที่ประกอบธุรกิจแอลกอฮอล์มี 8 แห่งคือ เบอร์มิวดา, โคลัมเบีย, อิหร่าน, ไอร์แลนด์, อิสราเอล, มอลตา, นอร์เวย์ และไทย
สำหรับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่เป็นเจ้าของ Brand ชั้นนำและจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์ต่างประเทศ ในกลุ่มธุรกิจเบียร์ ได้แก่ ไฮเนเก้น, ซานมิเกล, คลอสเตอร์, อาซาฮี, กินเนส, บัดไวเซอร์ และโคโรน่า ส่วนธุรกิจเหล้า ได้แก่ จอห์นนี่ วอล์คเกอร์, สเปย์ รอยัล, มาสเตอร์ เบลนด์, ชีวาส รีกัล และฮันเดรด ไปเปอร์ส
นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กรณีของบริษัทไทยเบฟเวอร์เรจหรือเบียร์ช้างที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น เดิมคณะกรรมการ ก.ล.ต.จะมี การประชุมหารือในเรื่องดังกล่าว แต่เนื่องจากนายทนง พิทยะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขอให้เลื่อนการพิจารณาไปก่อน เนื่องจากนายทนงต้องการ ที่จะศึกษาในเรื่องดังกล่าวเสียก่อน และคาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปภายในปีนี้
|