|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เตือนไทยอย่าหวังลม ๆ แล้ง ๆ เงินหยวนแข็งค่าช่วยบาทแข็งค้าขายจีนสะดวก เหตุไทยเป็นประเทศเดียวในแถบเอเชียตะวันออกที่ขาดดุลบัญชีเดินสะพัด แนะต้องดูระยะยาว คาดสิ้นปีค่าเงินหยวนมีสิทธิ์เพิ่ม 6% ส่วนบาทไทยอาจขยับได้ 2-3% กระทบภาคส่งออกเป้า 20% คงยาก
ค่าเงินหยวนของจีนที่ปรับแข็งค่าขึ้น 2.1% เมื่อ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนวิธีการผูกติดค่าเงินไว้กับดอลลาร์ มาเป็นระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ(Managed Float) โดยใช้ระบบตระกร้าเงินเข้ามาถ่วงน้ำหนัก ค่าเงินหยวนจากระดับที่ทางการจีนผูกติดไว้กับดอลลาร์สหรัฐที่ 8.2765 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์ ขยับขึ้นมาเป็น 8.11 หยวน และกำหนดการเคลื่อนไหวบวกลบไม่เกิน 0.3% จากค่ากลางที่ทางการจีนกำหนด
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนประเมินว่าการปรับค่าเงินหยวนในครั้งนี้ให้ผลเชิงบวกกับประเทศไทย เนื่องจากค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นน้อยกว่าค่าเงินหยวน ซึ่งจะทำให้การค้าระหว่างไทยกับจีน ประเทศไทยน่าจะได้เปรียบมากขึ้น เนื่องจากสินค้าจากจีนมีความเป็นไปได้ที่จะแพงขึ้นที่เป็นผลจากอัตราแลกเปลี่ยน
สำหรับประเทศไทยได้เห็นแล้วว่าการที่จีนปรับค่าเงินหยวนขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนต่างประเทศโยกเงินเข้ามาสู่ภูมิภาคเอเชียมากขึ้น เห็นได้จากตลาดหุ้นไทยที่ปรับเพิ่มขึ้นถึง 1.65% ในวันแรกที่เปิดทำการ(25 ก.ค.) นักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิถึง 1.15 พันล้านบาท และถูกเทขายทำกำไรในวันต่อมา
"ในระยะสั้นคงยังไม่เห็นผลกระทบที่มีนัยยะสำคัญ เนื่องจากเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นนั้นปรับขึ้นไม่มาก และถูกจำกัดการเคลื่อนไหวในช่วงที่แคบเพียง 0.3% ซึ่งค่าเงินบาทของไทยเมื่อเทียบกับหยวนนั้นเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ดังนั้นยอดขาดดุลการค้าของไทย-จีนอาจจะลดลงได้ แต่คงเป็นแค่ระยะสั้นเท่านั้น" นักเศรษฐศาสตร์มหภาคกล่าว
ไทยไม่ได้เปรียบ
สิ่งที่ต้องจับตาดูคือการเปลี่ยนแปลงค่าเงินหยวนในระยะยาว คาดว่าจากนี้จนถึงสิ้นปี ค่าเงินหยวนอาจแข็งค่าขึ้นได้ราว 6% เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่าคงเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไปมากกว่า เนื่องจากธนาคารกลางจีนคงเข้ามาดูแลไม่ให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าเร็วเกินไป หากหยวนแข็งค่าขึ้นตามที่คาดการณ์ค่าเงินบาทของไทยคงแข็งค่าตามอีกราว 2-3% ตรงนี้น่าจะเป็นปัญหากับประเทศไทยโดยเฉพาะภาคการส่งออก
หากจะมองว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าน้อยกว่าค่าเงินหยวน จะช่วยลดขาดดุลทางการค้ากับจีน ตรงนี้คาดการณ์ลำบากเพราะต้นทุนการผลิตสินค้าของจีนต่ำกว่าของไทยมาก โดยเฉพาะค่าแรง หากจีนยอมลดกำไรลงบ้างเพื่อตรึงราคาสินค้าให้สามารถอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ตามเดิม ภาวะขาดดุลการค้าของไทยกับจีนก็ยังเหมือนเดิม
ขณะที่สินค้าออกที่ส่งไปจีนเมื่อพิจารณาจากอัตราแลกเปลี่ยนระหว่างกันเปลี่ยนแปลงน้อยมาก จึงไม่จูงใจให้มีการสั่งซื้อสินค้าจากไทยมากกว่าเดิม อีกทั้งยังต้องประเมินทิศทางอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนด้วยว่าต้องการลดความร้อนแรงทางเศรษฐกิจในประเทศด้วยหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาทางการจีนเองแสดงเจตนาชัดเจนว่าต้องการชะลออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ หากจีนดำเนินตามมาตรการดังกล่าวก็ไม่จำเป็นต้องเร่งหรือขยายการผลิตมากกว่าที่เคยผลิตในปัจจุบัน
"จากนี้ไปผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายกับจีน ต้องติดตามนโยบายของทางการจีนอย่างใกล้ชิด รวมถึงการเปลี่ยนแปลงค่าเงินหยวนว่าจะปล่อยให้แข็งค่าอย่างรวดเร็วหรือไม่"
ภาพรวมน่าห่วง
การปรับค่าเงินหยวนของจีนถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ประเทศไทยต้องพิจารณาเงินสกุลนี้ แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจประเทศ แม้ว่าเงินในสกุลเอเชียจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ใช่ว่าเราจะแก้ปัญหาเรื่องการขาดดุลการค้าหรือขาดดุลบัญชีเดินสะพัดได้
เงินบาทที่แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลหลักอย่างดอลลาร์ถือว่าแข็งค่าขึ้นไม่มาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกที่มียอดขาดดุลบัญชีสะพัด ดังนั้นค่าเงินบาทของไทยจึงแข็งค่าได้จำกัด
ดังนั้นความหวังที่ค่าเงินบาทแข็งจะช่วยลดมูลค่าการนำเข้าโดยเฉพาะราคาน้ำมัน คงไม่สามารถช่วยได้มาก ยิ่งถ้าราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นอีกส่วนต่างของค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นจึงไม่ช่วยให้ตัวเลขดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดดีขึ้น
ขณะเดียวกันค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก จะทำให้สินค้าของไทยมีราคาสูงขึ้น ส่วนจะกระทบมากหรือน้อยคงต้องขึ้นกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยด้วย เมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกของไทยช่วง 5 เดือนแรก มีการเติบโตเฉลี่ยเพียง 12.9% ถือว่าห่างจากเป้าหมายของทางการที่ 20% อยู่พอสมควร โดยที่ภาคการนำเข้าโตเฉลี่ย 30% จึงทำให้ดุลการค้าของไทยขาดดุลมาโดยตลอด
ในภาพรวมระยะยาวแล้วประเทศไทยยังไม่ได้ประโยชน์จากค่าเงินหยวนที่ปรับขึ้น ยอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ ซึ่งรายได้หลักของไทยอย่างการท่องเที่ยวยังไม่สามารถดึงนักท่องเที่ยวได้ตามเป้าหมาย จนรัฐบาลต้องเพิ่มงบประชาสัมพันธ์ให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)อีก 900 ล้านบาท
ขณะที่ค่าครองชีพของคนไทยเพิ่มขึ้นจากผลกระทบราคาน้ำมันคาดว่าภาวะเงินเฟ้อจนถึงสิ้นปีนี้อาจจะสูงกว่า 3.8% อาจส่งผลให้การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่เหลืออีก 3 ครั้งอาจปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 14 วันเพิ่มขึ้นอีก 1% หากธนาคารกลางสหรัฐปรับอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในทุกครั้งที่เหลือ จะเป็นตัวเร่งให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้นทั้งเงินฝากและเงินกู้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยซ้ำเดิมให้ผู้ที่มีภาระผ่อนชำระต้องแบกรับเพิ่มขึ้น
|
|
|
|
|