|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เมื่อนักศึกษามาเลเซีย 15 คน ลอกบทความจากอินเทอร์เน็ตไปเขียนรายงานส่งอาจารย์เมื่อปลายปี 2002 พวกนั้นคงไม่ทราบหรอกว่า ได้เปิดยุคแห่งความเสียหายที่หมิ่นเหม่จะถึงขั้นที่เป็นการทำลายชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมการศึกษาแห่งออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาส่วนที่เป็นการตั้งวิทยาเขตสาขาในต่างแดน ซึ่งเป็นเสี้ยวส่วนที่กำลังเฟื่องฟูและทำรายได้เป็นกอบเป็นกำให้แก่นานาสถาบันการศึกษาระดับชาติของประเทศยิ่งใหญ่แห่งซีกโลกใต้
ในเที่ยวนั้น แม้อาจารย์ของมหาวิทยาลัยจับได้ไล่ทันนักศึกษา ในชั้นแรก นักศึกษาถูกแจกเอฟทั่วหน้า และตามหลักแล้ว นักศึกษาเหล่านี้ควรถูกปรับให้เป็นตกในวิชานั้น อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ามีการจัดสอบใหม่ ทุกคนสอบผ่าน และข้อกล่าวหาว่าทุจริตก็ถูกลืมไว้เบื้องหลัง
อย่างไรก็ตาม หลังจากมีผู้ออกมาร้องเรียนความไม่ชอบมาพากลคราวนี้ ซึ่งเกิดขึ้นกับนักศึกษาหลักสูตรเอ็มบีเอในวิทยาเขตในมาเลเซีย ของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล รัฐนิวเซาท์เวลส์ จนกลายเป็นข่าวดังที่สื่อมวลชนทั้งในออสเตรเลียและมาเลเซียเสนอกันอย่างกว้างขวาง คณะกรรมาธิการต่อต้านการคอร์รัปชั่นแห่งรัฐนิวเซาท์เวลส์ ก็ต้องลุกขึ้นสอบสวนในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
คณะกรรมาธิการระดับรัฐที่เป็นผู้สอบสวน มุ่งจะเล่นงานหนักๆ ไปถึงมาตรฐานการคัดเลือกนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษากับออสเตรเลีย ความอื้อฉาวนี้กระทบอย่างแรงต่อความน่าเชื่อถือแห่งมาตรฐานการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาของออสเตรเลีย อันเป็นอุตสาหกรรมที่มีอัตราเพิ่มของนักศึกษาต่างชาติเฉลี่ยปีละ 13%ในหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา และถ้าเรื่องนี้ส่งผลให้นักศึกษาต่างชาติเบนเข็มไปหาวงการอุดมศึกษาประเทศอื่นที่น่าเชื่อถือมากกว่า ย่อมจะสร้างความเสียหายร้ายกาจแก่ฐานะการเงินของบรรดามหาวิทยาลัยออสซี่ทั้งหลาย
ทั้งนี้ เป็นเพราะว่าประดามหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาระดับสูงทั้งหลายของออสเตรเลีย ล้วนต้องพึ่งพิงรายได้จากนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งมีตัวเลขอยู่ว่า ในปีที่แล้วมีสัดส่วนเป็น 22.7% ของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาทั้งหมด 930,000 คน หรือเท่ากับประมาณ 211,000 คน คิดเป็นกลุ่มที่นั่งศึกษาที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย 137,000 คน และเป็นกลุ่มที่ศึกษาในวิทยาเขตสาขาต่างแดนอีก 74,000 คน ในจำนวนสองแสนเศษนี้ 85%เป็นนักศึกษาจากเอเชีย
เท่าที่ผ่านมา เกือบทั้งหมดของ 39 มหาวิทยาลัยออสซี่ กระตือรือร้นเหลือเกินที่จะมีส่วนอยู่ในอุตสาหกรรมส่งออกการศึกษานี้ซึ่งมีมูลค่ารวมราว 4,000 ล้านดอลลาร์ ดังเห็นได้ว่ากลยุทธ์การตั้งวิทยาเขตสาขาต่างแดนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย
แต่เมื่อการสอบสวนเปิดฉากขึ้นมาอย่างอื้อฉาว อุตสาหกรรมเนื้อหอมนี้ยากจะลอยนวลอยู่ในหอคอยงาช้างได้ แม้คณบดีคณะบริหารธุรกิจของมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลประกาศลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบทันทีที่เรื่องแดงอื้อฉาวขึ้นมา กระนั้นก็ตาม การสอบสวนยังดำเนินต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในประเด็นว่ามหาวิทยาลัยรับมืออย่างไรกับบรรดาข้อร้องเรียนในอันที่จะหลีกเลี่ยงข่าวลือเสียหายในวิทยาเขตต่างแดน
ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการอาจเล่นงานมหาวิทยาลัยว่าเอาแต่ซุกเรื่องไว้ใต้พรม ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ แทนที่จะลุยแก้ปัญหาอย่างเอาจริงเอาจัง
นอกจากนั้น ยังมีประเด็นร้ายแรงจำพวกว่า มหาวิทยาลัยโอนเอียงที่จะส่งเสริมคนของตัว ให้หนุนช่วยนักศึกษาต่างชาติประสบความสำเร็จกับการศึกษา แม้ต้องเผชิญกับข้อกล่าวหาว่าการเรียนการสอนที่เป็นอยู่นั้นยังไม่ถึงมาตรฐาน
เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สมาคมอีโคโนมิก โซไซตี้ ออฟ ออสเตรเลีย ซี่งเป็นสมาคมเศรษฐศาสตร์แห่งออสเตรเลีย เผยผลการสำรวจบรรดาศาสตราจารย์หัวหน้าภาควิชา เกี่ยวกับมาตรฐานของนักศึกษาในภาควิชาเศรษฐศาสตร์ ปรากฏว่า หัวหน้าภาคจำนวน 13 รายจากผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 21 ราย รู้สึกว่ามาตรฐานของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ตกต่ำลง หลายรายชี้สาเหตุเรื่องนี้โดยโยงไปสู่เรื่องที่ว่านักศึกษาต่างชาติที่รับเข้าศึกษามีมาตรฐานต่ำลง อาทิ ในแง่ของระดับความสามารถด้านการใช้ภาษาอังกฤษ และในแง่ของเกณฑ์การรับสมัครที่ปล่อยให้ด้อยลงมา
หัวหน้าภาครายหนึ่งถึงกับเขียนว่า "การพึ่งพิงมากขึ้นกับนักศึกษาต่างชาติที่มีคุณภาพต่ำ โดยมองว่าเป็นหนทางเพิ่มรายได้ชดเชยกับสภาพการณ์ที่เงินสนับสนุนจากภาครัฐถูกตัดทอนลงนั้น กำลัง ก่อให้เกิดวิกฤต ข้าพเจ้าเคยเตือนให้มีมหาวิทยาลัยทำทดสอบความสามารถทางภาษาของนักศึกษา แต่ข้อเสนอนี้ถูกมองเป็นการบั่นทอนความสามารถเชิงการแข่งขันของมหาวิทยาลัย"
ชิกา อันยันวู แห่งมหาวิทยาลัยอาดีเลด ชี้ให้มองต้นเหตุของปัญหาที่นโยบายของภาครัฐที่ลดการให้งบประมาณสนับสนุนการศึกษา เขาเผยว่าการทะลักเข้าไปของนักศึกษาต่างชาติ "เป็นความริเริ่มจากผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยซึ่งขับเคลื่อนด้วยเงื่อนไขทางการเงิน" และนโยบายนี้ถูกส่งต่อไปบีบพวกอาจารย์และนักวิชาการอีกทอดหนึ่ง
"พวกอาจารย์บางรายถูกบังคับให้ปรับเคิร์ฟตัดเกรดเพื่อช่วยให้นักศึกษาสอบผ่าน หรือกระทั่งให้ลดความคาดหวังขั้นต่ำที่วางไว้ใช้กับนักศึกษาต่างชาติ" อันยันวูแฉ
ภายในกระแสอันอื้อฉาวนี้ รัฐบาลออสเตรเลีย เอียงอยู่ในข้างที่สนับสนุนอุตสาหกรรมการศึกษาส่งออกนี้ ขณะที่พวกนักวิชาการอาวุโสก็พยายามทุกช่องทางที่จะแก้ไขชื่อเสียงความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย แต่ดูเหมือนจะเลือกใช้วิธียกระดับมาตรฐานให้สูงขึ้น เข้มข้นมากขึ้น ซึ่งหมายถึงโอกาสที่ตีบตันลงที่นักศึกษาต่างชาติจะก้าวข้ามธรณีประตูเข้าร่วมด้วยได้นั่นเอง
การต่อสู้เที่ยวนี้จึงเห็นแต่แววว่าจะยื้อยาวและลางไม่ดีนัก ในเมื่อใครเลยจะปฏิเสธได้ว่าโลกแห่งความเป็นจริงขณะนี้ ตกอยู่ในสภาพการณ์ที่ว่า ตลาดเป็นของผู้ซื้อ มิใช่เป็นของผู้ขาย
|
|
|
|
|